พยาธิแพทย์
พยาธิแพทย์
พยาธิแพทย์
พยาธิแพทย์

       พยาธิแพทย์ (Pathologist) มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นหมอที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับหนอนพยาธิ (อ่านว่า พะ-ยาด) แต่รู้หรือไม่ว่า คำว่า พยาธิ (อ่านว่า พะ-ยา-ทิ)  ซึ่งเขียนเหมือนกันแปลว่า โรค หรือความเจ็บไข้ ดังนั้นคำว่าพยาธิวิทยาจึงเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับโรค ซึ่งครอบคลุมถึงสาเหตุ กลไกการเกิดโรค การเปลี่ยนแปลงสภาพของเนื้อเยื่อบริเวณรอยโรค และอาการแสดงของโรค   พยาธิแพทย์คือแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการตรวจและวินิจฉัยโรคจากอวัยวะเนื้อเยื่อ เซลล์ และสารคัดหลั่งจากร่างกายมนุษย์ การวินิจฉัยโรคจึงเป็นงานหลักของพยาธิแพทย์ ไม่ใช่การรักษาผู้ป่วยโดยตรง

พยาธิแพทย์ (Pathologist)

พยาธิแพทย์ (Pathologist)

พยาธิแพทย์ (Pathologist)

 

       การทำหน้าที่วินิจฉัยโรคของพยาธิแพทย์ ทำให้รูปแบบการทำงานคล้ายกับการเป็นทีม support แพทย์สาขาอื่น ๆ ที่เป็นเจ้าของไข้ โดยจะคอยให้ข้อมูล และวินิจฉัยว่า ความผิดปกติของเซลล์หรือเนื้อเยื่อนั้น ๆ เป็นรอยโรคชนิดใด และควรมีแนวทางการรักษาอย่างไร หรือจะพูดให้ชัด ๆ ได้ว่าลูกค้าของพยาธิแพทย์เป็นแพทย์ด้วยกันนั่นเอง

พยาธิแพทย์แบ่งหลัก ๆ ได้เป็น 2 สาขา คือ

  • พยาธิแพทย์คลินิก  คือ แพทย์ที่ทำหน้าที่เป็นผู้แปลผลค่าในผลแล็บโดยทั่วไป เช่น ค่าน้ำตาลในเลือด ค่าสารบ่งชี้มะเร็ง นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ควบคุมการทำงานและคุณภาพในการบริการของห้องแล็บ พยาธิแพทย์สายงานนี้จะไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะการวินิจฉัยการวินิจฉัยโรคด้วยการดูชิ้นเนื้อหรือดูเซลล์แบบพยาธิแพทย์สาขากายวิภาค
  • พยาธิแพทย์กายวิภาค เป็นที่นิยมมากกว่าสาขาคลินิก มีบทบาทในการวินิจฉัยโรคจากเซลล์และเนื้อเยื่อโดยดูการเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติของเซลล์และเนื้อเยื่อ จากแผ่นสไลด์ที่ตัดออกมาจากชิ้นเนื้อผ่านทางกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งงานของพยาธิวิทยากายวิภาคนี้แบ่งออกได้หลักๆเป็น 2 ประเภท คือ  ศัลยพยาธิวิทยา บริการวินิจฉัยโดยการตรวจดูความผิดปกติของชิ้นเนื้อ ส่วนงานอีกประเภท คือ เซลล์พยาธิวิทยา บริการตรวจวินิจฉัยด้วยการดูการเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติของเซลล์ จากสารคัดหลั่ง เช่น เสมหะ น้ำในช่องปอด หรือจากสิ่งที่ได้มาจากการเจาะหรือดูดเซลล์จากก้อนจากอวัยวะต่าง ๆ

       ในการตรวจสอบเนื้อเยื่อของพยาธิกายวิภาคนั้น โดยปกติจะเป็นการบริการในรูปแบบการวินิจฉัยที่รอผลได้ โดยจะใช้เวลารอผลประมาณ 4-5 วัน   แต่ในบางกรณีที่ต้องการทราบผลภายในเวลาอันรวดเร็วก็จะมีบริการตรวจวินิจฉัยอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า บริการตรวจเนื้อเยื่อแช่แข็ง (ขั้นตอนทางลัดในการแช่แข็งด้วยความเย็น โดยไม่ต้องผ่านกรรมวิธีแช่แข็งเนื้อด้วยสารพาราฟินตามปกติที่ต้องรอข้ามวัน) ซึ่งต้องการรู้ผลวินิจฉัยในทันทีเพื่อนำไปรักษาคนไข้ ตัวอย่างเช่น กรณีที่ศัลยแพทย์กำลังผ่าตัดคนไข้แล้วต้องการทราบผลว่าชิ้นเนื้อชิ้นนั้นเป็นมะเร็งหรือไม่ เพื่อนำไปตัดสินใจเลือกการผ่าตัดรักษาที่เหมาะสมต่อไป 

ขั้นตอนการทำงาน 

  • รับชิ้นเนื้อจากแพทย์เจ้าของไข้ โดยจะมีผู้ช่วยพยาธิแพทย์คอยจัดเตรียมชิ้นเนื้อตามกระบวนการ เพื่อทำออกมาเป็นแผ่นสไลด์แล้วนำไปย้อมสี ซึ่งอาจใช้เวลา 1-2 วัน จึงพร้อมสมบูรณ์สำหรับการวินิจฉัยโดยพยาธิแพทย์   กรณี ที่เป็นสิ่งส่งตรวจประเภทสารคัดหลั่งหรือของเหลวหรือสิ่งส่งตรวจที่ได้จากการเจาะดูดก้อนที่ผิดปกติของคนไข้ด้วยเข็มขนาดเล็กจะใช้เวลาเตรียมสั้นกว่าเนื่องจากสามารถนำสิ่งส่งตรวจป้ายลงบนแผ่นสไลด์และนำไปย้อมสีได้เลยโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตัดชิ้นเนื้อออกมาเป็นแผ่นบางๆ เหมือนในกรณีแรก   
  • พยาธิแพทย์ทำการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อวินิจฉัยโรค   
  • พยาธิแพทย์ทำรายงานผลส่งไปยังแพทย์เจ้าของไข้ ในบางสถาบัน เช่น โรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ อาจมีการจัดประชุมร่วมกับแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่น ๆ เพื่อช่วยกันหาวิธีรักษาต่อไป 
  • ในบางกรณีที่ชิ้นเนื้อที่ส่งตรวจมีความซับซ้อนที่ผู้ช่วยพยาธิแพทย์ไม่สามารถดูแลและจัดเตรียมชิ้นเนื้อด้วยตัวเอง พยาธิแพทย์จะเป็นผู้ตรวจชิ้นเนื้อด้วยตาเปล่าและตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งทำสไลด์ด้วยตนเอง

 สถานที่ทำงาน 

  • ห้องแล็บภายในแผนกพยาธิวิทยา คือ ห้องทำงานหลักของพยาธิแพทย์ภายในโรงพยาบาล 
  • คลินิก FNA (fine needle aspiration)  ในกรณีที่พยาธิแพทย์มีการเปิดคลินิกเซลล์วินิจฉัย รับบริการเจาะดูดเซลล์จากก้อนผิดปกติ และวินิจฉัยแก่คนไข้ด้วยตนเอง 

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย 

  • ผู้ช่วยพยาธิแพทย์ อาจเป็นได้ทั้งบุคลากรที่จบสาขาผู้ช่วยพยาธิแพทย์โดยตรง (วุฒิการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิต) หรือจบสาขาอื่น เช่น จบคณะเทคนิคการแพทย์  คณะวิทยาศาสตร์ ฯลฯ โดยบุคลากรเหล่านี้จะทำงานร่วมกับพยาธิแพทย์ภายในห้องแล็๊บ 
  • แพทย์สาขาอื่น ๆ ที่เปรียบเหมือนลูกค้าโดยตรงของพยาธิแพทย์ จึงต้องมีการติดต่อพูดคุยเพื่อปรึกษาแนวทางการรักษาผู้ป่วย
  • นักเซลล์วิทยา ผู้ทำหน้าที่คัดกรองความผิดปกติเบื้องต้น โดยเฉพาะการตรวจ pap smear จากปากมดลูก
  • คนไข้ ในบางกรณีพยาธิแพทย์ให้บริการตรวจเนื้อเยื่อกับคนไข้โดยตรง และสามารถทำการรักษาเบื้องต้นได้ ตัวอย่างเช่น พยาธิแพทย์ที่ออกตรวจคลินิกเซลล์วินิจฉัย (FNA clinic) บางท่านซึ่งนอกจากให้การวินิจฉัยโรคจากการดูเซลล์ที่ได้จากการเจาะดูดแล้ว ยังมีการสั่งยาเพื่อรักษาอาการผิดปกติที่ตรวจพบในกรณีที่เป็นโรคง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่น

 

เงินเดือน พยาธิแพทย์

ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต

ระบบราชการ
  • พยาธิแพทย์ทั่วไปส่วนใหญ่รับราชการ จะก้าวหน้าตามขั้นของระบบ มีเงินประจำตำแหน่ง หรือบางท่านอาจเติบโตไปในสายงานด้านบริหาร เช่น เป็น ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ ฯลฯ เป็นต้น
  • พยาธิแพทย์สายวิชาการอาจเติบโตตามตำแหน่งวิชาการ ได้แก่ เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์และศาสตราจารย์ตามลำดับ รวมถึงเป็นผู้เชี่ยวชาญในพยาธิวิทยาเฉพาะสาขา เช่น สาขา ทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธ์ ระบบสมองและประสาท หรือ โลหิตพยาธิวิทยา ฯลฯ เป็นต้น โดยนอกจากจะเจริญก้าวหน้าตามตำแหน่งวิชาการแล้ว ยังสามารถสร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงการพยาธิวิทยาในระดับประเทศและระดับนานาชาติได้อีกด้วย
ภาคเอกชน 
  • เป็นพยาธิแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชน เติบโตตามระบบขององค์กรนั้น ๆ
  • พยาธิแพทย์อิสระ โดยรับงานแล็บเอกชน หรือเป็นเจ้าของห้องแล็บทางพยาธิวิทยาบริการตรวจวินิจฉัยโรค รายได้ขึ้นอยู่กับผลประกอบการ และจำนวนเคสที่อ่าน

รายได้

       เงินเดือนเริ่มต้นของทางภาครัฐก็ไม่ต่างจากหมอในสาขาอื่น โดยจะมีฐานเงินเดือนและค่าวิชาชีพต่าง ๆ แบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้ 
  • แพทย์รัฐบาล เริ่มต้นประมาณ 50,000 - 60,000 บาท ต่อเดือน
  • แพทย์เอกชน เริ่มต้นประมาน 100,000 บาทต่อเดือน
  • แพทย์รัฐบาล ที่ใช้เวลานอกราชการรับงานอ่านผลเป็นงานเสริม รายได้ขึ้นกับปริมาณงานของแต่ละบุคคล แต่โดยเฉลี่ยประมาณ  100,000 บาทต่อเดือน  
       สิ่งที่จะสร้างรายได้ที่แตกต่าง คือความน่าเชื่อถือ ชื่อเสียง ที่สร้างความมั่นใจในการวินิจฉัยที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพ และหากยิ่งเรียนเฉพาะทางต่อยอดที่ลึกเข้าไป จนองค์ความรู้ที่เรามีเป็นสิ่งหาได้ยากแล้วล่ะก็ รายได้ก็เพิ่มขึ้นตามความรู้และประสบการณ์ไปด้วย

การแข่งขันและความต้องการของตลาด

       ปัจจุบันพยาธิแพทย์ถือว่าเป็นสาขาขาดแคลน ยังบรรจุไม่เต็มอัตรา อาจเป็นเพราะงานลักษณะนี้ไม่เหมือนกับเป็นหมอ ที่ได้ตรวจคนไข้โดยตรง แต่มีความคล้ายคลึงกับนักวิทยาศาสตร์มากกว่า จึงทำให้แพทย์หลายคนที่มีความมุ่งหวังอยากทำงานที่ได้รักษาหรือช่วยชีวิตคนไข้โดยตรง ไม่อยากเลือกเรียนแพทย์เฉพาะทางในสาขานี้ 

 

  • จัดเวลาได้ ไม่มีภาวะฉุกเฉิน เพราะไม่ต้องอยู่เวรเหมือนแพทย์สาขาอื่น ๆ  เป็นอาชีพอิสระ ทำงานได้ตลอดชีวิตเพราะสิ่งที่ใช้คือ ตาและสมอง
  • ทำงานที่ใดก็ได้ ที่อุปกรณ์พร้อม หากมีกล้องอ่านผลอยู่ที่บ้าน มีคนส่งสไลด์ให้อ่าน ส่งผลทางออนไลน์ ในปัจจุบันนี้ เริ่มมีบางแล็บนำระบบดิจิตัลมาใช้ซึ่งสามารถอ่านผลได้ผ่านคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารประเภทแท็บเล็ตหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยไม่ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์   โดยวิธีการก็คือนำสไลด์ที่ผ่านการเตรียมดังกล่าวข้างต้นไปสแกนด้วยเครื่องสแกนสไลด์ แล้วเก็บภาพไว้ในเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งแพทย์จะเปิดดูที่ไหนก็ได้ หากสามารถเชื่อมต่อเข้ามาที่เซิร์ฟเวอร์ได้
  • พยาธิแพทย์เปรียบเสมือนเป็นศาลฎีกา เมื่อมีคนไข้มาตรวจ 1 คน แพทย์จะวินิจฉัยโรคได้จากการรวบรวมข้อมูลทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมถึงผลแล็บอื่นๆ และการตรวจทางรังสีซึ่งก็เป็นแค่การดูเงา   ดังนั้น ในหลายกรณี โดยเฉพาะโรคเนื้องอกหรือมะเร็งนั้น คำตอบสุดท้ายจะอยู่ที่การวินิจฉัยของพยาธิแพทย์   ผลรายงานทางพยาธิวิทยาถือเป็นที่สิ้นสุด   แพทย์ผู้รักษาจะต้องยึดถือเป็นข้อสรุปสุดท้าย แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีความคิดเห็นเป็นอย่างไรมาก่อนก็ตาม   อย่างไรก็ดี อาจมีบางกรณีที่แพทย์ผู้รักษาไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยของพยาธิแพทย์ ซึ่งก็มีช่องทางที่แพทย์ผู้นั้นอาจนำสไลด์ไปให้พยาธิแพทย์ท่านอื่นๆดูเพื่อขอความเห็นเปรียบเทียบ แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด คำตอบสุดท้ายก็ต้องมาจากการวินิจฉัยโดยพยาธิแพทย์อยู่ดี
  • ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าเป็นหมอที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับหนอนพยาธิ (พะ-ยาด)
  • สำหรับนักเรียนแพทย์ส่วนใหญ่ที่ชอบการตรวจคนไข้โดยตรง อาจจะไม่ชอบการทำงานแบบพยาธิแพทย์ที่น้อยครั้งจะได้เจอกับคนไข้ และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในห้องแล็บ 
  • ชอบเรียนรู้ สร้างความน่าเชื่อถือ เนื่องจากพยาธิแพทย์ต้องติดต่อกับแพทย์สาขาอื่นๆ ต้องคอยอัพเดทความรู้ใหม่ๆและนำความรู้นั้นๆไปถ่ายทอดให้แพทย์ผู้รักษา จึงต้องมีการติดตามความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เรียนจบแล้วความรู้หยุดอยู่แค่นั้น เพราะจากข้อมูลทางการแพทย์พบว่าปัจจุบันนี้ ความรู้ใหม่ๆ ทางแพทย์เพิ่มขึ้นเท่าตัวทุกๆ 70 วัน จึงต้องมีนิสัยเรียนรู้ตลอดชีวิต   
  • ช่างสังเกต เนื่องจากงานพยาธิแพทย์เหมือนงานนักสืบ การจะได้คำตอบต้องได้จากการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดนำมารวมกัน โดยได้จากการสังเกตทุกสิ่งที่เห็น เปรียบเสมือนเล่นเกมภาพปริศนา เช่น ภาพทั้งภาพเปรียบเสมือนก้อนเนื้อขนาดใหญ่ แต่เวลาตัดออกมาตรวจ ตัดมาแค่ชิ้นเล็กนิดเดียว จึงเหมือนเป็นการใช้ข้อมูลที่มีอยู่เพียงน้อยนิดจากชิ้นเนื้อที่ได้รับในการวินิจฉัยรอยโรคทั้งก้อน คล้ายกับการทำนายว่าเป็นภาพของใครโดยเปิดให้เห็นเพียงบางส่วน เช่น ให้เห็นแค่ตา เป็นต้น
  • ละเอียดรอบคอบ ถือว่าเป็นงานที่ท้ายทายมาก เพราะหมอด้านอื่นจะเชื่อในผลของชิ้นเนื้อของพยาธิแพทย์เป็นสำคัญเนื่องจากเป็นคำตอบท้ายสุด เปรียบเสมือนเป็นศาลสูงสุด ดังนั้น พยาธิแพทย์จึงต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดในเรื่องของความถูกต้องของผลทางพยาธิวิทยา   หากเป็นคนลวก ๆ ชุ่ย ๆ ไม่ควรมาเป็นพยาธิแพทย์ 
  • ทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ ใจเย็น มีขั้นตอนในการทำการวินิจฉัยเพื่อให้ผลที่ออกมามีคุณภาพมากที่สุด เพราะหากคิดว่าการทำงานร่วมกับคนไข้จะมีความกดดันและความคาดหวังสูงแล้ว การร่วมงานกับหมอด้วยกันยิ่งยากกว่า เพราะหากไม่มีความรู้ ความสามารถที่เป็นที่ยอมรับแล้วจะอยู่ในอาชีพนี้ลำบาก
  • ทักษะการสื่อสาร เนื่องจากต้องสื่อสารกับผู้ร่วมงานอื่น เช่น แพทย์ต่าง ๆ ทำอย่างไรให้แพทย์ พึงพอใจ มีความเชื่อถือ มั่นใจในตัวเรา 
  • ทักษะภาษาอังกฤษ ต้องดีพอสมควร เพราะการรายงานผลทางพยาธิวิทยาจะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เป็นประโยชน์ในเวลาที่คนไข้นำผลไปรักษาที่ประเทศอื่น อ่านแล้วทุกคนเข้าใจ 
  • ทักษะด้านการจัดการ โดยเฉพาะการควบคุมคุณภาพของห้องแล็บ เป็นเรื่องที่มาแรงและทุกคนให้ความสนใจ ยกมาตรฐาน ISO ได้รับการรับรองต่าง ๆ เป็นความสำคัญ เป็นความเป็นความตายของผู้ป่วย ผิดพลาดไม่ได้ ผิดพลาดหมายถึงการวิจัยฉัยที่ผิดไปด้วย การที่พยาธิแพทย์จะอ่านผลได้ดี คุณภาพของสไลด์ หรือชิ้นเนื้อต่าง ๆ ต้องออกมาดี การเตรียมสไลด์ต้องมีคุณภาพ ความผิดพลาดสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ และนอกจากจะวินิจฉัยได้แม่นยำถูกต้องแล้ว ต้องออกผลได้ทันการณ์ โดยมีหน่วยงานภายนอกตรวจคุณภาพทุก 2 ปี ระหว่างนั้น ทุกปีจะมีการตรวจสอบภายในกันเองด้วย

เรียน พยาธิแพทย์

การศึกษา

  • เรียนแพทยศาสตร์ 6 ปี   หลังจากนั้นต้องทำงานชดใช้ทุนเป็นเวลาอีก 3 ปี (ทำงานโรงพยาบาลของรัฐ) จึงสามารถเรียนต่อเฉพาะทางได้ซึ่งใช้เวลาอีก 3 ปี  โดยการเรียนเฉพาะทางทุกสาขาไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นการเรียนรู้แบบ learning by doing คือ เป็นการทำงานและเรียนรู้แต่ละเคสพร้อมกับอาจารย์แพทย์ผู้ดูแล ที่คอยให้คำแนะนำ ตรวจสอบผล   ในบางสาขาที่มีความขาดแคลน รัฐบาลอนุญาตให้เรียนเฉพาะทางสาขาเหล่านั้นโดยถือว่าได้นับเวลาใช้ทุนไปด้วย ซึ่งพยาธิวิทยาเป็นหนึ่งในสาขาไม่กี่สาขาที่ทำได้ เนื่องจากถือว่าเป็นสาขาขาดแคลน 
  • ตามปกติสาขาเฉพาะทางของแพทย์ส่วนใหญ่ เมื่อจบ 6 ปีแล้ว ต้องไปเรียนเพิ่มพูนทักษะในโรงพยาบาลต่างจังหวัด (intern) เป็นเวลา 1 ปี ก่อนเข้าเรียนต่อเฉพาะทางได้ แต่พยาธิวิทยาเป็นสาขาเดียวที่ไม่จำเป็นต้องเพิ่มพูนทักษะ สามารถมาเรียนต่อได้เลยหลังเรียนจบ 6 ปี (ถ้ามีเงินใช้ทุนหรือมีโรงพยาบาลต้นสังกัดเป็นผู้ส่งเรียน) เพราะถือว่าเป็นสาขาขาดแคลน
       โดยสถาบันที่เปิดสอนเฉพาะทางสาขาพยาธิวิทยากายวิภาค มีดังนี้
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
  • โรงพยาบาลศิริราช
  • โรงพยาบาลรามาธิบดี 
  • โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า 
  • สถาบันพยาธิวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี
  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น
       ส่วนสถาบันที่เปิดสอนเฉพาะทางสาขาพยาธิวิทยาคลินิก ได้แก่
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
  • โรงพยาบาลศิริราช
  • โรงพยาบาลรามาธิบดี

 

Hard skills 

  • วิชาพื้นฐานสำหรับการสอบเรียนแพทย์ต่าง ๆ ถือว่าจำเป็นและสำคัญมาก 
  • เตรียมเรื่องภาษาอังกฤษให้ดี เพราะเป็นปัจจัยหลักในการทำงานของแพทย์

Soft skills

  • ทักษะการพูดและการเขียน เพราะในการรายงานผลต่าง ๆ  ต้องชัดเจนถูกต้องเข้าใจตรงกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมีผลต่อชีวิตของคนไข้
  • ฝึกการจัดการเวลาและการบริหาร เพราะอีกงานหนึ่งที่สำคัญของพยาธิแพทย์คือการจัดการห้องแล็บให้มีคุณภาพและได้รับการรับรองจากองค์กรรับรองคุณภาพระดับประเทศและระดับสากล

แหล่งความรู้เพิ่มเติม

  • ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์มีข่าวสารสำหรับวงการให้สามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้ 

คำบอกเล่าจากคนในสายอาชีพ

       การทำอะไรให้ประสบผลสำเร็จ ไม่ว่าอาชีพไหน ใช้หลักการเดียวกันหมด คือ ต้องมีฉันทะ หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า passion  นอกจากจะชอบเพราะถูกจริตกับตัวเราแล้ว สิ่งหนี่งที่สำคัํญมากคือ เวลาทำงานเราต้องเห็นคุณค่าในงานที่ทำ คนที่ทำงานแล้วประสบความสำเร็จคือคนที่รู้จักคุณค่า รู้ว่างานที่ตนเองทำมีคุณค่า แล้วเวลาทำงานจะมีความสุข เกิด Impact เกิดผลที่ดีต่อคนไข้ ดีกับสังคม ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด 

รศ.นพ.สมบูรณ์ คีลาวัฒน์ 

หัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยา (Department of Pathology) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รพ.จุฬาลงกรณ์)

 

IDOL สายอาชีพ

  • Rudolf Ludwig Carl Virchow (พ.ศ. 2364-2445) แพทย์ชาวเยอรมันซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งพยาธิวิทยาสมัยใหม่ (the father of modern pathology)   ท่านเป็นบุคคลแรกที่ตัดชิ้นเนื้อจากผู้ป่วยที่ยังไม่ได้เสียชีวิตมาทำการวินิจฉัยโรคด้วยการดูจากกล้องจุลทรรศน์
  • ศาสตราจารย์อุปการคุณ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส หรือหลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์ (พ.ศ.2439-2518) มีบทบาทในวงการแพทย์และพยาธิวิทยาของไทยมาก เคยดำรงตำแหน่งเป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข   ในวงการพยาธิวิทยา ถือว่าท่านเป็นพยาธิแพทย์ไทยคนแรก   ที่สำคัญ ท่านเป็นผู้มีบทบาทในการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและแผนกพยาธิวิทยา ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ด้วย

วิชาที่เรียน

       ในระดับปริญญาตรีนั้น นักเรียนแพทย์ต้องมีการเรียนรู้ด้านพยาธิวิทยาเบื้องต้นอยู่แล้ว โดยในชั้นปีที่ 2 จะเป็นพื้นฐานอย่างรายวิชา Foundation Pathology of Disease  และร่วมสอนในวิชาเรียน กับภาควิชาอื่น ๆ เพื่อใหนักเรียนแพทย์เข้าใจภาพรวมก่อนทั้งในชั้นปีที่ 2 และ 3 แล้วจึงมีการเปิดวิชาเลือกแก่นิสิตแพทย์ที่มีความสนใจด้านพยาธิวิทยา ได้เลือกเรียน เช่น พยาธิวิทยาพื้นฐานประยุกต์ ประสาทพยาธิวิทยา พยาธิวิทยาระบบทางเดินอาหาร พยาธิวิทยาของศีรษะและลำคอ เป็นต้น ต่อมาในชั้นปีที่ 6 เปิดวิชาเลือกด้านพยาธิวิทยา อาทิ  พยาธิวิทยาประยุกต์ ปฏิบัติการพยาธิวิทยา การเจาะดูดด้วยเข็มเล็ก เป็นต้น 

เคล็ดลับการเรียน

  • ความขยันยังเป็นสิ่งสำคัญ ต้องตั้งใจเรียน อ่านหนังสือทบทวนให้มาก
  • ตั้งใจทำเกรดวิชาพยาธิวิทยาให้ได้ดี ๆ ตั้งแต่ช่วงเรียนหมอใน 6 ปีแรก 
  • ติดตามอัพเดทความรู้ด้านโรคต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันความรู้เรื่องโรคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุก ๆ 70 วันเลยทีเดียว พยาธิแพทย์ที่ดี จึงควรตามความรู้ให้ทัน 

 

  • แพทย์นิติเวช จะมีขั้นตอนการทำงานที่ซ้อนทับกันในส่วนของการผ่าศพพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิต ซึ่งพยาธิแพทย์จะตรวจศพที่มีการตายตามธรรมชาติ ในขณะที่แพทย์นิติเวชจะตรวจศพที่มีการตายผิดธรรมชาติ
  • ผู้ช่วยพยาธิแพทย์ ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันที่สอนสาขานี้โดยตรงคือ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยบูรพา วุฒิการศึกษาที่ได้รับคือวิทยาศาสตรบัณฑิต โดยจะมีองค์ความรู้ด้านพยาธิวิทยาแต่ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแพทย์ 
  • นักเซลล์วิทยา จะมีลักษณะการทำงานคล้าย ๆ พยาธิแพทย์ แต่จะทำหน้าที่เพียงคัดกรองความผิดปกติเบื้องต้น ภายใต้การควบคุมดูแลของพยาธิแพทย์ โดยเฉพาะการตรวจ pap smear จากปากมดลูก
  • นักวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือนักเทคนิคการแพทย์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยงานในห้อง Lab ของพยาธิแพทย์

 

 

 

 

ขอขอบพระคุณ รศ.นพ.สมบูรณ์ คีลาวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยา (Department of Pathology) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ให้สัมภาษณ์และเอื้อเฟื้อข้อมูล


Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร