Classroom : The Best Lecture ปราดเปรื่องเรื่องจด (ตอนที่ 1)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 5.5K views



เรื่อง: ณัทธนัทธ์ เลี่ยวไพโรจน์ 


The Best Lecture ปราดเปรื่องเรื่องจด (ตอนที่ 1)


“เข้าใจหรือเปล่าไม่รู้ รู้แต่จดไว้ก่อน” นี่เป็นอาการของคนกำลังจะสอบหลายคนเลยที่ครูป๊อปเห็นมา ไม่ใช่ว่าการจดไม่ดีนะครับ เพราะการจดนอกจากจะทำให้เราได้ความรู้อะไรบางอย่างแล้ว ยังทำให้เราเกิดความตื่นตัวหรือมีการจดจ่อกับเรื่องนั้น ๆ ได้ดีด้วย

การจดซึ่งแทบจะแยกไม่ออกระหว่างการเรียน (study) หรือการเรียนรู้ (learning) แต่เรื่องที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจดก็คือ เมื่อเรากำลังจะจดอะไร นั่นแปลว่าเราเลือกที่จะ “ไม่จำ” สิ่งที่จด ณ ขณะนั้น ๆ เสมอ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นการจดคือการฆ่าความจำ คำว่า “จดจำ” จึงหมายถึงจดเพื่อไปจำ (ในวันข้างหน้าซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่) มากกว่าการให้ความหมายว่า จด=จำ

การจดเป็นเพียงการสร้างหลักฐานให้กับข้อมูลชุดหนึ่งที่เราสั่งจากจิตใต้สำนึกว่ามันจำไม่ไหว หรือจำไม่ได้ในตอนนี้แน่ ๆ  ปัญหาก็คือพอเราเอาไปอ่านจำทีหลัง กลับพบว่าเราช่างจำได้ยากแสนยาก หรือบางครั้งก็จำไม่ได้เลยว่าตัวเองเคยจดอักษรพวกนี้

ครูป๊อปมีวิธีการจดโดยเฉพาะการเลคเชอร์แบบเทพ ๆ เพื่อให้เราเกิดความสนุกทั้งระหว่างจดและสุขหลังจดเพราะเราสามารถจำเนื้อหาได้มากขึ้นด้วย

ก่อนอื่นเราต้องสร้างบรรยากาศความอยากจดให้เกิดขึ้นก่อน ลองคิดดูสิว่าหากกำลังจะจดอะไร แต่ปากกาหมึกหมด เราก็หมดอารมณ์ที่จะจด ดังนั้นเราจะเริ่มจากการเตรียมอุปกรณ์ติดตัวให้พร้อม แนะนำว่าให้เตรียมดินสอ ปากกา ไว้สลับสักสองสามสี และควรมีทั้งปลายเล็ก ปลายใหญ่ บางคนอาจถึงขั้นมีดินสอสีก็ยิ่งดี ต่อมาคือการเตรียมสมุดที่ตัวเองชอบ รู้สึกอยากจับ อยากเปิด ควรเป็นสมุดที่มีกระดาษแบบไม่มีบรรทัด เตรียม Post-It ไว้สองขนาด สำหรับคนที่เป็นคอเทคโนโลยีอาจใช้ tablet แบบ note ก็ไม่ต้องเตรียมอะไรให้มากความ

จากนั้นเราก็เริ่มเข้าที่ พยายามทำโต๊ะให้โล่ง เหลือแค่อุปกรณ์ในการจดที่เตรียมไว้ เอามาตั้งบนโต๊ะไว้จำนวนหนึ่ง หากเอามาเยอะให้วางไว้บนพื้นข้างเก้าอี้ด้านที่หยิบถนัด สูดหายใจยาว ๆ นั่งหลังตรง อยู่ในท่าที่มั่นใจและแอคทีฟ ยิ่งถ้ากำลังนั่งอยู่ในห้องเรียน ให้เลือกนั่งแถวหน้า ๆ ได้จะดีมาก เพราะผู้บรรยายบางคนมีน้ำเสียงฟังยาก การนั่งใกล้ผู้บรรยายยังกระตุ้นให้รู้สึกตื่นตัวด้วย

ดูเหมือนทุกคนจะพร้อมแล้ว เดี๋ยวเรามาว่ากันต่อกับเทคนิค “ปราดเปรื่องเรื่องจด” ในฉบับหน้า กับครูป๊อปเช่นเคย อย่าลืมติดตามนะครับ

 

 

ณัทธนัทธ์ เลี่ยวไพโรจน์ 

“ครูป๊อป” ผู้อำนวยการโรงเรียนพัฒนาความรู้สังคมศึกษา “ครูป๊อป” มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการสอนสังคมศึกษา (Pedagogy in Social Studies Teaching) และมีความสนใจด้านปรัชญาสังคม การเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การศึกษา สามารถร่วมชั้นเรียนวิชาสังคมกับครูป๊อป ในรายการสอนศาสตร์ ทรูวิชั่นส์ 6

 

 

ที่มา: นิตยสาร plook ฉบับที่ 52 เดือนเมษายน 2558 
ภาพประกอบจาก https://pixabay.com/th/