Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
วิธีเลือกอาชีพที่ใช่ สำหรับคนรุ่นใหม่

  Favorite

          อนาคตไม่ได้จบแค่เรียนจบมหาวิทยาลัย แต่อนาคตจริง ๆ ในการเป็นผู้ใหญ่คือ การทำงานหรือการประกอบอาชีพ แต่ก่อนจะไปถึงช่วงเวลานั้นได้ ต้องให้เวลากับการตามหาคำตอบให้ตัวเองว่า “ในอนาคตมองเห็นตัวเองทำอาชีพอะไร” ใครยังไม่รู้คำตอบ สับสน เรามาเริ่มไปพร้อมกัน กับวิธีเลือกอาชีพที่ใช่ สำหรับคนรุ่นใหม่
 

 

8 วิธีเลือกอาชีพที่ใช่ สำหรับคนรุ่นใหม่

 

1. ลองทำสิ่งใหม่ ๆ เพื่อหาประสบการณ์

           ก่อนจะรู้ว่าตัวเราเหมาะกับอะไร ต้องผ่านการลองทำ พาตัวเองไปเรียนรู้ในสิ่งนั้นก่อน เพื่อหาประสบการณ์ โดยเฉพาะการเรียนต่อและการเลือกอาชีพ ที่มีผลกับอนาคตในระยะยาว การหาประสบการณ์ที่ดี ต้องไม่ย่ำอยู่กับสิ่งเดิม หรือลองทำเพียงไม่กี่สิ่ง ต้องออกไปเรียนรู้ในหลายด้าน ยิ่งเรียนรู้มากยิ่งเจอความถนัดมาก ฉะนั้น ควรเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทำสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา 

 

2. รู้จักความถนัดของตัวเอง

          เมื่อได้ผ่านการเรียนรู้ที่ดีจากหลากหลายด้าน จะทำให้มีมุมมองที่กว้างขึ้น สามารถกรองได้ชัดเจนว่า ทุกความชอบ ความถนัด และความสนใจ เราเหมาะสมกับสิ่งไหนมากที่สุด การทบทวนตัวเองสำคัญ แต่หลายคนละเลย นึกได้ก็ไปทำเอาโค้งสุดท้าย ซึ่งทำให้พลาดโอกาสเรียนรู้ตัวเองไป ส่งผลไปถึงการวางแผนอนาคตข้างหน้า ถ้าไม่อยากพลาด ต้องทบทวนด่านนี้ให้ดี

 

3. พิจารณาว่าชอบการทำงานแบบไหน

          ลุยต่อที่การตามล่าหาอาชีพที่ใช่ ในลักษณะการทำงานที่เหมาะกับตัวเอง บนโลกนี้มีหลายอาชีพมากที่เชื่อมโยงกัน ความถนัดและความสนใจในหนึ่งสิ่ง สามารถมีทางเลือกทำอาชีพที่สอดคล้องกันได้หลายทาง มาถึงจุดนี้ต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่า เราจะเดินในเส้นทางอาชีพไหนกันแน่ ที่สำคัญคือเลือกให้เหมาะกับตัวเอง และไม่ควรมีตัวเลือกเดียวในใจ ควรมีสำรองไว้หลายอาชีพ อย่าลืมว่า คนเราสามารถทำได้หลายสิ่ง

 

4. ลองทำแบบประเมินตนเอง

          เดี๋ยวนี้มีตัวช่วยดี ๆ ในการประกอบการตัดสินใจเยอะ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลอาชีพ รวมทั้งแบบทดสอบตัวเองว่า เป็นคนแบบไหน, เหมาะกับการเรียนด้านไหน, อาชีพไหนที่ใช่ เป็นต้น ทั้งหมดนี้คือบางส่วนของแบบประเมินตัวเอง แต่ ! ไม่ควรเชื่อข้อมูลด้านใดอย่างเดียวแล้วทำตาม เช่น ผลประเมินออกมาว่า เราเหมาะกับอาชีพนักสังคมสงเคราะห์ แต่ในใจอยากเป็นครู ก็ควรตัดสินใจควบคู่กันไป เน้นเลือกสิ่งสนใจ น่าจะทำได้ดี และตรงตามความถนัดเป็นหลัก

 

5. ศึกษาความก้าวหน้าของอาชีพ

          เมื่อเริ่มเลือกได้แล้วว่า มีอาชีพไหนที่เข้ารอบบ้าง ลำดับต่อไปก็หาข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพนั้น ๆ ให้ละเอียด เรื่องนี้สำคัญ ! เพราะการเลือกอาชีพ ไม่ใช่แค่ชอบอย่างเดียวแล้วจบ งานทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยระบบต่าง ๆ ในสังคม คนทำงานมักเชื่อมโยงกับคนจ้างงาน ควรเลือกอาชีพที่เราสนใจ แต่ต้องมีแนวโน้มการจ้างงานที่ต่อเนื่อง ถึงจะมั่นคงในอนาคต

 

6. ศึกษารายได้

          “เงินเดือน” เป็นอีกสิ่งที่ควรศึกษาให้ดีว่า ฐานเงินเดือนในอาชีพที่เราสนใจ อยู่ในอัตราเท่าไหร่ มั่นคงพอที่จะเลี้ยงดูตัวเอง หรือครอบครัวได้ขนาดไหน เพราะในโลกความจริงนั้นทุกอย่างในชีวิต ยังมีปัจจัยของการใช้จ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งทุกอย่างเกี่ยวข้องกับรายได้ แม้ว่าเงินจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สุดของชีวิต แต่การเลือกอาชีพควรหาข้อมูลเรื่องนี้มาประกอบ ตอนนี้ยังมีเวลาวางแผนเส้นทางอาชีพอยู่ ควรต้องศึกษาและวางแผนให้มั่นคง

 

7. หาเวลาผ่อนคลาย ทบทวนการตัดสินใจ

          เมื่อมาถึงขั้นตอนท้าย ๆ หลายคนจะเกิดความสับสนว่า ควรเลือกอะไรดี ! อาชีพไหนที่เหมาะกับตัวเองและมั่นคง  ใครที่ตกอยู่ในภาวะนี้ หรือคิดว่าตัวเองต้องเจอกับเหตุการณ์นี้แน่นอน ให้หาเวลาออกไปพักผ่อน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ผ่อนคลาย ใช้ช่วงเวลานี้ค่อย ๆ คิด เพราะการคิดวนอยู่กับที่และตั้งใจมากเกินไป หรืออยู่กับสิ่งแวดล้อมเดิม ๆ จะทำให้เกิดความสับสน และมีผลกับการตัดสินใจที่ผิดพลาด การเร่งรีบเอาคำตอบไม่ใช่ผลดีเสมอไป โดยเฉพาะเรื่องอนาคต ควรวางแผนเพื่อให้ชีวิตได้เหลือเวลา ในการหาคำตอบได้อย่างเต็มที่

 

8. วางแผนไปสู่อนาคตการทำงาน

          ผ่านด่านมาแล้วทุกสเต็ป ต่อไปก็มาลุยเข้าสู่การวางแผนอนาคต สำหรับน้อง ๆ นักเรียนที่จะเข้ามหาวิทยาลัย ให้เอาอาชีพที่เลือกไว้เป็นตัวตั้งต้น แล้วมองหาสาขาวิชาที่สอดคล้องกับอาชีพให้เจอ จากนั้นหามหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรนั้น ๆ พร้อมทั้งศึกษาคะแนนที่ใช้ในการสอบ แล้ววางแผนการสอบให้ตัวเองมีโอกาสติด เมื่อติดแล้ว ทำตามเสต็ปที่เหลือต่อได้เลย

          ส่วนน้อง ๆ นักศึกษา หลายคนผ่านการวางแผนเรื่องนี้มาแล้ว แต่ใครยังไม่เคยทำมาก่อน และเรียนจนใกล้จบแล้ว ยังลังเลการเลือกอาชีพในอนาคตอยู่ว่า จะทำอะไรดี ? ให้ลัดขั้นตอน ด้วยการเลือกอาชีพจากความถนัด และวุฒิการศึกษาที่เราจบมาเป็นหลัก แล้วลุยหางานที่เปิดรับ พร้อมทั้งตรวจสอบข้อมูลเรื่องเงินเดือนในสายอาชีพนั้นไปด้วย เมื่อตัดสินใจได้แล้วก็ ลุย !

 

          ทั้งหมดนี้อ่านจบแล้วดูเหมือนจะง่าย แต่บอกเลยว่าไม่หมู ทุกขั้นตอนต้องใช้เวลาในการทบทวน และหาข้อมูลอย่างถี่ถ้วน ฉะนั้นถ้าไม่อยากให้การตัดสินใจผิดพลาด ควรจัดสรรอนาคตแต่เนิ่น ๆ เพียงเท่านี้น้อง ๆ ก็สามารถวางแผนไปสู่อนาคตการทำงาน ในอาชีพที่ใช่ได้แล้ว

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

5 สายอาชีพที่ต้องปรับตัว จากการจะถูกเทคโนโลยี AI เข้ามาแทนที่ใน 10 ปีข้างหน้า
เลือกคณะผ่าน 4 สายงานที่น่าสนใจปี 2020
รวมคณะที่จบแล้ว ต้องมีใบประกอบวิชาชีพในการทำงาน
 
Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us