รู้รอบโลก ตอน ประวัติศาสตร์บนก้อนดิน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 8.7K views



 

เรื่อง: พฤทธิ์ เลิศสุกิตติพงศา  ภาพประกอบ: อารัมภ์พร เอี่ยมวุฒิ

 

ถ้าศิลปะคือการถ่ายทอดเรื่องราวของศิลปิน และการสร้างงานศิลปะไม่จำกัดอยู่เพียงบนผืนผ้าใบ ก้อนดินก้อนหนึ่งที่มีการบันทึกเรื่องราวผ่านลวดลายหรือตัวอักษร ก็ถือเป็นศิลปะประเภทหนึ่งเช่นกัน นั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่า “เครื่องปั้นดินเผา” ไม่ว่าจะใหญ่โตตั้งแต่ตุ่มสามโคก เล็กลงมาหน่อยอย่างเครื่องชามสังคโลก สีสันลวดลายสวยงามอย่างเครื่องเบญจรงค์ หรือแม้แต่ชามตราไก่ที่รับวัฒนธรรมจีนมาเต็มๆ ล้วนสะท้อนเรื่องราวของคนในแต่ละยุคสมัย ตลอดจนศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานเหล่านี้ขึ้นมา

 

กรรมวิธีการผลิตเครื่องดินเผาคร่าวๆ คือการนำดินมาเผาให้แห้งจนแข็งก่อนจะแต่งแต้ม ชนิดของดินก็แตกต่างสุดแล้วแต่ต้นตำรับ บ้างเนื้อเนียนละเอียด บ้างเนื้อกึ่งหยาบ และเมื่อโดนปั้นแต่งเป็นรูปร่างแล้วจะนำไปเผาด้วยความร้อนสูงจนเนื้อแข็งได้ที่ ก่อนจะตกแต่งเพิ่มเติม ใส่สี แต้มลาย หรืออาจใส่เทคนิคการเคลือบเข้าไปอีกขั้นตอนหนึ่ง

 

ตุ่มสามโคก ใครจะรู้ว่าย่านนางเลิ้งของกรุงเทพฯ เคยถูกเรียกว่า “อีเลิ้ง” อันเป็นสถานกำเนิดของตุ่มสามโคก ภาชนะดินเผาภูมิปัญญาของชาวไทยมอญตั้งแต่ครั้งอดีตกาล ตุ่มสามโคกเป็นที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราชเรื่อยมาจนถึงยุคที่มีการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือการค้าขาย ตุ่มดินเผาถูกบรรทุกใส่เรือเอี้ยมจุ๊นล่องตามแม่น้ำนำมาวางขายที่ปลายทาง กลายเป็นตลาดนัดริมคลองผดุงกรุงเกษม อีเลิ้ง ภาษามอญที่ใช้เรียกตุ่มดินเผา กลายเป็นชื่อเรียกตลาดนัดตุ่มมาถึงปัจจุบัน แม้จะไม่มีตุ่มขายที่นางเลิ้งแล้ว

 

เครื่องสังคโลก ของค้าของขายขึ้นชื่อของสุโขทัยมาแต่ยาวนาน ด้วยเอกลักษณ์ของเนื้อสัมผัสที่ละเอียด สีเขียวไข่กา และการแตกลายงาที่โดดเด่น ทำให้เป็นที่ต้องการของต่างชาติ เช่น จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งมีหลักฐานปรากฏว่านิยมสั่งซื้อเครื่องสังคโลกมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย ไม่ว่าจะเป็นซากเรือสินค้าโบราณที่มีการบรรทุกเครื่องสังคโลกไว้เต็มลำ หรือชาวญี่ปุ่นที่สั่งซื้อไปใช้ในพิธีชงชา ถึงกับมีชื่อเรียกเฉพาะว่า “ซังโกโรกุ” แม้ช่วงเวลาหนึ่งเครื่องสังคโลกจะตกเทรนด์เพราะโดนบรรจุภัณฑ์จากยุโรปหรือเครื่องกระเบื้องเคลือบจากจีนตีตลาด แต่ก็ยังโดดเด่นด้วยคุณค่าในตัวเองจวบจนปัจจุบัน

 

เครื่องเบญจรงค์ ลวดลายเล่าเรื่องราว เครื่องปั้นดินเผาเคลือบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยสีห้าสี ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “เบญจ” คือ ขาว เหลือง ดำ แดง เขียว (คราม) แม้ว่าในภายหลังจะมีการใช้สีอื่นๆ บ้างแต่ก็ยังเรียกเหมารวมว่าเบญจรงค์อยู่ดี เดิมทีการผลิตเครื่องเบญจรงค์จะมีลักษณะ OEM (Original Equipment Manufacturer) กล่าวคือ ช่างไทยเป็นผู้ออกแบบลายและสีตามรูปแบบศิลปะไทย จากนั้นจึงส่งไปให้ช่างจีนผลิตในประเทศจีน และช่างไทยตามไปควบคุมการผลิตอีกที ลวดลายสีสันจึงมีเอกลักษณ์แบบไทยอย่างชัดเจน ภายหลังสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เริ่มมีการใช้ทองมาประดับตกแต่ง กลายเป็นเครื่องลายน้ำทองอีกประเภทหนึ่ง โดยมักสั่งทำทั้งจากจีนและญี่ปุ่น นับเป็นเครื่องปั้นไฮโซระดับขุนนาง แม้ในปัจจุบันเครื่องเบญจรงค์ก็ยังมีมูลค่าสูง เพราะความยากในการผลิตและฝีมือของช่างที่ต้องประณีตสูงมาก

 

ชามกาไก่ หรือ ชามตราไก่ เมดอินไชน่า ติดมากับคนจีนในยุคจีนอพยพ จากนั้นชาวจีนที่อพยพมายังพระนครจึงผลิตชามใช้เองแถววงเวียนใหญ่ ก่อนจะขยายโรงงานไปยังลำปางจนสร้างประวัติยาวนานกว่า 50 ปี ที่มาของคำว่า “ตราไก่”  เพราะเป็นชามเคลือบขาววาดลายอย่างง่ายๆ เป็นรูปไก่ และไม่ใช่ทุกบ้านจะมีเครื่องเบญจรงค์ราคาสูง ความนิยมจึงมาตกที่ชามตราไก่ ด้วยเหตุที่ราคาถูก หาได้ง่าย และมีเอกลักษณ์ ชามตราไก่แพร่หลายไปพร้อมกับการกินด้วยตะเกียบ ตั้งแต่ร้านค้ายันเรือพายขายก๋วยเตี๋ยวซึ่งเป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลอย่างเต็มเปี่ยมมาจากจีน ความนิยมของชามตราไก่ถึงตอนอวสานเมื่อเข้าสู่ยุคชาตินิยม สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีนโยบายปฏิวัติวัฒนธรรมอันส่งผลให้ชามตราไก่จากจีนค่อยๆ หายไปพร้อมกับก๋วยเตี๋ยวในชาม และถูกแทนที่ด้วย “ผัดไทย” อาหารประจำชาติจานใหม่

 

ดังคำกล่าวที่ว่า ประวัติศาสตร์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ เรื่องราวความเป็นมาของเครื่องดินเผาเหล่านี้สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นไทยแท้หรือไทยยืม ไม่ว่าจะมองเป็นภาชนะหรืองานศิลปะ มันคือองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกเรื่องราวส่งต่อไปยังลูกหลานในชาติและควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบไป

 

ศิลปะและงานฝีมือ ต่างกันอย่างไร พบคำตอบใน คลิปเด็ด แปลไทย click ที่นี่


ที่มา : นิตยสาร Plook ฉบับที่ 44 เดือนสิงหาคม 2557