ลม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 28.5K views



เราเรียกอากาศที่เคลื่อนตัวในแนวราบว่า ลม ซึ่งเกิดจากความแตกต่างกันของความดันอากาศในบริเวณหนึ่ง เราสามารถวัดความเร็วลมได้ด้วย อะนิโมมิเตอร์ และสามารถวัดทิศทางของลมได้ด้วย ศรลม ลมยังสามารถแบ่งออกเป็นหลายชนิด เช่น ลมบก ลมทะเล ลมมรสุม เป็นต้น

ภาพ : shutterstock.com

บริเวณที่อากาศมีอุณหภูมิสูง จะมีความดันอากาศต่ำ ส่วนบริเวณที่อากาศมีอุณหภูมิต่ำ จะมีความดันอากาศสูง เมื่อ 2 บริเวณมีความดันอากาศแตกต่างกัน ทำให้อากาศเคลื่อนที่จากบริเวณที่มีความดันอากาศสูงไปยังบริเวณที่มีความดันอากาศต่ำกว่า การเคลื่อนที่ของอากาศแบบนี้เรียกว่า ลม

 

อัตราเร็วของลมขึ้นอยู่กับความแตกต่างของความดันอากาศใน 2 บริเวณใดๆ ถ้าความดันอากาศแตกต่างกันมาก ทำให้ลมมีอัตราเร็วสูง ถ้าความดันอากาศแตกต่างกันน้อย ทำให้ลมมีอัตราเร็วต่ำ เครื่องมือที่ใช้วัดความเร็วลม เรียกว่า อะนิโมมิเตอร์ (anemometer) ส่วนเครื่องมือที่ใช้วัดทิศทางลมเรียกว่า ศรลม

หัวของศรลมจะชี้ทิศทางที่ลมพัดมา เช่น ถ้าหัวของศรลมชี้ไปทางทิศตะวันตก แสดงว่าลมพัดมาจากทางทิศตะวันตก ศรลมมีส่วนหางโตกว่าส่วนหัว ส่วนหางจึงต้านลมได้มากกว่า ทำให้ส่วนหางถูกพัดไปอยู่ในทิศทางตรงกันข้ามกับทิศทางที่ลมพัดมา จึงทำให้หัวลูกศรชี้ไปในทิศทางที่ลมพัดมา

ลมประจำถิ่น คือ ลมที่พัดเป็นประจำในพื้นที่หนึ่ง เนื่องจากอุณหภูมิอากาศเหนือพื้นดินและพื้นน้ำแตกต่างกัน เช่น ลมบก ลมทะเล ลมภูเขา ลมหุบเขา

- ลมบก เกิดเวลากลางคืน เมื่อพื้นดินคายความร้อนได้เร็วกว่าพื้นน้ำ อากาศเหนือพื้นน้ำซึ่งร้อนกว่าพื้นดินจะลอยตัวสูงขึ้น อากาศเหนือพื้นดินซึ่งเย็นกว่าจะไหลเข้าไปแทนที่ เกิดเป็นลมพัดจากบกออกสู่ทะเลในเวลากลางคืน
- ลมทะเล เกิดเวลากลางวัน เมื่อพื้นดินได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ จะเก็บความร้อนได้ดีกว่าน้ำทะเล ทำให้พื้นดินร้อนกว่าพื้นน้ำ อากาศเหนือพื้นดินมีความหนาแน่นน้อย จะขยายตัวและลอยตัวขึ้นสูง อากาศเหนือพื้นน้ำซึ่งเย็นกว่าหรือมีความดันอากาศสูงกว่าจะไหลเข้าแทนที่เกิดเป็นลมพัดจากทะเลพัดขึ้นบก


- ลมภูเขา เกิดในเวลากลางคืน อากาศตามภูเขาและลาดเขาเย็นลงอย่างรวดเร็วด้วยการคายความร้อน อากาศที่เย็นและหนักกว่าจึงไหลลงมาในหุบเขา ทำให้มีลมพัดตามลาดเขาลงมาสู่หุบเขาเบื้องล่าง
- ลมหุบเขา เกิดในเวลากลางวัน อากาศตามภูเขาและลาดเขาร้อนกว่า เพราะได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ ส่วนอากาศในหุบเขาเบื้องล่างเย็นกว่า ทำให้ลมเย็นจากหุบเขาเบื้องล่าง พัดไปตามลาดเขาขึ้นสู่ภูเขาเบื้องบน

 

ลมมรสุม (monsoon) เป็นระบบลมฟ้าอากาศที่เกิดขึ้นในบริเวณกว้าง มีช่วงเวลาเกิดนานและเกิดเป็นฤดูกาล ประเทศไทยได้รับอิทธิพลของลมมรสุมโดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

- มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หรือมรสุมฤดูร้อน
พัดจากมหาสมุทรอินเดียปะทะฝั่งตะวันตกของภาคใต้ เมื่อผ่านอ่าวไทยจะปะทะฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย ลมมรสุมนี้นำความชื้นจากทะเลเข้ามาสู่แผ่นดิน ทำให้เกิดฤดูฝนในประเทศไทย

- มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือมรสุมฤดูหนาว
พัดจากประเทศจีนและไซบีเรียผ่านทะเลจีนใต้ปะทะฝั่งของเวียดนาม มรสุมนี้มีกำลังแรงจัดเป็นคราวๆ เมื่อบริเวณความกดอากาศสูงในประเทศจีนมีกำลังแรงขึ้น ลมมรสุมนี้นำความหนาวเย็นและความแห้งแล้งจากทวีปทางซีกโลกเหนือมายังบริเวณเส้นศูนย์สูตร ทำให้เกิดฤดูหนาวในประเทศไทย