ตำแหน่งของ ไม้ไต่คู้ (๒)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 7.1K views



ไม้ไต่คู้ อักขระตัวแรกที่ค้นพบใน พ.ศ.๒๐๐๐ ดูเหมือนว่าจะเป็นอักขระที่อยู่คู่กับภาษาไทยมาอย่างยืนยงที่สุด เพราะในปัจจุบันนี้ก็ยังคงใช้กันอยู่ และคำว่า ก็ ก็ยังคงเป็นคำพิเศษคำเดียวในภาษาไทยที่เขียนในลักษณะนี้

อย่างไรก็ตาม การใช้ไม้ไต่คู้ก็มีความเปลี่ยนแปลงไปมิใช่น้อย เมื่อ ดร.นันทนา ด่านวิวัฒน์ ได้ค้นพบว่า ไม้ไต่คู้ ปรากฏครั้งแรกในศิลาจารึกวัดจุฬามณี พ.ศ.๒๒๓๐ มีหน้าที่ ทำให้สระเสียงยาวในพยางค์ที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์กลายเป็นเสียงสั้น นั้น อาจจะเป็นเพราะว่าในขณะนั้นยังไม่มีรูปวรรณยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายเช่นในสมัยหลัง และถึงแม้ว่าจะมีหน้าที่บังคับให้เสียงสั้นลงในทำนองเดียวกับไม้ตรี ดังที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ประถม ก กา แต่ตำแหน่งของไม้ไต่คู้กลับถูกจำกัดลงไป ดังนี้

๑. ในอดีตทั้งไม้ไต่คู้และไม้ตรีปรากฏอยู่เหนือสระบนได้ แต่ในปัจจุบันไม้ไต่คู้ไม่สามารถปรากฏอยู่เหนือสระบนได้ ดังที่ปรากฏในเอกสารต่อไปนี้

(จากหนังสือ แบบเรียนเร็ว ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับ พ.ศ.๒๕๔๒ : เล่ม ๑ หน้า ๙๑)

๒. ในอดีตไม้ไต่คู้สามารถปรากฏร่วมกับเครื่องหมายวรรณยุกต์ ได้ แต่ในปัจจุบันปรากฏร่วมไม่ได้ ดังปรากฏในเอกสารต่อไปนี้

(จากหนังสือ แบบเรียนเร็ว ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับ พ.ศ.๒๕๔๒ : เล่ม ๑ หน้า ๗๑)

การนำไม้ไต่คู้กลับมาสู่ตำแหน่งเดิมอาจจะให้ทั้งข้อดีและข้อเสีย

ข้อดีคือ ทำให้การอ่านง่ายขึ้น เพราะสามารถระบุได้ชัดเจนว่า สระที่เปลี่ยนรูปไปนั้นมาจากสระสั้นหรือสระยาว เช่น

เก่ง อ่านเสียงสั้น เพราะมาจาก เกะ + ง เปลี่ยนรูปสระอะ เป็นไม้ไต่คู้ แล้วใช้ร่วมกับไม้เอก

เก้ง อ่านเสียงยาว เพราะมาจาก เก + ง แล้วใช้รูปไม้โทอย่างเดียว

ในปัจจุบันนี้ที่เราอ่านได้ว่าตัวหนึ่งสั้นตัวหนึ่งยาวก็เพราะความเคยชิน แต่รูปการเขียนมิได้ช่วยอะไรเลย

ข้อเสียคือ จะต้องมีการปรับปรุงรูปการเขียนภาษาไทยเสียใหม่ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ใช้ภาษาสับสน นอกจากนี้ ยังต้องปรับปรุงทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของคอมพิวเตอร์เพื่อให้สามารถแสดงตำแหน่งได้ เพราะในปัจจุบันนี้ทำอย่างไรก็ไม่สามารถจะพิมพ์ไม้ไต่คู้ร่วมกับรูปวรรณยุกต์อื่นหรือสระบน (สระอิ สระอี สระอึ สระอือ) ได้ นอกจากจะใช้วิธีแทรก (insert) สัญลักษณ์ (symbol) ซึ่งทำให้ไม่สามารถส่งผ่านทางอีเมล์ได้

ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน

เว็บไซต์ ราชบัณฑิตยสถาน

เกร็ดภาษาจากหนังสือ "ไปเมืองนอกครั้งแรก ร.ศ.๑๑๘"

 

หนังสือ "ไปเมืองนอกครั้งแรก ร.ศ.๑๑๘" เป็นพระนิพนธ์ของ สมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงนิพนธ์เมื่อทรงถูกจองจำที่เรือนจำกลางบางขวางระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทรงได้รับความลำบากยากเข็ญดุจนักโทษสามัญทางการเมือง จึงทรงบันทึกเรื่องนี้ไว้เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ทำให้สบายพระทัยเมื่อทรงพระเยาว์ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปทรงเริ่มการศึกษาที่ประเทศเยอรมนี ทรงระลึกถึงชีวิตในเรือเมล์ที่นำเสด็จไปยุโรปใน พ.ศ.๒๔๔๒ ทรงบรรยายถึงประเทศอังกฤษในยุคสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เยอรมนีในรัชสมัยจักรพรรดิ์วิลเฮล์ม II และรัสเซียในรัชสมัยพระเจ้าซาร์นิโคลาส II

 

หม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต บรรณาธิการ ชี้แจงว่า ได้รักษาตัวสะกดและสำนวนเดิมไว้ทุกประการเพื่ออนุรักษ์ลักษณะเฉพาะของภาษาที่ทรงเขียนในต้นฉบับ ฉะนั้น จึงมีคำหลายคำที่มิได้สะกดการันต์ตามอย่าง พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งเกิดขึ้นทีหลัง หนังสือเล่มนี้จึงให้ทั้งภาพเหตุการณ์เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว และให้ความรู้ทางด้านภาษาด้วย

 

เกร็ดความรู้ทางด้านภาษาที่จะขอนำมากล่าวถึงในครั้งนี้ก็คือเรื่องการออกเสียงคำจากภาษาต่างประเทศ ดังจะได้ยกตัวอย่าง ดังนี้

 

...ทีนี้จะขอผลไม้ชนิดนี้ บอกเขาว่า แอ๊ปเป้อ อย่างไทยๆ เขาไม่เข้าใจ บอกอย่างฝรั่ง แอ๊ปปิ้ล ออกเสียงพยางค์ต้นให้หนักพยางค์ท้ายให้เบา ตัว ล ให้ชัด คือพูดเปนฝรั่งอังกฤษทีเดียว เขาก็ไม่เข้าใจ ต้องหาโอกาศชี้ของจริงแล้วถามว่า "นี่เรียกว่าอะไร" เขาก็บอกว่า "ปอมม์"... (หน้า ๙๘-๙๙)

 

...ที่จริงเมือง Paris นี้ ถ้าไทยจะเรียกเสียว่า ปารี่ ง่ายๆ อย่างนี้ก็จะดี จะได้ถูกต้องตรงสำเนียงฝรั่งเศษ แต่ที่อุตตริจะพูดอย่างอังกฤษหรือภาษาอื่นที่ออกเสียงตัว S ข้างท้ายด้วย แล้วก็พูดไม่เปน ซิ้วไม่เปนเลยกลายเป็น ปารีด ไป บางคนก็พูด ร เปน ล เลยกลายเปน ปาลีด ไปอีกชั้นหนึ่ง... (หน้า ๑๓๘)

 

...ที่ปารีส สถานทูตอยู่ที่ ๑๔ Rue Pierre Charon Quatorze คนไทยโดยมากพูดว่า กาต๊อต นี่ก็ขันชั้นหนึ่งแล้ว rue คนไทยก็มักจะว่า รู พูด U ไม่เป็น Pierre ไม่ว่า ปีแยร์ เขามักจะพูดว่า เปีย Charon เขาพูดถูกว่า ชาร็อง บางคนก็ว่า ชาล็อง เมื่อพ่อได้ยินครั้งแรกก็ขันคำว่า กาต๊อต แล้วยังเรียกถนนใหญ่เบ่อเร่อว่า รู ทำให้เห็นช่องอะไรนิดเดียวแทนถนนใหญ่ ทีนี้ได้ยินคำว่า เปีย ก็นึกถึง ผมเปีย... (หน้า ๑๘๑)

 

...แล้วก็ไป Moskwa เมืองนี้เรียกต่างๆ กันนัก อังกฤษเรียก Moscow ถ้าจะอ่านว่า มอสเคา เสียก็จะดีได้เหมือนเยอรมัน Moskau แต่อังกฤษอ่านว่า มอสโค เลยไปเสียทางหนึ่งทีเดียว ฝรั่งเศษว่า Moscou มอสคู รัสเซียนเองเรียกว่า มอสควา ส่วนแม่น้ำที่ผ่านเมืองนั้นใครๆ ก็ดูเหมือนเรียกว่า มอสควา ทั้งนั้น... (หน้า ๒๒๐)

 

จากตัวอย่างข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่า การเรียกชื่อเฉพาะได้รับอิทธิพลจากภาษาอังกฤษมานานแล้ว ทั้งๆ ที่เจ้าของชื่ออาจจะมิได้อ่านเช่นนั้น นอกจากนี้ก็ยังได้เห็นการแปลงเสียงเข้าสู่ภาษาไทยเมื่อไม่สามารถออกเสียงในภาษาเดิมได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องปรกติ และยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

 

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การออกเสียง ร เป็น ล นั้น เมื่อร้อยกว่าปีก่อนเคยเกิดขึ้นอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น แสดงว่าเสียงทั้งสองนี้ยังอยู่ในสถานะเสียงแปรในภาษาไทย นั่นคือ ยังมีผู้ออกเสียงได้ทั้ง ๒ แบบ ยังมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงเหมือน ฃ กับ ฅ ซึ่งออกเสียงเหมือน ข กับ ค ไปแล้ว

 

ขอบคุณที่มา จาก เว็บไซต์ราชบัณฑิตยสถาน