รอบรู้เรื่อง กลอน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 137.1K views



รอบรู้เรื่อง กลอนขับร้อง
 

     กลอนขับร้อง ก็คือ กลอนสุภาพนั่นเอง แต่แต่งขึ้น สำหรับใช้ ขับรัอง หรือร้องส่ง เข้ากับ เครื่องดนตรี ปี่พาทย์ มีชื่อ และทำนองต่างๆ เช่น สมิงทอง, สามไม้, ปีนตลิ่ง, ชมตลาด, ลีลากระทุ่ม, เชิตนอก, นาคเกี้ยว, เทพทอง, พม่าเห่, เขมรไทรโยค เป็นต้น

       เหตุที่มีชื่อแตกต่างออกไป ก็เพราะมีทำนองร้องแตกต่างกัน แผนและกฎต่างๆ จงดูในตอน ที่ว่าด้วย กลอนสุภาพนั้นเถิด ส่วนทำนอง ต้องฝึกหัด กับผู้รู้ เป็นพิเศษ 

      กลอนตลาด คือ กลอนผสม หรือกลอนคละ ไม่กำหนดคำตายตัว เหมือนกลอนสุภาพ ในกลอนบทหนึ่ง อาจมีวรรคละ ๗ คำบ้าง ๘ คำบ้าง ๙ คำบ้าง คือเอากลอนสุภาพ หลายชนิด มาผสมกัน นั่นเอง เป็นกลอนที่ นิยมใช้ ในการขับร้องแก้กัน ทั่วๆ ไป จึงเรียกว่า กลอนตลาด แบ่งออกเป็น ๔ ชนิด คือ 


๑. กลอนเพลงยาว 
         กลอนเพลงยาวเป็นกลอนที่บังคับบทขึ้นต้นเพียง ๓ วรรค จัดเป็็นกลอนขึ้นต้นไม่เต็มบท ขึ้นต้นด้วยวรรครับในบทแรก ส่วนบทต่อๆไปคงมี ๔ วรรคตลอด สัมผัสเป็นแบบกลอนสุภาพ ไม่จำกัดความยาวในการแต่ง แต่นิยมจบด้วยบาทคู่ และต้องลงด้วยคำว่า เอย จำนวนคำในวรรคอยู่ระหว่าง ๗-๙ คำ

        วัตถุประสงค์สำคัญของเพลงยาว คือใช้เป็นจดหมายโต้ตอบ ระหว่างชาย -หญิง มักจะหมายความถึงจดหมายรักที่ชายเขียนถึงหญิง มีเนื้อหาในเชิงเกี้ยวพาราสี ฝากรัก และตัดพ้อเมื่อไม่สมหวัง เพลงยาวในความเข้าใจของคนทั่วไปจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความรักเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วเนื้อหาของกลอนเพลงยาวไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักเพียงอย่างเดียว แต่จะแต่งเกี่ยวกับเรื่อง ใดๆ ก็ได้ 


กำเนิดและวิวัฒนาการของเพลงยาว 

 -- สมัยอยุธยา    

           ทราบแต่เพียงว่า นิยมแต่งกันมากในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในสมัย พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งเป็นยุคที่มีการแต่งเพลงยาวกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ เพลงยาวพระราชนิพนธ์ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ที่กล่าวกันว่าทรงนิพนธ์ให้แก่เจ้าฟ้าสังวาลย์

 อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อที่น่าสังเกตว่าคำประพันธ์ประเภทกลอนนั้นน่าจะมีกำเนิดมาก่อนสมัย กรุงศรีอยุธยาตอนปลายแล้วในลักษณะของวรรณคดีมุขปาฐะ เช่นเดียวกับเพลงพื้นบ้านอื่นๆ

       กลอนเพลงยาวที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ปรากฎ น่าจะได้เเก่ กลอนเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผลงานของพระโหราธิบดี โหรผู้มีความสามารถในการทำนายได้แม่นยำยิ่งนักในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และจะสังเกตได้ว่ากลอนเพลงยาวในระยะแรกนั้นจะไม่เคร่งครัดในฉันทลักษณ์ที่เป็นแบบแผนตายตัว จำนวนคำในเเต่ละวรรคมีได้ตั้งแต่ 6-15 คำ และจากการที่จำนวนคำในแต่ละวรรคไม่คงที่เช่นนี้ การรับส่งสัมผัสจึงมีลักษณะไม่คงที่ตามไปด้วย  
 

  -- สมัยรัตนโกสินทร์

            ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ กลอนเพลงยาวได้พัฒนาไปอย่างมากทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหา อาจจะกล่าวได้ว่าสุนทรภู่ ป็นผู้ที่ทำให้กลอนเพลงยาวมีรูปแบบ ฉันทลักษณ์ที่ชัดเจนขึ้น จากจำนวนคำที่ไม่แน่นอนมาเป็นการใช้คำ 8-9 คำ ในแต่ละวรรคอย่างสม่ำเสมอ มีการรับส่งสัมผัสระหว่างวรรคอย่างคงที่ รวมทั้งยังมีสัมผัสในอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มความไพเราะยิ่งขึ้นด้วย และรูปแบบที่สุนทรภู่คิดขึ้นมีลักษณะเหมือนกลบทที่มีชื่อว่า “ทิพย์วารี” หรือ “มธุรสวาที” นี้ ก็ได้กลายเป็นต้นแบบของกลอนเพลงยาวในสมัยต่อมา

            ส่วนเนื้อหาของกลอนเพลงยาวในสมัยรัตนโกสินทร์ก็มีความหลากหลายมากขึ้น มีทั้งที่แต่งเป็นนิราศ เช่น กลอนเพลงยาว รบพม่าที่ท่าดินแดง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งแม้จะไม่ใช่กลอนเพลงยาวที่แต่งเป็นนิราศเรื่องแรกของไทย เพราะแต่งหลังเพลงยาวของ หม่อมพิมเสนซึ่งมีลักษณะนิราศ เเละเชื่อกันว่าเป็นผลงานในสมัยอยุธยา แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความนิยมนำกลอนเพลงยาวมาแต่งเป็นนิราศในสมัยรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏในผลงานของสุนทรภู่ได้แก่ นิราศกลอนเพลงยาวต่างๆ เช่น นิราศ เมืองแกลง เป็นต้น

           ที่มาของคำว่า "ลงเอย"   

          เนื่องจาก ใช้เป็นจดหมายรักและจบลงด้วยคำว่า"เอย"จึงเป็นที่มาของสำนวน "ลงเอย" ในภาษาไทยหมายถึงการตกลงปลงใจที่จะร่วมชีวิตคู่ ของ ชาย-หญิง

          ที่มาของชื่อ"เพลงยาว"

           น่าจะเกิดจาก เนื้อความของจดหมายแต่ละฉบับที่มีขนาดยืดยาว หรืออีกประการหนึ่งอาจเกิดจากระยะเวลา ในการผูกสมัครรักใคร่ และโต้ตอบจดหมายกันจน"ลงเอย"ใช้เวลานานก็เป็นได้

         ประเพณี ไม่ให้หญิงเรียนหนังสือ 

          อนึ่งอาจกล่าวได้ว่า "เพลงยาว"เป็นตัวการสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงไทยสมัยก่อนไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา เพราะผู้ใหญ่ไม่ส่งเสริม เนื่องจากเกรงว่าเมื่ออ่านออกเขียนได้แล้วจะริ"เล่นเพลงยาว"และอาจก่อให้เกิดเรื่องราวเชิงชู้สาวให้เป็นที่เสื่อมเสียวงศ์ตระกูล


ที่มา
สุภาพร มากแจ้ง.กวีนิพนธ์ไทย.สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ ๒๕๓๕
https://ilwc.aru.ac.th/Contents/SongThai/SongThai7.html

๒. กลอนนิราศ       

           นิราศ หมายถึง งานประพันธ์ประเภทหนึ่ง ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เท่าที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน 

           นิราศเรื่องแรกของไทยนั้น ได้แก่ โคลงหริภุญชัย ซึ่งแต่งในสมัยอยุธยา นิราศนั้น มักมีเนื้อหาในเชิงพรรณนาถึงการเดินทางเป็นหลัก มักจะเล่าถึงเส้นทาง การเดินทาง และบอกเล่าถึงสิ่งที่พบเห็นระหว่างการเดินทาง ขณะเดียวกัน มักจะสอดแทรกความคิด ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางนั้น โดยมักจะเชื่อมโยงสิ่งที่พบเห็นกับความรู้สึกภายใน

            ผู้แต่งนิราศ มักจะใช้คำประพันธ์แบบร้อยกรองเป็นหลัก แต่นิราศที่แต่งด้วยร้อยแก้วก็มีอยู่บ้างเช่นกัน อนึ่ง คำว่า นิราศ มีความหมายตามตัวอักษรว่า จาก พราก ไปจาก ฯลฯ แต่นิราศอาจหมายถึงงานประพันธ์ที่พรรณนาถึงเหตุการณ์ตามลำดับ พร้อมทั้งแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์นั้นๆ โดยมิได้มีการเดินทาง หรือการพลัดพรากก็ได้ 
          วรรณกรรมประเภทนิราศมักจะมีความยาวไม่มาก พรรณนาถึงสิ่งสวยงาม และความรู้สึกผูกพันที่มีต่อบุคคลที่ตนรัก และเนื่องจากกวีส่วนใหญ่เป็นชาย เนื้อหาในนิราศจึงมักจะพรรณนาถึงหญิงที่ตนรัก กระทั่งกลายเป็นขนบของการแต่งนิราศมาจวบจนปัจจุบัน ที่ผู้แต่งนิราศ มักจะผูกเรื่องราวของการคร่ำครวญถึงหญิงที่รัก ขณะที่เล่าถึงสิ่งที่ได้พบเห็นระหว่างการเดินทางด้วย
        คำประพันธ์ที่ใช้แต่งนิราศนั้นมีด้วยกันหลากหลาย ขึ้นกับความนิยมของกวีผู้แต่งนิราศเรื่องนั้นๆ

        ในสมัยอยุธยา มักจะมีนิราศคำโคลงมากกว่าอย่างอื่นๆ ส่วนนิราศคำฉันท์นั้นปรากฏน้อย เช่น นิราศษีดา และบุณโณวาทคำฉันท์ ขณะเดียวกันนิราศที่แต่งด้วยกาพย์ห่อโคลง เช่น กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา
 


      สม้ยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นิราศส่วนใหญ่ยังนิยมแต่งด้วยคำโคลงมากกว่าอย่างอื่น เช่น นิราศนรินทร์ ของนายนรินทรธิเบศร์
      ทว่าในสมัยต่อๆ มา เริ่มมีความนิยมแต่งนิราศคำกลอนมากขึ้น โดยเฉพาะนิราศของสุนทรภู่ นั้นส่วนใหญ่แต่งด้วยกลอนแปด หรือกลอนเพลงยาว หรือกลอนตลาด สุดแต่จะเรียก และกล่าวได้ว่า
        สุนทรภู่ เป็นกวีที่แต่งนิราศคำกลอนไว้มากที่สุดด้วย (สุนทรภู่มีนิราศคำโคลงหนึ่งเรื่อง คือนิราศสุพรรณ)
       อย่างไรก็ตาม นิราศยังสามารถแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทอื่นๆ ได้ เช่น ลิลิต คำกาพย์ หรือแม้กระทั่งร้อยแก้ว
        สำหรับนิราศร้อยแก้วนั้น ปรากฏน้อยมาก เช่น นิราศนครวัด พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นต้น



        นิราศเป็นการเรียกวรรณกรรมตามลักษณะของเนื้อหา มิใช่เป็นการบัญญัติหรือกำหนดกะเกณฑ์ ผู้อ่านจึงไม่ควรยึดถือเคร่งครัด ว่าวรรณกรรมเรื่องใดเป็นนิราศหรือไม่ เนื่องจากนิราศเรื่องหนึ่งๆ จึงอาจมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากนิราศเรื่องอื่นๆ ก็ได้ เช่น เล่าถึงการเดินทาง แต่มิได้พรรณนาถึงการพลัดพราก เป็นต้น วรรณคดีบางเรื่องยังอาจระบุได้ไม่ถนัด ว่าเป็นนิราศหรือไม่ เช่น นิราศษีดา ที่นำเรื่องราวในรามเกียรติ์มาแต่งเป็นทำนองนิราศ ทว่าผู้แต่งมิได้มีประสบการณ์ร่วมในเนื้อหานั้นๆลิลิตพระลอ

ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A8

๓. กลอนนิยาย
      กลอนนิทานหรือกลอนนิยาย ก็มีลักษณะเหมือนกลอนเพลงยาวนั่นเอง แต่แต่งเป็นเรื่องยืดยาว ทำนองนิยายหรือเทพนิยาย มีพระเอก นางเอก มีการรบทัพจับศึกและความอัศจรรย์ต่างๆ หรือจะแต่งนิยายอย่างนวนิยายสมัยใหม่ก็ได้

      เนื้อเรื่องของกลอนนิทานเป็นเรื่องแต่งซึ่งอาจนำมาจากชาดก นิทานพื้นบ้าน หรือจินตนาการขึ้นเอง มีโครงเรื่อง ตัวละคร ฉากเหตุการณ์ กลอนนิทาน เป็นวรรณกรรม ที่มุ่งให้ความบันเทิงหรือแทรกคติสอนใจ เช่น พระอภัยมณี ลักษณวงศ์ โคบุตร จันทโครบ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องจักรๆวงศ์เป็นส่วนใหญ่

๔. กลอนเพลงปฏิพากย์ 
     กลอนเพลงปฏิพากย์ เป็นกลอนที่ใช้ว่าแก้กันเป็นทำนองฝีปากโต้คารมบ้างเกี้ยวบ้าง เสี่ยงสัตย์อธิฐานบ้าง โดยมากเป็น กลอนสั้นๆ นับว่าเป็นสมบัติของชาติไทยโดยแท้ เพราะแพร่หลายในหมู่คนไทยโดยทั่วไป แม้ผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษาก็สามารถว่าได้ และว่าเป็นกลอนสดเสียด้วย  

กลอนเพลงปฏิพากย์ ยังแบ่งออกไปอีกหลายชนิด คือ 

เพลงฉ่อย
    เป็นเพลงพื้นเมืองที่ไม่ทราบถิ่นกำเนิด เป็นการละเล่นเพลงพื้นเมืองที่แพร่หลายมากที่สุดเพลงหนึ่ง มีคนร้องเล่นกันอย่างกว้างขวาง ไม่มีเครื่องดนตรีประกอบการร้องนั้น มีแต่การปรบมือเป็นการให้ประกอบจังหวะอย่างเดียว แต่ส่วนภายหลังเขาเอา "กรับ" มาตีด้วย การแต่งตัวนั้น ชายหญิงนุ่งผ้าโจงกระเบน ใส่เสื้อคอไทย คอกลมกระดุม 3 เม็ด มีผ้าขาวม้าเคียนพุง ส่วนหญิงใส่เสื้อสบาย ๆ แต่มีสไบเฉียง ทุกครั้งและขาดมิได้ เวลาเขียนคิ้วใช้ผงถ่านกากมะพร้าว
   ประวัติ
   เพลงฉ่อย มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า เพลงไอ้เป๋ เนื่องจากพ่อเพลงฉ่อย ยุคแรกชื่อ ตาเป๋ มี ยายมา เป็นภรรยา เริ่มแรกเพลงฉ่อย หรือ เพลงเป๋ เป็นที่นิยมในแถบ จังหวัดฉะเชิงเทรา และ จังหวัดใกล้เคียง ประมาณก่อนยุค พ.ศ. 2437 เป็นต้นมา ส่วนครูเพลงฉ่อย ยุคแรกเริ่มก็มี ครูเปลี่ยน - ครูเป๋ - ครูฉิม - ครูศรี - ครูบุญมา - ครูบุญมี ครูเพลงเหล่านี้มีแค่ชื่อ และ ตำนานส่วนประวัติไม่มีเลย เพลงฉ่อย นี้ปรับปรุงและดัดแปลงมาจาก เพลงโคราช - เพลงเรือ และเพลงปรบไก่ เป็นต้น ก็สาเหตุเนื่องจาก เวลาปรบมือเป็นจังหวะเพลงปรบไก่ ร้องบทไหว้ครูและเกริ่นอย่างเพลงโคราช ใช้กลอนก็ใช้คล้ายกับเพลงเรือ แต่อย่างไรเพลงฉ่อย ก็น่าจะอยู่ในยุคต้นสมัยรัชกาลที่ 5

เพลงโคราช หรือเพลงตะวันออก 
     เพลงโคราชจะเริ่มเล่นตั้งแต่เมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด หลักฐานจากคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมา มีเพียงว่า สมัยท้าวสุรนารี ( คุณย่าโม ) ยังมีชีวิตอยู่ ( พ.ศ. 2313 ถึง 2395 ) ท่นชอบเพลงโคราชมาก เรื่องราวของเพลงโคราชได้ปรากฏหลัดฐานชัดเจน คือในปี พ.ศ. 2456 ที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง เสด็จมานครราชสีมาทรงเปิดถนนจอมสุรางค์ยาตร์ และเสด็จไปพิมาย ในโอกาสรับเสด็จครั้งนั้น หมอเพลงชายรุ่นเก่าชื่อเสียงโด่งดังมากชื่อนายหรี่ บ้านสวนข่า ได้มีโอกาสเล่นเพลงโคราชถวาย เพลงที่เล่นใช้เพลงหลัก เช่น กลอนเพลงที่ว่า ( สมเด็จพระพันปีหลวง ทรงเป้นผู้บังคับการพิเศษประจำกรมทหารม้านครราชสีมา จนถึง พ.ศ. 2462 เมื่อเสด็จนครราชสีมา นายหรี่ สวนข่า ก็มีโอกาสเล่นเพลงถวาย ) เพลงโคราชมีโอกาสเล่นถวายหน้าพระที่นั่งในงานชุมนุมลูกเสือครั้งที่ 1 ในนามการแสดงมหรสพของมณฑลนครราชสีมา  

    กำเนิดของเพลงโคราช มีทั้งที่เป็นคำเล่าและตำนานหลักฐานจากคำบอกเล่าของหมอเพลงอีกจำนวนหนึ่งเล่าต่อ ๆ กันมาว่า ในสมัยรัตนโกสินทร์มีสงครามระหว่างไทยกับเขมร เมื่อไทยชนะสงครามเขมรครั้งไร ชาวบ้านจะมีการเฉลิมฉลองชัยชนะ ด้วยการขับร้องและร่ายรำกันในหมู่สกที่เขาเรียกว่า " ซุมบ้านสก " ใกล้ ๆ กับชุมทางรถไฟ ถนนจิระและเริ่มเล่นเพลงโคราชกันที่หมู่บ้านนี้ ท่าทางการรำรุกรำถอย และการป้องหู มีผู้สันนิษฐานว่าประยุกต์มาจากการเล่นเจรียง ที่เป็นเพลงพื้นบ้านของชาวสุรินทร์ผสมผสาน กับเพลงทรงเครื่องของภาคกลาง

เพลงเรือ
     เพลงเรือ เป็นเพลงพื้นบ้านของชาวไทยภาคกลางที่อยู่ตามริมลำน้ำ เช่น สุพรรณบุรี อ่างทอง อยุธยา ฯลฯ นิยมเล่นกันในหน้านาประมาณเดือน ๑๑ - ๑๒ อุปกรณ์ในการเล่นเพลงเรือคือ เรือของพ่อเพลงลำหนึ่ง และเรือของแม่เพลงลำหนึ่ง เครื่องดนตรีมีกรับธรรมดาหรือกรับพวง และฉิ่ง ถ้าเล่นกลางคืนจะต้องมีตะเกียงไว้กลางลำเรือ เนื้อร้องทั้งสองฝ่ายมาพบกัน พ่อเพลงก็จะพายเรือเข้าไปเทียบเกาะเรือแม่เพลงไว้ แม่เพลงเริ่มด้วยเพลงปลอบ หรือเพลงเกริ่น บางคณะจะเริ่มด้วยบทไหว้าครูก่อน จากนั้นแม่เพลงก็จะร้องประโต้ตอบเรียกว่า บทประ แล้วต่อด้วยชุดลักหาพาหนี หรือนัดหมายสู่ขอ แล้วต่อด้วยเพลงชุดชิงชู้ และเพลงตีหมากผัว เมื่อเลิกก็จะมีเพลงจาก แสดงความอาลัยอาวรณ์ 

 

วิธีเล่น 
     การเล่นเพลงเรือหรือการขับเพลงให้ลงกับจังหวะพาย ผู้พายก็ต้องฟังเสียงเพลง ผู้ขับเพลงเรือหรือแม่เพลงต้องเป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบที่จะหาคำ หรือหยิบยกเอาเหตุการณ์สิ่งแวดล้อม เข้ามาสอดแทรกเข้าไปให้เหมาะสม อาจเป็นแข่งขัน ยกย่อง เสียดสีซึ่งทำให้ผู้ฟังสนุกไปด้วย ก่อน การเล่นเพลง ต้องมีการกล่าวกลอนไหว้ครูเสียก่อน จากนั้นจึงจะเอื้อนกลอนพรรณนาหรือชักชวนให้ คนอื่นมาเล่นด้วย โดยใช้วิธีว่ากลอนกระทบกระทั่งกระเช้าเย้าแหย่ จนคู่โต้มิอาจจะทนอยู่ได้ จึง เกิดการเล่นเพลงเรือโต้ตอบกันขึ้น การโต้ตอบกันด้วยเพลงเรือ บางทีก็เผ็ดร้อนใช้คารมที่คมคาย บางทีก็อาจเป็นทำนองรักหวานชื่น ทั้งนี้แล้วแต่โอกาสและสถานการณ์
 

ขอบคุณที่มา : https://www.student.chula.ac.th/~49467529/boat.htm

เพลงพิษฐาน (อธิษฐาน)
     เพลงพิษฐาน เป็นเพลงที่มักร้องเล่นในวันสงกรานต์นั้นถือเป็นวันดีขึ้นปีใหม่ของคนไทย คนไทยส่วนใหญ่มักจะทำในสิ่งที่ดี ซึ่งถือเป็นสิริมงคล สำหรับชาวบ้านเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี ในตอนเช้าจะไปทำบุญที่วัด หลังจากทำบุญแล้ว จะเล่นเพลงพิษฐานกันก่อน เพื่อเป็นการเอาโชคเอาชัย ผู้เล่นเป็นชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านนั้น ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาทำไร่ แบ่งเป็นฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย จำนวนไม่จำกัด การแต่งกาย ฝ่ายชายนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลม ผ้าขาวม้าคาดเอว ส่วนฝ่ายหญิงนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อแขนกระบอก อุปกรณ์ในการเล่นคือ ดอกไม้ ธูปเทียน คนละ 1 กำ มักเล่นกันบริเวณหน้ามณฑป ซึ่งมีพระประธานอยู่ด้านใน

     วิธีเล่น แบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ต้องนั่งพับเพียบเป็นแถวต่อหน้าพระประธาน ทุกคนถือดอกไม้ธูปเทียนไว้ในมือ เริ่มเล่นโดยฝ่ายชายจะนำสวดบูชาพระรัตนตรัย เสร็จแล้วฝ่ายชายจะเป็นผู้ว่าเพลงก่อน มีลูกคู่ร้องรับ แล้วฝ่ายหญิงก็จะว่าเพลงแก้ มีลูกคู่ร้องรับ เช่นเดียวกัน ร้องสลับชายหญิงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเห็นสมควรแก่เวลา เนื้อหาของเพลงเป็นการนำเอาชื่อดอกไม้มาร้องเป็นเพลง เปรียบให้ได้ดังสิ่งที่ตนเองหวังไว้ ซึ่งมีความคล้องในคำร้องให้สัมผัสกับคำอธิษฐาน

ขอบคุณที่มา : https://www.student.chula.ac.th/~49467529/pistan.htm

เพลงเกี่ยวข้าว
      เพลงเกี่ยวข้าว เป็นเพลงที่สำหรับร้องกันในขณะลงแขกเกี่ยวข้าว อันเป็นอาชีพสำคัญของประชาชนชาวไทยอย่างหนึ่ง เพื่อให้ความสนุกสนานกับความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการงาน และเชื่อมความสามัคคีในระหว่างพื้นบ้านอาชีพเดียวกัน เพลงเกี่ยวข้าวจะเล่นกันในฤดูเกี่ยวข้าว จะเล่นกันเมื่อหยุดจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว เหมือนกับเพลงเต้นกำรำเคียว กล่าวคือ จะเล่นเพลงเกี่ยวข้าวก่อนที่จะเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว และไม่มีกำหนดเวลาในการเล่น คือ เล่นกันจนเหนื่อยก็เลิก เนื้อความของเพลงมักจะเกี่ยวกับ การไต่ถามถึงการทำนาผสมผสานการเกี้ยวพาราสีกัน


เพลงเกี่ยวข้าว บางแห่งเรียก "เพลงกำ" เวลาแสดงมือหนึ่งถือเคียว อีกมือหนึ่งกำข้าวไว้ ย่ำเท้าใช้ลีลาไปตามจังหวะเพลง ใช้ตบมือให้จังหวะพร้อมๆ กัน บางครั้งใช้กลองและฉิ่งเข้าร่วมด้วย
วิธีเล่น แบ่งผู้เล่นออกเป็นฝ่ายชายและฝ่ายหญิง แต่ละฝ่ายจะถือเคียวมีพ่อเพลงและแม่เพลง ซึ่งจะมีกี่คนก็ได้ พ่อเพลงจะออกมาร้องก่อน แล้วฝ่ายหญิงก็ร้องตอบโต้ โดยขึ้นต้นว่า “เอ่อ เออ เอิ้ง เอ๊ย” ลูกคู่รับว่า “ฮ้าไฮ้” หรือ “โหยย เอ้า โหยย โหยย”

ขอบคุณที่มา : https://www.student.chula.ac.th/~49467529/rice.htm

เพลงปรบไก่ 

     เพลงปรบไก่ เป็นการละเล่นพื้นเมืองมาแต่โบราณ สันนิษฐานว่า จะเก่าแก่กว่าเพลงพื้นบ้านประเภทอื่น ๆ ของภาคกลางผู้เล่นร้องโต้ตอบกันโดยยืนเป็นวงกลม มักร้องหยาบๆ สามารถเล่นเป็นเรื่องได้ เช่น เรื่องขุนช้างขุนแผน ในสมัยโบราณคงถือว่ามีหลักเกณฑ์ดี จนนักปราชญ์ทางดุริยางคศิลป์ ได้นำคำรับลูกคู่ของเพลงปรบไก่ มาแปลงเป็นวิธีตะโพนที่เรียกว่า หน้าทับปรบไก่ ซึ่งต่อมาภายหลังได้ถอดออกมาเป็นวิธีตีเครื่องหนังอื่น ๆ อีกหลายอย่าง และหน้าทับปรบไก่นี้ก็เป็นหน้าทับสำคัญของการบรรเลงดนตรีไทยอย่างหนึ่ง คำรับลูกคู่ที่แปลงมาเป็น หน้าทับตะโพน คือ คำร้องว่า “ฉาด ช่า ฉ่า ช่า เอ๊ ชะ” แล้วมาแปลงเป็นเสียงตะโพน “พรึง ป๊ะ ตุ๊บ พรึง พรึง ตุ๊บ พรึง” ซึ่งเป็นหน้าทับปรบไก่ในอัตรา ๒ ชั้น 

     เพลงปรบไก่นิยมเล่นกันมากที่บ้านดอนข่อย ตำบลลาดโพ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เป็นการละเล่นที่สืบทอดกันมาช้านานราว ๑๕๐ ปี ซึ่งเป็นการละเล่นที่เล่นกันมาแต่ครั้งกรุงเก่าครั้งเสียกรุงครั้งที่ ๒ แล้ว การละเล่นเพลงปรบไก้บ้านดอนข่อยนั้นจะเล่นเป็นประจำทุกปี ในวันเพ็ญเดือน ๖ เพื่อบวงสรวงศาลประจำหมู่บ้านและทำพิธีขอฝน ในงานบวงสรวงศาลเจ้าพ่อปู่ พิธีบวงสรวงและขอฝนจะเริ่มตั้งแต่เช้า มีการทำบุญเลี้ยงพระเมื่อเสร็จพิธีเลี้ยงพระราว ๑๐.๐๐ น. จึงเล่นเพลงปรบไก่ไปจนถึงเย็น ชาวบ้านดอนข่อยไร่คาวังบัวที่โยกย้ายไปอยู่ถิ่นอื่นจะกลับมาร่วมพิธีบวงสรวงศาลทุกปี เพราะเชื่อกันว่าถ้าใครไม่กลับมาบูชาตนเองและสมาชิกในครอบครัวจะประสบเหตุร้ายหรือเจ็บไข้ได้ป่วยทั้งยังเชื่อว่าความทุกข์ร้อนต่างๆที่เกิดขึ้นกับคนในหมู่บ้าน ตลอดจนโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เมื่อขอความช่วยเหลือจากหลวงพ่อปู่แล้วจะช่วยขจัดปัดเป่าความทุกข์ร้อนทั้งหลายให้สิ้นไป ดังนั้นเมื่อผู้ใดเดือดร้อนจึงมักบนบานหลวงพ่อปู่เสมอและเมื่อพ้นทุกข์แล้วก็จะแก้บนด้วยการเล่นเพลงปรบไก่

ขอบคุณที่มา : https://www.student.chula.ac.th/~49467529/chicken.htm

เพลงพวงมาลัย
      เพลงพวงมาลัย นิยมเล่นในงานนักขัตฤกษ์งานมงคล เช่น บวชนาค ทอดกฐิน และลอยกระทง เป็นต้น แต่เดิมมักจะร้องเล่นควบคู่กับการเล่นกีฬาพื้นเมือง คือ ช่วงชัย หรือการเล่นลูกช่วง นั่นเอง ผู้ที่ถูกปาด้วยลูกช่วงจะต้องรำ ขณะที่ผู้ถูกปารำนั้น ผู้ที่ยืนล้อมอยฏู่จะร้องเพลงพวงมาลัย ถ้าฝ่ายหญิงรำฝ่ายชายจะร้องเพลงเกี้ยว ถ้าฝ่ายชายรำ ฝ่ายหญิงจะร้องเพลงว่าต่าง ๆ นานา บางทีก็จะร้องโต้ตอบไต่ถามบ้านช่องซึ่งกันและกัน การร้องเพลงพวงมาลัยเล่นได้ทั้งบนบกและในเรือ 

     วิธีเล่นและวิธีร้อง ชายหญิงตั้งวงกลมมีพ่อเพลงและแม่เพลงข้างละคน นอกนั้นเป็นลูกคู่มีหน้าที่คอยรับและปรบมือให้จังหวะพร้อมกัน คำร้องเป็นการเกี้ยวพาราสีเป็นกลอนสดว่าแก้กัน ฝ่ายใดร้องก็ต้องมารำกลางวง การรับผิดกับเพลงฉ่อย คือลูกคู่รับเฉพาะวรรคต้นกับวรรคท้ายตอนจบเท่านั้น การขึ้นเพลงมักขึ้นว่า "เอ้อระเหย" 

     ปัจจุบันการเล่นบนเวทีจัดเป็นสองฝ่าย ชาย - หญิง ว่าแก้กันเป็นคู่การร้องเป็นการร้องเป็นท่อนยาว ๆ หลาย ๆ ท่อน หรือเป็น ท่อนสั้น ๆ เรียกว่า เพลง"พวงมาลัยหล่น" บางครั้งใช้กลองประกอบ บางครั้งก็ใช้แต่เสียงปรบมือ

ขอบคุณที่มา : https://www.student.chula.ac.th/~49467529/puangmalai.htm

เพลงรำอีแซว หรือเพลงอีแซว 
     เพลงอีแซว เป็นเพลงพื้นบ้านประจำท้องถิ่นของ สุพรรณบุรี มีกำเนิดและแพร่หลายในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีและใกล้เคียง เพลงอีแซวมีความเป็นมาที่ยาวนาน มากกว่า ๑๐๐ ปี โดยในช่วงแรกๆ นั้นมีลักษณะเป็นเพลงปฏิพากย์ ( เพลงโต้ตอบ ) ที่ หนุ่มสาวใช้ร้องยั่วเย้า เกี้ยวพาราสีกันอย่างง่ายๆ สั้นๆ กระทั่งเมื่อ ๖๐ - ๗๐ ปีที่ผ่านมาจึงได้พัฒนาเป็นเพลงปฏิพากย์ยาวคือมีเนื้อเพลงที่ใช้ร้องในแต่ละครั้งยาวมากขึ้น พร้อมกับมีการดัดแปลงทำนองและลักษณะการร้องรับของลูกคู่ นอกจากนั้นยังได้มีการพัฒนาเสื้อผ้าของผู้แสดง โดยจะนุ่งโจงกระเบนทั้งฝ่ายชายและหญิง ส่วนเสื้อนั้น ฝ่ายหญิงจะใส่เสื้อแขนสั้นคอกลมหรือ คอเหลี่ยมกว้าง ฝ่ายชายมักจะ ใส่เสื้อแขนสั้นคอกลม สร้าง สรรค์ความสะดุดตาด้วยสี ที่ฉูดฉาดเพื่อดึงดูดใจผู้ชม 
  


     ด้วยความนิยมในเพลงอีแซวทำให้สามารถแสดงได้เกือบทุกสถานที่และทุกโอกาสเพียงแต่ จะไม่มีการแสดงในงานแต่งงาน

     วงอีแซวจะไม่มีข้อกำหนดเรื่อง จำนวนผู้แสดง แต่ในวงหนึ่งๆ จะมีการจัดสรรตำแหน่งหน้าที่ ของผู้แสดงประกอบด้วย พ่อเพลง ( ผู้ร้องนำฝ่ายชาย ) แม่เพลง ( ผู้ร้องนำฝ่ายหญิง ) คอต้น ( ผู้ร้องเพลงโต้ตอบคนแรก ) คอสอง , คอสาม ( ผู้ร้องคนที่สองและ สาม ) และ ลูกคู่ ( จำนวนไม่จำกัด มีหน้าที่ร้องรับ ร้องซ้ำความ ร้องสอดแทรกขัดจังหวะ เพื่อความสนุกสนาน )

ขอบคุณที่มา : https://www.student.chula.ac.th/~49467529/esaew.htm


----------------------------------------------------------------------------------------------
เรียบเรียงจาก
 https://learnkaweethai.blogspot.com/p/blog-page_24.html

ภาพประกอบ : www.thaigoodview.com , https://see-books.blogspot.com/2012/09/blog-post_4217.html, https://www.thaipoem.com/