ประวัติ ความเป็นมา และรูปแบบธงชาติไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 799.5K views



ธงสยามหรือธงชาติไทยมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัด เท่าที่พบหลักฐานเชื่อกันได้ว่าน่าจะเกิดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะปรากฏเรื่องราวอยู่ในหนังสือจดหมายเหตุของฝรั่งเศส โดยได้กล่าวไว้ว่าเมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๒๒๓ เรือรบของฝรั่งเศสชื่อ เลอรโวตูร์ โดยมี มองซิเออร์ คอนูแอน เป็นนายเรือ ได้นำเรือเข้ามาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเจริญพระราชไมตรีและการค้า นายเรือได้สอบถามทางกรุงศรีอยุธยาว่า ถ้าจะยิงสลุต (ยิงปืนให้ความเคารพ) ให้แก่สยาม เมื่อเรือผ่านป้อมวิไชเยนทร์ (ปัจจุบันคือป้อมวิชัยสิทธิ์) ตามประเพณีของชาวยุโรป จะเป็นการขัดข้องหรือไม่ สมเด็จพระนารายณ์ทรงอนุญาต และรับสั่งให้เจ้าเมืองบางกอก คือ ออกพระศักดิ์สงคราม ให้ทางป้อมยิง สลุตตอบด้วย และในการที่เรือรบฝรั่งเศลได้ยิงสลุตให้นั้น ทางป้อมก็ชักธงชาติขึ้น แต่ในห้วงเวลานั้นธงชาติสยามยังไม่มี จึงได้ชักธงชาติฮอลันดาขึ้นแทน แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมยิงสลุต เพราะเห็นว่าไม่ใช่ธงของชาติสยาม จึงแจ้งให้ทราบว่า หากสยามประสงค์จะให้ฝรั่งเศสยิงสลุตให้ ก็เอาธงฮอลันดาลงเสีย แล้วชักธงอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นแทน เผอิญในสมัยนั้นธงสีแดงถือเป็นธงที่สยามใช้สำหรับเป็นธงนำทัพอยู่แล้ว สยามจึงนำธงแดงชักขึ้น จากนั้นฝรั่งเศสจึงยิงสลุตให้ ด้วยเหตุนี้สยามจึงถือเอาธงสีแดงเป็นธงชาติสยาม



ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ยังคงใช้ธงสีแดงเกลี้ยงชักเป็นเครื่องหมายประจำเรือค้าขายกับต่างประเทศอยู่ ธงแดงนี้ใช้ชักขึ้นทั้งในเรือหลวงและเรือราษฎร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑) ทรงมีพระราชดำริว่าเรือหลวงกับเรือราษฎรควรมีเครื่องหมายให้เห็นแตกต่างกัน จึงมีพระบรมราชโองการให้ทำรูป "จักร" สีขาวติดไว้กลางธงสีแดงเป็นเครื่องหมายใช้เฉพาะเรือหลวง ส่วนเรือค้าขายของราษฎรทั่วไปนั้น ยังคงใช้สีแดงเกลี้ยงอยู่



ขึ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ. ๒๓๖๐ - ๒๓๖๖ (รัชกาลที่ ๒) ประเทศอังกฤษได้เข้ามาตั้งสถานีการค้าขายอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ และพระองค์ท่านทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือกำปั่นของหลวงขึ้น ๒ ลำเพื่อล่องค้าขายระหว่างสิงคโปร์และมาเก๊า โดยที่เรือหลวงทั้งสองลำดังกล่าวจะชักธงแดงตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา กระทั่งวันหนึ่งประเทศอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าเมืองสิงคโปร์ได้บอกกับนายเรือหลวงของสยามให้มากราบบังคับทูลพระเจ้ากรุงสยามว่า ..."เรือเดินทะเลชาวมลายูที่ค้าขายกับสิงคโปร์ก็ชักธงแดงเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงขอให้พระเจ้ากรุงสยามใช้ธงอย่างอื่นเสีย เพื่อจะได้จัดการรับรองเรือหลวงได้สะดวกและไม่สับสน"... และที่สำคัญในช่วงรัชกาลที่ ๒ นี้ พระองค์ทรงได้ช้างเผือกเอกมาสู่พระบารมีถึง ๓ ช้าง คือ พระเศวตกุญชร พระยาเศวตไอยรา และพระยาเศวตคชลักษณ์ ซึ่งถือเป็นพระเกียรติยศอย่างสูง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำรูปช้างสีขาวยืนพื้นอยู่ในวงจักรสีขาวติดไว้กลางธงแดงอันมีความหมายว่า “พระเจ้าแผ่นดินผู้มีช้างเผือก” และธงรูปช้างเผือกสีขาวอยู่ในวงจักรสีขาวนี้ก็ใช้เฉพาะเรือหลวงเท่านั้น ส่วนเรือพ่อค้าไทยทั่วไปก็ยังคงใช้ธงแดงอยู่ตามเดิม โดยใช้ธงสยามแบบนี้จนถึงรัชกาลที่ ๓



ครั้นขึ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) สยามได้มีการทำหนังสือสัญญาเปิดการค้าขายกับชาวตะวันตกมากขึ้น ทำให้มีเรือสินค้าของประเทศต่างๆ ทั้งจากยุโรปและอเมริกาล่องเข้ามาค้าขายมากขึ้น พร้อมทั้งมีสถานกงสุลตั้งอยู่ในพระนคร ซึ่งชักธงชาติของประเทศตนเองขึ้นเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ประเทศสยามจะต้องมีธงชาติที่แน่นอน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำริว่าธงสีแดงซึ่งเป็นธงที่ใช้กับเรือของสามัญชนชาวสยามนั้น ซ้ำกับประเทศอื่น ยากต่อการแยกแยะ สมควรยกเลิกเสีย และหันมาใช้ธงอย่างเรือหลวงเป็นธงชาติสยามสำหรับเรือสามัญชนด้วย แต่โปรดเกล้าให้เอารูปวงจักรสีขาวออกเสีย เพราะเป็นของสูงซึ่งถือเป็นเครื่องหมายเฉพาะของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น โดยให้คงไว้แต่รูปช้างเผือกอยู่กลางธงแดง แต่ทว่าให้ปรับขนาดช้างเผือกให้ใหญ่ขึ้น โดยในช่วงแรกเป็นแบบช้างเผือกยืนพื้น ต่อมาปรับรูปช้างเป็นแบบช้างเผือกปล่อย

(หมายเหตุ : จากหลักฐานล่าสุดที่พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทยได้ค้นคว้าจนค้นพบเรื่องการใช้ธงช้างเผือกเป็นธงชาติสยาม ได้พบว่ามีหนังสือหลายเล่มของต่างประเทศ ได้พิมพ์ธงช้างเผือก ในฐานะธงชาติสยามมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แล้ว ... โปรดศึกษาหลักฐานจากหน้าเฉพาะเรื่อง)

 


โดยในช่วงแรกเป็นแบบช้างเผือกยืนพื้น ต่อมาปรับรูปช้างเป็นแบบช้างเผือกปล่อย



ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ก็ได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยามเป็นครั้งแรก ตรงกับรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๐ ต่อมาคือพระราชบัญญัติธงสยาม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ และพระราชบัญญัติธงสยาม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๘ โดยทุกฉบับได้ยืนยันถึงลักษณะของธงชาติสยามเป็นแบบธงพื้นสีแดงตรงกลางเป็นรูปช้างเผือกสีขาวปล่อยหันหน้าเข้าหาเสา



ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ได้ทรงพระราชดำริว่า เมื่อมองธงชาติซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้นแต่ไกล จะมีลักษณะไม่ต่างจากธงราชการเท่าไร และรูปช้างที่อยู่กลางธงก็ไม่งดงาม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก ๑๒๙ ตามมาตรา ๔ ข้อ ๑๕ โดยแก้ไขลักษณะธงชาติเป็นดังนี้ (คลิกที่นี่!!!)"ให้แก้ธงชาติเปนพื้นสีแดง กลางเปนรูปช้างเผือกทรงเครื่อง ยืนแท่น หน้าหันเข้าเสา สำหรับเปนธงราชการ" ประกาศมา ณ วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๙ ซึ่งถือเป็นธงช้างรูปสุดท้ายของธงในสมัยรัตนโกสินทร์



และช่วงท้ายในปีพ.ศ. ๒๔๕๙ ก็ได้มีการยกเลิกการใช้ธงชาติแบบช้างเผือกทรงเครื่อง ยืนแท่น หน้าหันเข้าเสา เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเปลี่ยนธงช้างเป็นธงแถบสี เพราะทรงเห็นความลำบากของราษฎรที่ต้องสั่งซื้อธงช้างมาจากต่างประเทศ และบางครั้งเมื่อเกิดความสะเพร่าติดธงผิด รูปช้างกลับเอาขาชี้ขึ้นเป็นที่น่าละอาย (สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๙ พระองค์ท่านได้เสด็จประพาสวัดเขาสะแกกรังและได้ทอดพระเนตรเห็นชาวบ้านประดับธงช้างเผือกกลับหัว (หมายเหตุ: เหตุการณ์นี้เกิดก่อนพระราชบัญญัติธงฉบับธงช้างเผือกทรงเครื่องที่ปรากฏอยู่ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๙ ดังนั้นย่อมต้องเป็นธงช้างเผือกปล่อยบนพื้นแดงแบบสมัยรัชกาลที่ ๕ อย่างแน่นอน)) ซึ่งหากเปลี่ยนเป็นธงแถบสีแล้ว ราษฎรก็สามารถทำธงใช้ได้เอง และจะช่วยขจัดปัญหาการติดผิดพลาด โดยก่อนออกพระราชบัญญัติฉบับใหม่ ได้ทรงทดลองใช้ธงชาติไทยแบบริ้วขาวแดงห้าริ้วติดอยู่ที่สนามเสือป่าในช่วงระยะหนึ่ง



แต่เนื่องจากธงแดงขาวห้าริ้ว เมื่อดูแล้วไม่สง่างาม จึงมีการปรับเปลี่ยนแถบตรงกลางซึ่งเป็นสีแดงให้เป็นสีน้ำเงินขาบ การเพิ่มสีน้ำเงินนี้ปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขาในบันทึกส่วนพระองค์ วันเสาร์ที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๖๐ ว่าได้ทอดพระเนตรบทความแสดงความเห็นของผู้ใช้นามแฝงว่า "อะแคว์ริส" ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ภาษาอังกฤษ ฉบับวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้ทรงแปลข้อความนั้นลงในบันทึกด้วย มีความโดยย่อว่า ...


" เพื่อนชาวต่างประเทศของผู้เขียน (อะแคว์ริส) ได้ปรารภถึงธงชาติแบบใหม่ว่า ยังมีลักษณะไม่สง่างามเพียงพอ ผู้เขียนก็มีความเห็นคล้อยตามเช่นนั้น และเสนอแนะด้วยว่า ริ้วตรงกลางควรจะเป็นสีน้ำเงินซึ่งเป็นสีส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งถ้าเปลี่ยนตามนี้แล้ว ธงชาติไทยก็จะประกอบด้วยสีแดง ขาว น้ำเงิน มีสีเหมือนกับธงสามสีของฝรั่งเศส ธงยูเนียนแจ็คของอังกฤษ และธงดาวของสหรัฐอเมริกา ประเทศพันธมิตรทั้งสามประเทศ คงเพิ่มความพอใจในประเทศไทยยิ่งขึ้น เพราะเสมือนยกย่องเขา ทั้งการที่มีสีของพระมหากษัตริย์ในธงชาติ ก็จะเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกถึงพระองค์ในวาระที่ประเทศไทยได้เข้าสู่เหตุการณ์สำคัญต่างๆ ด้วย... "


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เมื่อทรงทดลองวาดภาพธงสามสีลงในบันทึก ทรงเห็นว่างดงามดีกว่าริ้วขาวแดงที่ใช้อยู่ ต่อมาเมื่อเจ้าพระยารามราฆพ (ขณะนั้นยังเป็นพระยาประสิทธิศุภการ) ไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้นำแบบธงไปถวายเพื่อทูลขอความเห็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถก็ทรงเห็นชอบ และรับสั่งว่าถ้าเปลี่ยนในขณะนั้นจะได้เป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ ด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้พระยาศรีภูริปรีชา ร่างประกาศแก้แบบธงชาติสยาม และได้ทรงนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะเสนาบดีเพื่อฟังความเห็น ที่ประชุมลงมติเห็นชอบธงสามสีตามแบบที่คิดขึ้นใหม่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นเรียกว่า พระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ ออกประกาศเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐ มีผลบังคับใช้ภายหลังวันออกประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว ๓๐ วัน ซึ่งต่อมาธงสยามแบบล่าสุดนี้ถูกเรียกว่า "ธงไตรรงค์"



สรุปภาพการเปลี่ยนแปลงธงชาติไทยยุคต่างๆดังนี้



ความหมายของธงชาติ

เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความเป็นชาติของประเทศชาติต่างๆ ที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งแต่ละประเทศ ธงชาติจะมีสีที่แตกต่างกันละคล้ายคลึงกันบ้าง (ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน นิยามคำว่า ธงชาติ ไว้ว่า ธงชาติ น. ธงที่มีความหมายถึงประเทศและชาติใดชาติหนึ่ง

"ธงไตรรงค์ ธงชาติไทย"

เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยหรือชาติไทยที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ และศักดิ์ศรีในความเป็นไทย ซึ่งมีความหมายแสดงความเป็นเอกราชอธิปไตยของชาติ รวมทั้งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ธงชาติจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ต้องได้รับความเคารพอย่างสูง และยังมีความสำคัญทางจิตใจที่แสดงถึงความรักชาติ ความรู้สึกที่มีร่วมกันของคนในชาติ นอกจากนั้นยังเป็นเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจลบหลู่ และสามารถเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชาติ เพื่อจะได้ดำรงไว้ซึ่งความเป็นปึกแผ่นของประเทศไทยให้ยั่งยืนตลอดไปชั่วกาลนาน



ที่มา https://www.thaiflag.org/