ที่มาประเพณีลอยกระทง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 52.1K views



ที่มาประเพณีลอยกระทง

ที่มาประเพณีลอยกระทง


             การลอยกระทงชื่อพิธีอย่างหนึ่งทำตรงกับคืนวันเพ็ญเดือน ๑๒ จุดธูปเทียนปักบนสิ่งที่ไม่จมน้ำ ประดิษฐ์เป็นรูปต่าง ๆ เช่น กระทงเรือ ดอกบัว ฯลฯ แล้วนำไปปล่อยลงให้ลอยไปตามลำน้ำ ในเมืองไทย

มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย เรียกว่า การลอยพระประทีป หรือลอยโคม เป็นงานนักขัตฤกษ์รื่นเริงของประชาชนทั่วไป  อันที่จริงลอยกระทงเป็นประเพณีขอขมาธรรมชาติมาแต่ดึกดำบรรพ์ เพราะชาวบ้านทั่วไปรู้จากประสบการณ์ว่า ถึงเดือนสิบเอ็ด (หรือราวเดือนตุลาคม) น้ำจะขึ้นนองหลาก, พอถึงเดือนสิบสอง (หรือราวเดือนพฤศจิกายน) น้ำจะทรงตัวคือไม่ขึ้นไม่ลง, ครั้นเดือนอ้าย (หรือราวเดือนธันวาคม) ต่อเดือนยี่ (หรือราวเดือนมกราคม) น้ำจะลดลง
 

กิจกรรม

๑. การลอยกระทงในปัจจุบัน ยังคงรักษารูปแบบเดิมเอาไว้ได้ตามสมควร เมื่อถึงวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวงในเดือน ๑๒ ชาวบ้านจะจัดเตรียมทำกระทงจากวัสดุที่หาง่ายตามธรรมชาติ เช่น หยวกกล้วย และดอกบัว นำมาประดิษฐ์เป็นกระทงสวยงาม ปักธูปเทียนและดอกไม้ เครื่องสักการบูชา ก่อนทำการลอยในแม่น้ำก็จะอธิษฐานในสิ่งที่มุ่งหวังพร้อมขอขมาต่อพระแม่คงคา ตามคุ้มวัดหรือสถานที่จัดงานหลายแห่ง มีการประกวดกระทง ประกวดนางนพมาศ และมีมหรสพสมโภชในตอนกลางคืน นอกจากนั้นยังมีการจุดดอกไม้ ไฟ พลุ ตะไล ซึ่งในการเล่นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ วัสดุที่นำมาใช้ทำกระทง ควรเป็นของที่สามารถย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติ 

๒. ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ในวันลอยกระทง เช่น การประกวดกระทง ประกวดนางนพมาศ การละเล่นพื้นเมือง เช่น รำวงเพลงเรือ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมไทย 

๓.  จัดนิทรรศการ หรือพิธีลอยกระทง เพื่อเผยแพร่และอนุรักษ์ประเพณีไทย 

๔.  จัดรณรงค์ให้มีการใช้วัสดุจากธรรมชาติมาทำกระทง เพื่อไม่ให้เกิดมลภาวะแก่แม่น้ำลำคลอง
 

การลอยกระทงของชาวเหนือ (ยี่เป็ง)

                                                       Credit ภาพ : คุณสุจิตรา เชาว์ดี

การลอยกระทงของชาวเหนือ นิยมทำกันในเดือนยี่เป็ง (คือเดือนยี่หรือเดือนสอง เพราะนับวันเร็วกว่าของเรา ๒ เดือน) เพื่อบูชาพระอุปคุตต์ซึ่งเชื่อกันว่าท่านบำเพ็ญบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล ตรงกับคติของชาวพม่า 
การลอยกระทงในภาคอีสาน เรียกว่าเทศกาลไหลเรือไฟ 
จัดเป็นประเพณียิ่งใหญ่ในจังหวัดนครพนม โดยการนำหยวกกล้วยหรือวัสดุต่าง ๆ มาตกแต่งเป็นรูปพญานาคและรูปอื่น ๆ ตอนกลางคืนจุดไฟปล่อยให้ไหลไปตามลำน้ำโขงดูสวยงามตระการตา

 

ความเป็นมา 

ประเพณีการลอยกระทงจึงเป็นประเพณีเก่าแก่อย่างหนึ่งของไทย ประเทศไทยของเรารับวัฒนธรรมประเพณีมาจากอินเดียเป็นส่วนใหญ่ ซี่งมีข้อสันนิษฐานอยู่ ๓ ประเด็นคือ 

๑.  ชาวอินเดียโบราณมีประเพณีบูชาแม่คงคาในฐานะเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อของเขาและน้ำมีคุณอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิต ช่วยชีวิตให้อยู่รอดดับร้อน ผ่อนกระหายเขา เรียกประเพณีนี้ว่า  “จองเปรียง”

๒.  มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่าชาวอินเดียโบราณได้จัดพิธีบูชาพระพุทธบาท ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ปัจจุบันเรียกว่า  แม่น้ำเนรพุทธา  ที่แคว้นทักขิณาบถเป็นประจำทุกปี 

๓. ในราวเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ชาวอินเดียทางภาคใต้แม้ในปัจจุบันนี้ก็นิยมจัดประเพณีพระเป็นเจ้า โดยจัดเป็นขบวนแห่รูปหุ่นพระเป็นเจ้าในตอนกลางคืน ในขบวนก็จะจุดโคมไฟและจุดเทียนสว่างไสวแห่แทนไปตามถนนสายต่าง ๆ หลังจากนั้นก็จะนำขบวนมุ่งไปยังท่าน้ำที่กำหนดไว้ เพื่อทำพิธีบูชาและเฉลิมฉลองเสร็จแล้วจะลอยรูปหุ่น พร้อมทั้งโคมไฟไปตามแม่น้ำ ประเพณีนี้เรียกว่า “ทีปะวารี”

ประเพณีการลอยกระทง น่าจะเป็นคติของชนชาติที่ประกอบกสิกรรม ซึ่งต้องมีน้ำตามกระแสน้ำ เพื่อขอบคุณพระแม่คงคา หรือเทพเจ้าแห่งน้ำ อีกทั้งเป็นการแสดงความคารวะขออภัยที่ได้ลงอาบ หรือปล่อยสิ่งปฏิกูลลงน้ำไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งเป็นการบูชาเทพเจ้าตลอดจนรอยพระพุทธบาท พระเจดีย์จุฬามณี ฯลฯ ตามคติความเชื่อ โดยแท้จริงการลอยกระทงมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ 

๑. เพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทและบูชาเทพเจ้าตามคติความเชื่อ 

๒. เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา 

๓. เพื่อรู้ถึงคุณค่าของน้ำหรือแม่น้ำลำคลอง อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต
 

ทำไมกระทงส่วนใหญ่เป็นรูปดอกบัว

ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือตำนานนางนพมาศ ซึ่งเป็นพระสนมเอกของพระมหาธรรมราชาลิไทยหรือพระร่วง แห่งกรุงสุโขทัย ได้กล่าวถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองว่าเป็นเวลาเสด็จประพาสลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน และได้มีรับสั่งให้บรรดาพระสนมนางในทั้งหลายตกแต่งกระทงประดับดอกไม้ธูปเทียนนำไปลอยน้ำหน้าพระที่นั่ง

ในคราวนั้นท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือนางนพมาศ พระสนมเอกก็ได้คิดประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น ด้วยเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษที่บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้งในวันดังกล่าว สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีป ลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท

ซึ่งเมื่อพระร่วงเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นก็รับสั่งถามถึงความหมาย นางก็ได้ทูลอธิบายจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย พระองค์จึงมีพระราชดำรัสว่า “แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับ กษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน ๑๒ ให้นำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน” ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นโคมลอยรูปดอกบัวปรากฏมาจนปัจจุบัน
 

ตำนานและความเชื่อ

ตำนานเรื่องแรก

ว่ากันว่าการลอยกระทง มีต้นกำเนิดมาจากศาสนาพุทธนั่นเอง กล่าวคือก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา

กาลวันหนึ่ง นางสุชาดาอุบาสิกาได้ให้สาวใช้นำข้าวมธุปายาส (ข้าวกวน/หุงด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อย) ใส่ถาดทองไปถวาย เมื่อพระองค์เสวยหมดแล้ว ก็ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าหากวันใดจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ก็ขอให้ถาดลอยทวนน้ำ

ด้วยแรงสัตยาธิษฐานและบุญญาภินิหาร ถาดก็ลอยทวนน้ำไปจนถึงสะดือทะเล แล้วก็จมไปถูกขนดหางพระยานาคผู้รักษาบาดาล พระยานาคตื่นขึ้น พอเห็นว่าเป็นอะไร ก็ประกาศก้องว่า "บัดนี้ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกอีกองค์แล้ว" ครั้นแล้วเทพยดาทั้งหลายและพระยานาคก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และพระยานาคก็ได้ขอให้พระพุทธองค์ประทับรอยพระบาทไว้บนฝั่งแม่น้ำเนรัญชราเพื่อพวกเขาจะได้ขึ้นมาถวายสักการะได้ พระองค์ก็ทรงทำตาม ส่วนสาวใช้ก็นำความไปบอกนางสุชาดา

ครั้นถึงวันนั้นของทุกปี นางสุชาดาก็จะนำเครื่องหอมและดอกไม้ใส่ถาดไปลอยน้ำเพื่อไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเป็นประจำเสมอมา และต่อๆมาก็ได้กลายเป็นประเพณีลอยกระทงตามที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

ในเรื่องการประทับรอยพระบาทนี้ บางแห่งก็ว่า พญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าไปแสดงธรรมเทศนาในนาคพิภพ เมื่อจะเสด็จกลับ พญานาคได้ทูลขออนุสาวรีย์จากพระองค์ไว้บูชา พระพุทธองค์จึงได้ทรงอธิษฐานประทับรอยพระบาทไว้ที่หาดทรายแม่น้ำนัมมทา และพวกนาคทั้งหลายจึงพากันบูชารอยพระพุทธบาทแทนพระองค์ ต่อมาชาวพุทธได้ทราบเรื่องนี้จึงได้ทำการบูชารอยพระบาทสืบต่อกันมา โดยนำเอาเครื่องสักการะใส่กระทงลอยน้ำไป

ส่วนที่ว่าลอยกระทงในวันเพ็ญ เดือน ๑๑ หรือวันออกพรรษา เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาสู่โลกมนุษย์ หลังการจำพรรษา ๓ เดือน ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อแสดงอภิธรรมโปรดพุทธมารดานั้น ก็ด้วยวันดังกล่าว เหล่าทวยเทพและพุทธบริษัทพากันมารับเสด็จนับไม่ถ้วน พร้อมด้วยเครื่องสักการบูชา และเป็นวันที่พระพุทธองค์ได้เปิดให้ประชาชนได้เห็นสวรรค์และนรกด้วยฤทธิ์ของพระองค์ คนจึงพากันลอยกระทงเพื่อเฉลิมฉลองรับเสด็จพระพุทธเจ้า 

สำหรับคติที่ว่า การลอยกระทงตามประทีปเพื่อไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น ก็ว่าเป็นเพราะตรงกับวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชาที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ทรงใช้พระขรรค์ตัดพระเกศโมลีขาดลอยไปในอากาศตามที่ทรงอธิษฐาน พระอินทร์จึงนำผอบแก้วมาบรรจุ แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ตามประทีป คือ การจุดประทีป หรือจุดไฟในตะเกียง /โคม หรือผาง-ถ้วยดินเผาเล็กๆ) ซึ่งทางเหนือของเรามักจะมีการปล่อยโคมลอย หรือโคมไฟที่เรียกว่า ว่าวไฟ ขึ้นไปในอากาศเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีด้วย


ตำนานที่ 2

ตามตำราพรหมณ์คณาจารย์กล่าวว่า พิธีลอยประทีปหรือตามประทีปนี้ แต่เดิมเป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ ทำขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหม เป็นประเภทคู่กับลอยกระทง ก่อนจะลอยก็ต้องมีการตามประทีปก่อน ซึ่งตามคัมภีร์โบราณอินเดียเรียกว่า “ทีปาวลี” โดยกำหนดทางโหราศาสตร์ว่าเมื่อพระอาทิตย์ถึงราศีพิจิก พระจันทร์อยู่ราศีพฤกษ์เมื่อใด เมื่อนั้นเป็นเวลาตามประทีป และเมื่อบูชาไว้ครบกำหนดวันแล้ว ก็เอาโคมไฟนั้นไปลอยน้ำเสีย ต่อมาชาวพุทธเห็นเป็นเรื่องดี จึงแปลงเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทและการรับเสด็จพระพุทธเจ้าดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยมักถือเอาเดือน ๑๒ หรือเดือนยี่เป็งเป็นเกณฑ์ (ยี่เป็งคือเดือนสอง ตามการนับทางล้านนา ที่นับเดือนทางจันทรคติ เร็วกว่าภาคกลาง ๒ เดือน)
 

ตำนานที่ 3

เป็นเรื่องของพม่า เล่าว่า ครั้งหนึ่งในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีพระประสงค์จะสร้างเจดีย์ให้ครบ ๘๔, ๐๐๐ องค์ แต่ถูกพระยามารคอยขัดขวางเสมอ พระองค์จึงไปขอให้พระอรหันต์องค์หนึ่ง คือ พระอุปคุตช่วยเหลือ พระอุปคุตจึงไปขอร้องพระยานาคเมืองบาดาลให้ช่วย พระยานาครับปากและปราบพระยามารจนสำเร็จ พระเจ้าอโศกมหาราชจึงสร้างเจดีย์ได้สำเร็จสมพระประสงค์

ตั้งแต่นั้นมา เมื่อถึงวันเพ็ญ เดือน ๑๒ คนทั้งหลายก็จะทำพิธีลอยกระทงเพื่อบูชาคุณพระยานาค เรื่องนี้ บางแห่งก็ว่า พระยานาคก็คือพระอุปคุตที่อยู่ที่สะดือทะเล และมีอิทธิฤทธิ์มาก จึงปราบมารได้ และพระอุปคุตนี้เป็นที่นับถือของชาวพม่าและชาวพายัพของไทยมาก
 

ตำนานที่ 4

เกิดจากความเชื่อแต่ครั้งโบราณในล้านนาว่า เกิดอหิวาต์ระบาดที่อาณาจักรหริภุญชัย ทำให้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่ไม่ตายจึงอพยพไปอยู่เมืองสะเทิมและหงสาวดีเป็นเวลา ๖ ปี บางคนก็มีครอบครัวอยู่ที่นั่น ครั้นเมื่ออหิวาต์ได้สงบลงแล้ว บางส่วนจึงอพยพกลับ และเมื่อถึงวันครบรอบที่ได้อพยพไป ก็ได้จัดธูปเทียนสักการะพร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคดังกล่าวใส่ สะเพา ( อ่านว่า “ สะ - เปา หมายถึง สำเภาหรือกระทง ) ล่องตามลำน้ำเพื่อระลึกถึงญาติที่มีอยู่ในเมืองหงสาวดี ซึ่งการลอยกระทงดังกล่าวจะทำในวันยี่เพง คือ เพ็ญเดือนสิบสอง เรียกกันว่า การลอยโขมด แต่มิได้ทำทั่วไปในล้านนา

ส่วนใหญ่เทศกาลยี่เพงนี้ ชาวล้านนาจะมีพิธีตั้งธัมม์หลวง หรือการเทศน์คัมภีร์ขนาดยาวอย่างเทศน์มหาชาติ และมีการจุดประทีปโคมไฟอย่างกว้างขวางมากกว่า (การลอยกระทง ที่ทางโบราณล้านนาเรียกว่า ลอยโขมดนี้ คำว่า “ โขมด อ่านว่า ขะ-โหฺมด เป็นชื่อผีป่า ชอบออกหากินกลางคืนและมีไฟพะเหนียงเห็นเป็นระยะๆคล้ายผีกระสือ ดังนั้น จึงเรียกเอาตามลักษณะกระทงที่จุดเทียนลอยในน้ำ เห็นเงาสะท้อนวับๆแวมๆคล้ายผีโขมดว่า ลอยโขมด ดังกล่าว) 

 

ตำนานที่ 5

กล่าวกันว่าในประเทศจีนสมัยก่อน ทางตอนเหนือเมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำจะท่วมเสมอ บางปีน้ำท่วมจนชาวบ้านตายนับเป็นแสนๆ และหาศพไม่ได้ก็มี ราษฎรจึงจัดกระทงใส่อาหารลอยน้ำไป เพื่อเซ่นไหว้ผีเหล่านั้นเป็นงานประจำปี ส่วนที่ลอยในตอนกลางคืน ท่านสันนิษฐานว่า อาจจะต้องการความขรึมและขมุกขมัวให้เห็นขลังเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผีๆสางๆ และผีก็ไม่ชอบปรากฏตัวในตอนกลางวัน การจุด เทียนก็เพราะหนทางไปเมืองผีมันมืด จึงต้องจุดให้แสงสว่างเพื่อให้ผีกลับไปสะดวก ในภาษาจีนเรียกการลอยกระทงว่า ปล่อยโคมน้ำ ( ปั่งจุ๊ยเต็ง ) ซึ่งตรงกับของไทยว่า ลอยโคม
 

คำถวายกระทงสำหรับลอยประทีป (ลอยกระทง) ดังคำกล่าวดังต่อไปนี้

นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ) 
มะยัง  อิมินา,  ปะทีเปนะ  อะสุกายะ,  นัมมะทายะ,  นะทิยา,ปุลิเน,  ฐิตัง,  มุนิโน, 
ปาทะวะลัญชัง  อะภิปูเชมะ  อะยัง  ปะทีเปนะ,  มุนิโม,  ปาทะวะลัญชัสสะ,  บูชา,  อัมหากัง, 
ทีฆะรัตตัง,  หิตายะ,สุขายะ,  สังวัตตะตุ 

แปลว่า  “ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอบูชา, ซึ่งรอยพระพุทธบาทที่ตั้งอยู่เหนือหาดทราย, ในแม่น้ำชื่อ นัมมทานทีโน้นด้วยประทีปนี้, การบูชารอยพระพุทธบาทนี้, ขอจงเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุข, แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย, สิ้นกาลนานเทอญ”

 


คุณค่า ประเพณีลอยกระทง นับเป็นประเพณีที่มีคุณค่าต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และศาสนา กล่าวคือ

๑. คุณค่าต่อครอบครัว ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การประดิษฐ์กระทง แล้วนำไปลอยน้ำเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อน้ำที่ให้คุณประโยชน์แก่เรา บางท้องถิ่นจะลอยเพื่อเป็นการแสดงความระลึกถึงบรรพบุรุษอีกด้วย
 ๒. คุณค่าต่อชุมชน ทำให้เกิดควงามสมัครสมนาสามัคคีในชุมชน เช่น ร่วมกันคิดแประดิษฐ์กระทง เป็นการส่งเสริมและสืบทอดศิลปกรรมด้านช่างฝีมืออีกด้วย ทั้งยังเป็นการพบปะสังสรรค์ สนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจร่วมกัน
 ๓. คุณค่าต่อสังคม ทำให้ความเอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการช่วยกันรักษาความสะอาดแม่น้ำ ลำคลอง โดยการขุด ลอก เก็บขยะในแม่น้ำลำคลองให้สะอาด และไม่ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไปในแม่น้ำลำคลองอีกด้วย
๔. คุณค่าต่อศาสนา ช่วยกันบำรุงศาสนา เช่น ทางภาคเหนือ ลอยกระทงเพื่อเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า และยังจัดให้มีการทำบุญให้ทาน การปฏิบัติธรรม และฟังเทศน์ด้วย


 ปัญหาในการลอยกระทง

๑. การจุดดอกไม้ไฟ ประทัด หรือพลุ โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่น จุดเล่นกันอย่างคึกคะนองไม่เป็นที่เป็นทาง ไม่ระมัดระวัง จุดเล่นตามถนนหนทาง โดยไม่คำนึงถึงอันตรายที่จะเกิดแก่ผู้คนและยวดยานที่สัญจรไปมา และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนได้

๒. การประกวดนางนพมาศ ให้ความสำคัญมากเกินไป ถือเป็นกิจกรรมหลักของประเพณี ซึ่งที่แท้จริงแล้วไม่ใช่แก่นแท้ของประเพณีเลย เป็นเพียงกิจกรรมที่เสริมขึ้นมาภายหลัง เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน และเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว

๓. การประดิษฐ์กระทง สมัยก่อนใช้วัสดุพื้นบ้านหรือตามธรรมชาติ เช่น ทำจากใบตอง หยวกกล้วย ซึ่งเป็นวัสดุย่อยสลายง่าย แต่ปัจจุบันกลับนิยมใช้วัสดุโฟม ซึ่งย่อยสลายยาก ทำให้แม่น้ำลำคลองสกปรก เน่าเหม็น เกิดมลภาวะเป็นพิษ


ข้อเสนอแนะ

  เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจถึงความเป็นมา ความหมาย คุณค่า ความสำคัญของประเพณีลอยกระทง ตลอดจนจัดกิจกรรมได้เหมาะสมมีประสิทธิภาพ

           ๑. รณรงค์ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ความเข้าใจถึงความเป็นมา ความหมาย คุณค่า ความสำคัญของประเพณีลอยกระทง

           ๒. กิจกรรมที่พึงปฏิบัติ 
          ๒.๑ ทำความสะอาดแม่น้ำลำคลอง ทั้งก่อนและเสร็จงานลอยกระทง เช่น การขุด ลอก เก็บขยะ ในแม่น้ำลำคลอง
           ๒.๒ ทำบุญให้ทาน การปฏิบัติธรรม การฟังเทศน์ ตามประเพณีของแต่ละท้องถิ่น
           ๒.๓ ประดิษฐ์กระทงใหญ่ กระทงเล็ก โดยใช้วัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายง่าย
           ๒.๔ การจัดขบวนแห่กระทง
           ๒.๕ การจัดกิจกรรมการประกวดต่าง ๆ เช่น การประกวดกระทง ประกวดโคมลอย ประกวดนางนพมาศตามความนิยมในสังคมนั้น ไม่ควรให้ความสำคัญมากเกินไป
           ๒.๖ การนำกระทงไปลอยในแม่น้ำลำคลอง
           ๒.๗ การปล่อยโคมลอย ตามประเพณีของแต่ละท้องถิ่น
           ๒.๘ การจุดดอกไม้ไฟ หรือ พลุ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองนั้น ควรจุดอย่างระมัดระวัง จุดในสถานที่ที่เหมาะสมหรือที่ที่จัดไว้เฉพาะ ซึ่งได้รับอนุญาตแล้ว ไม่ควรจุดในที่ชุมนุมชน หรือตามถนนหนทางที่มีประชาชนและยวดยานสัญจรไปมา เพราะจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและทรัพย์สินได้
           ๒.๙ การละเล่นรื่นเริงตามความเหมาะสมในท้องถิ่นนั้น ๆ

 

ที่มาของเนื้อหา : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
ที่มาของคลิปวิดีโอ : https://www.youtube.com/watch?gl=CO&hl=es-419&v=T89gzuVtTXo 
ที่มาของรูปประกอบ :
www.tlcthai.com/education/uncategorized/4551.html และ loykratong-festival.blogspot.com/