ผิวหนัง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 2.1K views



โดยปกติร่างกายของคนมีกลไกในการป้องกันเชื้อโรค และกำจัดเชื้อโรคอยู่แล้วตามธรรมชาติ ซึ่งเปรียบเสมือนกำแพงเมือง ด่าน หรือป้อมปราการ ที่สร้างไว้เป็นเครื่องกีดขวาง สกัดกั้นหรือดักจับทำลายเชื้อโรค เพื่อไม่ให้เข้าไปทำอันตรายเซลล์ เนื้อเยื่อ หรืออวัยวะที่ทำหน้าที่สำคัญๆ ภายในร่างกาย จนเกิดเป็นโรคร้ายแรงได้ โดยการป้องกันเบื้องต้นของร่างกายก็คือ ผิวหนัง

ภาพ : shutterstock.com

ผิวหนังมีแนวป้องกัน คือ สารเคมีที่เซลล์ผิวหนังสร้างขึ้น แล้วขับออกมาทางรูเปิดของรูขุมขน และรูเปิดของต่อมต่างๆ เช่น เหงื่อ น้ำมัน น้ำมูก น้ำตา เป็นต้น ภายในสารเหล่านี้ มีเกลือปนอยู่ หรือมีสภาพเป็นกรดอ่อนๆ ถึงแม้ว่าสารเหล่านี้จะไม่มีฤทธิ์ หรือไม่สามารถทำลายเชื้อโรคที่สัมผัสได้ แต่ก็สามารถช่วยชะล้าง หรือกำจัดเชื้อโรคให้หลุดออกไปได้

ภาพ : shutterstock.com

นอกจากนี้ ตลอดแนวทางเดินของระบบหายใจ ตั้งแต่รูจมูก เข้าไปในหลอดลม ก็จะมีเยื่อบุผิวที่ประกอบด้วย น้ำเมือก และซีเลีย ช่วยกันดักจับเชื้อโรค และฝุ่นละออง รวมทั้งสิ่งแปลกปลอมที่ปะปนเข้าไปกับอากาศที่หายใจ ซึ่งทำให้เกิดความระคายเคืองในลำคอ ร่างกายจึงจำเป็นต้องกำจัดสิ่งเหล่านี้ออกด้วยการ ไอ จาม หรือขับเป็นเสมหะออกมา ในขณะเดียวกันในปากจะมีน้ำลายซึ่งมีฤทธิ์เป็นเบส เชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่ปะปนมากับน้ำ และอาหาร ก็จะถูกทำลายโดยน้ำลาย และกรดที่หลั่งออกมาในกระเพาะอาหาร

 

เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร