ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้
1. การปฏิรูปการปกครองบ้านเมือง
1.1 การปกครองสมัยรัตนโกสินทร์ก่อนการปฏิรูป
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระมหากษัตริย์ทรงปกครองโดยทศพิธราชธรรม เป็นการปกครองโดยอิงหลักทางพระพุทธศาสนา ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา และมีพระราชภารกิจในการคุ้มครองอาณาประชาราษฎร์
1.2 การปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5
การปฏิรูปการปกครองครั้งสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มประมาณ พ.ศ. 2430 หลังจากพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการเสด็จกลับจากดูงานการปกครองในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและยุโรป แล้วได้บันทึกเสนอต่อรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ทรงพิจารณาเห็นว่าเหมาะที่จะมีการปฏิรูปการปกครอง จึงได้ตั้งกรมขึ้นมาใหม่จากเดิม 6 กรม เพิ่มอีก 6 กรม เป็น 12 กรม
1.3 ผลของการปฏิรูปการปกครอง
1. การปกครองเป็นไปตามแนวคิดเรื่องรัฐชาติแบบตะวันตก มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากจตุสดมภ์มาเป็นการปกครองที่แบ่งแยกหน้าที่เป็นกระทรวงต่าง ๆ
2. อำนาจการปกครองได้ย้ายจากขุนนางมาสู่พระมหากษัตริย์และราชวงศ์
2. การเลิกระบบไพร่และการเลิกทาส
2.1 การเลิกระบบไพร่
การยกเลิกระบบไพร่ ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนจากไพร่มาเป็นพลเมืองซึ่งเป็นองค์ประกอบรัฐชาติสมัยใหม่ จากการยกเลิกระบบไพร่ได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศอย่างมากมาย เช่น ทำให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจมากขึ้น รัฐสามารถเก็บภาษีและผลประโยชน์เข้ารัฐได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านขุนนาง และทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว
2.2 การเลิกทาส
ในการเลิกทาส ได้มีพระราชบัญญัติพิกัดกระเษียรอายุลูกทาสไทย พ.ศ. 2417 ระบุไว้ว่า
ลูกทาสที่เกิดปีมะโรง พ.ศ. 2411 คือ ปีที่เสวยราชย์นั้นและในปีต่อ ๆ มา ให้มีขั้นตอนของการลดค่าตัว จนกระทั่งอายุ 21 ปีเต็มแล้วทุกคนจะหมดค่าตัวเป็นอิสระทันที การที่ออกกฎหมายเกี่ยวกับลูกทาสก่อนทาสประเภทอื่นเพราะเมื่อเกิดมาก็ต้องเป็นทาสทันที เมื่ออายุ 21 ปี ทุกคนจะเป็นอิสระ
3. การเสด็จประพาสต้นและเสด็จประพาสยุโรป
3.1 การเสด็จประพาสต้น
การเสด็จประพาสต้น หมายถึง การเสด็จประพาสหัวเมืองใหญ่น้อยในพระราชอาณาเขตอย่างสามัญชนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงพยายามมิให้ราษฎรรู้ว่าเป็นพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมา ผลจากการประพาสต้น ทำให้พระองค์ทรงได้รับความเกษมสำราญ และได้รับรู้ความเดือดร้อนของราษฎร และทรงช่วยเหลือ
3.2 การเสด็จประพาสยุโรป
รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริในการเสด็จประพาสยุโรปมาตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ เห็นได้จากพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีข้อความตอนหนึ่งว่า “การซึ่งจะรักษามิให้มีอันตรายทั้งภายในและภายนอกได้มีอยู่ 3 ประการ คือ พูดจาทางไมตรีอย่างหนึ่ง มีกำลังพอที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองอย่างหนึ่ง การปกครองให้เสมอกันอย่างหนึ่ง...”
คำสำคัญ
การปฏิรูปการปกครองบ้านเมือง
การเลิกระบบไพร่
การเลิกทาส
การเสด็จประพาสต้น
การเสด็จประพาสยุโรป
แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th