กลอนคนฝรั่งเขียน
ขอนำเสนอบทกลอนแปลก ๆ ชิ้นหนึ่ง จะแปลกอย่างไรเชิญท่านอ่านดูก่อนดังนี้
๐ เป็นผู้น้อยทั้งอำนาจวาสนา
คำโบราณท่านกล่าวเป็นตำรา เหล่าเมธาควรจะจำแล้วทำตาม
เห็นผู้ใหญ่ที่ท่านดีมียศมาก เราควรพากเพียรเคารพด้วยเหตุสาม
หนึ่งเจ้าก้าสองประนมก้มกราบงาม ข้อที่สามคอยฟังคำสั่งการ
เรื่องหาทรัพย์เหมือนแก่งกำแพงรั้ว ใครอวดตัวโดดข้ามด้วยความหาญ
บางคนตกจมรั้วตัววายปราณ ต่อนานนานจึงข้ามได้ดังใจนึก
เหมือนนักปราชญ์ที่ฉลาดความคิดล้น ต้องอับจนเสียเพราะปองไม่ตรองตรึก
เพราะฉิบหายวายชีวิตเพราะคิดลึก คนที่ศึกษาชำนาญการหากิน
ค่อยค่อยเดินตามหนทางอย่างเรียบร้อย ถึงได้น้อยก็พอสมอารมณ์ถวิล
ถึงปะรั้วกั้นหน้าไม่ราคิน ค่อยขุดดินมุดลอดตลอดไป
ถึงจะช้าสักเท่าใดคนได้ถึง ดีกว่าปึงปังอย่างว่ากว่าไหนไหน
ไม่เดือดร้อนนอนเป็นสุขไม่ทุกข์ใจ หากำไรทีละน้อยค่อยประทัง
อันสามีนี้เขากล่าวว่าเท้าหน้า ถ้าพลาดท่าแล้วต้องเล่นเป็นเท้าหลัง
เสมอกันแล้วอย่างไรคงไม่ฟัง คงจะตั้งแต่วิวาทจนขาดกัน
อนึ่งชาติเมธาปัญญาฉลาด จึ่งสามารถรู้ว่าเขาเขลาเป็นมั่น
โง่ต่อโง่ที่จะดูรู้จักกัน รู้ไม่ทันกันเป็นแน่เที่ยงแท้เอย ฯ
หลวงปฏิบัติราชประสงค์
(นามเดิม แอรวินมุลเลอ ภายหลังเลื่อนเป็นพระ)
บทกลอนข้างต้น ผมคัดมาจากหนังสือ “วชิรญาณสุภาษิต” อนุสรณ์งานพระราชเพลิงศพ มหาอำมาตย์โท ม.จ ฉลาดลบเลอสรร กมลาศน์ 16 พฤษภาคม 2504
มีข้อสงสัยอยู่ตรงข้อความในวรรค “หนึ่งเจ้าก้าสองประนมก้มกราบงาม” คำว่า “เจ้าก้า” ผมไม่เข้าใจ เดาว่าอาจพิมพ์ผิด แต่ผมยังไม่มีเวลาไปตรวจสอบกับฉบับอื่น ๆ
สำหรับประเด็นที่ผมเห็นว่า “แปลก” ไม่ใช่เรื่องโวหารกวีดีเด่น ว่าตามสำนวนโวหารกลอนบทนี้ก็พื้น ๆ ธรรมดา ๆ
แต่ที่เห็นแปลกคือตรงที่ ผู้เขียนเป็นฝรั่ง นาม “แอรวิน มุลเลอ”
จริงอยู่ที่มีฝรั่งหลาย ๆ คนร่ำเรียนภาษาไทย ฝรั่งที่ศึกษาภาษาไทยจนทำพจนานุกรมได้คือ ท่านสังฆราชปัลเลอกัวซ์ (สมัยรัชกาลที่สี่) อีกท่านหนึ่งที่แตกฉานภาษาไทยถึงขั้นประพันธ์ร้อยกรองไทยได้ไพเราะคือท่าน ฟ.ฮีแลร์
“วชิรญาณสุภาษิต” นี้สมาชิกหอพระสมุดวชิรญาณช่วยกันแต่งขึ้นและพิมพ์แจกในงานฉลองหอพระสมุด เมื่อ พ.ศ 2432 มีฝรั่งที่เขียนสุภาษิตเป็นบทกลอนอยู่ท่านเดียว คือ แอรวิน มุลเลอ
ส่วนฝรั่งท่านอื่นนั้น เขียนภาษิตภาษาฝรั่งแล้วมีคำแปลสั้น ๆ เท่านั้น ผมจึงรู้สึกทึ่งท่านแอรวิน มุลเลอ (พระปฏิบัติราชประสงค์) พระปฏิบัติราชประสงค์ เข้ามาอยู่สยามทำงานที่ห้าง บี.กริม บ้างก็ว่าท่านเป็นชาวออสเตรีย บ้างก็ว่าท่านเป็นชาวเยอรมัน มีภรรยาเป็นคนไทยชื่อ “จีน” อาจเป็นได้ว่ากลอนบทนี้ภรรยาท่านช่วยแต่งด้วย
แอรวิน มุลเลอ ได้เป็นหลวงปฏิบัติราชประสงค์ แล้วเลื่อนเป็นคุณพระปฏิบัติราชประสงค์ ท่านอยู่เมืองไทยและนิยมความเป็นไทย ท่านและภรรยาได้ขออนุญาตสร้างวัด (วัดคลองห้า) เมื่อ พ.ศ 2439 (บทกลอนข้างต้น เขียนเมื่อ พ.ศ 2432)
ใน พ.ศ 2445 พระปฏิบัติราชประสงค์และภรรยาทูลเกล้าถวายวัดนี้ให้เป็นวัดหลวง ทีแรกนั้นในหลวงรัชกาลที่ห้าทรงเห็นว่า วัดหลวงนั้นรัฐบาลต้องดูแล เวลานั้นมีวัดหลวงมากแล้ว ไม่อยากให้รัฐบาลรับเป้นภาระมากขึ้นอีก แต่ในวันที่ 13 มีนาคม 2445 พระองค์เสด็จฯเปิดเมืองธัญบุรีเสร็จแล้ว พระราชดำเนินไปประกอบสังฆกรรมผูกพัทธสีมาวัดนี้ และพระราชทานนามวัดว่า “วัดมูลจินดา” ให้สอดคล้องกับผู้สร้าง คือ นายมูลเลอร์และนางจีน
ตัวเป็นฝรั่งเติบโตในยุโรป แต่ร่ำเรียนภาษาไทยจนเขียนบทกวีร้อยกรองได้
เยาวชนไทยเห็นตัวอย่างอย่างนี้แล้ว ขอให้รู้สึกเห็นคุณค่าภาษาไทย ร้อยกรองไทยกันบ้าง ไม่อย่างนั้นในอนาคตอาจจะมีแต่คนฝรั่งเขียนกลอน.............
ที่มา : บทความโดย โชติช่วง นาดอน จาก https://www.oknation.net/blog/nadon/2011/03/08/entry-1