การตอบสนองของพืช
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 32.9K views



ทั้งพืชและสัตว์ต่างก็มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้า ในบทเรียนนี้ จะได้ศึกษาเกี่ยวกับการตอบสนองของพืชชนิดต่างๆ เช่น กาบหอยแครง ไมยราบ รวมถึงการเคลื่อนไหวของพืชในรูปแบบต่างๆ ด้วย 

ภาพ : shutterstock.com

ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิต คือ การตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม พืชก็มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าด้วย แต่ส่วนใหญ่มักใช้เวลาในการตอบสนองค่อนข้างมาก ยกเว้นพืชบางชนิดที่มีการตอบสนองรวดเร็วพอที่จะสังเกตเห็นได้ในระยะเวลาสั้นๆ เช่น การหันดอกของทานตะวันไปตามทิศทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ หรือการหุบใบของไมยราบเมื่อถูกสัมผัส

กาบหอยแครง เป็นพืชกินแมลง มีความไวต่อการสัมผัส โดยบริเวณขอบใบมีขนที่มีความไวสูง เมื่อสิ่งใดมาสัมผัสจะกระตุ้นให้ขอบใบแต่ละด้านหุบเข้าหากัน ขอบใบมีหนามยาวกั้นไม่ให้แมลงที่ติดอยู่หลุดออกมา

ภาพ : shutterstock.com

ไมยราบ มีความไวต่อการสัมผัสเพราะที่โคนก้านใบมีลักษณะพองออกเป็นกระเปาะ กระเปาะประกอบด้วยกลุ่มเซลล์ที่มีขนาดใหญ่ ผนังบางมีความไวสูงต่อสิ่งที่มากระตุ้น เมื่อถูกกระตุ้นจะทำให้แรงดันเต่งของกลุ่มเซลล์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเซลล์จะสูญเสียน้ำให้กับเซลล์ข้างเคียง ทำให้ใบหุบทันที​

การตอบสนองบางอย่างของพืชเกิดจากการเจริญเติบโต เกิดขึ้นอย่างช้าๆ สังเกตได้ไม่ชัดเจนนัก เช่น การที่ปลายยอดของพืชเบนเข้าหาแสงสว่าง การเจริญของรากพืชเข้าหาความชื้น การเจริญของรากลงสู่พื้นดินมีทิศทางการเจริญตามแรงโน้มถ่วงของโลก การเจริญของลำต้นในทิศทางตรงกันข้ามกับแรงโน้มถ่วงของโลก การเจริญของลำต้นของพืชบางชนิดไปพันรอบสิ่งที่ยึดเกาะ

การตอบสนองของพืชบางชนิดเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ไม่สามารถสังเกตเห็นในทันที เช่น ดอกบัวจะบานเมื่อมีแสงแดด และหุบเมื่อความเข้มของแสงลดลงถึงระดับหนึ่ง ดอกของพืชตระกูลถั่วบานเมื่อมีแสงแดด และหุบเมื่อความเข้มของแสงลดลงระดับหนึ่ง ดอกทิวลิปหุบและบานตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ

พืชที่มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงต่อความเข้มของแสง ทำให้ใบหุบในเวลาพลบค่ำ และกางใบออกในตอนเช้าที่มีแสงสว่าง เช่น จามจุรี กระถิน ผักกระเฉด ถั่วต่างๆ ดอกมะลิบานเมื่ออากาศอบอุ่น หุบเมื่ออากาศเย็น แสดงว่า เป็นพืชที่มีการตอบสนองต่ออุณหภูมิของอากาศ การหุบของดอกบัวในตอนกลางคืน และบานในเวลากลางวัน การหุบของดอกกระบองเพชรในเวลากลางวัน และบานในเวลากลางคืน เป็นการตอบสนองต่อแสง

การเคลื่อนไหวของพืชชั้นสูง แบ่งตามลักษณะการตอบสนองต่อปัจจัยกระตุ้นได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. การเคลื่อนไหวที่เกิดจากการเจริญเติบโตอย่างมีทิศทาง ทิศทางการเคลื่อนไหวของพืชถูกกำหนดโดยทิศทางของปัจจัยภายนอกที่มากระตุ้น ได้แก่ การตอบสนองต่อแรงโน้มถ่วงของโลก เช่น รากพืชเจริญเข้าหาแรงโน้มถ่วงของโลก ยอดพืชเจริญในทิศทางตรงกันข้ามกับแรงโน้มถ่วงของโลก การตอบสนองต่อทิศทางของแสง เช่น พืชเจริญเข้าหาแสง การตอบสนองต่อการสัมผัสสิ่งเร้า เช่น การเจริญของมือเกาะของตำลึง พืชตระกูลแตง การตอบสนองต่อความชื้นจากน้ำ เช่น การงอกเข้าหาน้ำของราก การตอบสนองต่อสารเคมี เช่น การงอกของหลอดละอองเรณูไปยังรังไข่

2. การเคลื่อนไหวของพืชไม่ถูกกำหนดโดยทิศทางของปัจจัยภายนอกที่มากระตุ้น เช่น การหุบการบานของดอก