มารี คูรี่
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 13.1K views



มารี คูรี่  

 

มารี คูรี่ เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ.1867 ที่กรุงวอร์ซอร์ ประเทศโปแลนด์ บิดาของเธอชื่อว่า วลาดิสลาฟ สโคดอฟสกา เป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อยู่ที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในกรุงวอร์ซอร์ บิดาของเธอมักพาไปห้องทดลองวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนด้วยเสมอ ทำให้เธอมีความสนใจวิชาวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก และในวัยเด็กนี้เอง เธอได้พบกับ Dmitri Mendeleev นักเคมีชาวรัสเซียผู้คิดตารางธาตุ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของบิดาของเธอโดย Dmitri Mendeleev ได้ทำนายไว้ว่าเธอมีแววจะเป็นนักเคมีผู้ยิ่งใหญ่ถ้าเธอชอบเคมี

มารี รักและสนิทสนมกับบิดามาก เนื่องจากมารดาของเธอเสียชีวิตตั้งแต่เธอยังเด็ก และทุกเย็นวันเสาร์ บิดาจะอ่านวรรณกรรมต่างๆ ของกวี และนักประพันธ์ชาวโปแลนด์ให้เธอฟัง มารีถือว่าเป็นด็กที่มีความจำดีมาก สามารถท่องบทกลอนให้บิดาฟังได้ทันทีที่บิดาอ่านจบ ในด้านวิทยาศาสตร์นั้น มารีชื่นชมในความเฉลียวฉลาดระดับสุดยอดของ Aristotle, Isaac Newton และ Karl Gauss ซึ่งประเทศโปแลนด์ในสมัยนั้น ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซีย ที่เข้ามายึดครองตั้งแต่ปี 1831ทั้งยังได้ออกกฎหมายบังคับและควบคุมชาวโปแลนด์ทุกรูปแบบ เช่น หนังสือพิมพ์ โรงเรียน โบสถ์ ต้องใช้ภาษารัสเซียในการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นเรื่องอ่าน เขียน หรือพูด และห้ามใช้ภาษาโปแลนด์อย่างเด็ดขาด ผู้ที่ขัดขวางหรือขัดขืน จะถูกฆ่าโดยการกักขัง หรือเนรเทศไปไซบีเรีย นอกจากนี้ในสถานที่ทุกหนแห่งจะมีตำรวจลับของรัสเซียคอยติดตามดูแลคนที่จะคิด การร้ายต่อรัฐด้วย และเมื่อ มารี อายุ 17 เธอได้งานเป็นครูประจำครอบครัวชาวรัสเซียที่มีฐานะดี เธอเก็บเงินเดือนที่ได้ เพื่อจะใช้ในการศึกษาต่อและใฝ่ฝันจะปลดแอกประเทศให้เป็นเอกราช เธอจึงลอบสอนหนังสือเป็นภาษาโปแลนด์ให้เด็กนักเรียนตามโรงเรียน และเล่าเหตุการณ์ที่ชาวโปแลนด์ภายใต้การปกครองของรัสเซียต้องทุกข์ยากลำบากมาก เพราะถูกกดขี่อย่างไร้คุณธรรม เช่น ทหารเคยยิงปืนใหญ่ใส่ชาวโปแลนด์ที่มาชุมนุมกัน ขณะเดียวกัน มารียังแอบเขียนบทความต่อต้าน ซึ่งเป็นอันตรายต่อตัวเธอมากถ้าถูกจับได้และเมื่อบรรดาเพื่อนๆของเธอ ถูกจับในฐานะกบฎ เธอจึงต้องหลบหนีออกจากโปแลนด์เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกบังคับให้ปรักปรำเพื่อนของเธอในศาล

ต่อมาปี ค.ศ.1891 มารี ในวัย 24 ปี ได้เดินทางถึงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเพื่อเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์ แต่เนื่องจากในยุคนั้นสถาบันการศึกษาในทวีปยุโรปห้ามผู้หญิงเรียนวิทยาศาสตร์ ยกเว้นมหาวิทยาลัย Sorbonne ดังนั้นเธอจึงสมัครเรียนที่ Sorbonne พร้อมทั้งทำงานหาเงินเรียน โดยการล้างขวด และปัดกวาดทำความสะอาดห้องทดลอง ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1895 มารีได้สมรสกับปิแอร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้พบรักกันในปาร์ตี้ที่บ้านเพื่อน และหลังจากนั้นไม่นานมีการประกาศข่าวการพบรังสีเอ็กซ์ที่มหาวิทยาลัย Wurzburg ในประเทศเยอรมนีว่า สามารถทะลุวัตถุที่หนาได้ และสามารถทะลุร่างกายทำให้เห็นกระดูกได้ ทำให้ ปิแอร์ และ มารี รู้สึกตื่นเต้นมาก และศึกษาเรื่องนี้ทันที ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่า Henri Antoine Becquerel ได้พบในเวลาต่อมาอีกไม่นานว่า เกลือของแร่ยูเรเนียม สามารถเปล่งรังสีได้ทั้งๆ ที่ไม่มีแสงอาทิตย์รบกวน และรังสีนั้นทำให้ฟิล์มถ่ายรูปเปลี่ยนแปลง โดยความเข้มของรังสีขึ้นกับปริมาณยูเรเนียมในเกลือ

ช่วงนั้นวงการวิทยาศาสตร์ตื่นเต้นกับข่าวรังสีเอ็กซ์ และรังสีลึกลับที่เปล่งออกจากเกลือยูเรเนียม หลายคนคิดว่า รังสีทั้งสองเป็นรังสีชนิดเดียวกัน และเมื่อได้มีการนำแร่ pitchblende มาทดสอบ ก็ได้พบว่า แร่นี้ให้รังสีที่รุนแรงกว่ายูเรเนียมอีก Becquerel จึงเสนอแนะว่าในแร่ pitchblende คงมีธาตุบางชนิดที่นักเคมียังไม่รู้จักแอบแฝงอยู่ เขาจึงนำปัญหานี้ มาให้ มารี ศึกษา และถามว่า ต้องการค้นหาธาตุลึกลับหรือไม่ มารีจึงไปปรึกษาปิแอร์ ซึ่งขณะนั้นกำลังสนใจศึกษาผลึกอยู่ ส่วนมารี กำลังศึกษาสมบัติเชิงแม่เหล็กของสารละลาย และทั้งสองจึงตัดสินใจทิ้งงานที่กำลังทำ เพื่อรับงานใหม่ คืองานค้นหาธาตุลึกลับใน pitchblende แต่ไม่มีเงินทุนจะซื้อ pitchblende ปริมาณมาก ทั้งสองจึงเขียนจดหมายถึง รัฐบาลออสเตรีย เพื่อขอบริจาคแร่ pitchblende หนึ่งตันจากเหมือง Joachimsthal มาใช้ในการวิจัย

ในเวลาไม่นานกองหิน pitchblende จากเดิมที่เคยหนักหนึ่งตัน ถูกสกัดจนปริมาณลดลงเหลือเพียง50กิโลกรัม แต่ก็ยังมีรังสีเปล่งออกมามาก และเมื่อ มารี ล้มป่วย ปิแอร์ จึงอยากยกเลิกการทดลอง แต่มารีได้กระตุ้นให้ทำต่อ ปิแอร์จึงเดินหน้าทดลองต่อไปและได้พบว่า รังสีที่เปล่งออกมามีปริมาณประมาณ 100 เท่าของรังสีที่ออกมาจากยูเรเนียม และต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1898 มารี ได้ประกาศพบธาตุใหม่ ชื่อ polonium ซึ่งเป็นชื่อที่เธอให้เป็นเกียรติแก่ประเทศโปแลนด์ของเธอ ซึ่งหากเป็นนักเคมีธรรมดา การพบธาตุใหม่หนึ่งธาตุน่าจะเพียงพอแล้ว แต่สำหรับ มารี กับ ปิแอร์ กลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะรู้ดีว่า ธาตุ polonium ที่พบไม่สามารถอธิบายธรรมชาติของการแผ่รังสีของ pitchblende ได้หมด ดังนั้นหลังจากที่ค้นพบธาตุดังกล่าวแล้ว ทั้งสองจึงยังทำการทดลองต่อ

และเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ.1898 มารี กับ ปิแอร์ ก็ได้นำผลงานวิจัยเสนอในที่ประชุมของ Academy of Sciences ในปารีสว่า ใน pitchblende ยังมีธาตุชนิดนั้นว่า radium ซึ่งแปลงมาจากคำในภาษาละตินว่า "radius" ที่แปลว่า รังสี

จากนั้น มารี ได้เริ่มศึกษาธรรมชาติและสมบัติของ radium เพื่อนำไปเสนอเป็นผลงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเธอ เพราะ Marie ต้องการเป็นครู และจากการศึกษาของมารี ทำให้พบว่า เกลือของ radium สามารถเรืองแสงได้ และให้ความร้อนได้มากถึง 250,000 เท่าของความร้อนที่ได้จากถ่านหินที่มีน้ำหนักเท่ากัน radium หนึ่งตันสามารถต้มน้ำ หนึ่งร้อยตันให้เดือดได้นาน1ปี หนูที่กระดูกสันหลังของมันถูกฝังด้วย radium ขนาดเท่าหัวเข็มหมุดจะเป็นอัมพฤกษ์ ภายในเวลา 3 ชั่วโมง และจะชักภายในเวลา 7 ชั่วโมง และเมื่อเวลาผ่านไป 15 ชั่วโมง หนูจะตาย และเวลาผิวหนังคนได้สัมผัส radium ผิวจะรู้สึกร้อนผ่าวและไหม้ รังสีจาก radium รุนแรงกว่ารังสีจากยูเรเนียมเป็นล้านเท่า สำหรัลผลกระทบอื่นๆ ได้แก่ เมล็ดพืช เวลารับรังสีจาก radium จะไม่แพร่พันธุ์ และรังสีสามารถฆ่าเซลล์มะเร็ง อีกทั้งทำให้อากาศแตกตัวได้

ซึ่งงานวิทยานิพนธ์ของ มารี เรื่อง สมบัติของเรเดียมได้รับการประเมินและตรวจสอบโดย Henri Moissan (รางวัลโนเบลสาขาเคมีปี 1906) กับ Gabriel Lippmann (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 1908) และคณะกรรมการได้ลงความเห็นว่า การวิจัยของ มารี ได้ทำให้พบองค์ความรู้ใหม่ที่มีความสำคัญมากต่อโลกวิทยาศาสตร์และด้วยผลการค้นพบในครั้งนี้ทำให้ มารีและปิแอร์ ได้รับครึ่งหนึ่งของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ร่วมกับ Becquerel จากผลงานการศึกษากัมมันตรังสี ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1903

ช่วงบ่าย วันที่ 19 เมษายน ค.ศ.1906 มารีก็ต้องได้รับข่าวร้ายเมื่อ ปิแอร์ผู้เป็นสามี ต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ถูกรถม้าชนจนหกล้ม แล้วถูกรถบรรทุกขนาด 8 ตันชนซ้ำ จนกะโหลกศรีษะแตกตายคาที่

มารี เสียใจมากที่ต้องสูญเสียสามีไป แต่ก็ยังยืนยันที่จะเดินหน้าทำการทดลองต่อไป ขณะที่สภามหาวิทยาลัยSorbonne ได้ลงมติให้ มารี เข้าครองตำแหน่งศาสตราจารย์แทน ปิแอร์ ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะ มหาวิทยาลัย Sorbonne ไม่เคยมีศาสตราจารย์ผู้หญิง โดยเป้าหมายในการทดลองชิ้นต่อไปของ มารี คือต้องสกัด radium บริสุทธิ์ออกมาให้ได้เธอได้ทุ่มเทชีวิตเพื่อเรื่องนี้อย่างเต็มตัว ชาวฝรั่งเศสแทบไม่ได้ข่าวใดๆของเธอ จนถึงปี ค.ศ.1910 มารีก็ประสบความสำเร็จ เมื่อมารีผ่านกระแสไฟฟ้าไปในสารละลายของ radium chloride เธอได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่ขั้วลบ ซึ่งทำด้วยปรอทเธอจึงเก็บคาบสารประกอบที่ซึ่งเผาไปในหลอดชิลิกาที่มีแก๊สไนโตรเจนบรรจุอยู่ภายใต้ความดันต่ำ และปรอทได้ระเหยกลายเป็นไอออกมา เหลือแต่ radium บริสุทธิ์สีขาว และจากผลงานชิ้นนี้ทำให้ มารีได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี ค.ศ.1911 และได้ทำให้เธอเป็นนักวิทยาศาสตร์คนเดียวในโลกที่รับรางวัลโนเบลทั้งสาขา ฟิสิกข์ และสาขาเคมี

ต่อมาในปี ค.ศ.1929 รัฐบาลฝรั่งเศสได้อนุมัติเงิน 1.5 ล้านฟรังก์ ให้มารีสร้างห้องวิจัยกัมมันตรังสี แต่มารีก็ได้ใช้ห้องปฏิบัติการนี้ไม่นาน ก็ต้องเสียชีวิตลงในวันที่​ 4 กรกฏาคม ​ค.ศ.1934 สิริอายุ 68 ปีด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ทั้งนี้อัฐิของมารี และ ปิแอร์ได้รับเกียรติให้นำมาประดิษฐานไว้ที่วิหารเพนทีออน ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจะเก็บอัฐิของบุคคลสำคัญของฝรั่งเศสเท่านั้น และมารีถือว่าเป็นบุคคลแรกที่ไม่ใช่คนฝรั่งเศสและเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้ ซึ่งแสดงถึงความสำเร็จสูงสุดในวิทยาศาสตร์ของเธอ และหลังจากที่มารีเสียชีวิตลง ครอบครัวคูรี่ ก็ยังคงสร้างผลงานที่น่าจดจำให้กับโลกนี้อยู่อย่างต่อเนื่องโดย ลูกสาวคนโต Ireneได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีร่วมกับสามีชื่อ Frederic Joliot ในปี 1935 จากผลงานการสร้างธาตุกัมมันตรังสีประดิษฐ์ ทั้งสองได้รับรางวัลหนึ่งปีหลังจากที่มารีเสียชีวิต ส่วนลูกสาวคนที่สองชื่อ Eve นั้นก็เป็นนักประพันธ์ผู้มี ชื่อเสียงก้องโลก เมื่อหนังสือที่เธอเขียนชื่อ Madame Curie ได้เป็นหนังสือเบสท์เซลเลอร์ และถูกนำไปแปลกว่า 50 ภาษา

 

ที่มา : องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ( อพวช.)