วันสืบ นาคะเสถียร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 12.8K views



รำลึกถึงคุณสืบ นาคะเสถียร

วันสืบ นาคะเสถียร
ทุกวันที่ 1 กันยายน ของทุกปี
 

 

พ.ศ. 2492 สืบ นาคะเสถียรเกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม ที่ตำบลท่างา อำเภอเมืองจังหวัดปราจีนบุรี เป็นลูกของนายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีน และนางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมดสามคน

พ.ศ. 2502  สืบมีนิสัยทำอะไรมักจะทำให้ได้ดีตั้งแต่เด็ก และเมื่อจบประถม 4 สืบได้ย้ายไปเรียนโรงเรียนเซ็นต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นนักเป่าทรัมเป็ตมือหนึ่ง และนักวาดภาพฝีมือดีของโรงเรียน

พ.ศ. 2510-2514 สืบอยากเรียนสถาปัตยกรรมเพราะชอบด้านศิลปะ แต่มาสอบติดคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รุ่นที่ 35

พ.ศ. 2516-2517 เมื่อสำเร็จการศึกษาได้เข้าทำงานที่ส่วนสาธารณะการเคหะแห่งชาติ และไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาวนวัฒน์วิทยา คณะวนศาสตร์

พ.ศ. 2518 สอบเข้ากรมป่าไม้ได้ แต่เลือกที่จะมาทำงานที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่าโดยไปประจำที่เขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมพู่จังหวัดชลบุรี

พ.ศ. 2522 ได้รับทุนจาก British Council ไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษในสาขาอนุรักษ์วิทยา

พ.ศ. 2524 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ และเริ่มงานวิจัยชิ้นแรก คือการศึกษาการทำรังวางไข่ของนกบางชนิด ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี

พ.ศ. 2528 เดินทางไปทำวิจัยเรื่องกวางผา กับดร.แซนโดร โรวาลี ที่ดอยม่อนจองในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่า จนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสียชีวิต สร้างความสะเทือนใจให้แก่สืบมาก

พ.ศ. 2529 หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสัตว์นับพันตัวได้รับความช่วยเหลือ แต่สืบรู้ดีว่ามีสัตว์อีกนับจำนวนมหาศาลที่ตายจากการสร้างเขื่อน และในระหว่างนั้น สืบได้ค้นพบรังนกกระสาคอขาวปากแดงครั้งแรกในประเทศไทย

พ.ศ. 2530 สืบได้เปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการไปสู่นักอนุรักษ์ โดยเข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี สืบชี้ให้เห็นถึงบทเรียนจากการที่มีสัตว์จำนวนมาก ล้มตายหลังจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน สืบเริ่มต้นอภิปรายทุกครั้งว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า”

พ.ศ. 2531 สืบและเพื่อนอนุรักษ์ออกโรงคัดค้านการที่บริษัทไม้อัดไทยจะขอสัมปทานทำไม้ ที่ป่าห้วยขาแข้ง สืบได้อภิปรายว่า “คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน”

พ.ศ. 2532 สืบได้รับทุน เรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ แต่ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สืบพบปัญหาต่างๆมากมายในห้วยขาแข้ง อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า และที่สำคัญคือปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่เลย สืบจึงทุ่มเทเขียนรายงานนำเสนอยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก อันเป็นสิ่งค้ำประกันให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการคุ้มครองเต็มที่

1 กันยายน พ.ศ. 2533 สืบสะสางงาน และเขียนพินัยกรรมไว้เรียบร้อย ก่อนกระทำอัตวิบาตรกรรม เพื่อเรียกร้องให้สังคมและราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ อย่างจริงจัง

18 กันยายน พ.ศ. 2533 ผู้ใหญ่และพ้องเพื่อนนักอนุรักษ์ ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของสืบ

26 เมษายน พ.ศ. 2536 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินมาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อทรงเปิดอนุสรณ์สถนสืบนาคะเสถียร

พ.ศ. 2542 มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศว่า ในรอบ 50 ปี ท่านเสียดายการจากไปของสามัญชนผู้ใดมากที่สุด ปรากฏว่าสืบ นาคะเสถียร ติดอับดับที่ 2
 

“ผมเห็นใจคนที่ไม่มีโอกาสในสังคม ถูกบีบคั้น เอาเปรียบทุกอย่าง
ประเทศไทยจะดีขึ้น ถ้าคนที่มีโอกาส ยอมสละโอกาสบ้าง
เราช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีโอกาส
ลืมตาอ้าปากได้ ผมอยากเห็นสังคมดีขึ้น”

สืบ นาคะเสถียร



ที่มาเนื้อหา : https://www.seub.or.th/
ที่มาวิดีโอ : https://www.youtube.com/watch?v=pYFYluFo-JA&feature=related