แพทย์ผิวหนัง
แพทย์ผิวหนัง
แพทย์ผิวหนัง
แพทย์ผิวหนัง

       ปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปร่างหน้าตาคือเรื่องสำคัญ เพราะเป็นสิ่งแรกที่คนจะเห็น พร้อมที่จะตัดสินและเลือกปฏิบัติด้วย อีกทั้งยังมีผลต่อโอกาสทางอาชีพการงาน บางคนถึงขั้นมีผลต่ออารมณ์ จิตใจ ความรู้สึกต่อตนเอง แน่นอนว่าใคร ๆ ก็อยากดูดี อยากมั่นใจในตนเอง จึงทำให้เกิดคลินิกเสริมความงามขึ้นมากมาย และผู้ที่จะคอยดูแลให้คนมีความมั่นใจขึ้นคือแพทย์ผิวหนัง 

       แม้ว่าแพทย์ผิวหนังอาจถูกมองว่าเป็นแพทย์ด้านความงาม ดูแลเรื่องผด ฝ้า สิว ผิวหย่อนคล้อย แต่แท้จริงแล้ว แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง หรือ เดอร์มาโทโลจิสต์ (Dermatologist) หรือ ตจแพทย์ ยังมีความเชี่ยวชาญและรักษาโดยตรงเกี่ยวกับโรคทางผิวหนัง กามโรค โรคติดเชื้อต่าง ๆ เป็นเวชกรรมเฉพาะทาง ซี่งต้องจบหลักสูตรการอบรมและสอบวุฒิบัตรจากแพทยสภา

แพทย์ผิวหนัง  (Deramtologist)

แพทย์ผิวหนัง  (Deramtologist)

แพทย์ผิวหนัง  (Deramtologist)

 

ลักษณะการทำงาน 

       แพทย์ผิวหนังมีลักษณะการทำงานคล้าย ๆ กับ แพทย์ประจำคลินิกที่ต้องคอยพูดคุยกับคนไข้ ตรวจสอบผิวหนัง สอบถามอาการและการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งอาหารการกิน การบำรุงผิว หรือปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่ออาการป่วยของคนไข้  แล้วจึงวิเคราะห์ถึงสาเหตุ ประเมินว่าจะใช้วิธีการอะไรในการรักษา 

ขั้นตอนการทำงาน

  • พูดคุยสอบถามคนไข้ถึงอาการที่เป็นอยู่
  • ซักประวัติ ตรวจร่างกาย วินิจฉัย หาสาเหตุของอาการ
  • ให้คำปรึกษา เลือกการรักษาที่เหมาะสมให้คนไข้ เพื่อให้คนไข้พิจารณาวางแผนการเข้ารับการรักษา
  • นัดติดตามผลตามอาการ

สถานที่ทำงาน

  • คลินิกหรือโรงพยาบาลแผนกผิวหนัง เนื้องานทั้งหมดของแพทย์ผิวหนังมักจะอยู่ในคลินิกประจำ เรียกได้ว่าตั้งแต่คลินิกเปิดยันปิด จะเจอแพทย์เสมอ  นอกเหนือเวลางานอาจมีเดินทางไปอบรม ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมบ้าง

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย

       ในกรณีของแพทย์ผู้ปฏิบัติการ แทบไม่ต้องร่วมงานกับใคร สามารถดำเนินงานรักษาคนไข้ตั้งแต่ต้นจนจบได้ด้วยตัวคนเดียว บางครั้งอาจทำงานร่วมกับแพทย์รุ่นพี่ ที่เข้ามาชี้แนะให้คำแนะนำในการทำงาน แต่ถ้าในมุมมองของคนที่เป็นเจ้าของคลินิก ก็จะมีคนที่ต้องติดต่อด้วยหลายส่วน เช่น 

  • ฝ่ายบัญชี คอยจัดการเรื่องการเงินการบัญชี
  • ฝ่ายสต๊อก ดูแลอุปกรณ์ทางการแพทย์ และตัวยาที่ต้องใช้
  • พนักงาน – ดูแลส่วนต่าง ๆ ทั้งพนักงานต้อนรับ พนักงานกราฟิก แพทย์ประจำ เซลส์

ทางเลือกอาชีพ 

       หลังเรียนจบมักจะเริ่มต้นด้วยการฝึกงานกับคลินิกที่เปิดรับ ส่วนใหญ่จะเป็นโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ที่รับแพทย์ฝึกงาน หลักจากนั้นก็เลือกสมัครงานว่าจะทำกับสถาบันเสริมความงาม โรงพยาบาล หรือที่ไหนที่ต้องการ พร้อมกับการศึกษาเพิ่มเติมความรู้ไปเรื่อย ๆ
หากมีประสบการณ์ ทุนทรัพย์ และการวางแผนทางธุรกิจที่มากพอก็สามารถเปิดคลินิกของตัวเองได้ แพทย์บางคนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายผลิตภัณฑ์เสริมความงามต่าง ๆ รวมไปถึงอาหารเสริม  

 

 

 

  • ได้ช่วยให้คนไข้ให้มีความสุข สร้างความมั่นใจ มีผลต่อคุณภาพชีวิตของเขาที่ดีขึ้น
  • มีรายได้ที่มั่นคง มีเวลาทำงานที่แน่นอน
  • ต้องใช้เวลาและความทุ่มเทในการศึกษาหาความรู้สะสมประสบการณ์ มีสมาธิในการทำงานอย่างมาก เพราะหากเกิดความผิดพลาด นั่นหมายถึงความเสียหายต่อร่างกายและจิตใจของคนไข้
  • รักการเรียนรู้ วิทยาการ ความรู้ ด้านความงามนั้นพัฒนาอยู่ตลอดเวลา แพทย์จำเป็นต้องหมั่นใฝ่รู้ใฝ่เรียนตลอดชีวิต แม่แต่บางอย่างที่คิดว่ารู้แล้ว ทำเป็นแล้ว ก็ยังต้องเข้าไปอบรมเพื่อแชร์ประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นเสมอ 
  • ช่างสังเกต จะช่วยให้การเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ประสบผลไวขึ้น รวมไปถึงการวินิจฉัยคนไข้ด้วย ถ้าช่างสังเกตมากพอ จะเจอสิ่งที่คนไข้ไม่ได้บอก หรือไม่รู้ตัวเองด้วยซ้ำ
  • มนุษยสัมพันธ์ที่ดี นอกเหนือจากเรื่องของฝีมือแล้ว การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีก็จะช่วยเพิ่มพันธมิตรและรักษาลูกค้าได้ยืนยาว เพราะลูกค้าบางคนก็ติดใจที่การเอาใจใส่ ความสบายใจ และการพูดคุยของแพทย์เป็นอันดับหนึ่ง
  • มีวินัย อดทน แพทย์เป็นอาชีพที่ต้องมีความเสียสละด้านเวลา เพราะการรักษาต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และต้องทำอย่างตั้งใจ 
  • ละเอียดรอบคอบ เริ่มตั้งแต่การซักประวัติ การวินิจฉัย ต้องรอบคอบมากพอที่จะเจอสาเหตุที่แท้จริง ไม่ได้วิเคราะห์เพียงผิวเผิน เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้อง ขั้นตอนการรักษาก็ต้องแม่นยำ เช่น ปริมาณยา ตำแหน่งการยิงเลเซอร์ ความเข้มข้นของส่วนประกอบ
  • มีความรับผิดชอบ เพราะคนไข้ไว้ใจที่จะฝากรูปร่างหน้าตา ซึ่งเปรียบเหมือนชีวิตของเขาให้แพทย์ดูแล แพทย์ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อทุกการดูแลคนไข้นั้น ๆ รับผิดชอบต่อวิชาชีพ
  • เห็นอกเห็นใจผู้อื่น คุณสมบัตินี้มีผลต่อการปฏิบัติต่อคนไข้อย่างมาก แพทย์ที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น จะใส่ใจ ดูแลคนไข้อย่างดีมากกว่าคนที่นิ่งเฉย ไม่รู้สึกถึงความทุกข์ ความรู้สึกของคนไข้ 
  • ทักษะด้านภาษา การเรียนแพทย์จะเจอคำศัพท์ คำอธิบาย รวมไปถึงตำราที่เป็นภาษาต่างประเทศมากกว่าภาษาไทย ดังนั้นทักษาด้านภาษาจึงจำเป็นอย่างยิ่ง 
  • ทักษะการคิดวิเคราะห์ เพื่อวินิจฉัย เพื่อให้เกิดการรักษาที่ถูกต้อง
  • ทักษะการสื่อสาร ระหว่างการรักษา แพทย์ต้องสื่อสารกับคนไข้ให้ชัดเจน ว่ากำลังจะทำอะไร ผลคืออะไร จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ต้องปฏิบัติอย่างไรต่อ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และคลายความกังวลไปได้ ซึ่งจะมีผลต่อการรักษาอย่างราบรื่น
  • ทักษะการใช้เครื่องมือ แต่ละการรักษา ต้องมีทักษะหัตถเวช ใช้เครื่องมือที่ต่างกัน การเข้าใจในความสามารถ ข้อจำกัดของเครื่องมือต่าง ๆ กับการหมั่นฝึกฝนจะทำให้สามารถใช้เครื่องมือในการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

เรียน แพทย์ผิวหนัง

การศึกษา

       แพทย์ผิวหนังนั้นเป็นสาขาเฉพาะทางของแพทย์ทั่วไป ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องจบการศึกษาและได้รับวุฒิแพทย์ศาสตร์บัณฑิตเสียก่อน จากนั้นก็สอบใบประกอบวิชาชีพและทำการใช้ทุน 1-3 ปี (ขึ้นอยู่กับสถานที่ทำงาน) จึงเลือกศึกษาต่อแพทย์ผิวหนัง (ตจวิทยา) ต่ออีก 2-4 ปี ตามสถาบันต่าง ๆ หากต้องการต่อแพทย์ผิวหนังเฉพาะทางก็สามารถเรียนต่ออีก 1-2 ปีได้
อีกทางหนึ่งคือหลังจบแพทย์ทั่วไปแล้วเลือกเรียนต่อปริญญาโท ซึ่งมีทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

       ทั้งนี้ แพทย์ทั่วไปที่ไม่ได้จบเฉพาะทางก็สามารถรักษาโรคทางผิวหนังได้เช่นกัน แต่ะไม่สามารถอ้างตนว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคผิวหนังได้เพราะจะถือว่ามีความผิด

 

 

Hard Skill

  • ทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพแพทย์และโรคผิวหนังต่าง ๆ
  • ทักษะการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ในสายงาน
  • ทักษะทางภาษาอังกฤษ ที่ใช้ในการเรียนและจำศัพท์การแพทย์ทุกอย่าง

Soft Skill

  • ฝึกทักษะการสื่อสาร ทั้งการสื่อสารกับผู้ป่วย ญาติ และเพื่อนร่วมงาน เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันในการรักษา
  • ฝึกบริหารจัดการเวลา การวางแผนจัดตารางงาน แบ่งเวลาให้เป็น

 

 

วิชาที่เรียน 

       เนื้อหาที่จะได้เรียนจะมีทั้ง ความรู้เกี่ยวกับผิวหนังชั้นต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับนอกสุดลงไป ชั้นโครงสร้าง ส่วนประกอบ เนื้อเยื่อ การติดเชื้อ อาการผิดปกติและโรคทางผิวหนัง วิธีการรักษาและการศัลยกรรมต่าง ๆ กระบวนการทางคลินิก เภสัชวิทยาทางคลินิก ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีเรื่องการสื่อสาร การตัดสินใจทางคลินิก จริยธรรมทางการแพทย์ กฎหมายทางการแพทย์ หลักการบริหารจัดการ ไปจนถึงการดูแลตนเองของแพทย์อีกด้วย
โดยในหลักสูตรการเรียนการสอนนั้นจะมีทั้งการฟังบรรยาย อภิปรายผู้ป่วย ทำวิจัย ออกตรวจผู้ป่วยจริง วิเคราะห์ภาพถ่าย วิเคราะห์เคสผู้ป่วยต่าง ๆ ฯลฯ

       หากเรียนต่อในระดับปริญญาโทจะได้เรียนเรื่องการจัดการสภาพผิวในผู้ป่วยทุกช่วงวัย สภาพของโรคผิวหนัง เทคนิคในการวินิจฉัย ความผิดปรกติของผิวหนังและเยื่อเมือก ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิต ภูมิคุ้มกัน ชีววิทยา ผิวหนังอังเสบ โรคผิวหนังเม็ดสี มะเร็งผิวหนัง การผ่าตัด ผลกระทบทางจิตวิทยาของโรคผิวหนัง ฯลฯ

ตัวอย่างวิชาเรียน

  • ตจวิทยาพื้นฐาน  การกำเนิดเซลล์ผิวหนัง ส่วนประกอบชั้นผิวหนัง โครงสร้าง การทำงานของต่อม ฯลฯ
  • ตจวิทยาคลินิก  เรียนเกี่ยวกับโรคผิวหนังที่พบบ่อย เช่น การดูผื่น อาการแสดง อาการดำเนินโรค
  • ตจศัลยศาสตร์  การรักษาโรคผิวหนัง การเสื่อมสภาพของผิว เนื้องอกและมะเร็งผิวหนังโดยใชวิธีการผาตัด 
  • ตจพยาธิวิทยา  การตรวจวินิจฉัยในระดับเซลล์ โดยการตัดชิ้นเนื้อที่รอยโรค ส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
  • โรคติดเชื้อทางผิวหนัง ระบบภูมิคุมกันตอเชื้อจุลชีพ พยาธิกําเนิดของการติดเชื้อจุลชีพที่ผิวหนัง

เคล็ดลับการเรียน 

       เคล็บลับการเรียนแพทย์ผิวหนังนั้นจะคล้ายกับการเรียนแพทย์ทั่วไปหรือสายอื่น คือตั้งใจและกอบโกยความรู้ให้ได้มากที่สุดเวลาอยู่ในคาบหรือไปออกตรวจกับผู้เชี่ยวชาญคนอื่น หมั่นอ่านและขยันท่องจำศัพท์

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

       การเรียนการสอนส่วนมากจะเน้นศึกษาจากเคสในการลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริง รวมถึงฟังบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญ แรกเริ่มอาจเป็นผู้เฝ้าดูอย่างเดียว จากนั้นจะเริ่มได้ฝึกทำหัตถการโดยมีผู้เชี่ยวชาญดูแล ที่สำคัญคือการทำงานวิจัย โดยต้องบริหารจัดการเวลาทั้งหมดให้ดี

ค่าเทอมตลอดหลักสูตร

  • สำหรับปริญญาโทจะมีค่าธรรมเนียมการศึกษาต่อหลักสูตรประมาณ 360,000.- บาท
  • หากเป็นหลักสูตรนานาชาติของมหาวิทยาลัยเอกชนจะอยู่ที่ประมาณ 860,000.- บาท

มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก

  • มหาวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ
  • มหาวิทยาลัยคาร์ดีฟ
  • มหาวิทยาลัยฮาร์ตฟอร์ดเชียร์

 

 

 

 


Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร