กุมารแพทย์
กุมารแพทย์
กุมารแพทย์
กุมารแพทย์

       กุมารแพทย์ (Pediatric) หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “หมอเด็ก” เป็นแพทย์เฉพาะทางซึ่งเรียนต่อจากแพทย์ทั่วไปที่จบมา 6 ปีแล้ว และศึกษาเกี่ยวกับเด็กโดยเฉพาะอีก 3 ปี  เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในการดูแลเด็กมากยิ่งขึ้น งานที่ทำก็ตรงตามชื่ออาชีพ คือ รักษาเด็กที่ป่วยทุกด้าน ทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และในบางครั้งก็มีหน้าที่ต้องช่วยรักษาและให้ความช่วยเหลือพ่อแม่ ผู้ปกครองทั้งในด้านจิตใจและสังคมด้วย เช่น การช่วยประคับประคองจิตใจพ่อแม่ การหาความช่วยเหลือให้แก่ครอบครัวที่ไม่พร้อมหรือเดือดร้อนในแง่ต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบถึงเด็ก 
       นอกจากการรักษาแล้วยังมีการให้ความรู้ผู้ปกครองเกี่ยวกับเลี้ยงดูเด็กตามช่วงวัยต่าง ๆ การส่งเสริมเด็กให้เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัย ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการให้วัคซีนป้องกันโรค คำแนะนำในการป้องกันโรคติดต่อที่สามารถเกิดขึ้นได้ในเด็ก ฯลฯ แพทย์สายนี้ต้องใช้ศิลปะในการคุยและเข้าหาเด็กให้เหมาะตามพัฒนาการเด็ก มีความอดทนในการที่อาจจะต้องคุยกับคนไข้หลายครั้ง และเนื่องจากเด็กเล็กเป็นสิ่งมีชีวิตที่คาดเดาอารมณ์และเก็บอารมณ์ได้ยาก ทำให้บางครั้งการตรวจอาจต้องใช้เวลามากกว่าผู้ใหญ่ และแพทย์จะต้องมีความอดทนและเข้าใจเด็กให้มากพอ 

กุมารแพทย์  (Pediatrician)

กุมารแพทย์  (Pediatrician)

กุมารแพทย์  (Pediatrician)

 

ลักษณะการทำงาน

       หลังเป็นกุมารแพทย์แล้ว ถ้าหากไม่ศึกษาต่อเพิ่มเติม ก็จะปฏิบัติหน้าที่เป็นกุมารแพทย์ทั่วไป ซึ่งดูแลทุกโรคในเด็ก แต่ยังสามารถไปเรียนเฉพาะทางต่อยอดได้อีกหลายสาขา เช่น พัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก, วัยรุ่น, โรคหัวใจ, โรคไต, โรคผิวหนัง, โรคภูมิแพ้, โรคทางเดินหายใจ, วิกฤติในเด็ก (ดูแล ICU โดยเฉพาะ), โรคข้อ, โรคทางพันธุกรรม, ทารกแรกเกิด, โรคระบบประสาท, โรคทางเดินอาหาร, โรคต่อมไร้ท่อ, จิตเวชเด็ก ฯลฯ 

ขั้นตอนการทำงาน

ขั้นตอนทำงานจะขึ้นกับโรงพยาบาลที่ประจำอยู่ แต่โดยรวมจะคล้ายคลึงกัน 
  • เช้าประมาณไม่เกิน 7.00 น. จะไปราวน์ตามหอผู้ป่วยต่าง ๆ เพื่อดูแลผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลอยู่ ถ้าอยู่โรงเรียนแพทย์ หรือโรงพยาบาลศูนย์ของภาคนั้น ๆ ที่มีการสอนนักศึกษาแพทย์ช่วงเวลาแปดถึงเก้าโมง มักจะมีกิจกรรมทางวิชาการต่าง ๆ เช่น Morning report คือการนำคนไข้ที่นอนโรงพยาบาลมาเล่าให้ที่ประชุมฟังเพื่อช่วยกันอภิปรายแนวทางการรักษา, อ่านวารสาร, มีการทำหัวข้อความรู้มาพูดให้ที่ประจำฟัง, หรืออาจมีการประชุมอื่น ๆ เป็นต้น 
  • ช่วง 9.00 น. เป็นต้นไปมักขึ้นอยู่กับว่าเดือนไหน หรือช่วงสัปดาห์นั้นต้องปฏิบัติงานที่ไหน เช่น ตรวจผู้ป่วยนอก, กลับมาคอยดูแลคนไข้ที่หอผู้ป่วย, ช่วยสูติกรรมดูแลเด็กที่จะคลอด, รับปรึกษาผู้ป่วยเด็กนอกแผนก ฯลฯ 
  • ถ้าเป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนแพทย์ก็จะมีกิจกรรมทางวิชาการอื่น ๆ เช่น สอนนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านในการดูแลผู้ป่วย, สอน Lecture, ตรวจงานของนักศึกษาแพทย์ หรือต้องช่วยเหลือเกี่ยวกับงานบริหารของโรงพยาบาล เป็นต้น 
  • การทำงานถึงกี่โมงจะขึ้นอยู่กับว่าดูแลคนไข้เสร็จเมื่อไหร่ ช่วงประมาณ 16 น. ซึ่งมักจะนับเป็นช่วงเปลี่ยนกะ มักเป็นช่วงที่เจ้าของไข้จะต้องส่งเวรให้คนที่อยู่เวรคืนนั้น ๆ ดูแลต่อเนื่อง และทำงานต่าง ๆ ต่อเช่น งานเอกสาร, ดูผลการตรวจต่าง ๆ ที่ได้ส่งไว้ในช่วงเช้าให้เรียบร้อย, อาจจะมีการทำหัตถการกับผู้ป่วยที่ยังไม่เสร็จในเวลา ฯลฯถ้าวันที่งานไม่ยุ่งอาจจะได้เลิก 16 น. แต่ถ้าไม่เสร็จอาจจะถึงดึกได้ 
  • วันที่มีหน้าที่อยู่เวรนอกเวลา จะเป็นวันที่ค่อนข้างเหนื่อย เนื่องจากหลังทำงานในกะเช้าทั้งหมดแล้ว จะต้องดูแลคนไข้ทุกหอผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลของกุมารแพทย์ ตั้งแต่เวลาประมาณ 16.30 หรือ 17.00 ถึง 6.00 หรือ 7.00 น. โดยประมาณ และต้องมาปฏิบัติงานที่ต้องทำในตอนเช้าของตนเองต่อไป เสมือนทำงานทั้งหมด 32 ชั่วโมงติดต่อกัน ในช่วงเวลาที่มีหน้าที่ดูแลหอผู้ป่วย ต้องทำใจว่าจะไม่มีวันหยุดเลย เนื่องจากต้องมาดูแลคนไข้ทุกวัน 
  • ในช่วงที่ดูแลผู้ป่วยนอก หากอยู่ในราชการอาจได้หยุดตามวันหยุดราชการได้ มีวันลาให้ แต่ต้องระวังไม่ให้กระทบการดูแลผู้ป่วยและเพื่อนร่วมงานด้วย การติดต่อประสานงานมีตั้งแต่กับบุคลากรในโรงพยาบาลทั้งในและนอกแผนก การติดต่อระหว่างโรงพยาบาลอื่น ๆ รวมไปถึงการติดต่อกับส่วนงานนอกโรงพยาบาลอื่น ๆ อีกหลายส่วนด้วย เช่น กระทรวงสาธารณสุข, อนามัย ฯลฯ 

 

       เนื่องจากการรักษาเด็กส่วนมาก เด็กสามารถฟื้นตัวได้ดี และค่อนข้างมีความหวัง กุมารแพทย์เป็นอาชีพที่ถือว่ามีความสุขพอสมควรเมื่อเทียบกับแพทย์สาขาอื่น  ในช่วงหลังเด็กเกิดน้อยลงมาก งานจึงอาจจะไม่หนักเท่ากับอายุรแพทย์หรือสาขาอื่น ๆ และการได้อยู่กับเด็กก็ถือเป็นความสนุก และสีสันของชีวิตอย่างหนึ่ง ได้ฝึกการเข้าหาเด็กอย่างหลากหลาย รวมถึงการเข้าหาผู้ปกครองด้วยเช่นกัน

สถานที่ทำงาน 

  • โรงพยาบาลหรือคลินิก ในแผนกกุมารเวช
  • สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียน มูลนิธิเด็ก
  • สถานคุมความประพฤติเด็ก กระทรวงสาธารณสุข

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย

  • พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ซึ่งมีหน้าที่ช่วยแพทย์ในการตรวจคนไข้อยู่แล้ว
  •  แพทย์ทั่วไปหรือแพทย์เฉพาะทางแผนกอื่น ๆ
  • เภสัชกร ซึ่งต้องจ่ายยาตามที่แพทย์กำหนด

       นอกจากนี้ยังมีสายอาชีพอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวเนื่องด้วย ในการให้ความช่วยเหลือและประสานงานในการรักษาคนไข้ เช่น นักสังคมสงเคราะห์ นักกิจกรรมบำบัด นักโภชนาการ นักกายภาพ เป็นต้น

เงินเดือน กุมารแพทย์

 

 
นักศึกษาแพทย์ → แพทย์ทั่วไป →  กุมารแพทย์ → กุมารแพทย์ต่อยอดตามสาขาที่เลือกเรียน 
 
  • หลังเรียนจบตำแหน่งมักเริ่มด้วยกุมารแพทย์ทั่วไป แต่จะขึ้นถึงตำแหน่งใดขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลที่ไปทำงาน เช่น หากโรงพยาบาลนั้นไม่มีแพทย์อื่นประจำอยู่ หรือกุมารแพทย์นั้นมีอายุงานมากที่สุดอาจได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลทันที 
  • หากอยู่ที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่อาจได้เป็นกุมารแพทย์ที่ทำงานดูแลคนไข้ทั่วไป และอาจได้เลื่อนขึ้นเป็นหัวหน้าหน่วยกุมารเวชกรรม หรือหากมีความสามารถมากอาจได้เป็นตำแหน่งบริหารใหญ่ในโรงพยาบาล 
  • หากอยู่โรงเรียนแพทย์จะเริ่มจากการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ก่อน ในอนาคตถ้าเรียนเฉพาะทางต่อยอดอาจได้เป็นหัวหน้าของหน่วยนั้น ๆ  ต่อด้วยหัวหน้าภาควิชา และถ้ามีความสามารถอาจขึ้นไปได้ถึงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล หรืออธิการบดีของคณะแพทยศาสตร์ เป็นต้น

ตำแหน่งและการเติบโตในสายอาชีพ

       หากทำงานในโรงพยาบาล จะมีลำดับการเลื่อนตำแหน่งคือ

  • หัวหน้าหน่วย
  • หัวหน้าภาควิชา
  • รองผู้อำนวยการฝ่ายต่าง ๆ
  • ผู้อำนวยการหรืออธิการบดี หรืออาจได้เป็นระดับสาธารณสุขจังหวัด ฯลฯ 

เงินเดือน

รายได้เฉลี่ย ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่ทำงานและจำนวนเวรที่ได้รับ 

  • หากอยู่โรงพยาบาลรัฐบาล เงินเดือนอย่างเดียวอาจะเริ่มต้นที่ 15,000 – 30,000 บาท ค่าเวรนอกเวลาอาจอยู่ที่ 100-500 บาท/ชั่วโมง ค่าพ.ต.ส. 10,000 บาท (ค่าพ.ต.ส. คือ เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข) 
  • ถ้าอยู่ในโรงพยาบาลที่ห่างไกลจะได้รับเบี้ยกันดารเริ่มต้นที่ 10,000 บาท เฉลี่ยอยู่ตั้งแต่ 30,000 บาทเป็นต้นไป ขึ้นกับปริมาณเวรที่อยู่
  • หากทำงานเอกชน Part Time เพิ่ม รายได้ขึ้นอยู่กับที่ทำงาน อาจเริ่มที่ 400 ถึง 1,000 บาท/ชั่วโมง และอาจะได้รับค่าตอบแทนจากค่าธรรมเนียมแพทย์เพิ่มเติม 
  • หากอยู่เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลเอกชน รายได้แล้วแต่ที่ที่อยู่ อาจเริ่มตั้งแต่ 80,000 –200,000 บาท หรืออาจได้มากกว่านั้น

การแข่งขันและความต้องการของตลาด

       ช่วงปีหลังมานี้ในใจกลางเมืองกรุงเทพมีกุมารแพทย์มากจนเกือบพอในโรงพยาบาลต่าง ๆ ทำให้กุมารแพทย์ทั่วไปเริ่มหางานทำได้ยากขึ้น แต่กุมารแพทย์เฉพาะทางต่อยอดยังเป็นที่ต้องการในหลายโรงพยาบาล ถ้ามีการฝึกอบรมต่ออาจเพิ่มโอกาสได้งานมากขึ้น 
       ส่วนโรงพยาบาลชานเมือง ปริมณฑล และต่างจังหวัดยังเป็นที่ต้องการมาก โดยเฉพาะจังหวัดที่ห่างไกลและมีแพทย์น้อย ความยากง่ายในการทำงานอาจะแล้วแต่โรงพยาบาลที่อยู่และดวงของแต่ละบุคคล และอาจขึ้นกับอาการคนไข้ที่ต้องเจอว่ามีความซับซ้อนมาเพียงใด อยู่ในโรงพยาบาลที่พร้อมจะดูแลหรือต้องส่งต่อหรือไม่ ระบบการส่งต่อยากหรือง่าย ในโรงพยาบาลมีเครื่องมือ อุปกรณ์ที่พร้อมจะดูแลผู้ป่วยหรือไม่ มีเครื่องมือและการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมที่เพียงพอหรือไม่ 
       หากอยู่โรงเรียนแพทย์จะได้พบคนไข้ที่มีความซับซ้อนและยากในการรักษา แต่มีกุมารแพทย์ต่อยอดสาขาต่าง ๆ ที่มีความรู้จะมาช่วยกันดูแลผู้ป่วยได้ดี สามารถส่งตรวจเพิ่มเติมได้มากมาย มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า แต่ขั้นตอนในการทำงานต่าง ๆ อาจดูยุ่งยากซับซ้อนจากการที่ต้อง contact กับหลายแผนก และยังต้องมีงานเกี่ยวกับการให้ความรู้นักศึกษาแพทย์เพิ่มเติม ไม่ได้ทำแต่การดูแลคนไข้เพียงอย่างเดียว 
หากอยู่ในโรงพยาบาลจังหวัดจะได้ดูแลผู้ป่วยที่ซับซ้อนปานกลาง ขึ้นกับศักยภาพของแต่ละโรงพยาบาล แต่จะมีผู้ป่วยปริมาณมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนบุคลากรที่มีอยู่ ทำให้มีคนไข้ที่ต้องตรวจปริมาณมาก อาจะทำให้บางครั้งการตรวจทำได้ไม่ละเอียดเท่ากับโรงเรียนแพทย์และระบบการส่งต่อเพื่อไปโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลอื่น บางครั้งก็ติดต่อได้ยาก 
       หากได้ทำงานที่โรงพยาบาลอำเภอ หรือโรงพยาบาลชุมชน อาการคนไข้อาจซับซ้อนน้อยกว่า ถ้าซับซ้อนมากสามารถส่งต่อโรงพยาบาลจังหวัดได้ทันที ปริมาณสัดส่วนคนไข้ต่อแพทย์อาจมากเทียบเท่าโรงพยาบาลจังหวัด และศักยภาพของเครื่องมือ การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และเอกซเรย์อาจต้องมีการปิดนอกเวลา ทำให้การส่งตรวจเป็นไปได้ยาก และการดูแลคนไข้มีข้อจำกัดหลายอย่าง แต่ถ้ามีความรู้ ความสามารถ ความพยายาม และความตั้งใจที่มากพอ ไม่ที่ไหนทำงานยาก ยกเว้นมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน

 

  • ได้ทำประโยชน์ให้ผู้อื่น ช่วยเหลือคนไข้และครอบครัวให้พ้นทุกข์ ได้ความสุขทางใจค่อนข้างมาก 
  • ได้เฝ้าดูเด็กค่อย ๆ เติบโต สามารถนำความรู้ในการดูแลเด็กมาดูแลลูกหรือหลานได้ 
  • ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และศิลปะในการดูแลเด็กค่อนข้างมาก 
  • งานหนักไม่มากหากเมื่อเทียบในสายแพทย์ด้วยกัน เด็กเล็กมักมีความหวังในการรักษา แม้เกิดมาจะป่วยหนักมากเพียงใด บางคนสามารถโตมาพัฒนาการเหมือนเด็กปกติได้ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความหวังเสมอ
  • ต้องใช้ความอดทนและความเข้าใจในตัวเด็กมาก หากใครไม่มีใจรักอาจไม่สามารถอดทนตรงจุดนี้ได้ 
  • การให้ยาหรือสารน้ำในเด็กจะต้องให้ปริมาณตามน้ำหนัก ซึ่งยาแต่ละตัวจะใช้ขนาดที่ไม่เท่ากัน ทำให้ต้องจำปริมาณยาและต้องคำนวณยามาก 
  • การดูแลเด็กหนึ่งคนเหมือนต้องช่วยประคับประคองครอบครัวไปด้วย เนื่องปัจจัยทางครอบครัวจะส่งผลกับเด็กมาก ทำให้ต้องดูแลแบบองค์รวม และต้องให้คำปรึกษากับหลายคนหลายครั้ง 
  • การทำหัตถการกับเด็กจะยากกว่าผู้ใหญ่เนื่องจากเด็กมักใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลเสมอ ทำให้ต้องมีการเกลี้ยกล่อมกันนาน
  • รายได้เมื่อเทียบกับสายแพทย์อื่นน้อยกว่าพอสมควร
  • แพทย์เป็นอาชีพที่ต้องมีการอยู่เวรบางวันอาจต้องทำงานทั้งคืน ไม่ได้นอนแล้วต้องทำงานกลางวันต่อ ซึ่งเป็นจุดที่ต้องยอมรับและอดทนต่อความง่วงและความเหนื่อย จึงจะผ่านพ้นไปได้ ในช่วงภาวะวิกฤตต้องกล้าตัดสินใจ กล้าเผชิญและแก้ปัญหา ไม่ควรปล่อยคนไข้ทิ้งแล้วไม่ทำการรักษา
  • มีจิตวิทยากับเด็กและรู้จักจัดการอารมณ์ของตนเอง กุมารแพทย์ต้องมีสามารถสะกดอารมณ์โกรธ ไม่พอใจให้ได้ เนื่องจากเด็กมักให้ความร่วมมือได้น้อย โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังพูดไม่ได้ ถ้ามีใจเมตตาต่อเด็กจะทำให้สามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้น
  • มีความเห็นอกเห็นใจ สามารถทำความเข้าใจผู้ปกครองที่จะห่วงใยต่อเด็ก ใช้จิตวิทยาและการรับมือที่เหมาะสม
  • มีความละเอียดรอบคอบ เนื่องจากยา สารน้ำ หัตถการ ทุกอย่างต้องจำทั้งปริมาณยา ปริมาณสารน้ำ ลักษณะของยาหรือสารน้ำที่ใช้ได้ในเด็กช่วงอายุเท่าไหร่ ต้องคำนวณอย่างแม่นยำ ถ้ามากหรือน้อยเกินไปล้วนส่งผลเสียต่อเด็กทั้งสิ้น สิ่งของที่ใช้ในการทำหัตถการจะมีเบอร์ที่เหมาะสมต่ออายุ หรือขนาดตัวเด็ก ซึ่งจะใช้ไม่เหมือนกัน และเนื่องจากเด็กมีขนาดตัวเล็กกว่าผู้ใหญ่ทำให้การทำหัตถการอาจยากและต้องใช้ความใส่ใจให้มาก
  • อดทนและเสียสละ ต้องเข้าใจว่าอย่างไรหมอเด็กต้องมีอยู่เวร ถ้าโชคไม่ดีอาจจะต้องทำงานทั้งคืน ไม่ได้นอนแล้วต้องทำงานกลางวันต่อ ซึ่งเป็นจุดที่ต้องยอมรับและอดทนต่อความง่วงและความเหนื่อย จึงจะผ่านพ้นไปได้ ในช่วงภาวะวิกฤตต้องกล้าตัดสินใจ กล้าเผชิญและแก้ปัญหา ไม่ปล่อยคนไข้ทิ้งแล้วหนีไป
  • ทักษะในการดูแลคนไข้ รวมไปถึงการทำหัตถการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ซึ่งสามารถฝึกฝนเพิ่มเติมได้ตั้งแต่ช่วงเป็นนักศึกษาแพทย์และแพทย์ใช้ทุน
  • ทักษะการสื่อสาร เวลาการทำงานส่วนใหญ่ของกุมารแพทย์  คือการสื่อสารกับญาติของเด็กที่ป่วย และความพยายามที่จะสื่อสารกับเด็กี่กำลังป่วย และพร้อมที่จะทำการรักษา ดังนั้นการสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้
  • ทักษะการแก้ปัญหา แพทย์จำเป็นต้องมีทักษะการประเมินอาการของคนไข้ และเลือกใช้วิธีรักษาที่ดีที่สุด การคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา รวมถึงความสามารถในการตัดสินใจ การวินิจฉัยโรคต่าง ๆ เกิดจากการวิเคราะห์ตามอาการและข้อมูลประกอบกัน ทักษะในด้านนี้จึงสำคัญมาก
  • ทักษะด้านการจัดการ การบันทึกการรักษา จัดการและประเมินผลต่างๆ ควรเป็นระบบเพื่อให้การช่วยให้การรักษาและธุรกิจด้านการแพทย์ดำเนินลุล่วง
  • ทักษะความเป็นผู้นำ การจัดระบบการทำงาน การบริหาร วางแผน และการจัดสินใจ ถือเป็นคุณสมบัติของผู้นำที่แพทย์พึงมี และถือเป็นตัวอย่างให้เจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ในโรงพยาบาลด้วย
  • ทักษะการคิดวิเคราะห์ แพทย์ต้องทำการประเมินคนไข้ วินิจฉัยโรคจากอาการที่เห็น และพฤติกรรมการต่าง ๆ ประกอบจากการซักถามข้อมูลจากคนไข้เองหรือญาติ และวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุและหนทางการรักษา 

     

เรียน กุมารแพทย์



     น้อง ๆ ที่สนใจอยากเป็นกุมารแพทย์ ต้องเข้าเรียนสายสามัญวิทย์คณิตเท่านั้น และสอบเข้าเป็นนักเรียนแพทย์ในสถาบันที่ได้รับการรับรองให้ได้ เมื่อจบแพทย์ 6 ปีเป็นแพทย์ทั่วไปแล้ว ส่วนมากมักต้องใช้ทุนจนครบ 3 ปีก่อนจึงจะมาสมัครเรียนเฉพาะทางในช่วงใช้ทุนปีที่ 3 ได้ แต่มีโรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลศูนย์บางแห่งสามารถใช้ทุนเพียง 1 ปี และกลับมาเรียนต่อได้เลย โดยถ้าโครงการอย่างหลังนี้ต้องสมัครตั้งแต่ช่วงต้นของนักศึกษาแพทย์ปีที่ 6 
       หลังจากที่สมัครและผ่านการสอบสัมภาษณ์เข้ามาเรียนต่อแล้ว จะใช้เวลาในการอบรมทั้งหมด 3 ปี หลังจากเรียนจบหากใครทำเรื่องขอทุนของโรงพยาบาลไหนมาเรียน จะต้องกลับไปทำงานชดใช้ทุนที่โรงพยาบาลนั้น ข้อดีของการนำทุนมาเรียนคือ มักจะมีภาษีในการสอบสัมภาษณ์พอสมควร เนื่องจากโรงเรียนแพทย์ต้องการผลิตแพทย์เฉพาะทางให้กระจายไปอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ มากขึ้น การันตีว่าจบไปมีที่ทำงานแน่นอน แต่ข้อเสียคือ หลังจากเรียนจบแล้วต้องกลับไปทำงานชดใช้ทุนเพื่อช่วยเหลือที่นั้น ๆ ถ้าไปแล้วรู้สึกไม่มีความสุขและคับข้องใจจะเปลี่ยนที่ได้ยาก หรือต้องชดใช้เงินทุน และทำให้โรงพยาบาลนั้น ๆ พลาดโอกาสที่จะรับกุมารแพทย์คนอื่น ดังนั้นหากเป็นที่ที่ไม่อยากไป แนะนำว่าไม่ไปรับทุนน่าจะสบายใจทั้ง 2 ฝ่ายที่สุด และไม่ตัดโอกาสคนที่อยากได้ที่นั้น ๆ จริง ๆ 
       ถ้าไปเรียนโดยไม่มีทุน (free train) ต่างจากมีทุนตรงที่เงินเดือนจะได้จากโรงพยาบาลที่ไปฝึกอบรมโดยตรง ไม่เหมือนคนที่มีทุนจะได้จากโรงพยาบาลที่ขอทุนมา (ซึ่งมักจะได้มากกว่า) ข้อดีคือ เมื่อจบไปสามารถเลือกที่ทำงานได้อย่างอิสระ ไม่มีภาระผูกพัน ข้อเสียคือ เมื่อไปสอบสัมภาษณ์ บางครั้งกรรมการอาจเลือกคนที่มีทุนก่อน และถ้าโรงพยาบาลที่หวังไว้ไม่มีตำแหน่งว่างพอ ก็อาจจะต้องหาที่ทำงานเอง ซึ่งบางโอกาสก็หายาก

 

Hard Skill

  • ตั้งใจหมั่นศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์และร่างกายมนุษย์ เพราะการเรียนแพทย์นั้นจะต้องมีกระบวนการทำงานของร่างกายมนุษย์ และการเชื่อมโยงกันของอวัยวะและระบบต่างๆ และสิ่งใดบ้างที่จะช่วยรักษาหรือทำลายระบบต่างๆในร่างกาย การแพทย์ถือเป็นการเปิดโลกมหัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์ให้ผู้เรียน โดยเฉพาะวิชาทางชีววิทยาที่เกี่ยวข้อง
  • ขยัน ใส่ใจการเรียนและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ การเรียนแพทย์ ต้องอาศัยความทุ่มเทอย่างมาก เพราะต้องจดจำและเข้าใจทุกอย่างในเวลาไม่กี่ปีของชีวิตนักเรียนแพทย์แม้จะเรียนจบแล้วก็ยังต้องอ่านหนังสืออยู่เสมอ เพื่อที่จะได้เข้าใจความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ตามทันการเปลี่ยนแปลง และนำองค์ความรู้ใหม่ๆที่ได้รับมาเป็นตัวช่วยในการรักษาผู้ป่วยให้ดีขึ้น
  • หากเริ่มเข้าใกล้อาชีพกุมารแพทย์แล้ว ควรเพิ่มเติมความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการรักษาดูแลและจิตวิทยาเด็ก รวมถึงผู้ปกครองของเด็ก ซึ่งจะได้เรียนรู้ทั้งด้านทฤษฏีและการปฏิบัติจริงในระยะเวลาที่ศึกษา

Soft Skill 

  • ทักษะการฟัง การพูด การสื่อสาร ในการทำงานนั้นต้องติดต่อกับผู้คนหลายฝ่าย ทั้งคนไข้ ญาติคนไข้ และผู้ร่วมงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การสื่อสารให้ชัดเจนถูกต้องเข้าใจตรงกันจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
  • ฝึกการควบคุมอารมณ์และความอดทน เพราะกุมารแพทย์ต้องใจเย็นและอดทน ทั้งการรับมือกับเด็กและผู้ปกครอง

กิจกรรมต่าง ๆ 

  • อ่านTextbook ที่ได้มาตรฐานเช่น Nelson textbook of pediatrics หรือวารสารที่มีความน่าเชื่อถือ
  • ติดตามเว็บไซต์ที่รวบรวมความรู้ทางการแพทย์ เช่น up to date ฯลฯ 

คำบอกเล่าจากคนในสายอาชีพ

       "แพทย์ยังเป็นอาชีพที่น่าภาคภูมิใจในความรู้สึกของตัวเอง ไม่ได้ภาคภูมิใจที่ดูเก่งหรือดูเหนือกว่าใคร แต่เป็นอาชีพที่ได้ทำประโยชน์ ช่วยเหลือคนอื่นในทุกวัน ซึ่งเป็นคุณค่าทางใจที่ประเมินค่าไม่ได้ และอาจไม่ได้พบทุกวันในอาชีพอื่น ๆ ได้รับฟังประสบการณ์ชีวิตมากมายจากคำบอกเล่าของคนไข้และครอบครัว ซึ่งอาจเป็นเหตุการณ์ที่ชีวิตนี้เราไม่อาจได้ประสบเลยได้ ทำให้ได้รับความรู้ในการใช้ชีวิตหลายแง่มุม และทำให้เข้าใจคนในทุกระดับได้มากขึ้น
กุมารแพทย์เป็นอาชีพที่อยู่กับเด็กเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่สดใสและสดชื่นเมื่อได้อยู่ด้วย แม้บางคนจะบอกว่าน่ารำคาญบ้างเมื่อเด็กไม่ให้ความร่วมมือ แต่ถ้าเข้าใจพัฒนาการของเด็กแต่ละคน ก็จะสามารถตัดความรำคาญนั้นทิ้งไปและพยายามเข้าใจเด็กได้ พยาบาลที่ดูแลแผนกกุมารเวชกรรมส่วนใหญ่มักเป็นคนที่ใจดีมีเมตตาและใจเย็น การรักษาเด็กนั้นมีความหวังเสมอ เนื่องจากเด็กยังสามารถฟื้นฟูร่างกายได้ดี มีหลายคนที่ผ่านพ้นช่วงวิกฤตและสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงได้"
       "การรักษาเด็กมักง่ายกว่าการรักษาผู้ใหญ่เนื่องจากมีผู้ปกครองคอยกำกับอีกทางหนึ่ง ส่วนมากจะได้รับการรักษาที่ครบถ้วนและต่อเนื่อง ทำให้ทำงานร่วมกันอย่างสบายใจ ในแง่ค่าครองชีพอาจไม่ได้สูงมากแต่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างไม่ลำบาก แม้ช่วงชีวิตที่ผ่านมาจะเหนื่อยมาก ต้องมีความรับผิดชอบสูง และผ่านการกดดันมามาก แต่เมื่อผ่านพ้นมาได้จะรู้สึกได้ส่าแข็งแกร่งในการใช้ชีวิตมากขึ้น มีความอดทนและเป็นผู้ใหญ่รวมถึงผู้นำมากขึ้น แต่หากไม่ได้ฝึกอบรมหรือทำงานที่โรงพยาบาลใกล้บ้านอาจทำให้ต้องห่างกับครอบครัว หรือคนรัก มีหลายคู่ที่ทำงานห่างกันต้องเลิกรากันไปไม่น้อย ต้องทำใจว่าต้องทำงานในวันหยุดแม้จะเป็นช่วงเทศกาลหยุดยาว เนื่องจากคนไข้ไม่สามารถเลือกวันหยุดได้ การลาบางครั้งทำได้ยาก ต้องพยายามไม่ให้กระทบต่อระบบงาน คนไข้ และเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะถ้าโณงพยาบาลนั้น ๆ มีแพทย์ประจำอยู่น้อย จะกำหนดแผนการหยุดให้ตรงกับครอบครัวทุกครั้งได้ยาก"

รวยวรรณ สันติเวส แพทย์หญิงสาขากุมารเวชศาสตร์

 

 

วิชาที่เรียน       

  • ปี 1 จะเรียนวิชาพื้นฐานของมหาวิทยาลัย เช่น แคลคูลัส, ปรัชญา, อังกฤษ, วิทยาศาสตร์(ชีวะ เคมี), การทำแลปบางอย่าง 
  • ปี 2 จะเรียนเกี่ยวกับอวัยวะในร่างกายมนุษย์ทั้งหมด รวมไปถึงผ่า gross anatomy แต่ละกลุ่มจะมีอาจารย์ใหญ่ที่ต้องช่วยกันดูแล จะมีการเคารพร่างอาจารย์ก่อนการเรียน หลังจากผ่าแต่ละส่วนเสร็จจะต้องช่วยกันดูแล เช่น พ่นฟอร์มาลิน ห่อร่างให้เรียบร้อย หลังเรียนครบทั้งปีจะมีการทำบุญใหญ่และพระราชทานเพลิงศพ 
  • ปี 3 จะเรียนเกี่ยวกับระบบอื่นการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย และจะได้มีการฝึกทำแลปหรือฝึกทางพยาธิวิทยา เช่น เจาะลือด, แปลผลกรุ๊ปเลือด, ฝึกใช้กล้องจุลทรรศน์, ทำไสลด์เลือดเพื่อตรวจดูทางกล้องจุลทรรศน์, การย้อมดูเชื้อโรค, การดูพยาธิแต่ละชนิด ฯลฯ
  • ปี 4 ถึง ปี 6 จะเรียนจากคนไข้จริงทั้งหมด โดยส่วนมากจะเรียนจากเคสและอ่านหนังสือหรือบทความเพื่อหาความรู้ในแต่ละภาควิชานั้น ๆ

       เมื่อเรียนต่อยอดเป็นแพทย์เฉพาะทางกุมารเวช จะเริ่มเรียนวิชาที่เกี่ยวกับความรู้พื้นฐานทางกุมารเวชศาสตร์ เช่น ความรู้พื้นฐานทารกแรกเกิด พัฒนาการเด็ก สรีรวิทยา รวมทั้งการสื่อสารกับผู้ป่วยและผู้ปกครอง และวิชาเกี่ยวกับโรคเฉพาะทางประเภทต่าง ๆ เช่น โรคติดเชื้อ โรคระบบหายใจ โรคภูมิแพ้และระบบภูมิคุ้มกัน ฯลฯ

 

เคล็ดลับการเรียน

  • ความขยันยังเป็นสิ่งสำคัญ ต้องตั้งใจเรียน อ่านหนังสือทบทวนให้มาก
  • การท่องจำจะช่วยในบางวิชา เช่น anatomy แต่การเรียนด้วยความเข้าใจมีความสำคัญมาก ถ้าไม่เข้าใจจะทำข้อสอบไม่ได้  โดยเฉพาะในช่วงปี 4-6 ไม่สามารถท่องจำอย่างเดียวได้ ต้องนำความรู้ทั้งหมดมาประยุกต์ใช้ให้ได้ ดังนั้นถ้าไม่เข้าใจควรให้เพื่อน หรือพี่ หรืออาจารย์ช่วยสอน เนื่องจากนอกจากเรียนเพื่อไปสอบแล้วยังเรียนเพื่อไปใช้ในชีวิตจริงอีกด้วย 
  • การแบ่งอ่านหนังสือกับเพื่อนเมื่อจะอ่านไม่ทันเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เพื่อช่วยกันย่อยเนื้อหาที่สำคัญมาแชร์นระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากนักศึกษาแพทย์มีเวลาอ่านหนังสือไม่มากนัก การช่วยกันเรียนจึงสำคัญ

ชีวิตนักศึกษา

       ช่วงชีวิตปี 1-3 ใช้ชีวิตเหมือนกับนักศึกษาคณะอื่น ๆ คือ เรียนเลคเชอร์ในห้องเรียนเป็นเวลา ทำกิจกรรมร่วมกับคณะหรือมหาวิทยาลัยบ้าง ไปเที่ยวสังสรรค์กับเพื่อนบ้าง ช่วยกันอ่านหนังสือเตรียมสอบบ้าง ยังมีวันหยุดตามเวลาราชการปกติ และเป็นช่วงเวลาที่สบายที่สุดของการเป็นนักศึกษาแพทย์ มีปิดเทอมด้วย ในช่วงปี 3 นี้จะเริ่มมีการสอบใบประกอบวิชาชีพขั้นที่ 1 จากทั้งหมด 3 ขั้น โดยขั้นที่ 1 นี้จะเป็นการวัดความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ทางทฤษฎี 

       ช่วงขึ้นปี 4-5 เป็นช่วงที่ได้เริ่มฝึกดูแลคนไข้จริง จะต้องเป็นการราวน์วอร์ดเพื่อดูแลคนไข้ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ ต้องมาทำงานแต่เช้าก่อนพี่ทุกชั้นปี ต้องช่วยเขียนเอกสาร ติดตามผลตรวจต่าง ๆ และเริ่มมีการอยู่เวร แต่มักจะยังไม่มีการค้างคืน อาจะอยู่ถึงเวลา 22-24 น. มีรายงานผู้ป่วยต้องเขียนส่งอาจารย์ และต้องคอยทำเนื้อหาความรู้ต่าง ๆ มาอ่านกับอาจารย์แพทย์และเพื่อน เป็นช่วงปรับตัวเข้าสู่ความเป็นแพทย์ฝึกหัด เริ่มไม่มีวันหยุดและเข้า-เลิกงานไม่เป็นเวลา เนื่องจากต้องดูคนไข้ให้เสร็จจริงจึงจะเลิกงานได้ การทำงานจะวนแต่ละภาควิชาไปเรื่อย ๆ เช่น อายุรศาตร์, กุมารเวชศาตร์, สูติ-นรีเวช ฯลฯ ระยะเวลาที่อยู่ไม่เท่ากัน แต่จะอยู่กลุ่มเดียวกับเพื่อนเดิมตลอดทั้งปี ดังนั้นการได้อยู่กับเพื่อนที่ดี ไม่เอาเปรียบกันทำให้ทำงานสนุกมาก แม้ว่างานจะเหนื่อยมากก็ตาม ช่วงนี้จะมีการสอบใบประกอบวิชาชีพขั้นที่ 2 เป็นการสอบทฤษฎีการแพทย์ทางคลินิกเป็นหลัก ช่วงปี 6 เป็นช่วงที่ทำงานเสมือนเป็นแพทย์จริง ต้องดูแลผู้ป่วยด้วยตนเองแต่จะมีแพทย์ประจำบ้านหรืออาจารย์คอยช่วยกำกับดูแลด้วย ตอนช่วงนี้ได้รู้ซึ้งถึงชีวิตหมอของจริงแล้ว เหนื่อยมาก เริ่มฝึกการอดนอนโดยต้องมีสติเป็นครั้งแรก และถึงจะเหน็ดเหนื่อยเพียงไหนใกล้สอบก็ต้องอ่านหนังสือ บางหน่วยไม่ไห้หยุดก่อนสอบด้วย ไปสอบแบบที่ยังเหนื่อยแบบนั้นเลย เรียกว่าชีวิตพบความทรหดเป็นครั้งแรก นอกจากดูแลคนไข้แล้วยังต้องคอยสอนน้องปี 4-5 ไปด้วย ต้องคอยควบคุมดูแลน้อง และคอยช่วยเหลือพี่และอาจารย์ เป็นช่วงเวลาที่ถูกคาดหวังสูงพอสมควร เนื่องจากเป็นโค้งสุดท้ายก่อนออกไปทำงานจริง ปีสุดท้ายนี้จะมีการสอบใบประกอบวิชาชีพครั้งสุดท้ายซึ่งเป็นการสอบภาคปฏิบัติต่อหน้าอาจารย์หลายสถาบัน เป็นช่วงเวลาที่กดดันที่สุดในชีวิตนักศึกษาแพทย์เลยก็ว่าได้ 

       หลังจบครบ 6 ปีและเริ่มออกมาเผชิญชีวิตแพทย์จริง ในช่วงแพทย์ใช้ทุนจะเป็นช่วงที่เหนื่อยมาก เนื่องจากมีเวรต้องอยู่ปริมาณมาก จากที่ปริมาณแพทย์ต่อเวรมีน้อย คนไข้ในโรงพยาบาลแต่ละจังหวัดมีมากตามไปด้วย เป็นช่วงชีวิตที่เรียกว่าต้องทำได้ทุกอย่าง เนื่องจากจะไม่ได้มีใครลงมาช่วยเหลือตลอดเวลาเหมือนตอนเป็นนักศึกษาแล้ว เรียกว่าถ้าทำไม่ได้คนไข้จะแย่ ต้องท่องไว้อย่างเดียวว่าต้องทำให้ได้ ซึ่งช่วงแรกที่ยังจบมาใหม่ ๆ เนื่องจากประสบการณ์ยังน้อย หลายคนจะเครียดในช่วงเริ่มต้นนี่มาก แต่หลังจากเริ่มทำอะไรได้มากขึ้น จะเริ่มมีความสุขบนความเหนื่อยและชินไปเอง

       หลังจากใช้ทุนเรียบร้อยแล้ว กลับมาเป็นแพทย์ที่อบรมเป็นกุมารแพทย์นั้น ชีวิตจะต้องอยู่ในกรอบการเรียนอีกครั้ง แต่ลักษณะการเรียนจะเป็นแบบผู้ใหญ่มากขึ้น ต้องมีความรับผิดชอบที่ดี การเรียนเป็นกุมารแพทย์จะใช้เวลาทั้งหมด 3 ปี เรียกแพทย์ช่วงนี้ว่าแพทย์ประจำบ้านหรือ Resident เรียกสั้น ๆ ว่า dent (เด้น) โดยในช่วง resident ปีที่ 1 จะมีหน้าที่ต้องดูแลคนไข้เป็นคนแรกก่อน resident 2 และ 3 และมักจะเป็นคนคอยดูแลนักศึกษาแพทย์โดยตรง จะเป็นช่วงที่ทำงานเหนื่อยที่สุดและมีความเครียดพอสมควร ต้องมีการปรับตัวเพื่อดูแลคนไข้เด็กให้ดี แต่ยังมี resident 2 และ 3 คอยช่วยเหลือกำกับดูแล รวมไปถึงอาจารย์ด้วย ช่วงเวลาที่เรียน 3 ปีนี้นอกจากต้องดูแลคนไข้แล้ว ยังมีกิจกรรมทางวิชาการอีกมากมายที่ต้องทำ รวมถึงต้องฝึกทำวิจัยส่งด้วย ในช่วง resident 2 และ 3 จะมีหน้าที่คอยดูแล resident 1 และ 2 รวมไปถึงคอยสอนนักศึกษาแพทย์ช่วยอาจารย์ โดยในช่วง resident 2 จะต้องมีการสอบเพื่อวุฒิบัตรกุมารแพทย์ครั้งแรก จะเป็นการสอบภาคปฏิบัติ ซึ่งมีความตื่นเต้นมากในช่วง resident 3 จะเป็นช่วงเวลาที่กดดันที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงที่อาจารย์คาดหวังมาก ต้องสอบเพื่อวุฒิบัตรกุมารแพทย์อีก 2 ครั้ง โดยจะมีการสอบความรู้ภาคทฤษฎี 2 ครั้ง เป็นปีที่ต้องทำวิจัยเสร็จ และต้องมีความรับผิดชอบสูงมาก  

ค่าเทอมตลอดหลักสูตร

       ค่าเทอมประมาณ 13,000 – 14,000 บาท/เทอม รวม 6 ปี เฉลี่ย150,000-170,000 บาท/ปี แต่หากเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนอาจประมาณปีละ 1,000,000 บาท ช่วงฝึกอบรมเป็นกุมารแพทย์ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน เหมือนทำงานไปด้วยฝึกงานไปด้วย ได้เงินเดือนแทน แต่จะมีค่าสอบเพื่อวุฒิบัตรในแต่ละครั้ง รวม 3 ครั้ง ประมาณ 10,000 บาท

ทุนการศึกษา

       ช่วงนักศึกษาแพทย์จะมีทุนสำหรับต่างจังหวัดในบางแห่ง เรียกว่าโครงการ CPIRD หรือ ODOD โดยรัฐบาลสนับสนุนเงินเรียนให้ บางกรณีได้ค่าขนม และสามารถเบิกค่าหอได้ ช่วงฝึกอบรมแล้วแต่ว่านำทุนของโรงพยาบาลไหนมา ถ้านำทุนมาจะเป็นเชิงโรงพยาบาลเจ้าของทุนเป็นคนออกเงินเดือนให้ แต่ถ้าไม่ได้นำทุนมา โรงพยาบาลที่ฝึกอบรมจะออกเงินเดือนให้

มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก 

       มีหลายแห่งทั้งในอเมริกาและยุโรป เช่น 

  • Harvard university
  • UCLA,John Hopkins university
  • Stanford university
  • University of Cambridge
  • University of Oxford 

 


Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร