พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 187.7K views



พระประวัติ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้านวม เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๔๙ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) และองค์ที่ ๒ ในเจ้าจอมมารดาปราง (ใหญ่) สายราชินิกุลบางช้าง ประสูติเมื่อวันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๑๗๐ ตรงกับวันที่ ๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๓๕๑ ก่อนสิ้นรัชกาลที่ ๑ เพียง ๑ ปี ในปีที่พระองค์ประสูตินั้น มีบุคคลสำคัญที่ “เกิดร่วมสหชาติ” กับพระองค์อีก ๓ ท่าน ซึ่งต่อมาได้มีบทบาทสำคัญในการบริหารแผ่นดินร่วมสมัยกับพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ ๔ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ ๕ และเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) สมุหนายก ในรัชกาลที่ ๔

                    พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงเข้ารับราชการกำกับกรมหมอในรัชกาลที่ ๓ และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมหมื่นวงศาสนิท ทรงศึกษาวิชาการแพทย์สมัยใหม่จากมิชชันนารีอเมริกัน ถึงแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ ทรงกำกับราชการมหาดไทย ว่าพระคลังสินค้า และเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินด้วย ในรัชกาลที่นี้ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมหลวง ทรงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาและการเมือง ในระดับนานาชาติเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศชาติรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก ทรงเป็นนักอักษรศาสตร์ นักปราชญ์ กวี นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ นักวิทยาศาสตร์ นักการทูตพระองค์สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันพุธ เดือน ๑๐ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมะเมีย โทศก ตรงกับวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๑๔ รวมพระชันษาได้ ๖๓ ปี ทรงเป็นต้นราชสกุลสนิทวงศ์

                   พระกรณียกิจของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท มีหลากหลายประการ ซึ่งนอกจากการบริหารราชการแผ่นดินดังกล่าวแล้ว ยังประกอบด้วยพระกรณียกิจด้านวรรณกรรมและการศึกษา ได้แก่ ทรงพระนิพนธ์นิราศพระประธม เพลงยาวสามชาย เพลงยาวกลบทสิงโตเล่นหาง พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ที่ทรงนิพนธ์ขึ้นตามพระราชบัญชาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือจินดามณีฉบับพระนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท หรือประถมจินดามณี เล่ม ๒ พระกรณียกิจด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ได้ทรงแต่งตำราสรรพคุณยาสมุนไพรไทย จำนวน ๑๖๖ ชนิด เป็นตำราสมุนไพรเล่มแรกของไทยที่เขียนแบบเอกสารทางวิชาการ แจกแจง และวิเคราะห์ส่วนต่าง ๆ ของพืชสมุนไพรแต่ละชนิด ทรงเป็นแพทย์ไทยพระองค์แรกที่ได้รับประกาศนียบัตรถวายเป็นพระเกียรติยศจากสถาบันการแพทย์ของยุโรป และได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกของสถาบันการแพทย์แห่งนิวยอร์ก ชาวต่างชาติในสยามเรียกขานพระองค์ว่า The Prince Doctor อีกทั้งพระองค์ยังทรงจารึกคำประพันธ์ไว้บนแผ่นหิน บรรยายถึงการบำบัดโรคด้วยสมุนไพร และการออกกำลังกายในท่าต่าง ๆ ที่เรียกว่า ฤๅษีดัดตน ที่มีเรียงรายอยู่ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ในด้านการต่างประเทศทรงเป็นประธานในการเจรจาทำสนธิสัญญาทางไมตรีจิตและพาณิชย์ระหว่างอังกฤษกับไทยในช่วงที่บ้านเมืองกำลังเผชิญปัญหาการคุกคามจากจักรวรรดินิยมตะวันตก รวมทั้งการต้องเป็นแม่ทัพหลวงไปทำสงครามเมืองเชียงตุงด้วย

                     ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพ กอปรทั้งพระดำริที่ทรงมุ่งมั่นประกอบพระกรณียกิจอันยังประโยชน์นานัปการให้แก่ประชาชนชาวไทย และประเทศชาติ สืบทอดมาถึงปัจจุบัน ดังนั้นในพุทธศักราช ๒๕๕๑ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกที่สนับสนุนการสถาปนาสันติวัฒนธรรม โดยการปฏิสัมพันธ์ระหว่างอารยธรรม ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ในการส่งเสริมการสมานฉันท์ในสังคม ความเข้าใจ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความสำเร็จในการเจรจาทางการทูตและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม ทำให้ทรงเป็นที่รู้จักในเอเชีย ยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะนโยบายด้านการต่างประเทศโดยใช้วัฒนธรรมและสันติภาพ ทำให้ประเทศไทยหรือสยาม ทำสนธิสัญญากับประเทศต่าง ๆ ได้

                      ในโอกาสที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงมีพระชนมายุครบ ๒๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องให้พระองค์ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านปราชญ์และกวี (Scholar & Poet)เป็นบุคคลลำดับที่ ๑๘ ของประเทศไทยที่ได้รับการประกาศยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก

 

ที่มา : https://www.snidvongs.net/