Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
[รีวิว] การจัดการโลจิสติกส์ ม.บูรพา เรียนอะไรบ้าง ยากแค่ไหน !! มาฟังคำตอบจากรุ่นพี่

  Favorite
การจัดการโลจิสติกส์ ม.บูรพา

 

ใครว่าเรียนโลจิสติกส์ยาก ใช่เข้าใจถูกแล้วเพราะกว่าที่เราจะเรียนศาสตร์ด้านนี้ให้เข้าใจอย่างเจาะลึกนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยล่ะ มาฟังคำตอบจากรุ่นพี่ปี 3 อามี่-สิปปภาส ปานสมสวย สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ คณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งจะมาแนะนำการเรียนที่ว่ายากให้ง่ายขึ้น
 

แรงบันดาลใจ

เริ่มมาจากบทบาทและความสำคัญของระบบการขนส่งโลจิสติกส์ในไทยกำลังมาแรง เปิดกว้างมากขึ้น เลยเป็นประเด็นแรกที่ทำให้ผมตัดสินใจจะมาเรียนคณะนี้ บวกกับพ่อและแม่อยากให้เรียนคณะนี้ด้วยก็ลงตัวเลยครับ ผมตั้งเป้าหมายไว้ว่าเมื่อเรียนจบแล้วอยากไปทำงานด้าน Warehouse (จัดสินค้า, เช็คสต็อกสินค้า, ควบคุมสินค้าภายใน) แบบได้ทำงานที่เคลื่อนที่ตลอดครับ

 

โลจิสติกส์คืออะไร

คือการนำสินค้า สิ่งของ ข้อมูล จากต้นทางไปถึงปลายทางหรือว่าจากผู้ซื้อไปสู่ผู้ขาย เพื่อที่จะลดต้นทุนหลาย ๆ ด้านให้ได้มากที่สุด หรือนิยามโลจิสติกส์สั้น ๆ คือ ถูกต้อง ถูกเวลา ถูกสถานที่ ถูกเงิน ปัจจุบันระบบโลจิสติกส์มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ครอบคลุมทุกธุรกิจแม้กระทั่งธนาคารก็ใช้ระบบโลจิสติกส์เข้ามาช่วย
 

จุดเด่นของการเรียนสาขานี้

ได้ใช้ภาษาในการสื่อสารเยอะเพราะมีทั้งในประเทศและระหว่างประเทศด้วย คนที่เก่งภาษาอยู่แล้วจะรู้สึกสนุกเมื่อได้ใช้ภาษาที่เราถนัด ส่วนคนที่ไม่เก่งก็อาจจะต้องฝึกฝนเพิ่มขึ้นครับ จะทำให้การเรียนและการทำงานของเราในอนาคตข้างหน้าง่ายขึ้นด้วย ที่สำคัญเมื่อเศรษฐกิจยังต้องขับเคลื่อนต่อไป สาขานี้เรียนจบมาก็มีงานทำแน่นอน
 

การเรียนแต่ละชั้นปี

คณะโลจิสติกส์มี 4 สาขา 1. สาขาวิทยาการเดินเรือ 2. สาขาการจัดการพาณิชยนาวี 3. สาขาการจัดการโลจิสติกส์ 4. สาขาการค้าระหว่างประเทศและการจัดการโลจิสติกส์ ซึ่งสาขาการจัดการโลจิสติกส์ ปี 1 จะเรียนปูพื้นฐานวิทย์ คณิต อังกฤษ คอมพิวเตอร์ สังคม พอขึ้นปี 2 จะเรียนวิชาของคณะ การจัดซื้อ โซ่อุปทาน ปี 3 จะเรียนวิชาเฉพาะของสาขาการจัดการโลจิสติกส์ กฎหมายการส่งออก การส่งออกสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ อุตสาหกรรม ออกแบบกลยุทธ์ วิชาการตลาด วิชาการจัดซื้อจัดหา และปี 4 ฝึกสหกิจอย่างน้อยสี่เดือน ฝึกเสร็จต้องทำงานวิจัยด้วยครับ
 

 

คนแบบไหนที่จะเรียนได้

ต้องเป็นคนที่ชอบคิดค้น พยากรณ์แบบมีเหตุผล ฝึกฝนวิชาคำนวณเพิ่มเติมเสมอเพราะวิชาที่เรียนส่วนมากจะเกี่ยวกับตัวเลขและภาษาที่สามที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างประเทศ ถ้าถามผมว่าเรียนโลจิสติกส์แล้วได้อะไร คำตอบคือได้เยอะมากทั้งได้ฝึกคิด จัดการชีวิตให้เป็นระบบมากขึ้น ชีวิตในการเรียนที่นี่ทำให้ผมไม่ต้องตื่นเช้ามาก ไม่เจอรถติดเหมือนในกรุงเทพฯ โอเคเลยครับ

 

เตรียมตัวอย่างไร

ถ้าจะเรียนทางด้านนี้ ต้องมีพื้นฐานคำนวณที่ดีเพราะต้องเรียนคำนวณเยอะมาก และอีกวิชาหนึ่งที่เน้นคือภาษาอังกฤษ ต้องเป็นคนชอบคิด ชอบวางแผน ชอบวิเคราะห์ สาขานี้รับเฉพาะสายวิทย์-คณิต และศิลป์คำนวณ เราต้องเตรียมตัวทำข้อสอบเก่า ฝึกทำโจทย์ GAT/PAT บ่อย ๆ จะได้ใช้แน่นอนตอนที่ยื่นคะแนนแอดมิชชั่น และยื่นรอบอื่น ๆ ตามระบบการรับในปัจจุบัน
 

ตลาดงาน

จบแล้วทำงานที่สูงสุดเลยก็คือเจ้าของบริษัทครับ ทำเกี่ยวกับบริษัทขนส่งระหว่างประเทศ คลังสินค้า มีทั้งฝ่ายเอกสารแล้วก็ออกปฏิบัติงานข้างนอก มันคือการทำงานที่เรียกว่าไร้พรมแดนจริง ๆ ครับ
 

 

ข้อมูลการสอบเข้า

สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์

คณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา

www.buulog.com

TCAS 61 

- รอบที่ 1 รับตรง ใช้ GPAX, Portfolio
- รอบที่ 2 รับตรง ใช้ GPAX, GAT, PAT 1
- รอบที่ 3 รับตรง ใช้ GPAX, GAT, PAT 1
- รอบที่ 4 Admissions 
- รอบที่ 5 รับตรงอิสระ ใช้ GPAX, GAT, PAT 1

Admissions

สายวิทย์-คณิต GPAX 20%, O-NET 30%, GAT 10%, PAT 1 10%, PAT 2 30%
สายศิลป์-คำนวณ GPAX 20%, O-NET 30%, GAT 30%, PAT 1 20%

 

เรื่อง : พีชยา คงเสาร์ และวรรณวิสา สุภีโส

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us