คำสมาส
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 39.4K views



การสร้างคำในภาษาไทยของเรา นอกจากเรานำคำภาษาไทยของเราที่เป็นคำมูลมาสร้างเป็นคำประสม ทำให้เกิดคำในความหมายใหม่แล้ว ภาษาไทยของเรายังมีภาษาอื่นที่เรารับเข้ามาใช้ร่วมกับภาษาไทย เป็นภาษาต่างประเทศมากมาย โดยเฉพาะภาษาบาลีและสันสกฤต ที่ถูกมาสร้างคำใช้ใหม่ๆ ในรูปแบบของคำสมาส

ภาพ : shutterstock.com

ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต ก็เป็นภาษาที่เรารับเอาเข้ามาใช้ในภาษาไทยแต่โบราณ นักภาษาศาสตร์ของไทยเราได้นำคำในภาษาบาลีและสันสกฤต มาสร้างคำใช้ใหม่ๆ มากมาย ในรูปแบบของคำสมาส

 

คำสมาส

คำสมาสเป็นวิธีสร้างคำจากภาษาบาลีและสันสกฤต โดยนำคำตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปมาประกอบกันคล้ายคำประสม หลักในการสังเกตคำสมาสมีดังนี้

1. เป็นคำในภาษาบาลีและสันสกฤตเท่านั้น ถ้าอีกคำเป็นภาษาไทย ถือเป็นแค่คำประสม

ราช + ฤทธิ์ เป็น ราชฤทธิ์
จักร + ราศี เป็น จักรราศี
กิจ + วัตร เป็น กิจวัตร
อุทก + ภัย เป็น อุทกภัย

2. การอ่านคำสมาสจะมีเสียงสระกลางคำเสมอ แม้ว่าจะไม่มีรูปสระกำกับก็ตาม

เทวนคร อ่านว่า เท-วะ-นะ-คอน
จันทรคติ อ่านว่า จัน-ทะ-ระ-คะ-ติ
อิสรภาพ อ่านว่า อิด-สะ-หระ-พาบ
ทันตกรรม อ่านว่า ทัน-ตะ-กำ

3. การแปลความหมายจะต้องแปลจากข้างหลังมาข้างหน้า เพราะคำที่มีความหมายหลักอยู่คำหลัง คำข้างหน้าเป็นตัวขยาย

คำสมาส

คำขยาย

คำตั้ง

คำแปล

สังคมศาสตร์

สังคม

ศาสตร์

วิชาว่าด้วยสังคม

ราชรถ

ราช

รถ

รถของพระราชา

รัฐสภา

รัฐ

สภา

สภาของรัฐ

4. “พระ” มาจาก “วร” คำบาลี-สันสกฤตที่มีคำว่า “พระ” จะกลายเสียงมาจากคำบาลี-สันสกฤตว่า “วร” (วะ-ระ) เช่น พระกรรณ พระขรรค์ พระคฑา พระจันทร์ พระฉวี

5. คำสมาสต้องไม่ประวิสรรชนีย์ระหว่างคำ มีแต่เพียงเสียงสระเท่านั้น

อิสระ + ภาพ = อิสรภาพ 
พละ + ศึกษา = พลศึกษา
วีระ + ชน = วีรชน

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว