อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 3.2K views



อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี (rate of chemical reaction) หมายถึง ปริมาณของสารใหม่ที่เกิดขึ้นในหนึ่งหน่วยเวลา หรือปริมาณของสารตั้งต้นที่ลดลงในหนึ่งหน่วยเวลา เรียกว่า อัตราการเกิดปฏิกิริยาเฉลี่ย ปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน บางปฏิกิริยาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น โซเดียมทำปฏิกิริยาอย่างรวดเร็วกับน้ำ บางปฏิกิริยาเกิดขึ้นอย่างช้าๆ เช่น การเกิดสนิมเหล็ก เกิดจากสารมีอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมีแตกต่างกัน 

ภาพ : shutterstock.com

 

เมื่อมีปฏิกิริยาเคมีเกิดขึ้น สารตั้งต้นจะเริ่มเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ เมื่อเวลาผ่านไป ปริมาณสารตั้งต้นจะลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่ปริมาณผลิตภัณฑ์จะเพิ่มขึ้น ปริมาณสารอาจวัดในรูปของความเข้มข้น ปริมาตร และมวล ขึ้นอยู่กับว่าการวัดปริมาณสารในรูปแบบใดทำได้สะดวก โดยสามารถวัดอัตราการเกิดปฏิกิริยาเฉลี่ยได้ จากปริมาณสารตั้งต้นที่ลดลง หรือปริมาณผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่เกิดปฏิกิริยา

อัตราการเกิดปฏิกิริยาของสารส่วนใหญ่มีค่าไม่คงที่ โดยในช่วงแรกจะเกิดผลิตภัณฑ์เร็วมาก เนื่องจากมีสารตั้งต้นอยู่มาก เมื่อปฏิกิริยาดำเนินไป สารตั้งต้นมีปริมาณลดลง ทำให้ผลิตภัณฑ์เกิดช้าลง และเมื่อสารตั้งต้นหมดไป ปฏิกิริยาก็จะไม่เกิดต่อไป อัตราการเกิดปฏิกิริยาจะบอกให้ทราบว่า ปฏิกิริยานั้นๆ เกิดเร็วหรือช้า

 

เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร