เป็นธรรมดาที่พี่คนโตจะรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่น้องคลอดออกมา ความอิจฉานั้นเป็นอารมณ์ประเภทหนึ่งของมนุษย์ ซึ่งผสมระหว่างความเกลียดและความโกรธ หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ปรับแก้ความรู้สึกของพี่ที่มีต่อน้องตั้งแต่เนิ่น ๆ แล้ว ต่อไปอาจกลายเป็นปมในใจทำให้พี่คนโตรู้สึกว่าตนไม่เป็นที่ต้องการ หรืออาจจะฝังใจจนเกลียดน้องไปจนโตก็เป็นได้
โดยให้พี่ได้สร้างความสัมพันธ์ตั้งแต่เริ่มต้น เช่น ให้พี่ลองคลำที่หน้าท้องแม่เพื่อสัมผัสน้องที่กำลังดิ้นอยู่ในท้องแม่ ให้อ่านหนังสือนิทานให้น้องในท้องฟัง พาไปเลือกของให้น้องหรือให้ช่วยตั้งชื่อน้อง นอกจากนี้อาจพูดคุยถึงข้อดีของการมีน้องใหม่ เช่น จะได้มีเพื่อนเล่น ไม่เหงา ได้ช่วยเหลือกันเมื่อโตขึ้น
โดยให้เป็นผู้ช่วยคุณแม่ ช่วยหยิบของหรือป้อนนมน้อง แต่ต้องไม่เป็นการบังคับให้ทำ เพราะจะทำให้พี่รู้สึกอิจฉาน้องมากขึ้น แต่หากพี่ยินดีช่วยเหลือดูแลน้อง คุณพ่อคุณแม่ก็รีบชมเชย หรืออาจให้รางวัล จะยิ่งทำให้พี่รู้สึกดีกับน้องมากยิ่งขึ้น
อย่าพูดว่ามีน้องแล้ว ไม่มีใครสนใจแล้ว ตอนนี้หนูก็จะเป็นหมาหัวเน่า ไม่มีใครรักแล้ว เพราะจะทำให้ลูกไม่มีความมั่นใจในความรักของคุณพ่อคุณแม่ ควรใช้คำพูดที่ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นคนสำคัญ เช่น พี่เป็นฮีโร่ของน้องต้องคอยดูแลน้อง พี่ต้องคอยสอนน้อง ให้เขาได้ภูมิใจในความเป็นพี่
เวลาซื้อเสื้อผ้า ของเล่น หรือข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้น้อง คุณพ่อคุณแม่ต้องซื้อให้พี่ด้วยทุกครั้ง ไม่จำเป็นต้องเป็นของอย่างเดียวกัน แต่ขอให้ซื้อให้พี่บ้างเพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้ถูกลืม
เวลาน้องหลับ คุณพ่อคุณแม่อาจเล่านิทานให้พี่ฟัง ชวนกันเล่น วาดรูประบายสี หรือคุณพ่อคุณแม่อาจจะแบ่งกันดูลูกคนละคนสลับกัน เพื่อให้พี่ได้รู้ว่าพ่อกับแม่ยังมีเวลาให้เขาเสมอ
ทำให้เขารู้สึกว่าพ่อกับแม่ยังรักเขาอยู่ หรืออาจจะแสดงความรักทั้งกับพี่และน้องพร้อม ๆ กัน เช่นกอดลูกทั้งสองคนพร้อมกัน โดยให้พี่เอามือโอบกอดน้อง กอดกันเป็นวงกลม หรือให้ลูกคนโตนั่งตักคุณแม่และอุ้มน้องคนเล็กไว้ด้วย การกอดเป็นการบำบัดชนิดหนึ่งที่ช่วยลดความเกลียดชังและความโกรธลงได้