หลักฐานทางประวัติศาสตร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 3.9K views



วิชาประวัติศาสตร์เป็นการศึกษาเรื่องราวที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งเหตุการณ์ในอดีตส่วนใหญ่นั้น ผ่านระยะเวลามาเนิ่นนานเกินร้อยปีขึ้นไป นับเป็นระยะเวลาที่มากกว่าชั่วชีวิตหนึ่งของมนุษย์ บุคคลผู้ซึ่งอยู่ในยุคสมัยเดียวกับเหตุการณ์ในอดีตอันเนิ่นนานล้วนเสียชีวิตไปหมดแล้ว ดังนั้น การศึกษาประวัติศาสตร์ หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาอย่างยาวนาน จำเป็นต้องค้นหาข้อมูลที่สำคัญที่เรียกว่า “หลักฐานทางประวัติศาสตร์” เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ได้อย่างใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด

ภาพ : shutterstock.com

หลักฐานทางประวัติศาสตร์จะอยู่ในรูปของวัตถุ หรือสิ่งของ หรือบุคคล หรือเอกสารต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา หลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น ถือเป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่ถูกใช้ในการไขเข้าสู่ความเข้าใจในความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต โดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น สามารถแบ่งได้เป็นสองลักษณะ ดังนี้

 

1. หลักฐานทางประวัติศาสตร์ซึ่งแบ่งโดยการใช้เวลาเป็นที่ตั้ง

         - หลักฐานปฐมภูมิ คือ หลักฐานที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาเดียว หรือใกล้เคียงกับเหตุการณ์ดังกล่าว
         - หลักฐานทุติยภูมิ คือ หลักฐานที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ หรือเป็นหลักฐานที่เกิดขึ้นคนละยุคกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์

2. หลักฐานทางประวัติศาสตร์ซึ่งแบ่งโดยการใช้ตัวหลักฐานเป็นที่ตั้ง

         - หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร คือ หลักฐานที่ถูกบันทึกเอาไว้ในรูปแบบของตัวอักษร หรือภาษาเขียน หลักฐานชนิดนี้ถือเป็นหลักฐานที่พบในอารยธรรมยุคประวัติศาสตร์เท่านั้น เนื่องจากอารยธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ยังไม่มีการประดิษฐ์ตัวอักษรเพื่อใช้บันทึกเรื่องราว
         - หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร คือ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ทุกชนิดที่ไม่ปรากฏรูปแบบของอักษร หรือภาษาเขียน ตัวอย่างเช่น ภาชนะดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะและไม้ เศษผ้า อาวุธโบราณ ซากปรักสิ่งก่อสร้าง ซากเรือ โครงกระดูก เป็นต้น

ในการศึกษาเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น จำเป็นที่จะต้องใช้ความรู้ความสามารถในการแยกแยะ และประเมินหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้วย โดยในขั้นแรกต้องแยกแยะระหว่างหลักฐานซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ และหลักฐานซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ การแยกแยะในขั้นนี้ ทำเพื่อคัดกรองในเบื้องต้น ขั้นต่อไปต้องพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ว่ามีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่กำลังศึกษาอยู่อย่างไร และในลักษณะใด กล่าวคือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีในขณะนี้ สามารถสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจในประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่กำลังศึกษาอยู่อย่างไร

การไตร่ตรองพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ย่อมสามารถทำให้ผู้ศึกษาวิชาประวัติศาสตร์สามารถเข้าใจความจริงของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้ดีมากขึ้น กว่าการศึกษาเรื่องเล่า หรือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียว

 

เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ