โรคอัลไซเมอร์ ตอนที่1
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 3.8K views



 

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease หรือเรียกย่อว่า AD)

นายแพทย์อโลอิส  อัลซ์ไฮเมอร์
หมายถึง โรคความเสื่อมที่เกิดกับสมองอย่างถาวร และจะเป็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับอย่างช้าๆ ซึ่งมีผลทำให้ ผู้ป่วยเกิดอาการหลงลืม มีบุคลิกภาพ อารมณ์ และพฤติกรรมเปลี่ยนไป ตลอดจน ทำให้ความสามารถ ด้านการใช้ความคิด การตัดสินใจ และสติปัญญาด้อยลงไปเรื่อยๆ ตามลำดับ ทั้งนี้ เป็นเพราะมีการตาย หรือเสื่อมสลายของเซลล์สมอง ที่ชั้นผิวสมองทั่วไปทั้งหมด ทำให้การติดต่อประสานงานระหว่างเซลล์สมองต่างๆ เสียไป ดังนั้น จึงทำให้ผู้ป่วยขาดความสามารถในการใช้สมอง เพื่อทำหน้าที่ในการควบคุมอารมณ์ พฤติกรรม ตลอดจน การใช้ความคิด ความอ่าน ความจำ การตัดสินใจ การใช้เหตุผล และการเรียนรู้ ท้ายที่สุด ผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถทั้งหมดของสมอง ทั้งในด้านความจำ สติปัญญา การควบคุมอารมณ์ และบุคลิกภาพ

โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่นายแพทย์ชาวเยอรมันชื่อ อโลอิส อัลซ์ไฮเมอร์ (Alois Alzheimer) ซึ่งบรรยายเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๙ ในการประชุมวิชาการ ของจิตแพทย์ ณ เมืองทือบิงเงิน ประเทศเยอรมนี ในรายงานได้อ้างถึง ผู้ป่วยหญิงอายุ ๕๑ ปี ชื่อ ฟรัน เอากุสเต (Fran Auguste) ที่เริ่มป่วยใน พ.ศ. ๒๔๔๔ โดยได้เข้ารับการรักษาตัว ในสถานพยาบาลโรคจิต ณ เมืองฟรังฟูร์ต-อัมไมน์ อาการป่วยของเธอ เริ่มต้นด้วยอาการรู้สึกอิจฉาสามี ต่อมามีการหลงลืม จำทาง บุคคล และสถานที่ไม่ได้ ฟังอะไรไม่เข้าใจ และพูดลำบาก หลังจากนั้น มีอาการทางจิตเวช และหลงผิด จนต้องรับตัวไว้รักษาในสถานพยาบาลโรคจิต โดยนอนป่วยอยู่นาน ๔ ๑/๒ ปี ในที่สุดก็เสียชีวิต ที่สถานพยาบาลดังกล่าว ใน พ.ศ. ๒๔๔๙ ผลการตรวจศพ พบว่า สมองฝ่อลีบทั่วทั้งสมอง และจากการตรวจชิ้นเนื้อสมองด้วยกล้องจุลทรรศน์ พบว่ามีเซลล์สมองลดน้อยลงมาก เนื่องจาก เซลล์สมองตาย และเสื่อม พร้อมกับมีใยประสาทพันกันยุ่งในเซลล์สมอง นอกจากนี้ ยังมีเนื้อสมองตายเป็นกลุ่มๆ โดยรวมกันเป็นแผ่นๆ กระจายอยู่ทั่วทั้งสมอง ลักษณะอาการทางคลินิก และพยาธิสภาพ ที่นายแพทย์อัลซ์ไฮเมอร์ได้บรรยายไว้ เมื่อราว ๑๐๐ ปี ที่ผ่านมานั้นก็ยังคงถูกต้อง และถือว่า เป็นแบบฉบับมาตรฐานของการวินิจฉัยโรคนี้จนถึงปัจจุบัน
อดีตประธานาธิบดีโรนัลด์เรแกน (Ronald Reagan) เป็นหนึ่งในผู้ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์
โรคอัลไซเมอร์อาจมีการดำเนินโรคที่แตกต่างกันไปในแต่ละคนได้ ระยะเวลาเฉลี่ย ของการมีชีวิตอยู่รอดของผู้ป่วย หลังเกิดโรคนี้ คือ ราว ๘ - ๑๐ ปี แต่ผู้ป่วยบางราย อาจมีอายุยืนได้ถึง ๒๐ ปี หลังเกิดโรคแล้ว โรคนี้มักเกิดกับผู้สูงอายุ โดยมีอัตราความชุกเฉลี่ย ราวร้อยละ ๖ - ๘ ในผู้ที่มีอายุเกิน ๖๕ ปี และอัตราความชุกของโรคจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุก ๕ ปี ในคนที่มีอายุมากกว่า ๖๐ ปี กล่าวคือ คนที่มีอายุ ๖๐ ปี จะมีอัตราความชุกของโรคร้อยละ ๑ อายุ ๖๕ ปี จะมีอัตราความชุกร้อยละ ๒ อายุ ๗๐ ปี จะมีอัตราความชุกร้อยละ ๔ อายุ ๗๕ ปี จะมีอัตราความชุกร้อยละ ๘ อายุ ๘๐ ปี จะมีอัตราความชุกร้อยละ ๑๖ และอายุ ๘๕ ปี จะมีอัตราความชุกของโรคถึงร้อยละ ๓๒ นั่นคือ ราว ๑ ใน ๓ ของผู้ที่มีอายุ ๘๕ ปี จะป่วยเป็นโรคนี้ ในปัจจุบันพบว่า โรคนี้เป็นสาเหตุของการตายสูงสุดเป็นอันดับ ๔ ในประชากรของประเทศตะวันตก รองจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดสมอง ตามลำดับ ในสหรัฐอเมริกา คาดว่ามีประชากรที่ป่วยเป็นโรคนี้ ราว ๔ ล้านคน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนี้ คืออดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) คาดว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคนี้ เพิ่มขึ้นถึง ๓๖๐,๐๐๐ คน และจำนวนตัวเลขจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เนื่องจากมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ตามลำดับ

โรคอัลไซเมอร์ถือเป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขของโลกในปัจจุบัน และจะทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เนื่องมาจาก ประชากรโลก จะมีอัตราส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นตามลำดับ เช่น ประเทศไทยในปัจจุบัน มีประชากรสูงอายุ (คือ เกิน ๖๐ ปี) จำนวน ๕.๓ ล้านคน หรือร้อยละ ๘ ของประชากรทั้งประเทศ คาดว่าใน พ.ศ. ๒๕๕๓ และ พ.ศ. ๒๕๖๓ จะมีอัตราส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เป็น ๗ ล้านคน (ร้อยละ ๑๑) และ ๑๑ ล้านคน (ร้อยละ ๑๓) ตามลำดับ ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมประมาณ ๒๕ ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ ๔๖ เป็นชาวเอเชีย และคาดว่าเมื่อถึง พ.ศ. ๒๕๖๗ จะมีผู้ป่วยสมองเสื่อมทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

ดังนั้น โรคอัลไซเมอร์ในประเทศไทย จะเป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งทางด้านสาธารณสุขของไทย ในอนาคต ที่จำเป็นต้องมีการวางแผนด้านนโยบาย และหาทางแก้ไขอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่อง โดยเหมาะสม และถูกวิธี ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติเรื่องหนึ่ง

โรคอัลไซเมอร์ยังก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากทางด้านเศรษฐกิจ ที่จะเป็นภาระทั้งต่อครอบครัว และสังคม ในสหรัฐอเมริกาได้มีการศึกษาเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคนี้ พบว่า ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ที่เป็นโรคระยะเริ่มต้น ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาประมาณ ๑๘,๔๐๘ เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ส่วนผู้ที่เป็นโรคระยะรุนแรงปานกลาง ค่าใช้จ่ายสูงถึง ๓๐,๐๙๖ เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี และคนที่มีอาการรุนแรงมาก ค่าใช้จ่ายสูงถึง ๓๖,๑๓๒ เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี นอกจากนี้ ยังประเมินว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโรคนี้ ทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา มีมูลค่ารวมกันถึง ๕๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อปี ดังนั้น หากคิดค่าใช้จ่ายรวมของผู้ที่เป็นโรคนี้ทั่วโลก ก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

ในสหรัฐอเมริกาได้มีการคำนวณว่า ปัจจุบันประชากรที่มีอายุเกิน ๖๕ ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ มีถึงร้อยละ ๑๓ ของประชากร หรือราว ๓๔ ล้านคน และคาดว่า ใน พ.ศ. ๒๕๖๘ จะมีประชากรกลุ่มนี้ถึงร้อยละ ๑๘ ของประชากร ของประเทศในขณะนั้น ทั้งนี้ ประชากรที่มีอายุเกิน ๘๕ ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคสูงสุด คือ ราวร้อยละ ๓๐ นั้น พบว่า จะมีการเพิ่มขึ้นอย่างมากในสหรัฐอเมริกา เช่นกัน กล่าวคือ ปัจจุบันมีประชากรกลุ่มนี้ราว ๔ ล้านคน และคาดว่า ใน พ.ศ. ๒๕๗๓ จะมีประชากรกลุ่มนี้สูงถึง ๘.๕ ล้านคน ดังนั้น ในปัจจุบันจึงมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยใหม่ๆ เกี่ยวกับโรคนี้อย่างมาก และถือเป็นนโยบายที่เร่งด่วน และสำคัญของสหรัฐอเมริกา ซึ่งรวมอยู่ในโครงการที่กำหนดให้ พ.ศ. ๒๕๓๓ - ๒๕๔๓ เป็นช่วงทศวรรษของสมอง (Decade of the Brain) กระตุ้นให้มีการศึกษาค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับโรคทางระบบประสาท จนเกิดความก้าวหน้า และองค์ความรู้ใหม่ๆ มากมาย ได้มีการประเมินกันว่า ถ้าสามารถทำให้ระยะเวลาของการเกิดโรคนี้ชะลอไปราว ๑ ปี ก็จะส่งผลให้ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ลดจำนวนลง ถึง ๒๑๐,๐๐๐ คน และ ๗๗๐,๐๐๐ คน ในอีก ๑๐ และ ๕๐ ปี ข้างหน้า ตามลำดับ ซึ่งจะสามารถประหยัดเงินให้แก่สหรัฐอเมริกาได้ถึง ๑๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ในช่วง ๑๐ ปี ข้างหน้า และ ๑๘,๐๐๐ ล้าน เหรียญสหรัฐต่อปี ในอีก ๕๐ ปี ข้างหน้า


Credit : https://kanchanapisek.or.th