ทรัพยากรดิน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 12.7K views



ดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วสามารถเกิดขึ้นทดแทนได้ แต่ใช้เวลานานมาก ในหลายพื้นที่มีการชะล้างพังทลายของดิน นอกจากนี้ ยังมีมลพิษทางดินซึ่งทำให้ดินเสีย เราจำเป็นต้องรู้ถึงวิธีการอนุรักษ์ดิน เพื่อให้มีทรัพยากรดินไว้ใช้ต่อไป

ภาพ : shutterstock.com

 

ดินที่มีความสมบูรณ์ มีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชอย่างครบถ้วนนั้น เกิดขึ้นมาได้โดยการผุพัง การสลายตัวอย่างช้าๆ ของหินและแร่ ที่เป็นวัตถุต้นกำเนิดของดิน รวมทั้งเศษซากพืชซากสัตว์ที่สะสมกันอยู่ในดินเป็นเวลาหลายล้านปี

หน้าดินที่สมบูรณ์เหล่านั้นจะถูกรักษาไว้โดยป่าไม้ ป่าจะเพิ่มพูนหมุนเวียนธาตุอาหารในดิน ไม่ให้สูญหายไปความอุดมสมบูรณ์ของดินตามธรรมชาติ จะมีอยู่เฉพาะดินชั้นบนซึ่งมีความหนาไม่มากนัก เมื่อใดที่มีการโค่นป่าเพื่อเปิดพื้นที่เกษตรกรรม ความอุดมสมบูรณ์ในดินจะลดน้อยถอยลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะดินจะถูกไถพรวนให้ร่วนซุยเพื่อการเพาะปลูก หน้าดินก็จะง่ายต่อการถูกชะล้างโดยฝนที่ตกลงมาแล้วพัดพาเอาธาตุอาหารบนหน้าดินออกไปด้วย

นอกจากนั้น ในการปลูกพืชแต่ละครั้ง พืชที่ปลูกก็จะดูดซับเอาธาตุอาหารหรือปุ๋ยในดินขึ้นมาสร้างความเจริญเติบโต และผลผลิตมีการสะสมธาตุอาหารต่างๆ ไว้ที่ราก ลำต้นใบและผลเมื่อเก็บเกี่ยวพืชเหล่านั้น ก็เป็นการพรากเอาปุ๋ยเดิมในดินออกไปด้วยอย่างถาวร ทำให้ดินเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ปลูกพืชไม่เจริญงอกงามและได้ผลผลิตลดลง

การชะล้างพังทลายของดิน เมื่อใดก็ตาม ถ้าผิวหน้าของดินปราศจากพืชปกคลุม การชะล้างและพัดพาของหน้าดินจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีฝนตก ปริมาณดินที่ถูกพัดพาออกไปนั้นจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณและความรุนแรงของฝนที่ตกลงมาแต่ละครั้ง

เมื่อดินชั้นบนซึ่งอุดมสมบูรณ์ถูกชะล้างไปหมดแล้ว ดินชั้นล่างก็จะโผล่ขึ้นมา กลายเป็นดินชั้นบนแทน โดยจะสังเกตุได้ง่ายคือดินจะมีสภาพแน่นทึบและแข็งมีอินทรีย์วัตถุต่ำ ซึ่งจะเป็นดินที่ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชหรือทำการเกษตรด้านอื่นอีกต่อไป

 

ผลจากการชะล้างพังทลายของดิน

ผลของการชะล้างพังทลายของดิน นอกจากจะทำให้ดินเสื่อมโทรมแล้วยังมีผลกระทบโดยตรงต่อสภาพสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆอีกด้วย เช่น

1. ทำให้พื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์สำหรับการเพาะปลูกลดลง เกิดการบุกรุกทำลายป่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อหาพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์กว่า
2. ทำให้แม่น้ำหรือแหล่งน้ำต่างๆ ที่ตะกอนดินถูกพัดพาไหลลงมาปนเปื้อนเกิดตื้นเขิน น้ำขุ่นข้น ไม่เหมาะแก่การอุปโภคบริโภค
3. ทำให้อ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนต่างๆ ที่ตะกอนดินถูกพัดพาไหลลงมาปนเปื้อน มีอายุการใช้งานลดลง
4. ทำให้เกิดภาวะความแห้งแล้ง

 

สิ่งที่ทำให้เกิดมลพิษทางดิน มีดังนี้

1. การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย
2. การกำจัดสารพิษโดยวิธีการฝังลงในดิน
3. การกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลต่างๆ โดยการทิ้งบนดิน
4. การตกค้างในดินของปุ๋ยเคมีและสารเคมีที่ใช้ปราบศัตรูพืช
5. การตกค้างในดินของผลิตภัณฑ์พลาสติกที่สลายตัวยาก

 

การอนุรักษ์ทรัพยากรดิน

1. การปลูกพืชคลุมดิน หมายถึง การปลูกพืชที่มีใบหนาแน่น หรือมีระบบรากลึกและแน่นเพื่อให้คลุมและยึดดิน เช่น พืชตระกูลถั่ว และหญ้า เป็นต้น
2. การปลูกพืชหมุนเวียน หมายถึง การปลูกพืชต่างชนิดกันบนพื้นที่เดียวกันโดยหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ การเลือกชนิดพืชที่จะนำมาปลูก ควรพิจารณาเลือกพืชที่มีความต้องการแร่ธาตุแตกต่างกัน รวมทั้งเลือกปลูกพืชที่มีระบบรากลึกและรากตื้นสลับกัน เพื่อให้ดูดซึมแร่ธาตุที่ระดับความลึกต่างกันและไม่ควรปลูกพืชวงศ์เดียวกัน เพราะจะมีศัตรูพืชคล้ายกัน
3. การคลุมดิน หมายถึง การนำเอาวัสดุใดๆ เช่น หญ้าแห้ง ขี้เลื่อย ไปคลุมไว้บนดินเพื่อป้องกันการกัดเซาะหน้าดิน และลดแรงปะทะของเม็ดฝนและแรงลม ทำให้ดินเพิ่มความสามารถในการรักษาความชื้น และลดการไหลบ่าของน้ำ อันจะช่วยลดการสูญเสียธาตุอาหารในดินได้
4. การปลูกพืชตามแนวระดับ หมายถึง การไถ พรวน หว่าน และเก็บเกี่ยวพืชผลขนานไปตามแนวระดับ เพื่อลดการพังทลายของดิน
5. การปลูกพืชสลับเป็นแถบ หมายถึง การปลูกพืชต่างชนิดกันสลับเป็นแถบๆ ขวางความลาดชันของพื้นที่ หรือตามแนวระดับ
6. การทำขั้นบันได เพื่อช่วยลดความลาดเทและความเร็วของน้ำที่ไหลบ่า ทำให้ปริมาณการสูญเสียเนื้อดินน้อย ลงป้องกันการเกิดร่องน้ำ และช่วยให้ดินเก็บความชื้นได้มากขึ้น