เมฆ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 65K views



เมฆที่เรามองเห็นบนท้องฟ้า คือหยดน้ำใสในสถานะของเหลว หรือเกล็ดน้ำแข็งในสถานะของแข็ง หรือมีอยู่ทั้งสองสถานะ เมฆมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ในทางอุตุนิยมวิทยามีหลักเกณฑ์ในการแบ่งชนิดของเมฆ โดยแบ่งตามความสูงของเมฆ เราเรียกเมฆที่เป็นก้อนว่า “คิวมูลัส” และเรียกเมฆที่เป็นแผ่นว่า “สเตรตัส”

ภาพ : shutterstock.com

 

เมฆ คือ อนุภาคน้ำ หรือผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กลอยอยู่ในอากาศ เมฆประกอบด้วยน้ำ หรือน้ำแข็ง หรือประกอบด้วยน้ำ และน้ำแข็ง เมฆเกิดจากการควบแน่นของไอน้ำในขณะลอยตัวขึ้นและเย็นลง สิ่งที่ช่วยให้ไอน้ำควบแน่นเป็นก้อนเมฆ คือ ฝุ่นผงเล็กๆ หรือเกลือในบรรยากาศ

ในการพยากรณ์อากาศ เรามักได้ยินการบอกสภาพท้องฟ้า ซึ่งจะใช้ปริมาณเมฆในท้องฟ้าเป็นเกณฑ์ โดยแบ่งพื้นที่ท้องฟ้าออกเป็น 10 ส่วน แล้วสังเกตว่าเมฆครอบคลุมพื้นที่ท้องฟ้ากี่ส่วน ดังนี้

เมฆแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ เมฆชั้นสูง เมฆชั้นกลาง และเมฆชั้นต่ำ นอกจากนี้ยังมีเมฆที่ก่อตัวในแนวตั้งด้วย ดังนี้

1. เมฆชั้นสูง
ในบริเวณเขตร้อนจะเกิดที่ความสูงระหว่าง 6-12 กิโลเมตร ส่วนใหญ่จะมีสีขาวหรือเทาอ่อน และเป็นเมฆซึ่งไม่ทำให้เกิดฝน ส่วนใหญ่จะเป็นผลึกน้ำแข็ง เพราะมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง และมีความแปรปรวนอยู่ด้วย มี 3 ชนิด ดังนี้

- เมฆเซอรัส ประกอบด้วยผลึกน้ำแข็ง มีลักษณะเป็นแผ่นบางสีขาวเจิดจ้า หรือสีเทาอ่อน แสงอาทิตย์สามารถส่องผ่านได้ดี มีรูปทรงอยู่หลายแบบ เช่น เป็นฝอยคล้ายขนนกบางๆ หรือขนสัตว์ หรือเป็นทางยาว ฐานเมฆสูงเฉลี่ย 10,000 เมตร
- เมฆเซอโรสเตรตัส ประกอบด้วยผลึกน้ำแข็งเกือบทั้งหมด มีลักษณะเป็นแผ่น เป็นฝ้าบางๆ ปกคลุมบริเวณกว้าง ค่อนข้างโปร่งใส บริเวณฐานเมฆจะเป็นสีเทาหรือสีฟ้า สามารถบังแสงจากดวงอาทิตย์หรือแสงจากดวงจันทร์ ทำให้เกิดวงแสงของอาทิตย์ทรงกลด หรือพระจันทร์ทรงกลด อาจทำให้เกิดฝนละอองบางๆ ได้ ฐานเมฆสูงเฉลี่ย 8,500 เมตร
- เมฆเซอโรคิวมูลัส ประกอบด้วยผลึกน้ำแข็ง เป็นเมฆที่เป็นระลอกคลื่นหรือก้อนกลมๆ เป็นแถวๆ ลักษณะคล้ายเกล็ดปลา เรียงกันเป็นระเบียบ ฐานเมฆสูงเฉลี่ยประมาณ 7,000 เมตร

 

2. เมฆชั้นกลาง
เกิดขึ้นที่ระดับความสูง 2-6 กิโลเมตร ประกอบด้วยผลึกน้ำแข็งและอนุภาคน้ำ เพราะที่ระดับนี้มีอุณหภูมิไม่ต่ำพอที่จะเป็นผลึกน้ำแข็งทั้งหมด มี 2 ชนิด ดังนี้

- เมฆอัลโตคิวมูลัส เป็นเมฆก้อนสีขาว มีลักษณะคล้ายฝูงแกะ เป็นลูกคลื่นเป็นลอน ลอยเป็นแพ มีช่องว่างระหว่างก้อนเล็กน้อย
- เมฆอัลโตสเตรตัส เป็นเมฆแผ่นหนาต่อเนื่องกัน ส่วนมากมักมีสีเทาหรือฟ้าอมขาว เนื่องจากบังแสงอาทิตย์ไม่ให้ลอดผ่าน แต่ไม่เกิดอาทิตย์ทรงกลด และเกิดขึ้นปกคลุมท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้างมาก หรือปกคลุมท้องฟ้าทั้งหมด

 

3. เมฆชั้นต่ำ
เกิดขึ้นที่ระดับต่ำกว่า 2 กิโลเมตร ประกอบด้วยอนุภาคน้ำเกือบทั้งหมด มี 3 ชนิด ดังนี้

- เมฆสเตรตัส มีลักษณะเป็นแผ่นสีเทา ไม่รวมตัวกันอยู่เป็นบริเวณกว้างมากนัก บางครั้งอาจเกิดในระดับต่ำ มักเกิดขึ้นตอนเช้าหรือหลังฝนตก บางครั้งลอยต่ำปกคลุมพื้นดินเป็นหมอก จะเคลื่อนที่ตามลมได้เร็ว และอาจทำให้เกิดฝนที่เป็นละอองได้
- เมฆสเตรโตคิวมูลัส มีลักษณะเป็นก้อนใหญ่คล้ายเมฆคิวมูลัส แต่เรียงติดกันเป็นแถวๆ รวมกันคล้ายคลื่น มักเกิดในช่วงอากาศไม่ดี บางครั้งอาจจะแยกตัวออกเป็นกลุ่มที่ประกอบด้วยก้อนเล็กๆ จำนวนมาก
- เมฆนิมโบสเตรตัส มีลักษณะเป็นแผ่นสีเทาเข้ม คล้ายพื้นดินที่เปียกน้ำ ปกคลุมบริเวณกว้างมาก ทำให้เกิดฝนพรำๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานานหรือฝนผ่านหรือฝนตกแดดออกแต่ไม่มีพายุฟ้าคะนอง ฟ้าร้อง ฟ้าผ่าร่วมด้วย มักปรากฏให้เห็นสายฝนตกลงมาจากฐานเมฆ

 

4. เมฆก่อตัวในแนวตั้ง
เป็นเมฆที่ก่อตัวในแนวตั้งที่มีความรุนแรง และเกิดขึ้นโดยฉับพลัน ความสูงของฐานเมฆอยู่ที่ประมาณ 500 เมตร ส่วนยอดเมฆมีความสูงไม่แน่นอน บางครั้งอาจสูงถึงระดับเมฆชั้นสูง มี 2 ชนิด ดังนี้

- เมฆคิวมูลัส เป็นเมฆหนาเป็นก้อนที่ก่อตัวในแนวตั้งที่รุนแรงและเกิดโดยฉับพลัน มีลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำปลี สูงสอดขึ้นไปในเมฆชั้นสูง ฐานเมฆจะเป็นสีเทาดำ สภาพอากาศแบบไม่คงที่ ทำให้เกิดความแปรปรวนพร้อมกับมีฝนฟ้าคะนอง
- เมฆคิวมูโลนิมบัส มีลักษณะเป็นเมฆที่หนา มีขนาดใหญ่มากปกคลุมพื้นที่ครอบคลุมทั่วจังหวัด ก่อตัวสูงมาก บางครั้งยอดเมฆจะแผ่ออกคล้ายรูปทั่ง ทำให้เกิดฝนตกหนัก ลมแรง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง เกิดพายุฟ้าคะนอง บางครั้งมีลูกเห็บตก จึงมักเรียกว่า เมฆฟ้าคะนอง