ในฐานะเส้นใย
-
ไหมเป็นเส้นใยที่มีคุณสมบัติดีเหมาะแก่การทำเป็นเสื้อผ้า เพราะให้ความสบายความสวยงาม ดูเลอค่า และมีความทนทาน ได้รับการยกย่องว่าเป็น ราชินีแห่งเส้นใย (Queen of Fibers)
-
เส้นใยไหมมีความแข็งแรงสูง หากเทียบกับเส้นใยขนาดเดียวกับใยเหล็กแล้ว เส้นใยไหมมีความแข็งแรงกว่า
-
ความยาวของเส้นใยไหมประมาณ 700-1,700 เมตรต่อรังขึ้นอยู่กับพันธุ์ไหม
-
เส้นใยไหมมีความเหนียว 2.4 - 5.1 กรัม/เดนเยอร์ ทนต่อการยืดหดได้ดี เมื่อผ่านการซักผ้าจะหด แต่เมื่อดึงหรือรีดก็จะกลับเข้าสู่ขนาดเดิมได้
-
เส้นใยไหมมีความละเอียด 11-12 ไมโครเมตร เมื่อเปรียบเทียบกับเส้นใยฝ้าย 16-20 ไมโครเมตร / เส้นใยลินิน 12-16 ไมโครเมตร / ขนสัตว์ 10-50 ไมโครเมตร จะเห็นว่าเส้นใยไหมมีความละเอียดมากกว่าทำให้มีคุณภาพดีกว่า ให้ความนุ่มนวลต่อสัมผัส และจัดเข้ารูปได้ง่าย
-
เส้นใยไหมมีรูปร่างหน้าตัดเป็นสามเหลี่ยมทำให้แสงถูกสะท้อนกลับออกมามาก รวมถึงเส้นใยไหมมีผิวหน้าที่เรียบและเป็นเส้นยาวต่อเนื่องทำให้เส้นใยไหมมีความมันวาวมากเป็นพิเศษ ขณะที่เส้นใยชนิดอื่นมีผิวหน้าขรุขระหรือเป็นแฉกแสงสะท้อนกลับได้น้อย ทำให้ความมันวาวน้อยลง
-
เส้นไหมมีความแข็งแรงตั้งแต่ 4.8 จิกะปาสคาลขึ้นไป เมื่อเปียกความแข็งแรงจะลดลง 15-20% เมื่อเทียบกับเส้นไหมแห้ง ยืดหยุ่นได้ตั้งแต่ 35% ขึ้นไป และหดกลับคืนได้ 92%
-
ไหมมีความทนต่อการเกิดเชื้อราได้ดี แมลงไม่กัดกินหากไม่มีสิ่งสกปรกติดอยู่ที่ผ้า
-
เส้นไหมสามารถปรับอุณหภูมิอัตโนมัติได้ 15-25 องศาเซลเซียส ดังนั้นเมื่ออากาศร้อนใส่ผ้าไหมแล้วจะเย็นสบาย และเมื่ออากาศเย็นใส่ผ้าผ้าไหมแล้วจะอุ่นสบาย
-
ผ้าไหมฟอกขาวมีความสามารถในการป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) มีค่า UPFเท่ากับ 9.4

ในฐานะโปรตีน
ไหมประกอบด้วยโปรตีนหลัก 2 ชนิดคือ ไฟโบรอิน (Fibroin) และ เซริซิน (Sericin)
-
ไฟโบรอิน เป็นโปรตีนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับประยุกต์ใช้ทางการแพทย์และเภสัชกรรมอย่างกว้างขวาง ไฟโบรอินถูกนำไปใช้ในงานวิศวกรรมเนื้อเยื่อ (tissue engineering) เพราะไฟโบรอินช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเซลล์กระดูก เซลล์ผิวหนัง เซลล์ประสาท นอกจากนี้ยังใช้ในระบบนำส่ง (Delivery system) หรือห่อหุ้มยาและสารสำคัญหลากหลายชนิดเพื่อป้องกันการถูกทำลายโครงสร้างและหน้าที่ การควบคุมการปลดปล่อยยา (controlled drug delivery) และเทคโนโลยีนาโนชีวภาพ (bionanotechnology)
-
เซริซิน หรือที่เรียกว่า กาวไหม จัดเป็นโปรตีนเชิงซ้อน (complex protein) เพราะมีคุณสมบัติที่โดดเด่นคือ เพิ่มความชุ่มชื้น ป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต ต่อต้านอนุมูลอิสระได้ดี เนื่องจากมีแคโรทีนอยด์และฟลาโวนอยด์ในปริมาณสูง จึงเป็นโปรตีนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมหลายประการที่สามารถนำไปใช้ในเครื่องสำอางเกี่ยวกับผิว เส้นผม เล็บ นอกจากนี้ยังนำไปเป็นสารแต่งเติมในอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ได้อีกด้วย
โปรตีนไหมทั้ง 2 ประเภทนี้ประกอบด้วยกรดอะมิโนที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ 16-18 ชนิด อาทิ
-
Glycine ช่วยบำรุงระบบประสาทส่วนกลางและระบบย่อยอาหาร มีส่วนช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือด
-
Serine จำเป็นสำหรับการเผาผลาญไขมัน เจริญเติบโตของเนื้อเยื่อและระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยในการสร้างเยื่อหุ้มรอบเส้นประสาทเพื่อป้องกันอันตรายในเส้นประสาท
-
Glutamic acid สารต้านอนุมูลอิสระหลักในร่างกาย ช่วยในการควบคุมโรคติดสุราเรื้อรัง ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น บรรเทาอาการอ่อนเพลีย ซึมเศร้า เพิ่มไอคิว
-
Tyrosine ช่วยแก้ไขอารมณ์ซึมเศร้า ช่วยคลายเครียด ช่วยฟื้นฟูความจำ ช่วยยับยั้งความอยากอาหาร ช่วยกระตุ้นความรู้สึกเพิ่มแรงขับทางเพศ

การใช้ประโยชน์จากไหมในด้านต่างๆ และผลิตภัณฑ์
-
ด้านเครื่องแต่งกาย | เสื้อผ้า กระโปรง ชุดราตรี สูท เนคไท ผ้าพันคอ ปลอกแขน ถุงมือ ถุงเท้า ถุงน่อง
-
ด้านการตกแต่งบ้าน | เฟอร์นิเจอร์ โซฟา ผ้าม่าน ผ้าคลุมเตียง โคมไฟ
-
ด้านการแพทย์ | ผิวหนังเทียม พลาสเตอร์ปิดแผล คอนแทคเลนส์ เส้นเลือดเทียม เส้นเอ็นเทียม ฟิล์มบันทึกการทำงานของสมองเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์
-
ด้านเภสัชกรรม | ยาลดความอ้วน ยาป้องกันภูมิแพ้ ยาบำรุงสมอง ป้องกันอาการอัลไซเมอร์ เสริมสร้างการไหลเวียนของโลหิตให้ดีขึ้น เป็นยาอายุวัฒนะ (ถั่งเช่าจากหนอนไหม)
-
ด้านความงาม | เครื่องสำอางต่างๆ เช่น สบู่ ครีมอาบน้ำ ลิปสติก ครีมกันแดด แป้ง ทรีทเมนต์ในสปา โลชั่น
-
ด้านอาหารและเครื่องดื่ม | เป็นสารประกอบของอาหารต่างๆ เช่น หมูยอ ลูกชิ้นหมู ไส้กรอกอีสาน ไอศกรีม แป้งโดนัท บะหมี่ เครื่องดื่มดับกระหาย เครื่องดื่มชูกำลัง
-
ด้านเทคโนโลยี | คอนกรีต พลาสติก ฉนวนกันความร้อน ฝ้าเพดาน ฟิล์มติดอาหารบอกวันหมดอายุ ฟิล์มถนอมอาหารยืดอายุอาหารและยา
-
ด้านดนตรี | ไหมเป็นแหล่งกำเนิดเสียงของเครื่องดนตรี ได้แก่ ซอด้วง ซอสามสาย ซออู้ จะเข้ ผีผา กู่เจิ้ง ฯลฯ
-
ด้านศิลปะ | กระดาษใยไหม สร้อยคอรังไหม งานศิลปะจากไหม
ขอบคุณเนื้อหา : นิทรรศการ “มองใหม่ด้ายไหม” มิวเซียมสยาม
14 กุมภาพันธ์ - 29 มิถุนายน 2557
https://www.museumsiam.org/