วิศวกรโทรคมนาคม
วิศวกรโทรคมนาคม
วิศวกรโทรคมนาคม
วิศวกรโทรคมนาคม
รู้จักอาชีพ > นักปฏิบัติ (Active) > วิศวกรโทรคมนาคม
       วิศวกรรมโทรคมนาคมทำหน้าที่อะไร ก่อนไปถึงหน้าที่เราดูก่อนว่าโทรคมนาคมแปลว่าอะไร     โทร แปลว่าไกล  คมนาคมแปลว่าการสื่อสาร เมื่อนำมารวมกันโทรคมนาคมจึงแปลว่า การสื่อสารทางไกล ดังนั้นหน้าที่หลักของวิศวกรรมโทรคมนาคมคือการทำให้เราทุกคนบนโลกสามารถติดต่อสื่อสารกันได้แม้จะอยู่ไกลกัน ผ่านทางตัวแปรนำสารแบบต่าง ๆ   โดยวิศวกรโทรคมนาคมจะเป็นผู้ออกแบบและติดตั้งระบบสื่อสาร และดูแลระบบนั้นให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการนำศาสตร์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน และอาจมีงานด้านโยธาเกี่ยวข้องด้วย อย่างเช่นการวางฐานราก งานโครงสร้าง ติดตั้งเสาสัญญาณต่าง ๆ เป็นต้น
       วิศวกรรมโทรคมนาคมนั้นต้องเรียนเกี่ยวกับการสื่อสาร สัญญาณ การส่ง การรับข้อมูล การวิเคราะห์สัญญาณต่าง ๆ เพื่อนำความรู้ไปพัฒนาระบบโทรคมนาคม สายแลน คลื่นโทรศัพท์ Wireless ดาวเทียม ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสัญญาณ
       ปัจจุบันวิศวกรรมโทรคมนาคมเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การรับส่งข้อมูล ข่าวสาร ความบันเทิง สิ่งที่อยู่ในจอโทรทัศน์หรือโทรศัพท์มือถือ ทั้งเสียงและภาพ หากคุณกำลังเปิดเว็บไซต์  ดู Youtube ใช้ internet หรือเปิดวิทยุในรถ เปิดทีวีที่บ้าน สิ่งที่อยู่เบื้องหลังระบบเหล่านั้นก็คือวิศวกรรมโทรคมนาคมนั่นเอง

วิศวกรโทรคมนาคม

วิศวกรโทรคมนาคม

วิศวกรโทรคมนาคม

ลักษณะการทำงาน

การทำงานของวิศวกรโทรคมนาคมมักถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ   
1. กลุ่มงานออกแบบและติดตั้ง (planning and implementation) 
จะทำงานเป็นโครงการ โดยเริ่มจากรับความต้องการจากลูกค้า ออกแบบโครงข่าย คัดเลือกเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่เหมาะสม จากนั้นจึงดำเนินการติดตั้ง และส่งมอบให้กับลูกค้าตามเวลาที่กำหนด  
2. กลุ่มงานปรับปรุงและบริหารโครงข่าย (Optimization and Operations) 
มักจะต้องรับผิดชอบดูแลระบบโครงข่ายที่มีผู้ใช้บริการอยู่แล้วให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา และปรับปรุงให้เหมาะสมตามสถานการณ์ หากเกิดเหตุระบบโครงข่ายขัดข้องต้องรีบแก้ไขปัญหาให้รวดเร็ว เพื่อให้กระทบผู้ใช้บริการให้น้อยที่สุด

ขั้นตอนการทำงาน

  • รับแจ้งปัญหาจากลูกค้า ซึ่งอาจต้องหาวิธีการแก้ไขเป็นเวลา 2-3 วัน หรืออาทิตย์นึง โดยส่วนมากจะเป็นเรื่อง การเพิ่มเสาสัญญาณ หรือเพิ่มอุปกรณ์ให้ลูกค้าใช้งานได้มากขึ้น หาวิธีการใหม่ ๆ มาทำให้ระบบเสถียรขึ้น เช่น เครือข่าย 5G ทำอย่างไรให้ลูกค้าที่ใช้ 5G (มือถือ) สามารถใช้ความเร็วสูง ๆ / อุปกรณ์รองรับ รับสัญญาณให้ได้ความเร็วตามที่กำหนดนั้น
  • ตัวงานอาจมีทั้งการออกไซด์นอกสถานที่ ติดตั้งเสาส่งสัญญาณมือถือเพิ่มการกระจายสัญญาณในพื้นที่ กับนั่งมอนิเตอร์ที่ออฟฟิศ คิดหาทางแก้ปัญหารูปแบบต่าง ๆ มีส่วนรับเรื่อง ส่งต่อเรื่องให้หาทางแก้ไขปัญหา
  • ดูแลสัญญาณของค่าย  โดยเป็น vendor ที่คอยช่วยเหลือโอเปอเรเตอร์ที่โทรเข้ามา
  • วางแผนการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาหรือหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าและบริษัท
  • ส่วนงานอื่นที่ไม่ได้ทำกับค่ายโทรศัพท์มือถือ ก็มีรถไฟฟ้า ดู CCTV IOT จบไปทำงานด้านไอทีในองค์กรต่าง ๆ  ซึ่งตอนเรียนจะมีวิชาเกี่ยวกับไอทีด้วย

สถานที่ทำงาน

  • ตามไซต์งานลูกค้า (อาคารต่าง ๆ หรือพื้นที่ติดตั้ง)
  • สำนักงานต้นสังกัด

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย

  • ลูกค้า โอเปอเรเตอร์ ฝ่ายเรดิโอ ช่างที่รับติดตั้ง ฝ่ายที่ทำ conflict  
  • แผนกอื่น ๆ เช่น ฝ่ายการตลาด  Billing Customer Support

ทางเลือกอาชีพ

  • วิศวกรเครือข่าย วิศวกรโครงสร้าง วิศวกรตรวจสอบคุณภาพ วิศวกรด้านงานวิจัย วิศวกรออกแบบ
  • งานด้านไอที Satellite Engineer งานด้าน IOT / Data Sci / Cyber Security / Network Engineer
  • เซลล์ขายสินค้า เสาสัญญาณ สายสัญญาณ อุปกรณ์เครื่องมือวัด ขายโซลูชั่น (รับติดตั้งระบบ CCTV ระบบอินเทอร์เนตในบริษัท)

เงินเดือน วิศวกรโทรคมนาคม

ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต

       ในองค์กรเอกชน มักเติบโตตามโครงสร้างองค์กร จากระดับ Junior ไปเป็น Senior แล้วเติบโตขึ้นไปในระดับบริหาร 

รายได้ 

  • พนักงานระดับจูเนียร์ มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 18,000 – 30,000 บาท 
  • พนักงานระดับซีเนียร์ มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 40,000-100,000 บาท (หากเป็นบ.ต่างประเทศรายได้จะสูงตาม)
  • ระดับบริหาร / Project Manager มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 60,000+ บาทขึ้นไป

การแข่งขันและความต้องการของตลาด

        สำหรับสายงานด้านวิศวกรรมโทรคมนาคมนี้ จบมาสามารถทำงานได้กว้างขวางมาก จะทำงานด้านไอทีก็ได้ ทำงานด้านโทรคมนาคมก็ได้ หรืองานด้าน Data Sci ก็ได้ ซึ่งสำหรับสายงานโทรคมนาคมนั้นก็ยังขาดแคลนบุคลากรอยู่พอสมควร เราจึงสามารถเพิ่มมูลค่าตัวเองในการต่อรองและหางานได้ ยิ่งผู้ที่เชี่ยวชาญด้านนี้ยังมีค่อนข้างน้อย เพราะคนส่วนมากจะไปทำงานด้านไอทีเนื่องจากตลาดกว้างกว่า มีความต้องการสูงกว่า แต่อย่างไรผู้ที่จบสายนี้มาก็มีงานรองรับแน่นอนเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของคนยุคปัจจุบันอย่างขาดไม่ได้

  • เป็นสายงานที่ใช้ความรู้เฉพาะด้าน และยังมีคนทำน้อย จึงหางานง่ายและรายได้ดี
  • ได้พลิกแพลงแก้ปัญหาที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน งานไม่จำเจจนเกินไป
  • สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน แก้ปัญหาเองได้
  • เวลาทำงานที่ต้องกระทบกับคนหมู่มาก เช่น แก้ไขระบบสัญญาณต่าง ๆ จำเป็นต้องทำเวลากลางคืน เช่น ตั้งแต่เที่ยงคืนถึงสีสาม ต้องปิดตอนกลางคืน ทำให้ต้องมาทำงานกลางดึก ส่วนมากจะมีการวางแผนล่วงหน้าอาทิตย์นึง
  • บางครั้งต้องเดินทางออกนอกสถานที่บ่อย ไม่ได้นั่งอยู่กับที่ตลอดเวลา อาจไม่เหมาะกับคนที่ไม่ชอบเดินทาง

 

  • สามารถทำงานในเวลากลางคืนได้ แสตนด์บายแทนคนอื่นได้ อดนอนได้ ร่างกายแข็งแรงประมาณหนึ่ง
  • มีความคิดริเริ่ม และความคิดสร้างสรรค์จะช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 
  • มีสมาธิ มุ่งมั่นตั้งใจ มีความกระตือรือร้น คิดเร็วทำเร็ว กระฉับกระเฉง 
  • กระตือรือร้นและพัฒนาตนเอง มีแรงขับให้ต้องพัฒนาตนเองและศึกษาเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ตามให้ทันโลกและเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง
  • มีความรู้เฉพาะทางด้านวิศวกรรมโทรคมนาคม และเทคโนโลยี 
  • ทักษะการคิดวิเคราะห์ เป็นทักษะที่จำเป็นอย่างมากกับสายอาชีพ โดยหลัก ๆ ต้องวิเคราะห์ปััญหาที่เกิดกับสัญญาณและหาทางแก้ไข
  • ทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เมื่อเรียนจบมาก็ยังต้องศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนอยู่ตลอด
  • ทักษะการแก้ปัญหา และต้องรู้จักปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ให้ได้ มีไหวพริบในการแก้ไขปัญหา
  • ทักษะความเป็นผู้นำ เป็นทักษะจำเป็นในการทำงานแทบในทุกวิชาชีพ ที่จะช่วยให้เราสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
  • ทักษะการทำงานเป็นทีม ช่วยให้ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี 
  • ทักษะการสื่อสาร เป็นทักษะสำคัญ เพื่อช่วยให้การสื่อสารกับคนภายในทีม หรือแม้แต่ช่วยให้ผู้ที่ไม่เข้าใจระบบด้านวิศวกรรมทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น

เรียน วิศวโทรคมนาคม

การศึกษา

  • ในระดับมัธยมศึกษานั้นจำเป็นต้องเรียนสายวิทย์-คณิตโดยเฉพาะ
  • สอบเข้าคณะวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร information communication วิศวกรรมโทรคมนาคม หรือ Telecom หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้รับวุฒิ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) หรือ อุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต (อส.บ.)

ตัวอย่างสถาบันที่เปิดสอน

  • ​สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สาขาวิชาวิศกรรมโทรคมนาคม
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม หลักสูตรนานาชาติ
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร สาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม (โทรคมนาคม/สารสนเทศและการสื่อสาร)
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์
  • วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์โทรคมนาคม

Hard Skills

  • ทักษะความรู้ทางด้านอาชีพ
  • ทักษะทางภาษาอังกฤษ ที่ต้องใช้อ่านศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง
  • ต้องมีความรู้เรื่องฮาร์ดแวร์ด้วยสำหรับคนออกไซต์ (หากนั่งในออฟฟิศรู้แค่เรื่องซอฟต์แวร์ก็ได้)

Soft Skills

  • การคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา การรคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล
  • มีความตื่นตัว กระตือรือร้นในการเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ความสามารถในการปรับตัว มีความยืดหยุ่น
  • ทักษะการสื่อสาร โดยเฉพาะการอ่าน

กิจกรรมต่าง ๆ 

  • สามารถหาข้อมูลและความรู้เพิ่มเติมได้จากFacebook Page: Telecom Lover เป็นแหล่งความรู้และข่าวเกี่ยวกับเทเลคอมในประเทศไทย

"ถ้าอยากรู้ว่าการสื่อสารไร้สายทำงานยังไง ต้องเรียนในสายงานนี้เท่านั้น เป็นอาชีพที่ได้ทำงานและเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลา

ไม่ซ้ำซากจำเจแน่นอน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้"

วิศวกรโทรคมนาคม

วิชาเรียน

  • Physical Communication เรียนการสื่อสาร AM FM ได้ generate สัญญาณ ทดลองทำทั้งเครื่องส่งและเครื่องรับส่งสัญญาณง่าย ๆ คล้ายเวลารับส่งรหัสลับตอนทำสงคราม การ coding การสื่อสารยุคแรกสุด การเข้ารหัสมอร์ส

  • Data Communication เรียนเกี่ยวกับการสื่อสารที่เปลี่ยนมาเป็นระบบดิจิตอล การเข้ารหัสสัญญาณ

  • Satellite Communication เรียนเกี่ยวกับดาวเทียม ได้ทำ Lab คำนวณองศาในการปรับจานรับสัญญาฯดาวเทียม แล้วนำสัญญาณมาผ่านเครื่องวัด แปลงเป็นภาพ

  • Mobile Communication เรียนเกี่ยวกับสัญญาณโทรศัพท์ 3G 4G 5G

  • Optical Communication เรียนเกี่ยวกับสัญญาณที่วิ่งในเคเบิ้ลใยแก้วเรืองแสง ส่วนประกอบ การคำนวฯอุปกรณ์

  • Aero Communication เรียนเกี่ยวกับสัญญาณที่นักบินส่งคุยกับภาคพื้น จับคลื่นความถี่แล้วเอามาแปลง ถอดรหัสออกมาเป็นถ้อยคำ จะได้ไปลองจับสัญญาณฟังจริง ๆ ด้วย

  • Antenna Engineering เรียนเรื่องการออกแบบเสาอากาศให้มีความแรงและความกว้างของคลื่นตามที่ต้องการ

  • Electromagnetic Wave คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นพื้นฐานของ Antenna ค่อนข้างยากเพราะเป็นคลื่นที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ต้องคำนวณสูตรสมการเยอะ จะหาผลการทำงานต้องใช้การเข้าสูตรอย่างเดียวเลย จะได้ทดลองจับสัญญาณวอล์คกี้ทอล์คกี้ ปรับสัญญาณรับคลื่นความถี่ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับคลื่นสัญญาณต่าง ๆ ทุกรูปแบบ และมีวิชาพื้นฐานที่เรียนเรื่องการสื่อสารในยุคปัจจุบัน ผู้ให้บริการเครือข่ายต่าง ๆ ขั้นตอนการทำงานของการส่งสัญญาณ

อัตราส่วนของวิชาที่ต้องใช้การคำนวณจะอยู่ที่ประมาณ 70%

เคล็ดลับการเรียน

       ควรตั้งใจเรียนเวลาที่เรียนในห้อง เข้าเรียนให้ครบทุกคาบ ก่อนสอบจับกลุ่มติวกับเพื่อน ช่วยกันแก้โจทย์ ทำโจทย์เยอะๆ ฝึกทำ คำนวณ ส่วนที่ต้องใช้การท่องจำก็ต้องหมั่นอ่านทบทวน ให้เพื่อนช่วยติวจะช่วยได้เยอะมาก ช่วยกันติวทำความเข้าใจ

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

       การเรียนในระดับปริญญาตรีจะใช้เวลาเรียนทั้งหมด 4 ปี

  • ปี 1 เรียนวิชาพื้นฐานวิศวกรรม พวกวิชาทั่วไป เช่น math 1-2 วิศวะพื้นฐาน เช่น drawing mechanic ,material , programing ซึ่งเป็นวิชาที่ทั้งคณะเรียนกันไม่ว่าจะสายอะไร มีกิจกรรมรับน้องเป็นหลัก
  • ปี 2 เริ่มเรียนวิชาพื้นฐานของภาค เช่น Electromagnetic เรียน math 3 เริ่มเรียนเรื่อง AM FM พื้นฐานสัญญาณในการสื่อสารทั่วไป พวกแผงวงจร และการโปรแกรมมิ่งพื้นฐานสำหรับ Telecom Engineer มีค่ายรับน้อง มีการทำ Lab ที่เกี่ยวข้องกับวิชาภาคนั้น ๆ
  • ปี 3 เริ่มเรียนวิชาเฉพาะทางที่จับต้องได้มากขึ้น (พบเห็นในชีวิตประจำวัน) โดยนำพื้นฐานที่เรียนไปมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน Lab จะมีความซับซ้อนและยากขึ้น เฉพาะทางมากขึ้น เช่น Satellite ,Mobile ,Optical ฯลฯ มีการฝึกงาน มีการจัดค่าย Open House ที่ให้น้องมาดูการเรียนการสอนในคณะ
  • ปี 4 จะทำโปรเจคหรือสหกิจ โดยไปทำข้างนอกสถานที่ ทั้งสองเทอม แต่ถ้าสหกิจก็ทำเทอมเดียว แล้วมาเก็บวิชาเลือกที่เหลือ

ค่าเทอมตลอดหลักสูตร

  • มหาวิทยาลัยรัฐบาล ประมาณ 18,000 - 23,000+ บาทขึ้นไป
  • สำหรับหลักสูตรนานาชาติ จะเริ่มที่ประมาณ 45,000 บาทขึ้นไป

Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร