บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง สิทธิมนุษยชน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 63.1K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

 สิทธิมนุษยชน

 

 

สิทธิมนุษยชน
     สิทธิมนุษยชน หมายถึง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและตามสนธิสัญญาที่ไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม โดยสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นจากแนวความคิดที่ต้องการหาหลักประกันคุ้มครองสิทธิของประชาชนไม่ให้รัฐละเมิดโดยการใช้อำนาจรัฐ และจากเหตุนี้จึงทำให้เกิดแนวคิดเรื่อง กฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) และสิทธิตามธรรมชาติ (Natural Rights) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้อำนาจของรัฐ
     “กฎหมายธรรมชาติ” เป็นกฎหมายที่อ้างว่ามีอยู่เองตามธรรมชาติ เป็นกฎหมายที่อยู่เหนือรัฐใช้ได้ไม่จำกัดเวลา เป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลในการเคลื่อนไหวการเรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เป็นที่มาของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ส่วนสิทธิตามธรรมชาติ จะมุ่งรับรองสิทธิที่มีอยู่ประจำตัวของบุคคลที่มีอยู่ตามธรรมชาติไม่อาจโอนให้แก่กันเหมือนสิทธิตามกฎหมาย และรัฐจะตรากฎหมายจำกัดหรือย่ำยีสิทธินี้ไม่ได้ นอกจากนี้สิทธิมนุษยชนยังมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ สิทธิมนุษยชนสามารถใช้กับมนุษย์ทุกคน ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องความแตกต่าง สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงมีและไม่สามารถโอนให้แก่กันได้ สิทธิใด ๆ ของมนุษย์จะไม่สามารถแย่งหรือแยกออกจากกันได้เด็ดขาด ทั้งสิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ ไม่สามารถแลกเปลี่ยนระหว่างสิทธิหนึ่งกับอีกสิทธิหนึ่งได้ สิทธิทั้งหลาย ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และพลเมือง จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องและส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน และสิทธิทั้งหลายเป็นวิถีทางที่นำไปสู่การบรรลุสันติภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืนของมนุษยชาติ
     ในส่วนของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้จัดทำขึ้นและลงมติรับรองสาส์น เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นมาตรฐานกลางสำหรับทุกประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งระดับสากล ระดับภูมิภาค และระดับภายในประเทศ

 

 

มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ สัญชาติ วัฒนธรรม ความเชื่อ หรือวัยใดย่อมมีศักดิ์และสิทธิ

 

 

สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
1. สิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ
     1.1 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ คือ เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การวิจัย และการประสานงานระหว่างหน่วยราชการองค์กรเอกชน และองค์กรอื่นในด้านสิทธิมนุษยชน ให้การคุ้มครองและดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสนอแนะนโยบาย การปรับปรุงกฎหมาย และมาตรการต่าง ๆ แก่รัฐสภา รัฐบาล และหน่วยงานรัฐ เพื่อให้เกิดการเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
     1.2 สิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บทบัญญัติที่รับรองและคุ้มครองในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มีสาระสำคัญดังนี้
          1) ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประกอบไปด้วย การใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ ความผูกพันของสิทธิและเสรีภาพ การอ้างสิทธิและเสรีภาพ และการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ
          2) ความเสมอภาคของบุคคล ได้แก่ ความเสมอภาคและห้ามเลือกปฏิบัติและความเสมอภาคในสิทธิและเสรีภาพของบุคคลผู้ทำงานให้รัฐ
          3) สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล ได้แก่ สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เสรีภาพในเคหสถาน เสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่ สิทธิในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และความเป็นอยู่ส่วนตัว เสรีภาพในการสื่อสาร เสรีภาพในการนับถือศาสนา สิทธิที่จะไม่ถูกเกณฑ์แรงงาน
          4) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ประกอบด้วย สิทธิที่จะไม่ถูกบังคับใช้กฎหมายอาญาย้อนหลัง สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
          5) สิทธิในทรัพย์สิน ได้แก่ สิทธิในทรัพย์สิน และสิทธิในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
          6) สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ได้แก่ เสรีภาพในการประกอบอาชีพ และสิทธิได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน
          7) เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน ได้แก่ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการเสนอข่าว สิทธิในการดำเนินการสื่อมวลชนที่เป็นสาธารณะได้ การห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนทั้งในนามของตนและผู้อื่น
          8) สิทธิและเสรีภาพในการศึกษา ได้แก่ สิทธิเสมอกันในการรับการศึกษา และเสรีภาพในทางวิชาการ

 

 

เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะอยู่รอดและได้รับการพัฒนา

 


          9) สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ ได้แก่ สิทธิในการรับบริการทางสาธารณสุข สิทธิเด็ก เยาวชน สตรี และบุคคลในครอบครัว สิทธิของผู้สูงอายุ สิทธิของผู้พิการหรือทุพพลภาพ และสิทธิของผู้ไร้ที่อยู่อาศัย
          10) สิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน ได้แก่ สิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะ สิทธิในการได้รับข้อมูลจากหน่วยรัฐก่อนอนุญาตหรือดำเนินการโครงการ สิทธิในการมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ สิทธิในการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ สิทธิในการฟ้องหน่วยงานรัฐ สิทธิของผู้บริโภค สิทธิในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ
          11) เสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคม ได้แก่ เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ สิทธิในการรวมตัวเป็นสมาคม และเสรีภาพในการตั้งพรรคการเมือง

 

 

บุคคลมีสิทธิรวมตัวกัน เช่น การรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน

 

 

          12) สิทธิชุมชน ประกอบด้วย สิทธิของบุคคลที่รวมกันเป็นชุมชน และสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชน
          13) สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ได้แก่ ห้ามบุคคลกระทำการล้มล้างระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย และการคุ้มครองบุคคลผู้ต่อต้านการล้มล้างระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย


2. ปัญหาสิทธิมนุษยชนของไทย
ปัญหาที่สำคัญที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน มีดังนี้
     1) ปัญหาด้านสังคมและวัฒนธรรม ได้แก่ ความรักอิสรภาพหรือความเป็นไท จนทำให้เกิดการกระทำตามใจตนเอง ละเลยการเคารพกฎหมายและระเบียบวินัยและการเคารพต่อสิทธิของผู้อื่น ความรู้สึกมักน้อยหรือสันโดษ ก่อให้เกิดปัญหาการยอมรับระเบียบวินัยในการทำงานและการดำรงชีวิต ความเคารพเชื่อฟังผู้มีอำนาจ โดยนิยมยกย่องการมีอำนาจวาสนาในตำแหน่งหน้าที่ราชการ เศรษฐกิจ หรือสถานะทางสังคมอื่น ๆ โดยไม่พิจารณาที่มาของอำนาจ วาสนานั้น ซึ่งก่อให้เกิดระบบอุปถัมภ์ และการขาดความกระตือรือร้นในการเรียกร้องความถูกต้องในเรื่องต่าง ๆ
     2) ปัญหาด้านการละเมิดสิทธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว ได้แก่ เด็กและเยาวชนติดยาเสพติด ถูกละเมิดทางเพศ เด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อน การใช้แรงงานเด็กในธุรกิจบริการทางเพศ เป็นต้น
     3) ปัญหาด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มีกำหนดให้มีศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองเพื่อเป็นหลักประกันการใช้กฎหมายและอำนาจของภาครัฐไม่ให้ละเมิดสิทธิ นอกจากนี้ยังมีกฎหมาย กฎ และระเบียบอีกมากที่ยังไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขให้ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและยังไม่รองรับสิทธิของประชาชนและสิทธิชุมชน
     4) ปัญหาด้านนโยบายทางสังคม พบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ไทยยังเป็นทั้งประเทศต้นทาง ส่งผ่าน และปลายทางการค้ามนุษย์ข้ามชาติ เหยื่อส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เด็ก การถูกเอาเปรียบแรงงานและบริการทางเพศ แรงงานต่างชาติถูกเอาเปรียบและไม่ได้รับการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มของสหภาพแรงงานต่าง ๆ
     5) ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิชุมชน ปัญหาที่พบ คือ รัฐยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ และขาดการดูแลทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริง ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งจากการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ทั้งของเอกชน บรรษัทข้ามชาติ หรือของรัฐบาลเอง


3. แนวทางการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย
     3.1 แนวนโยบายสิทธิมนุษยชน มีทั้งสิ้น 9 ประการ ดังนี้
          1) ส่งเสริมให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชนตลอดจนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

          2) ผสมผสานเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าไว้ในการพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศทุกด้าน
          3) ดำเนินการให้ความรู้แก่ประชาชนทุกกลุ่มเพื่อให้เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนควบคู่กับหน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็นพลเมืองและจริยธรรมแก่ประชาชน
          4) ส่งเสริมหลักการความเป็นสากล การแบ่งแยกมิได้ และการเกี่ยวพันซึ่งกันและกันของสิทธิมนุษยชน
          5) สนับสนุนการดำเนินงานตามอนุสัญญาและข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยได้ให้กับนานาประเทศ
          6) เสริมสร้างความร่วมมือทุกระดับในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
          7) พัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ให้เอื้อต่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
          8) ส่งเสริมการพัฒนาองค์การเอกชนและองค์กรประชาชนทุกระดับให้เข้มแข็ง
          9) ปรับปรุงโครงสร้างองค์การและกลไกของรัฐ ให้ใช้อำนาจในการปกครองอย่างมีศีลธรรม
     3.2 การดำเนินงานสิทธิมนุษยชนของไทย รัฐบาลได้กำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการแม่บทแห่งชาติด้านสิทธิมนุษยชนไว้ 2 แผน ได้แก่ แผนสิทธิมนุษยชนเฉพาะด้าน และแผนสิทธิมนุษยชนตามกลุ่มเป้าหมาย

 

องค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทในด้านสิทธิมนุษยชน
องค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทในด้านสิทธิมนุษยชน ได้แก่
1. องค์การสหประชาชาติ
     องค์การสหประชาชาติ (United Nations) เป็นองค์การระหว่างประเทศที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกร่วมมือกันธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยมีจุดยืนอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความอยู่ดีกินดีของประชาชน

 

 

ตราสัญลักษณ์ขององค์การสหประชาชาติ

 


     1.1 องค์กรหลักของสหประชาชาติ ประกอบด้วย สมัชชาใหญ่ (General Assembly) คณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Ecomomic and Social Council) คณะมนตรีภาวะทรัสตี (Trusteeship Council) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) และสำนักงานเลขาธิการ (Secretariat Office)
     1.2 บทบาทขององค์การสหประชาชาติ ได้แก่ บทบาทในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เช่น การจัดทำอนุสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ อักทั้งยังได้เข้าไปยุติเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก นอกจากนี้สิทธิมนุษยชนยังนำมาเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองในการติดต่อความสัมพันธ์ทางการทูตหรือทางการค้ากับประเทศที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนในประเทศของตน
2. คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
     คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Human Rights Council) เป็นองค์กรที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรสหประชาชาติ มีหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
3. องค์การนิรโทษกรรมสากล
     องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) เป็นองค์การอิสระระหว่างประเทศที่มีหน้าที่เกี่ยวกับงานด้านสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งภารกิจหลักขององค์การนิรโทษกรรมสากล คือ ปลดปล่อยนักโทษทางความคิดโดยไม่มีเงื่อนไข ให้การพิจารณาคดีนักโทษทางการเมืองเป็นไปอย่างยุติธรรมและรวดเร็ว คัดค้านโทษประหารชีวิต การทรมาน และการปฏิบัติต่าง ๆ ที่โหดร้ายต่อนักโทษ คัดค้านการวิสามัญฆาตกรรมและการหายสาบสูญของบุคคล และส่งเสริม เผยแพร่และสนับสนุนงานด้านสิทธิมนุษยชน
4. กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ
     กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ (United Nations Children’s Fund UNICEF) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน พัฒนาการ ความเป็นอยู่ของเด็กและแม่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยบทบาทและภารกิจของยูนิเซฟในประเทศไทย ได้แก่ การคุ้มครองเด็กให้ปลอดภัยจากการทารุณ การค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็ก มุ่งเน้นให้เด็กได้เข้ารับการศึกษามากขึ้น การแก้ปัญหาโรคเอดส์ ให้ความช่วยเหลือในเหตุการณ์คลื่นสึนามิ สร้างความตระหนักในสิทธิเด็ก การวิเคราะห์นโยบายสังคม เพื่อประเมินผลกระทบของนโยบายและนำเสนอนโยบายอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ การส่งเสริมศักยภาพของท้องถิ่น และระดมเงินทุนจากในประเทศและการสนับสนุนจากภาคเอกชน เพื่อการคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรี


Keyword  สิทธิมนุษยชน  สิทธิ  เสรีภาพ  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  องค์การระหว่างประเทศ  องค์การสหประชาชาติ  คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ  ยูนิเซฟ 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th