โรคอัลไซเมอร์ ตอนที่2
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 3.9K views



การรักษา

เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคเรื้อรัง จึงต้องดูแลรักษาผู้ป่วย เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันยาวนาน นอกจากนี้ อาการต่างๆ ของโรค ยังมีการเปลี่ยนแปลงไปได้เป็นครั้งคราว และมีการดำเนินโรค ไปในทางเลวลงเรื่อยๆ ดังนั้น การดูแลรักษาจึงมีความจำเป็น ต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือรักษาโรคแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นมาใหม่ในแต่ละราย สำหรับวัตถุประสงค์หลักของการรักษา คือ การเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ให้กลับมาใกล้เคียงกับคนปกติให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยต้องคำนึงถึง การเพิ่มประสิทธิภาพด้านความจำ สติปัญญา อารมณ์ และบุคลิกภาพ ของผู้ป่วยเป็นหลัก

การรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์มีวิธีการสำคัญ ๒ ประการ คือ การใช้ยา และ การรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องใช้ยา ปัจจุบันมีการพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์นั้น มีประสิทธิภาพ ที่จะเพิ่มความสามารถ ในการรับรู้ และแก้ไขพฤติกรรมของผู้ป่วยได้ แต่ควรจะเลือกใช้ยา หลังจากที่ใช้วิธีการรักษาอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล เพราะยาที่ใช้กับผู้ป่วย อาจมีผลแทรกซ้อนตามมาได้ เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์มักเกิดกับผู้สูงอายุ ที่มักมีการทำงานของไตบกพร่อง และการทำงานของตับในการขับสารต่างๆ เป็นไปได้ช้า จึงมีความโน้มเอียงสูงที่จะเกิดอันตรายจากการใช้ยา นอกจากนี้ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีโรคประจำตัวอยู่หลายอย่าง จึงอาจได้รับยาหลายขนานร่วมกัน ดังนั้น ก่อนการใช้ยาใดๆ จึงต้องพิจารณาปัญหาด้านปฏิกิริยาของการใช้ยาร่วมกันด้วย อนึ่ง ผู้สูงอายุยังมีปัจจัยด้านความตึงตัวของหลอดเลือดที่ลดลงจากเดิม ดังนั้น การใช้ยาต่างๆ อาจมีผลทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ ซึ่งทำให้หกล้มได้ การเริ่มใช้ยาในผู้ป่วยอัลไซเมอร์จึงนิยมใช้ในขนาดที่ต่ำที่สุดก่อน เพื่อจะได้มีผลแทรกซ้อนน้อยที่สุด รวมทั้ง การใช้ยากลุ่มกล่อมประสาท จะต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจทำให้เกิดการสับสน หรือมีอาการเลวลงในด้านปริชานได้ นอกจากนี้ ยากลุ่มที่ไม่จำเป็น ที่ผู้สูงอายุนิยมใช้กันเอง ซึ่งมีมากมายหลายขนาดนั้น สมควรหลีกเลี่ยงการใช้ ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ก่อนที่แพทย์จะสั่งยาให้แก่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ จำเป็นต้องได้ประวัติการใช้ยา ประวัติการเจ็บป่วยของโรคอื่นๆ และมีการตรวจร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียดรอบคอบ แล้วจึงพิจารณา ปรับยาต่างๆ ที่ผู้ป่วยได้รับ ดัดแปลงขนาด และจำนวน ให้เหมาะสมกับผู้ป่วย ในแต่ละราย

สำหรับแนวทางในการรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์นั้น มีหลักการดังนี้

๑. อาหารและแนวการดำเนินชีวิต

การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ต้องประกอบด้วย การปรับสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย การดูแลจากครอบครัว และการป้องกันโรค หรือภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดตามมา เช่น หกล้ม อุบัติเหตุต่างๆ และการติดเชื้อ นอกจากนี้ การดูแลรักษาผู้ป่วยที่บ้าน ยังเป็นหัวใจสำคัญ ในการรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม จะทำให้ผู้ป่วยวุ่นวาย และไม่สงบ ดังนั้น ในด้านกิจวัตรประจำของผู้ป่วย ควรมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก โดยจะต้องได้รับการดูแลอย่างดี และถูกต้อง สำหรับปัญหาด้านการออกกำลัง การเคลื่อนไหว อาหารการกิน การขับถ่าย และการป้องกันการขาดสารอาหารและน้ำ เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ พร้อมกับการดูแลความสะอาดของร่างกาย อนึ่ง การที่ผู้ป่วยได้รับกำลังใจ และการสนับสนุนจากสมาชิกในครอบครัวอย่างดีและเพียงพอ มีความสำคัญมาก เพราะผู้ป่วยโรคนี้มีความโน้มเอียงที่จะเกิดอาการซึมเศร้า วิตกกังวล และนอนไม่หลับ ดังนั้น บทบาทของสมาชิกในครอบครัว ต่อผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ จำเป็นต้องได้รับการอธิบาย ส่งเสริม และร่วมมืออย่างดี เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ใกล้เคียงกับคนปกติ

๒. การรักษาทางยา

ปัจจุบัน มียาที่ถือว่ามีประสิทธิผลดี ต่อการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ และเป็นที่ยอมรับในการรักษาผู้ป่วยโรคนี้ คือ ยากลุ่ม acetyl cholinesterase inhibitor และยากลุ่ม NMDA receptor antagonist แต่เนื่องจากยาทั้ง ๒ กลุ่มนี้มีราคาแพง และเป็นยาใหม่ จึงต้องมีความระมัดระวังในการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

ก. Acetyl cholinesterase inhibitor

ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการทำลาย acetyl choline ในสมอง ซึ่งผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะมีการขาดสารนี้ ทำให้การติดต่อประสานงานของเซลล์สมอง ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับด้านความจำ บกพร่องไป เมื่อมีการยับยั้งการทำลาย ก็จะทำให้ acetyl choline ในสมอง มีปริมาณมากขึ้นได้ ยากลุ่มนี้ในปัจจุบันมีหลายชนิด ได้แก่

  • Tacrine เป็นยาชนิดแรก ที่ได้รับการจดทะเบียน จากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ให้สามารถนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้ ปัจจุบัน ความนิยมในการใช้ยาชนิดนี้ลดลงมาก แม้จะมีประสิทธิผลดีก็ตาม ทั้งนี้เพราะมีปัญหาแทรกซ้อนด้านตับอักเสบตามมาสูง โดยพบว่า ราวร้อยละ ๓๐ ของผู้ใช้ยา อาจมีค่าเอนไซม์ตับ คือ transaminase ขึ้นสูงพร้อมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ราวร้อยละ ๑๐ ปัจจุบัน ยาชนิดนี้ไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย
  • Donepezil เป็นยาชนิดที่ ๒ ที่ได้รับการอนุมัติ จากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ให้ใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ ผลแทรกซ้อนของยาชนิดนี้ที่มีรายงาน คือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาจพบสูงถึงร้อยละ ๑๐ - ๒๐ นอกจากนี้ อาจมีชีพจรเต้นช้า และกระเพาะอาหารอักเสบร่วมด้วยได้ แต่ไม่มีผลต่อการเกิดตับอักเสบแต่อย่างใด ดังนั้น จึงมีความปลอดภัยสูง ยาชนิดนี้มีคุณสมบัติเป็นตัวกระตุ้นเสริมปริชาน ในผู้ป่วยด้วย ใช้สะดวก เพราะใช้รับประทานวันละครั้ง แต่ข้อเสียของยาชนิดนี้คือ มีราคาแพงมาก ปัจจุบัน ยาชนิดนี้มีจำหน่ายแล้วในประเทศไทย
  • Rivastigmine เป็นยาชนิดที่ ๓ ที่ได้รับการอนุมัติ จากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ให้ใช้รักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้ ผลแทรกซ้อนของยาชนิดนี้ คือ ปวดศีรษะ คลื่นไส้วิงเวียน และท้องเสีย แต่ถ้าเริ่มให้ขนาดน้อยๆ จะลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ ยาชนิดนี้ ก็สามารถพิสูจน์ได้ว่า มีประโยชน์กับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ในระยะแรกและระยะกลาง แต่มีข้อเสียที่มีราคาแพงมากเช่นกัน ปัจจุบัน ยาชนิดนี้มีจำหน่ายแล้ว ในประเทศไทย
  • Galantamine เป็นยาใหม่ชนิดที่ ๔ ที่ได้จดทะเบียนแล้ว กับองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ยาชนิดนี้มีคุณสมบัติช่วยเร่งการนำส่งสารโคลีน (choline) ในสมองเพิ่มขึ้น ผลแทรกซ้อนของยาชนิดนี้คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย แต่ถ้าเพิ่มขนาดยาทีละน้อยๆ และช้าๆ จะแก้ไขปัญหานี้ได้ นอกจากนี้ อาจมีปัญหาเรื่องเบื่ออาหารและน้ำหนักลดได้ ปัจจุบัน ยาชนิดนี้มีจำหน่ายแล้วในประเทศไทย

ข. NMDA receptor antagonist

เป็นยากลุ่มใหม่ ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา ของสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ ให้สามารถนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ชนิดที่มีอาการรุนแรงมาก ถึงรุนแรงปานกลางได้ผลดี ยาชนิดนี้มีจำหน่ายในท้องตลาด โดยมีชื่อเคมี คือ memantine hydrochloride และชื่อการค้า คือ Ebixa ในประเทศไทย ได้จดทะเบียนให้จำหน่ายยาชนิดนี้ใน พ.ศ. ๒๕๔๗ ยาชนิดนี้ออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งสารกลูทาเมต (glutamate) ซึ่งเป็นสารพิษ ทำลายเซลล์สมอง ดังนั้น จึงมีฤทธิ์เป็นสารป้องกันเซลล์สมองด้วย สำหรับผลแทรกซ้อนของการใช้ยาชนิดนี้ อาจเกิดได้บ้าง เช่น ประสาทหลอน สับสน มึนงง ปวดศีรษะ เมื่อยล้า

๓. การรักษาภาวะอื่นที่เกิดร่วม

เป็นการรักษาอาการทางด้านจิตเวชของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งมีอาการวุ่นวายทางพฤติกรรม (behavioral disturbance) อาการนี้อาจพบในระยะใดของโรคอัลไซเมอร์ก็ได้ และไม่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางด้านปริชาน อาการวุ่นวายทางพฤติกรรมที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่

ก. ภาวะซึมเศร้า (depression)

อาการซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ พบว่า อาจเกิดขึ้นราวร้อยละ ๖๐ ของผู้ป่วย โดยปกติ นิยมให้ยาต้านการซึมเศร้า (antidepression) ในขนาดต่ำๆ ก่อน และเพิ่มขนาดขึ้นทีละน้อย นอกจากนี้ ในระยะท้ายของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ อาจจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เพื่อเป็นการรักษาแบบประคับประคองให้แก่ผู้ป่วย

ข. ภาวะโรคจิต (psychosis)

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเอะอะโวยวาย หรืออาละวาด ยากลุ่มรักษาโรคจิต (neuroleptics) เป็นยาที่ได้ผลดีที่สุดที่จะทำให้ผู้ป่วยสงบ แต่การใช้ยา ควรใช้ในขนาดต่ำก่อน เพราะจะมีผล แทรกซ้อนน้อยกว่าขนาดสูง

ค. ภาวะกายใจไม่สงบ (agitation)

อาการนี้พบว่า เกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราวในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ และอาจเกิดเป็นพักๆ ยาที่มีรายงานว่าใช้ได้ผลดี มีหลายชนิด เช่น carbamazepine, sodium valproate, buspirone, trazodone และ risperidone

๔. การรักษาวิธีใหม่

ปัจจุบันมีข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับการใช้ยาที่อาจชะลอการดำเนินโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งมีหลายชนิด ดังนี้

ก. ฮอร์โมนเอสโทรเจน (estrogen)

จากการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่า การให้ฮอร์โมนเอสโทรเจนทดแทน ในหญิงวัยหมดประจำเดือน จะทำให้เพิ่มปริชาน และอาจลดการเกิดโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้ เอสโทรเจนยังลดความเสี่ยง ในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ การเสียชีวิตฉุกเฉิน และการเกิดภาวะกระดูกพรุน (osteoporosis) ได้ด้วย

ข้อห้ามในการใช้ยาฮอร์โมนชนิดนี้ คือ ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยเป็นมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม หลอดเลือดดำอุดตันและอักเสบ ข้อเสียของยาชนิดนี้ คือ อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เลือดออกทางช่องคลอด และอาการปวดศีรษะไมเกรนกำเริบได้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดพบว่า การใช้ยากลุ่มเอสโทรเจนไม่ได้ผลในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ในปัจจุบัน จึงลดความนิยมใช้กัน

ข. แอนติออกซิแดนต์ (antioxidants)

มีข้อมูลว่า การใช้ยา MAO-B inhibitor เช่น selegiline สามารถช่วยชะลอการดำเนินโรคอัลไซเมอร์ได้ แต่ยาชนิดนี้มีปัญหาด้านการให้ยาร่วมกัน ผลแทรกซ้อนของยาชนิดนี้ ที่พบบ่อย ได้แก่ อาการปากแห้ง คอแห้ง คลื่นไส้ วิงเวียน ความดันโลหิตต่ำ และนอนไม่หลับ สำหรับวิตามินอีที่เป็นแอนติ-ออกซิแดนต์ที่นิยมใช้กัน ก็มีการศึกษาวิจัยว่า สามารถนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน แต่มีข้อห้ามใช้ในผู้ที่เป็นโรคขาดวิตามินเค

ค. กลุ่มยาต้านการอักเสบไร้สารสเตียรอยด์

(nonsteroidal anti - inflammatory agents : NSAID) ข้อมูลจากการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่า การใช้ยากลุ่มนี้ สามารถชะลอการดำเนินของโรคอัลไซเมอร์ได้

ง. วัคซีน

ปัจจุบัน ได้มีความพยายามในการหาทางป้องกันโรคอัลไซเมอร์ โดยการฉีดวัคซีน ซึ่งได้มีการทดลองกับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ในสหรัฐอเมริกาบ้างแล้ว โดยใช้วัคซีนที่ทำจากบีตา-แอมีลอยด์โปรตีน แต่ก็พบว่า วัคซีนชนิดนี้ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ เกิดเยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ (meningoencephalitis) เมื่อได้รับวัคซีนในอัตราที่สูง ส่วนแนวคิดที่จะใช้วัคซีน ชนิดที่ทำจากเทาโปรตีน กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยอยู่ในปัจจุบัน

Credit : https://kanchanapisek.or.th