ป่าไม้
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 21.8K views



ป่าไม้เป็นระบบนิเวศที่มีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดอยู่ร่วมกัน คือ มีทั้งพืช สัตว์ และผู้ย่อยสลาย รวมทั้งสิ่งไม่มีชีวิต ประโยชน์ของป่าไม้มีมากมาย เช่น เป็นแหล่งปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิต เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ลดลงไปมาก การอนุรักษ์ป่าไม้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องเรียนรู้ไว้

ภาพ : shutterstock.com

 

ป่าไม้คือ สังคมของต้นไม้ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อันมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และปกคลุมเนื้อที่กว้างใหญ่ มีการใช้ประโยชน์จากอากาศ น้ำ และวัตถุธาตุต่างๆ ในดิน เพื่อการเจริญเติบโต มีการสืบพันธุ์ รวมทั้งให้ผลิตผลที่จำเป็นต่อมนุษย์ป่าไม้มีคุณค่าและความสำคัญยั งประโยชน์แก่มนุษยชาติ ทั้งทางตรงและทางอ้อมหลายประการ

 

ประโยชน์ทางตรงของป่าไม้ที่สำคัญ ได้แก่

1. วัสดุก่อสร้าง เนื่องจากเนื้อไม้มีคุณสมบัติเฉพาะตัว ซึ่งสิ่งอื่นทดแทนไม่ได้ ไม้จึงยังคงเป็นที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่แล้วนำมาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ทำเครื่องเรือน เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการเกษตร การประมง ต่อเรือ
2. อาหาร มนุษย์ได้อาหารหลายชนิดจากป่า เช่นจำพวกใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้ เมล็ด หน่อไม้ หัวพืชใต้ดิน เห็ดป่า และเนื้อสัตว์ป่า
3. เส้นใย มนุษย์ใช้เส้นใยจากส่วนต่างๆ ของพืช เช่น นุ่น ฝ้าย ลินิน ปอ ป่าน กัญชง นำมาถักทอเป็นเครื่องนุ่งห่ม
4. ยารักษาโรค ได้จากสมุนไพรต่างๆ
5. น้ำมันจากไม้และยางไม้เช่น ชันจากต้นตะเคียน ต้นกะบากใช้ทำน้ำมันชักเงา ยางสนใช้ชันยาเรือ น้ำมันสนใช้ทำน้ำมันผสมสี
6. สารเคมี เช่น เซลลูโลสและลิกนิน เซลลูโลสใช้ในการทำกระดาษ ไหมเทียม วัตถุระเบิด น้ำตาล แอลกอฮอล์ ส่วนลิกนินใช้ในการทำสารวานิลลิน (ให้กลิ่นวานิลลา) น้ำหอม เครื่องสำอาง สารถนอมอาหารไม่ให้บูดเน่า และยารักษาโรคผิวหนัง
7. ปศุสัตว์ มนุษย์ใช้ป่าไม้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ และหาอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ เพราะในป่ามีหญ้า ใบไม้ เปลือกไม้ผลไม้ และเมล็ดพืชที่สัตว์ชอบกินอยู่หลายชนิด ในประเทศไทยการเลี้ยงสัตว์ป่ายังไม่แพร่หลายนัก
8. เชื้อเพลิง คือฟืนและถ่าน ใช้ในการหุงต้มในครัวเรือนและในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ

 

ประโยชน์ทางอ้อมของป่าไม้ ได้แก่

1. ช่วยให้ฝนตกเพิ่มขึ้น เนื่องจากอากาศเหนือพื้นที่ป่าไม้จะเย็นกว่าในพื้นที่ที่ไม่มีต้นไม้ เมฆฝนที่ลอยผ่านมาเมื่อกระทบความเย็น จะควบแน่นเป็นหยดน้ำตกลงมาเป็นฝน ปริมาณฝนที่ตกเพิ่มขึ้นในพื้นที่ป่านี้ ถ้าเป็นที่ที่มีความสูงมาก ปริมาณน้ำฝนที่ตกจะยิ่งเพิ่มขึ้นมากตามสัดส่วน
2. บรรเทาความรุนแรงของลมมรสุม ในพื้นที่ที่มีป่าไม้เป็นฉากกำบัง หรือมีการปลูกต้นไม้ไว้เป็นแนวป้องกันลม จะช่วยลดความเร็วของลมลงอย่างรวดเร็ว จึงช่วยป้องกันบ้านเรือนและไร่นาที่อยู่ด้านใต้ลม มิให้ถูกพายุพัดเสียหาย อีกทั้งช่วยป้องกันความชุ่มชื้นของดินที่อุดมสมบูรณ์ไม่ให้ถูกลมพัดพาไป
3. ป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ในเวลาที่มีฝนตกลงมา เรือนยอดของป่าไม้จะสกัดกั้นความรุนแรงของฝนไม่ให้ตกกระทบผิวดินโดยตรง
4. บรรเทาอุทกภัย ป่าไม้ช่วยบรรเทาความรุนแรงของน้ำป่าไหลหลากได้
5. ทำให้น้ำไหลอย่างสม่ำเสมอตลอดปี เมื่อฝนตกลงมา น้ำฝนถูกกิ่งไม้ใบไม้ตามพื้นป่า และดินอันร่วนซุยดูดซับน้ำไว้ และค่อยๆ ซึมลงดินสะสมไว้เป็นน้ำใต้ดิน แล้วค่อยๆ ปล่อยออกสู่ลำห้วย ลำธาร ทำให้ฤดูแล้ง ซึ่งไม่มีฝนตก ก็ยังคงมีน้ำไหลอยู่ตลอดเวลา กล่าวได้ว่า ป่าไม้เป็นอ่างเก็บน้ำธรรมชาติ ที่สะสมน้ำเอาไว้ในตอนฤดูฝน แล้วระบายออกในฤดูแล้งนั่นเอง
6. เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า หากไม่มีป่าไม้ สัตว์ป่าต่างๆ ก็จะสูญพันธุ์ไป เพราะไม่มีแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งหากิน
7. เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ป่าไม้มีความสงบ ร่มเย็น อากาศบริสุทธิ์ และมีทิวทัศน์อันสวยงาม โดยรัฐบาลได้จัดป่าไม้บางแห่งไว้ให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจแก่ประชาชนเช่น จัดทำเป็นอุทยานแห่งชาติ หรือวนอุทยาน

 

การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ทำได้ดังนี้

1. กำหนดนโยบายป่าไม้แห่งชาติ โดยกำหนดให้มีพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศอย่างน้อยในอัตราร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ เป็นป่าเพื่อการอนุรักษ์ในอัตราร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศ เป็นป่าเพื่อเศรษฐกิจในอัตราร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ
2. การปลูกป่า กำหนดให้มีการปลูกป่าขึ้นทดแทน เมื่อป่าไม้ในพื้นที่ถูกตัดฟันลงไม่ว่ากรณีใดก็ตามและส่งเสริมให้มีการปลูกสร้างสวนป่าทุกรูปแบบ
3. การป้องกันไฟไหม้ป่า เพราะไฟป่าเป็นอันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับป่าไม้ การฟื้นฟูกระทำได้ยากมาก ไฟไหม้ป่าส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำของมนุษย์
4. การป้องกันการบุกรุกทำลายป่า ทำได้โดยการทำหลักเขต ป้าย หรือเครื่องหมายให้ชัดเจน เพื่อบอกให้รู้ว่าเป็นเขตป่าประเภทใด เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงตรง ปฏิบัติตามกฏหมายและพระราชบัญญัติป่าไม้อย่างเคร่งครัด
5. การใช้วัสดุทดแทนไม้ ในการก่อสร้างต่างๆ
6. การใช้ไม้อย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ
7. พยายามนำไม้ที่ไม่เคยใช้ประโยชน์มาใช้ เช่น นำต้นมะพร้าว ต้นตาล ไม้ยางพารา มาทำเครื่องใช้ในครัวเรือน
8. ส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ ให้การศึกษาแก่เยาวชนและประชาชน เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ และช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้