บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง รัฐโบราณในดินแดนไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 256.7K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

รัฐโบราณในดินแดนไทย

 

รัฐ หมายถึง แว่นแคว้น ประเทศ รัฐโบราณแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. แคว้น เกิดจากกลุ่มเมืองรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ สัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างผู้นำ มีการค้าขายและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน
2. อาณาจักร เกิดจากกลุ่มเมืองรวมตัวกันอย่างแน่นแฟ้น กษัตริย์ที่ประทับในราชธานีมีอำนาจเหนือผู้นำของเมืองบริวารทั้งหมด มีการรวมกลุ่มเมืองตั้งเป็นรัฐหลายรัฐ

 

1. แคว้นตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) ประมาณพุทธศตวรรษที่ 7–19


แคว้นนครศรีธรรมราช

 

แคว้นตามพรลิงค์ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 7–18 เป็นแคว้นบนแหลมมลายู จดหมายเหตุของจีนเรียกว่า ตันมาลิง ต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น นครศรีธรรมราช ภายหลังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรสุโขทัย และถูกรวมกับอาณาจักรอยุธยาตั้งแต่ พ.ศ.1893 แคว้นตามพรลิงค์เหมาะแก่การค้าขาย จึงเป็นแคว้นที่มั่งคั่ง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช
แคว้นตามพรลิงค์รับอารยธรรมจากอินเดีย โดยนับถือ 2 ศาสนา คือ ศาสนาพราหมณ์–ฮินดู ลัทธิไศวะ บูชาพระศิวะ และลัทธิไวษณพ บูชาพระนารายณ์
พระพุทธศาสนา นับถือนิกายเถรวาท นิกายมหายาน และเปลี่ยนเป็นนิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์นับถือตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่ศาสนา

 

2. อาณาจักรศรีวิชัย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13–18
อาณาจักรศรีวิชัย เอกสารจีนเรียกว่า ชิลิโฟชิ หรือโฟชิ ครอบคลุมแหลมมลายู และอินโดนีเซีย เป็นเส้นทางการค้าโบราณระหว่างจีนกับอินเดีย จึงเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ ล่มสลายลงเพราะไม่สามารถควบคุมการค้าทางทะเลได้ รวมทั้งถูกพวกโจฬะจากอินเดียโจมตี

 

อาณาจักรศรีวิชัย

 

ศรีวิชัยมีกษัตริย์ปกครอง นักวิชาการในอดีตมีความเห็นแตกต่าง ในเรื่องศูนย์กลางอำนาจ ฝ่ายหนึ่งว่าอยู่ที่เมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อีกฝ่ายหนึ่งว่าอยู่ที่เมืองปาเลมบัง ประเทศอินโดนีเซีย

 

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระนารายณ์ ศิลา ศิลปะศรีวิชัย พระพุทธรูปนาคปรกปางมารวิชัย

 

ปัจจุบันมีแนวคิดใหม่ว่า ศรีวิชัยเป็น สมาพันธรัฐ ไม่มีศูนย์กลางที่แน่นอน แต่จะเปลี่ยนไปตามความเข้มแข็งของผู้นำแต่ละรัฐ
ด้านศาสนาช่วงแรกนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท และศาสนาพราหมณ์– ฮินดู ต่อมานับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายานเป็นหลัก และเมื่อศรีวิชัยล่มสลายก็กลับมานับถือนิกายเถรวาทมาจนถึงปัจจุบัน
ศิลปกรรมได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียสมัยราชวงศ์คุปตะราชวงศ์ปาละ–เสนะ ส่วนใหญ่เป็นรูปเคารพในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์–ฮินดู ส่วนโบราณสถานคงเหลือเฉพาะ สถูปเจดีย์ มี 2 แบบ คือ
สถูปเจดีย์ทรงมณฑป พระบรมธาตุไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

พระบรมธาตุไชยา


เจดีย์ทรงกลม สร้างขึ้นเมื่อพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์เช่น พระบรมธาตุเจดีย์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

 


3. อาณาจักรทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12–16
อาณาจักรทวารวดีเป็นรัฐที่เจริญรุ่งเรืองในพุทธศตวรรษที่ 12 ได้แผ่อิทธิพลทางวัฒนธรรมที่รับมาจากอินเดีย ทวารวดีล่มสลายในพุทธศตวรรษที่ 16 เนื่องจากการขยายอำนาจของเขมร
ปัจจุบันแนวคิดเรื่องอาณาจักรทวารวดี แบ่งเป็น 2 แนวคิด คือ
แนวคิดที่ 1 เชื่อว่า ทวารวดีมีการปกครองเป็นอาณาจักร มีเมืองศูนย์กลางอยู่ที่ 3 เมือง ได้แก่ เมืองนครปฐมโบราณ (นครชัยศรี) เมืองอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และเมืองลพบุรี
แนวคิดที่ 2 เชื่อว่า ทวารวดีเป็นกลุ่มเมืองที่เป็นอิสระต่อกัน แต่ละเมืองพึ่งพาตัวเองได้เศรษฐกิจทวารวดีขึ้นอยู่กับการเกษตรและการค้ากับชาวต่างชาติ

 

เหรียญเงินสมัยทวารวดี ตราประทับดินเผารูปเรือสำเภาสมัยทวารวดี

ที่ตั้งเมืองโบราณสมัยทวารวดีบางเมือง

 

ชาวทวารวดีนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท โดยมีหลักฐานเช่น พระพุทธรูป พระพิมพ์ ธรรมจักรกวางหมอบ และนับถือพระพุทธศาสนา นิกายมหายานรวมทั้งศาสนาพราหมณ์–ฮินดู
ศิลปกรรมสมัยทวารวดีส่วนใหญ่คล้ายกับอินเดีย สถาปัตยกรรมที่พบมาก คือ สถูปเจดีย์ สร้างด้วยอิฐขนาดใหญ่

 

4. แคว้นละโว้ (ลพบุรี) ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12–19
แคว้นละโว้หรือลพบุรี มีความหมาย 2 นัย คือ
1. แคว้นที่ตั้งอยู่ภาคกลางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองละโว้ หรือลพบุรี
2. แคว้นที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากเขมร หรือวัฒนธรรมลพบุรีโดยมีศูนย์กลางของภาคกลางอยู่ที่เมืองละโว้หรือลพบุรี และศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่เมืองพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ด้านศาสนาเดิมนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเช่นเดียวกับทวารวดี ต่อมายอมรับ ความเชื่อแบบเขมร คือ ศาสนาพราหมณ์–ฮินดูทั้งลัทธิไศวะและลัทธิไวษณพ และยอมรับพระพุทธศาสนานิกายมหายานที่นับถือ พระโพธิสัตว์
ศิลปกรรมได้รับอิทธิพลจากทวารวดี จนพุทธศตวรรษที่ 16 ได้รับอิทธิพลจากเขมร ที่สำคัญ คือ ปราสาทหรือปรางค์มีทั้งที่สร้างด้วยอิฐ สร้างด้วยหินทราย และสร้างด้วยศิลาแลง

 

ปราสาทหินพนมรุ้ง พระปรางค์สามยอด

 

ประติมากรรม นิกายเถรวาทนิยมสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก และศาสนาพราหมณ์–ฮินดูสร้างเทวรูป ที่ทำจากศิลา และหล่อด้วยสำริด
เขมรเสื่อมอำนาจปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ละโว้กลับมาเป็นอิสระจนถึง พ.ศ. 1893 แคว้นละโว้ได้รวมอยู่กับอาณาจักรอยุธยา


5. แคว้นหริภุญชัย ประมาณ พ.ศ. 1204–1835
มีเมืองหริภุญชัยหรือลำพูนเป็นราชธานี เมืองเขลางค์นครหรือลำปางเป็นเมืองรอง เอกสารจีนสมัยราชวงศ์ถัง เขียนใน พ.ศ.1406 เรียกดินแดนหริภุญชัยว่า “หนี่หวัง” หมายถึง รัฐที่มีผู้หญิงเป็นกษัตริย์ ชินกาลมาลีปกรณ์ เล่าว่า ใน พ.ศ.1203 ฤษีวาสุเทพได้สร้างเมืองหริภุญชัยขึ้น และเชิญ พระนางจามเทวี ธิดาของกษัตริย์ละโว้มาปกครองเมื่อ พ.ศ.1204 พระนางจามเทวีได้นำพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมาเผยแผ่ ชาวเมืองจึงนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นหลักแต่ก็มีการนับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายานด้วย
ได้รับอิทธิพลศิลปะจากทวารวดีและมอญ สถาปัตยกรรมสำคัญได้แก่ เจดีย์กู่กุด พระบรมธาตุหริภุญชัย
ราชวงศ์จามเทวีปกครองมาต่อกันหลายร้อยปี และได้หมดอำนาจลง เมื่อพระยาญีบาถูกพระยามังรายแห่งแคว้นเงินยางยกทัพมาตีเมืองลำพูนใน พ.ศ. 1835

 

อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี เจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน

 

คำสำคัญ
ตามพรลิงค์
ศรีวิชัย
สมาพันธรัฐ
ทวารวดี
ละโว้
ศิลาแลง
หริภุญชัย
ชินกาลมาลีปกรณ์

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th