บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง อารยธรรมตะวันออก
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 38.9K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้


อารยธรรมตะวันออก

 

1. อารยธรรมจีน
อารยธรรมจีนกำเนิดขึ้นในบริเวณพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำหวางเหอที่อุดมสมบูรณ์ หรือแม่น้ำเหลืองทางภาคเหนือของจีน ซึ่งปกคลุมด้วยดินสีเหลืองที่เรียกว่า ดินเลิสส์ (loess)

 

อารยธรรมจีน

 

     1.1 อารยธรรมจีนสมัยก่อนประวัติศาสตร์
หลักฐานที่พบในประเทศจีนแสดงว่า แผ่นดินจีนอาจเป็นแหล่งกำเนิดเผ่าพันธุ์ของมนุษยชาติ มีการพบซากดึกดำบรรพ์ (fossil) ของมนุษย์วานรยุคแรกที่เรียกว่า รามาปิเทคุส (Ramapithecus)
     1.2 อารยธรรมจีนสมัยประวัติศาสตร์ โดยพิจารณาจากอารยธรรมจีนที่เกิดขึ้นในแต่ละสมัย ดังนี้
          1. สมัยราชวงศ์ชาง กษัตริย์ยังคงต้องทำสงครามกับชนเผ่าต่าง ๆ พร้อมทั้งสร้างระบบความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนา
          2. สมัยฟิวดัล ราชวงศ์โจวปกครองจีนทางเหนือทั้งหมด แบ่งออกเป็น 2 สมัย คือ
               1) โจวตะวันตก (1,045–771 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
               2) โจวตะวันออก (770–249 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
          3. สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือสมัยจักรวรรดิจีน
               1) ราชวงศ์ฉิน (221–206 ปีก่อนคริสต์ศักราช) จักรพรรดิฉินสื่อหวงหรือจิ๋นซีต้องการสร้างความเป็นเอกภพ จึงรวมอำนาจเข้าสู่รัฐบาลกลาง
               2) ราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสต์ศักราช–ค.ศ. 220) มีการกำหนดให้ตำราขงจื๊อเป็นตำราที่ใช้สอบเข้ารับราชการ ทำให้เกิดระบบการสอบไล่เข้ารับราชการเป็นครั้งแรก
               3) ราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618–907) ภายหลังสิ้นสุดราชวงศ์ฮั่น แผ่นดินจีนแตกแยก มีราชวงศ์ต่าง ๆ ผลัดกันขึ้นมาปกครอง
               4) ราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960–1280) ขุนนางผู้สืบเชื้อสายจากราชวงศ์ถังรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง แล้วตั้งราชวงศ์ซ่งขึ้น
               5) ราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1208–1368) หลังราชวงศ์ซ่งหมดอำนาจลง พวกมองโกลซึ่งเดิมเป็นพวกเร่ร่อนก็เข้ามาปกครองจีน
               6) ราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368–1644) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง จูหยวนจางเป็นผู้ขับไล่ชาวมองโกลออกจากแผ่นดินจีนได้สำเร็จ
               7) ราชวงศ์ชิงหรือราชวงศ์แมนจู (ค.ศ. 1644–1911) มีชาวต่างชาติเป็นผู้นำประเทศ แต่ก็จัดว่าเป็นสมัยแห่งความสำเร็จเกือบทุก ๆ ด้าน
          4. สมัยสาธารณรัฐจีนและสาธารณรัฐประชาชนจีน การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดลงเมื่อคณะปฏิวัตินำโดย ดร.ซุน ยัตเซน
หลังจากนั้นจีนแผ่นดินใหญ่ก็เข้าสู่สมัยสาธารณรัฐประชาชนจีน มี เหมา เจ๋อตง เป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งนำแนวคิดของ คาร์ล มากซ์ (Karl Marx ค.ศ. 1818–1883) วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin ค.ศ. 1870–1924) และโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin ค.ศ. 1879–1953) ผู้นำลัทธิคอมมิวนิสต์มาปรับใช้
     1.3 สังคมและวัฒนธรรม
          1. ระบบที่ดิน จักรพรรดิพระราชทานที่ดินให้แก่เจ้าเมืองและขุนนางผู้ใหญ่ตามบรรดาศักดิ์
          2. ลัทธิขงจื๊อ (Confucianism) ขงจื๊อ (Confucius 551–479 ปีก่อนคริสต์ศักราช) คือผู้วางรากฐาน เป็นลัทธิที่มุ่งแก้ปัญหาการเมืองและสังคมของจีน
          3. ลัทธิเต๋า (Taoism) เล่าจื๊อ (Laozi ประมาณ 571–484 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นนักปราชญ์คนสำคัญและเป็นศาสดาของลัทธิเต๋า
          4. ลัทธินิติธรรมหรือฟาเฉีย (Legalism) เกิดขึ้นปลายสมัยราชวงศ์โจว มีความเชื่อว่าโดยธรรมชาติมนุษย์เป็นคนเลว
          5. พระพุทธศาสนา สมัยราชวงศ์ฮั่นพระพุทธศาสนานิกายมหายานเข้ามาเผยแพร่ในประเทศจีน
     1.4 ศิลปกรรมจีน
          1. เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องเคลือบ
          2. เครื่องสำริด เป็นเครื่องเซ่นบูชาเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์
          3. เครื่องหยก มีการพบหยกสีน้ำตาลรูปขวานและแหวนในหลุมศพปลายสมัยหินใหม่
          4. ประติมากรรม สมัยแรกเป็นประติมากรรมสำริดรูปทรงภาชนะต่าง ๆ
          5. สถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมที่สำคัญ คือ กำแพงเมืองจีนที่สร้างล้อมรอบเมืองและกั้นตามแนวชายแดนสมัยราชวงศ์โจว

 

กำแพงเมืองจีน

 

          6. จิตรกรรม ลวดลายที่แกะสลักบนเครื่องสำริดสมัยราชวงศ์ชางและโจว
          7. วรรณกรรม เริ่มขึ้นสมัยราชวงศ์โจว ขงจื๊อได้รวบรวมตำราโบราณมาเรียบเรียง คัดเลือก และแต่งเพิ่มรวมเข้าไว้ด้วยกัน เรียกว่า คัมภีร์ทั้งห้า นอกจากนี้มี เต๋าเต๋อจิง ของเล่าจื๊อผู้วางรากฐานลัทธิเต๋า
     1.5 ความก้าวหน้าทางวิทยาการของจีน
          1. ตัวอักษรจีน กำเนิดสมัยราชวงศ์ชางประมาณ 1,600 ปีก่อนคริสต์ศักราช เป็นตัวอักษรกึ่งภาพ
          2. กระดาษและการพิมพ์ ชาวจีนเป็นชาติแรกที่คิดค้นทำกระดาษ เมื่อประมาณ ค.ศ. 105 ไช่หลุน (Cai Lun ประมาณ ค.ศ. 62–121) ขุนนางจีนเป็นผู้นำเปลือกไม้ เศษปอหรือป่าน ผ้าเก่า และแห มาทำกระดาษ
          3. การแพทย์ เริ่มตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว มีการตรวจรักษาโรคด้วยวิธีต่าง ๆ
          4. ความรู้ทางวิศวกรรมโลหะ ชาวจีนสามารถหล่อสำริดขนาดเล็กเป็นเครื่องประดับไปจนถึงขนาดใหญ่
          5. การต่อเรือ สมัยราชวงศ์ถังมีการต่อเรือเดินทะเลขนาดใหญ่
          6. ดินปืน สมัยราชวงศ์ฉินมีการทำดินดำหรือดินปืน
          7. ดาราศาสตร์และปฏิทิน ชาวจีนสนใจมานานแล้ว เพราะเกี่ยวข้องกับการกำหนดวันทำพิธีกรรม มีใช้มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชาง
          8. แผนที่ ส่วนใหญ่ทำเพื่อใช้ทางการทหาร ภายหลังนำมาใช้ในการเดินเรือ
          9. คณิตศาสตร์และการคำนวณ สมัยราชวงศ์ฮั่นรู้จักประดิษฐ์ลูกคิดเพื่อช่วยในการคำนวณ
          10. เข็มทิศ สมัยราชวงศ์ฮั่นสามารถประดิษฐ์เข็มทิศได้ และนำมาใช้ในการทหารเป็นครั้งแรก

 

เข็มทิศ สมัยราชวงศ์ฮั่น

 

2. อารยธรรมอินเดีย
     2.1 ปัจจัยทางภูมิศาสตร์กับการตั้งถิ่นฐาน
อารยธรรมอินเดียกำเนิดขึ้นบริเวณลุ่มน้ำสินธุ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียโบราณ ปัจจุบันบริเวณส่วนใหญ่อยู่ในประเทศปากีสถาน ทำให้ลุ่มน้ำเป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรมอินเดียโบราณ
     2.2 อารยธรรมอินเดียสมัยก่อนประวัติศาสตร์
บริเวณลุ่มน้ำสินธุเป็นแหล่งอารยธรรมอินเดียที่เก่าแก่ อายุประมาณ 2,500–1,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุรุ่งเรืองอยู่ราวหนึ่งพันปีก็เสื่อมลงในราว 1,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช เนื่องจากภัยธรรมชาติ คือ น้ำท่วมและพายุทราย

 

เมืองโมเฮนโจดาโร อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ

 

     2.3 อารยธรรมอินเดียสมัยประวัติศาสตร์
          1. สมัยมหากาพย์ (900–600 ปีก่อนคริสต์ศักราช) มีการใช้ตัวหนังสือบันทึกเรื่องราว ในสมัยนี้มีมหากาพย์ 2 เรื่อง คือ รามายณะ หรือรามเกียรติ์ ของไทย และมหาภารตะ
          2. สมัยจักรวรรดิ (600 ปีก่อนคริสต์ศักราชถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10)
          3. สมัยมุสลิม (ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19) มุสลิมสายเชื้อเติร์กจากเอเชียกลางขยายอำนาจเข้ามาปกครองลุ่มน้ำสินธุได้
     2.4 สังคมและวัฒนธรรมอินเดีย
          1. ระบบวรรณะ คัมภีร์พระเวทแบ่งคนออกเป็น 4 วรรณะ คือ วรรณะพราหมณ์ วรรณะกษัตริย์ วรรณะไวศยะหรือแพศย์ และวรรณะศูทร
          2. ปรัชญาและลัทธิศาสนาสังคมอินเดีย เป็นแหล่งกำเนิดศาสนาสำคัญของโลกตะวันออก ได้แก่ ศาสนาพราหมณ์–ฮินดู พระพุทธศาสนา และศาสนาเซน
          3. เทพเจ้าของอินเดีย พวกอารยันนับถือเทพเจ้ามาก่อนที่จะอพยพมาอยู่ในอินเดีย เทพเจ้าของพวกเขาเป็นธรรมชาติที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์ เช่น ดวงอาทิตย์ ฝน พายุ
     2.5 ศิลปกรรมอินเดีย
          1. สถาปัตยกรรม การขุดพบซากเมืองฮารัปปาและโมเฮนโจดาโรสมัยอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ
          2. ประติมากรรม ประติมากรรมรุ่นแรก ๆ อยู่ในสมัยราชวงศ์เมารยะ เป็นประติมากรรมลอยตัวขนาดใหญ่ สลักจากหิน รูปร่างหนัก แข็งกระด้าง แสดงท่าหยุดนิ่ง
          3. จิตรกรรม ปัจจุบันจิตรกรรมเก่าที่สุดที่ยังเหลืออยู่พบที่เพดานถ้ำโยคีมารา ในทิวเขารามคฤหะ ภาคตะวันออกของอินเดีย

 

จิตรกรรมผนังถ้ำอชันตะ

 

          4. นาฏศิลป์และสังคีตศิลป์ นาฏศิลป์ที่เกี่ยวกับการฟ้อนรำกำเนิดจากวัด ราชสำนัก และท้องถิ่นพื้นบ้านก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 1–2 ซึ่งเป็นแบบแผนที่มั่นคงแล้ว
          5. วรรณกรรม เริ่มจากการเป็นบทสวดในพิธีบูชาเทพเจ้าเน้นหนักไปทางด้านศาสนา
     2.6 ความก้าวหน้าทางวิทยาการของอินเดีย
          1. ภาษาศาสตร์ มีการแต่งตำราว่าด้วยไวยากรณ์ขึ้นหลายเรื่อง เช่น นิรุกตะ ของยาสกะ (ประมาณ 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช) อธิบายประวัติและความเป็นมาของคำ
          2. ธรรมศาสตร์และนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์มีความหมายกว้าง คือ เป็นทั้งกฎหมาย ศาสนบัญญัติ จารีตประเพณี ศีลธรรม และหน้าที่ มีพื้นฐานมาจากธรรมสูตร เรียกว่า ธรรมศาสตร์
          3. แพทยศาสตร์ ในจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชกล่าวถึงโรงพยาบาลสำหรับรักษาผู้เจ็บป่วย 4. ชโยติษ (ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ และคณิตศาสตร์) เป็นศาสตร์ที่ใช้ประกอบกับคัมภีร์พระเวท ในการประกอบพิธี ฤกษ์ยามมีความสำคัญมาก

 

คำสำคัญ
ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
สมัยฟิวดัล
ระบบวรรณะ
อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ
ลัทธิ
ชโยติษ (ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ และคณิตศาสตร์)

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th