นิโคลา เทสลา อัจฉริยะสติเฟื่อง ที่โลกลืม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 106K views



การส่งพลังงานแบบไร้สายด้วยต้นทุนต่ำเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อมนุษย์ เพราะมันจะทำให้เขาเป็นนายเหนือท้องฟ้ามหาสมุทร และทะเลทราย ทำให้เขาสามารถขจัดความจำเป็นในการขุดเจาะ สูบ ขนส่ง และเผาผลาญเชื้อเพลิง และดังนั้นจึงกำจัดแหล่งที่มาไม่รู้จบของความสิ้นเปลืองอันชั่วร้าย

นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla, ๑๘๕๖-๑๙๔๓)

…………………

 

ประวัติ

          นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla) เกิดเมื่อ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2399 - ถึงแก่กรรม 7 มกราคม พ.ศ. 2486 (86 ปี) เป็นนักประดิษฐ์ นักฟิสิกส์ วิศวกรเครื่องกล และวิศวกรไฟฟ้าที่เปี่ยมด้วยอัจฉริยภาพ 

         เทสลาถือเป็นวิศวกรที่สร้างนวัตกรรมล้ำยุคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 สิทธิบัตรของเทสลาและผลงานเชิงทฤษฎีของเขากลายเป็นพื้นฐานของระบบไฟฟ้ากระแสสลับ ได้แก่ ระบบจ่ายกำลังหลายเฟส และมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ ซึ่งเขามีส่วนผลักดันเป็นอย่างมากในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สอง

        เขาไม่เพียงเป็นอัจฉริยะเจ้าของสิทธิบัตรกว่า ๓๐๐ รายการ หากยังเป็นบิดาแห่งวงการวิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า มีชื่อเสียงโด่งดังทัดเทียมเอดิสันในครึ่งแรกของชีวิต เป็นผู้ประดิษฐ์และค้นพบสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย อาทิ มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ (ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวสติงเฮาส์เอาชนะเอดิสันในสงครามคลื่นได้) ขดลวดเทสลา (Tesla coil) เครื่องวัดความเร็วติดรถยนต์ การกระจายเสียงผ่านวิทยุ และวิธีการเปลี่ยนสนามแม่เหล็กเป็นสนามไฟฟ้า อันเป็นที่มาของหน่วยวัดสนามแม่เหล็กเทสลาซึ่งวิศวกรรุ่นหลังตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา

           การค้นพบเหล่านี้ล้วนเป็น “ฟันเฟือง” สำคัญที่ทำให้สังคมได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืนจากงานของเอดิสัน มาร์โคนี เวสติงเฮาส์ และนักประดิษฐ์อีกจำนวนมาก จนกล่าวได้ว่าวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่เราคุ้นเคยไม่อาจสัมฤทธิผลได้ถ้าปราศจากงานของเทสลา

นิโคลา เทสลา ในห้องทดลองของเขาที่เมืองโคโลราโด สปริงส์ วันที่ 31 ธันวาคม 1899
ถ่ายคู่กับเครื่องส่งกระแสไฟฟ้ายักษ์ ซึ่งมีความถี่สูงมากจนสามารถส่งกระแสไฟนับล้านวัตต์

มอเตอร์กระแสไฟฟ้าสลับของเทสลา
ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ ๑๐ ชิ้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

 

อัจฉริยะจอมเพี้ยน หรือผู้มีพลังจิต ?

            นอกจากเขาจะ เกิดมาพร้อมสมองอันชาญฉลาดแล้ว เขายังมีพลังจิตอีกด้วย โดยตั้งแต่เด็กเขามักจะเห็นแสงไฟแวบเข้าตาตามด้วยภาพหลอน และหลายครั้งที่เพียงแค่เขาได้ยินชื่อของสิ่งของ เขาก็จะเกิดภาพรายละเอียดของสิ่งของชิ้นนั้นๆ ขึ้นในใจ และนั่นคือสิ่งที่สร้างความรำคาญใจให้เขาเป็นอย่างมาก 

         ครั้งหนึ่งเขาเคยล้มป่วยเป็นโรคประหลาดที่หาสาเหตุไม่ได้ โรคนั้นทำให้ประสาทรับรู้ต่างๆ ของเขาไวต่อสิ่งเร้ามากกว่าปกติ อีกทั้งการอยู่ในสถานที่ที่มีแสงจ้า นอกจากจะทำให้เขาปวดตาแล้ว มันยังแผดเผาผิวหนังของเขาจนเป็นแผลผุผองอีกด้วย

          ด้วยอาการประหลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเขา ทำให้เขากลัวการสัมผัสทางร่างกายกับบุคคลอื่น เขาจึงปฏิเสธความสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม และการแตะเนื้อต้องตัวหรือการจับมือกับใคร ได้แต่โกหกว่ามือของเขาได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในห้องทดลอง 

       พฤติกรรมเพี้ยน ๆ อีกเรื่องของนิโคลา ก็คือ เขามักจะทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันซ้ำ ๆ หลายครั้ง จนกว่าจำนวนครั้งที่ทำจะหารด้วย 3 ได้ลงตัว ถ้าไม่ลงตัวเขาจะทำใหม่จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ เช่น การนับก้าวเดิน จำนวนครั้งที่นิโคลาชอบเป็นพิเศษคือ 27 เพราะว่ามันเท่ากับ 3 ยกกำลัง 3 ( 3x3x3 ) เทสลาพูดได้หลายภาษาและอ่านหนังสืออย่างกว้างขวาง

         นอกจากนั้นเขายังกำหนดกะเกณฑ์ปริมาณอาหารที่เขากินในแต่ละมื้อ ด้วยการนำเอาไม้บรรทัดมาวัดดูว่า 
ภาชนะที่ใช้บรรจุอาหารของเขานั้นมีปริมาตร ความจุเท่าใด 

          ในบั้นปลายของชีวิต นิโคลาเสียชีวิตอย่างเงียบๆ ที่โรงแรมในนครนิวยอร์ค ตลอดชีวิตเขาถูกคนในวงการวิทยาศาสตร์ดูถูกในความคิดที่ดูเพี้ยน ๆ ขณะที่ประชาชนทั่วไปแทบจะไม่มีใครรู้จักเขาเลย 

           ชีวิตของเขาจึงแตกต่างจาก โทมัส เอดิสัน มาก ในขณะที่ เอดิสัน กลายเป็นบุคคลสำคัญของโลกที่ได้รับการเชิดชูว่าเป็นสุดยอดนักประดิษฐ์ แต่เขากลับเป็นเพียงนักวิทยาศาสตร์สติเพี้ยนในสายตาของคนทั่วไป เขาจึงได้ชื่อว่าเป็น "นักประดิษฐ์ที่โลกลืม" ซ้ำร้ายกว่านั้นชื่อและสิ่งประดิษฐ์ของเขาถูกนำมาแต่งเป็นผู้ร้ายในการ์ตูนยอดฮิต ซูเปอร์แมน ( Superman ) มีอยู่ตอนหนึ่ง ซูเปอร์แมนต้องต่อสู้กับนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องชื่อ " เทสลา " ที่พยายามทำลายล้างโลกด้วยอาวุธลำแสงมหาประลัย ( Death Ray )

          แต่ทว่า เทสล่ามีความคิดที่น่ายกย่องนั้นก็คือ ทำอย่างไร ผู้คนถึงจะใช้ไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องพึ่งสายไฟ ซึ่งเป็นที่มาของ เทคโนโลยี wireless ที่เราใช้กันในปัจจุบัน
 

คู่ปรับตลอดกาลของโทมัส อัลวา เอดิสัน

         เมื่อนึกถึงนักประดิษฐ์ ผู้คนมักจะนึกถึง โทมัส เอดิสัน เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ นิโคลา เทสลา นั้นดูเหมือนว่าทั้งสองจะมีแนวคิดที่ต่างกันคนละขั้วเลยทีเดียว เทสลานั้นเป็นเจ้าของแนวความคิดเรื่องไฟฟ้ากระแสสลับ ที่สามารถให้พลังไฟฟ้าในขอบเขตที่กว้างกว่าไฟฟ้ากระแสตรง ที่เป็นแนวคิดของเอดิสัน

       โดยเอดิสันได้เห็นแย้งกับความคิดของนิโคลา โดยการสาธิตการคิดค้นเก้าอี้ไฟฟ้าที่ใช้ในการประหารนักโทษขึ้นมา เพียงเพื่อแสดงให้เห็นอันตรายจากการใช้ไฟฟ้ากระแสสลับเท่านั้น ซึ่งว่ากันว่าอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เอดิสันนั้นไม่เข้าใจหลักการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับตามที่เทสลาอธิบาย นี่จึงเป็นการประกาศว่าเอดิสันไม่ยอมรับสิ่งประดิษฐ์ของเทสลานั่นเอง       

         เทสล่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้บุกเบิกวิศวกรรมไฟฟ้ายุคใหม่ ซึ่งทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจคณิตศาสตร์อย่างถ่องเเท้ทำให้เขาสามารถทำนายได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาศึกษาคณิตศาสตร์เเละผลงานต่างๆของนักวิทยาศาสตร์รุ่นก่อนๆที่เคยศึกษามาก่อนทำให้สามารถเข้าใจว่าไฟฟ้ามีการทำงานอย่างไร เทสล่าไม่ได้ทำงานเเบบเดาสุ่ม (trial and error) เเบบที่เอดิสันชอบทำ เขาจะใช้ความคิดเเก้ปัญหาให้ได้ก่อนที่จะสร้างสิ่งประดิษฐ์ใดๆ

           ดังนั้นเมื่อเทสล่าพบเอดิสันครั้งเเรกเขาจึงรู้สึกไม่ค่อยประทับใจในความไม่มีระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ของชายผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ เทสล่ากล่าวว่า 'ถ้าให้เอดิสันหาเข็มเเท่งหนึ่งที่ตกอยู่ในกองฟาง เขาจะเริ่มหาในทันที อย่างบากบั่น ขยัน พากเพียร เหมือนผึ้ง โดยเขาจะหาโดยละเอียดจากฟางที่ละเส้นๆ จนพบเข็ม '
 

อัจฉริยะสติเฟื่อง

          ผลงานที่เป็นรูปธรรมของเทสล่าก็คือ ระบบไฟฟ้ากระแสสลับและการส่งพลังงานแบบไร้สาย ในสมัยนั้นนักวิทยาศาสตร์ร่วมยุค ขนานนามเทสล่าว่า นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง mad scientist เพราะเค้าชอบคิดอะไรที่ล้ำหน้ามากๆ เช่น อาวุธลำแสงมหาประลัย สิ่งประดิษฐ์ชิ้นหนึ่งของเขาที่ถูกปิดเป็นความลับมานานเกือบร้อยปี เครื่องมือที่มีอานุภาพร้ายแรง ขนาดแยกโลกของเราให้แตกออกเป็นสองส่วนได้ 

 

นิโคลา เทสลา ในห้องทดลองของเขาที่เมืองโคโลราโด สปริงส์ วันที่ 31ธันวาคม 1899
ถ่ายคู่กับเครื่องส่งกระแสไฟฟ้ายักษ์ ซึ่งมีความถี่สูงมากจนสามารถส่งกระแสไฟนับล้านวัตต์  



          นอกจากนี้ เขายังพยายามที่จะทำโลกทั้งใบให้เป็นสื่อนำไฟฟ้า เพื่อให้สามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปให้คนทุกคนในโลก ได้ใช้กระแสไฟฟ้าอย่างเสรี  

          ช่วงบั้นปลายชีวิต หากคนทั่วไปจะจำเทสลาได้ พวกเขาก็จำได้แต่ในฐานะคนประหลาดที่เขียนบทความส่งหนังสือพิมพ์ (ด้วยหัวข้ออย่าง “คลื่นยักษ์ของเทสลาในการทำสงคราม”, “การนอนหลับด้วยไฟฟ้า”, “วิธีส่งสัญญาณไปดาวอังคาร” ฯลฯ)  

          แต่ทว่า ในทศวรรษ 1980 ความคิดของเทสลาได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้อง ผลการวิจัยเรื่องการสูญเสียพลังงานในพัลซาร์ดาวคู่นิวตรอน (double neutron star pulsar) ชื่อ PSR 1913+16 ซึ่งขัดแย้งกับความเห็นไอน์สไตน์ในช่วงนั้น ได้ถูกพิสูจน์ว่าคลื่นแรงโน้มถ่วงมีอยู่จริง      

          ในปี 1940 หลังวันเกิดครบรอบ 84 ปีไม่กี่วัน เทสลาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ The New York Times ว่า

“…เขาพร้อมที่จะเปิดเผยความลับเกี่ยวกับพลัง ‘โทรกำลัง’ (teleforce) ต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกา พลังนี้มีอานุภาพหลอมละลายเครื่องยนต์ของเครื่องบินจากระยะไกลถึง ๒๕๐ ไมล์ ทำให้สามารถสร้างแนวกำแพงป้องกันรอบประเทศแบบกำแพงเมืองจีน แต่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า”

          หลังจากเขาเสียชีวิต ประธานาธิบดี เจ. เอดการ์ ฮูเวอร์ (J. Edgar Hoover) ได้ส่งบันทึกไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่า เรื่องราวทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ นิโคลา เทสลา ต้องถูกจัดการอย่างลับที่สุด และทุกฝ่ายต้องรักษาความลับของสิ่งประดิษฐ์ของเขาให้เป็นความลับตลอดไป

        ด้วยเหตุนี้ งานทั้งชีวิตของเขาถูกรัฐบาลอเมริกันตีตรา “ลับที่สุด” และห้ามใครพูดถึงในที่สาธารณะจวบจน 100 ปีให้หลัง

 

ศูนย์ HAARP ในมลรัฐอะแลสกา

 

100 ปีให้หลัง กับศูนย์วิจัย HAARP  

        100 ปี ให้หลัง รังสีหายนะของเทสลากลับกลายเป็นเรื่องจริง วงการวิทยาศาสตร์เพิ่งตามเขาทัน ในเรื่อง “รังสีหายนะ” (Death Ray ชื่อที่หนังสือพิมพ์ขนานนามขีปนาวุธ “โทรกำลัง” Teleforce ของเขา)  

      ในปี 1993 กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เริ่มก่อสร้างศูนย์วิจัยไอโอโนสเฟียร์ (ionosphere คือชั้นบรรยากาศโลกที่ความสูงตั้งแต่ ๗๐-๕๐๐ กิโลเมตร) ในเมืองกาโคนา มลรัฐอะแลสกา ศูนย์นี้มีชื่อว่า HAARP (High Frequency Active Auroral Research Program) ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งในการดำเนินโครงการเพื่อศึกษาคุณสมบัติการสะท้อน (resonant properties) ของโลกและชั้นบรรยากาศโลก โครงการนี้มีความเกี่ยวโยงกับงานของเทสลาอย่างชัดเจน กล่าวคือ HAARP กำลังศึกษาปรากฏการณ์เดียวกันกับที่เทสลาค้นคว้าที่โคโลราโดเมื่อกว่า 100ปีก่อน 

ปัจจุบันเราอยู่บนโลกใบนี้ เมื่อมองไปรอบๆตัวเราก็จะเห็นเเต่มรดกต่างๆที่เทสล่าทิ้งไว้ ขอบคุณ นิโคล่า เทสล่า

 

 

เรียบเรียงเรื่องราวและภาพ จาก :

https://www.sarakadee.com/2012/03/01/tesla/
https://www.clipmass.com/movie/383496855256429