บทเรียนออนไลน์ วิชาภาษาไทย เรื่อง ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวรรณคดีและวรรณกรรมสมัยอยุธยา ตอนกลาง ตอนปลาย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 59.9K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 



 

 

 

แนวทางในการอ่านวรรณคดีและวรรณกรรม
   วรรณกรรม หมายถึง งานเขียนทุกประเภททั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง ส่วนวรรณคดี หมายถึง งานเขียนที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี โดยจะต้องมีคุณค่าด้านต่าง ๆ ได้แก่ การใช้ภาษาที่ไพเราะ สละสลวย มีความรู้และแนวทางในการประพฤติปฏิบัติที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ยังต้องสะท้อนให้เห็นถึงภาพสังคมในสมัยหนึ่ง ๆ ควบคู่กันไปด้วย



แนวทางในการวิจารณ์วรรณคดีและวรรณกรรม
   การวิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นต่อวรรณคดีและวรรณกรรม ผู้วิจารณ์ต้องมีความรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบของวรรณคดีและวรรณกรรมทั้ง ๓ ประการ คือ
   ๑. รูปแบบ สามารถจำแนกได้หลายลักษณะ เช่น จำแนกตามลักษณะคำประพันธ์ แบ่งได้เป็น ร้อยแก้วและร้อยกรอง จำแนกตามลักษณะเนื้อหา แบ่งได้เป็น บันเทิงคดีและสารคดี จำแนกตามลักษณะการจดบันทึก แบ่งได้เป็น วรรณคดีลายลักษณ์อักษรและวรรณคดีมุขปาฐะ
   ๒. เนื้อหา ประกอบด้วยองค์ประกอบ ๖ ส่วน ได้แก่ เนื้อเรื่อง โครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก แก่นเรื่อง และบทเจรจา
   ๓. ภาษา มีทั้งที่เป็น รสคำ คือ ความไพเราะของถ้อยคำที่เลือกใช้ และรสความ คือ ความไพเราะของความหมาย ซึ่งทั้งสองส่วนจะเกื้อหนุนกันทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกร่วมไปกับเหตุการณ์ในเรื่อง 



ประวัติวรรณคดีและวรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนกลาง (พ.ศ. ๒๑๖๓–๒๒๓๑)
   สมัยอยุธยาตอนกลาง ถือเป็นช่วงที่มีความสงบสุขสลับกับสงครามโดยตลอด ทำให้งานด้านวรรณคดีว่างเว้นไปนาน จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งทรงเอาพระทัยใส่พระพุทธศาสนาจึงทรงพระราชนิพนธ์กาพย์มหาชาติขึ้น ถือเป็นวรรณคดีสำคัญในช่วงนี้ แต่ก็ได้สูญหายไปเพราะผลกระทบจากสงคราม
   แต่อย่างไรก็ตาม ยุคทองของวรรณคดีสมัยอยุธยา ได้แก่ รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะทรงเป็นกวีและยังทรงชุบเลี้ยงกวีและมีนักปราชญ์อีกเป็นจำนวนมาก ช่วงดังกล่าวจึงเป็นช่วงที่กรุงศรีอยุธยามีความเจริญสูงสุด
   นอกจากนี้ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กรุงศรีอยุธยาได้มีชาวต่างชาติเข้ามาค้าขาย แลกเปลี่ยนศาสนาและวัฒนธรรม ตลอดจนมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาให้ประเทศ ชาวไทยจึงมีความตื่นตัวและหันมาศึกษาภาษาและศาสนาของตนมากยิ่งขึ้น
   ตัวอย่างวรรณคดีสำคัญในสมัยอยุธยาตอนกลาง เช่น กาพย์มหาชาติ สมุทรโฆษคำฉันท์ จินดามณี อนิรุทธคำฉันท์ กาพย์ห่อโคลง ฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง



ประวัติวรรณคดีและวรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ. ๒๒๗๕–๒๓๑๐)
   หลังจากรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บ้านเมืองก็ตกอยู่ในความวุ่นวาย วรรณคดีไม่ได้รับการทำนุบำรุงจนกระทั่งถึงรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในสมัยดังกล่าวบ้านเมืองได้รับการฟื้นฟูทั้งในด้านการศึกษาและวรรณคดีตลอดจนเกิดกวีจำนวนมาก ตั้งแต่ชนชั้นกษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง พระภิกษุสงฆ์ รวมถึงกวีหญิง 
   ในยุคนี้วรรณคดีที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ บทร้อยกรองประเภทกาพย์และกลอน โดยเฉพาะกาพย์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรซึ่งได้รับยกย่องว่าแต่งได้ดีที่สุด แต่ทว่าวรรณคดีส่วนมากได้สูญหายและชำรุดไปในช่วงเสียกรุงแก่พม่าปี พ.ศ. ๒๓๑๐
   ตัวอย่างวรรณคดีสำคัญในสมัยอยุธยาตอนปลาย เช่น โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์ พระมาลัยคำหลวง กาพย์เห่เรือ กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง ปุณโณวาทคำฉันท์ 



ประวัติวรรณคดีและวรรณกรรมสมัยธนบุรี (พ.ศ. ๒๓๑๐–๒๓๒๕)
   ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงต้องทำสงครามอยู่บ่อยครั้ง ทำให้วรรณคดีมีไม่มากนัก แต่อย่างไรก็ดีพระองค์ก็ทรงพยายามทะนุบำรุงพระศาสนาและศิลปวัฒนธรรมให้ได้มากที่สุด เช่น การพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ขึ้น เพื่อใช้ในงานสมโภชต่าง ๆ เพื่อเป็นการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม และบำรุงขวัญของประชนควบคู่กันไปด้วย
   นอกจากนี้ยังพบว่าวรรณคดีสมัยกรุงธนบุรีได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในลักษณะที่เป็นวรรณคดีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาและแต่งด้วยบทร้อยกรองทั้งเรื่อง ส่วนแรกของเรื่องเป็นบทไหว้ จากนั้นจึงเป็นบทพรรณนาที่เน้นความไพเราะมากกว่าเนื้อหาสาระ

 


คำสำคัญ วรรณคดี วรรณกรรม การวิจารณ์วรรณคดีและวรรณกรรม สมัยอยุธยาตอนกลาง ยุคทองของวรรณคดี สมัยอยุธยาตอนปลาย สมัยธนบุรี 

 



แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th