สาร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 3.1K views



วัตถุต่าง ๆ ที่เราสัมผัสได้ จับต้องได้ ประกอบไปด้วยสารมากมาย ซึ่งเราจำแนกประเภทของสารตามสมบัติของสารนั้น ๆ ถ้ามีสมบัติต่างกันก็จะเป็นสารคนละชนิด ซึ่งสารแบ่งได้เป็น 3 สถานะใหญ่ ๆ คือ ของแข็ง ของเหลว และแก๊ส

ตามคำนิยาม สารคือแก่นหรือเนื้อแท้ของวัตถุกายภาพต่าง ๆ ที่สามารถมองเห็นหรือสัมผัสได้ วัตถุบางอย่างประกอบด้วยสารเพียงชนิดเดียว แต่วัตถุบางอย่างก็ประกอบขึ้นจากสารหลายชนิดรวมกัน

เราจำแนกสารแต่ละชนิดได้ด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัวของสารนั้น ๆ ซึ่งสารต่างชนิดกันก็จะมีสมบัติแตกต่างกันไป เช่น เกลือ และน้ำตาลทราย เป็นผลึกแข็งสีขาว ละลายน้ำได้เหมือนกัน แต่เกลือมีรสเค็ม ส่วนน้ำตาลมีรสหวาน

ภาพ :shutterstock.com

 

สมบัติของสารจึงมีได้หลายประเภท เช่น สมบัติทางกายภาพ ได้แก่ สี รูปทรง เสียง กลิ่น รส ความแข็ง ความอ่อน ความเหนี่ยว ความหนาแน่น การละลายน้ำ การนำไฟฟ้า เป็นต้น

วัตถุสิ่งของรอบตัวของเราล้วนมีสารเป็นองค์ประกอบ เหรียญเงินมีสารทองแดงและนิกเกิลผสมกัน สารในแหวนทองคือทองคำ สารในถ่านไม้คือคาร์บอน สารในน้ำเชื่อมคือน้ำและน้ำตาล สารในน้ำส้มสายชูคือกรดอะซีติกและน้ำ สารในลูกโป่งสวรรค์คือแก๊สไฮโดรเจน สารในควันบุหรี่คือนิโคติน น้ำมันดิน และแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นต้น

สารต่างชนิดกันมีสมบัติต่างกัน สารชนิดเดียวกันมีสมบัติเหมือนกัน แต่ในสารชนิดเดียวกันหากอยู่คนละสถานะกันก็มีสมบัติต่างกันด้วย สถานะของสารมี 3 สถานะ คือ ของแข็ง ของเหลว และแก๊ส โดยสถานะของสารจะเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิ ที ่ๆ อุณหภูมิต่ำ พลังงานหรือความร้อนน้อย สารจะอยู่ในสถานะของแข็ง แต่เมื่อได้รับพลังงานมากขึ้น หรืออุณหภูมิเพิ่มขึ้นจนถึงระดับหนึ่ง สารจะเปลี่ยนไปเป็นของเหลว และแก๊สตามลำดับ