มลพิษทางอากาศ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 10.6K views



ในเมืองใหญ่ๆ ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น มีการจราจรคับคั่ง มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่มาก มักมีมลพิษทางอากาศสูง ซึ่งมีสาเหตุทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์ การอนุรักษ์อากาศเป็นวิธีที่จะทำให้อากาศนั้นมีคุณภาพที่ดีขึ้น เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาวะของทุกคนในสังคม

ภาพ : shutterstock.com

 

โลกของเรามีชั้นของบรรยากาศห่อหุ้มอยู่โดยรอบหนาประมาณ 15 กิโลเมตร ชั้นของบรรยากาศดังกล่าวนี้ ประกอบด้วย แก๊สไนโตรเจน ออกซิเจน ฝุ่นละอองไอน้ำ และเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ ในจำนวนแก๊สเหล่านี้ แก๊สที่สำคัญที่สุดต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตในโลกก็คือแก๊สออกซิเจน และชั้นของบรรยากาศที่มีแก๊สออกซิเจนเพียงพอต่อการดำรงชีวิตนั้นมีความหนาเพียง 5-6 กิโลเมตรเท่านั้น

โดยปกติแล้ว อากาศจะมีส่วนประกอบของแก๊สต่างๆ ค่อนข้างคงที่ คือ แก๊สไนโตรเจน 78.09% แก๊สออกซิเจน 20.94% แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และแก๊สเฉื่อย 0.97%ในปริมาณคงที่ของแก๊สดังกล่าวนี้ เราถือว่าเป็นอากาศบริสุทธิ์

แต่เมื่อใดก็ตามที่ส่วนประกอบของอากาศเปลี่ยนแปลงไป มีปริมาณของฝุ่นละออง แก๊ส กลิ่น หมอกควัน ไอ ไอน้ำ เขม่า และกัมมันตภาพรังสีอยู่ในบรรยากาศมากเกินไป เราจะเรียกสภาวะดังกล่าวว่า อากาศเสีย หรือ “มลพิษทางอากาศ”

ภาพ : shutterstock.com

 

มลพิษทางอากาศ หมายถึงภาวะอากาศที่มีสารเจือปนอยู่ในปริมาณที่สูงกว่าระดับปกติ เป็นเวลานานพอที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์ สัตว์ พืช หรือทรัพย์สินต่างๆ อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ฝุ่นละอองจากลมพายุ ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว ไฟไหม้ป่า

อากาศเสียที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเป็นอันตรายต่อมนุษย์น้อยมาก เพราะแหล่งกำเนิดมักอยู่ไกลจากชุมชนมนุษย์ ปริมาณมลพิษที่เข้าสู่สภาพแวดล้อมของมนุษย์จึงมีไม่มากนัก ส่วนกรณีที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ได้แก่ มลพิษจากท่อไอเสียของรถยนต์จากโรงงานอุตสาหกรรม จากกระบวนการผลิต จากกิจกรรมด้านการเกษตร จากการระเหยของแก๊สบางชนิด ซึ่งเกิดจากขยะมูลฝอยและของเสีย เป็นต้น ซึ่งมลพิษจากน้ำมือของมนุษย์นี้ มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์เองอย่างใหญ่หลวง

 

แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ

ภาพ : shutterstock.com

 

แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศที่สำคัญของประเทศไทย แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

1. แหล่งกำเนิดจากยานพาหนะ ในบริเวณที่ใกล้ถนนที่มีการจราจรติดขัด จะมีปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงกว่าในบริเวณที่มีการจราจรคล่องตัว สารมลพิษที่ระบายเข้าสู่บรรยากาศจากการคมนาคมขนส่ง ได้แก่ แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ แก๊สออกไซด์ของไนโตรเจน สารประกอบไฮโดรคาร์บอน แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สารตะกั่ว และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน

2. แหล่งกำเนิดจากโรงงานอุตสาหกรรม มลพิษทางอากาศจากแหล่งอุตสาหกรรมเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพอากาศในบรรยากาศ และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในชุมชนโดยทั่วไป หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญเป็นอย่างน้อยที่สุด

สารมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงชนิดต่างๆ ได้แก่ ฝุ่นละออง แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และแก๊สออกไซด์ของไนโตรเจน ซึ่งพบว่ามีปริมาณการระบายออกสู่บรรยากาศเพิ่มมากขึ้นทุกปี ตามปริมาณการใช้เชื้อเพลิงที่เพิ่มมากขึ้น

 

การอนุรักษ์อากาศ สามารถทำได้ดังนี้

1. งดหรือลดกิจกรรมที่ก่อสารมลพิษทางอากาศ ทั้งฝุ่นละอองแก๊สเรือนกระจก และแก๊สที่ทำลายชั้นโอโซน

2. อนุรักษ์ป่าไม้เพื่อช่วยบำบัดอากาศเสีย

3. ติดตามและตรวจสอบคุณภาพอากาศอย่างสม่ำเสมอ