ประวัติศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้เริ่มโครงการจัดตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เพื่อ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๓ รอบ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ด้วยพิจารณาเห็นว่าสาขาวิชา มานุษยวิทยาและศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ฯลฯ ล้วนเป็นที่ทรงสนพระทัยและทรงมีความเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังเคยทรงมี พระราชปรารภว่า ประเทศไทยควรจะมี ศูนย์ข้อมูลทางด้านนี้ เพื่อให้บริการแก่นักวิชาการและผู้สนใจทั่วไป
โครงการจัดตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรได้รับอนุมัติจากรัฐบาล โดยออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งให้เป็นหน่วยงานราชการในสังกัดมหาวิทยาลัย ศิลปากร มีสถานภาพเทียบเท่าคณะวิชาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ต่อมาในพ.ศ. ๒๕๓๗ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ตระหนักถึงความสำคัญ ในการปรับรูปแบบการดำเนินงานของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความคล่องตัวในการบริหารงานและความเป็นสากล จึงได้เสนอโครงการให้ศูนย์ฯ ทดลองดำเนินงานในรูปแบบใหม่ไม่ขึ้นกับระบบราชการเป็นระยะเวลา ๕ ปีมีกำหนดตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๓๘ - ๒๕๔๒ โดยมีภารกิจหลักเป็นศูนย์ข้อมูลที่ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยในการ จัดเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อเผยแพร่และให้บริการข้อมูลและข้อมูลสนเทศอันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าของนักวิชาการ นักศึกษา นักเรียน และประชาชนทั่วไป
ปีพุทธศักราช ๒๕๔๑ เป็นปีแรกที่ศูนย์ฯ สามารถดำเนินกิจกรรมทางวิชาการต่างๆ ได้อย่างเต็มรูปแบบด้วยความพร้อมในด้านอาคารสถานที่ บุคลากร และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย กิจกรรมที่ศูนย์ฯริเริ่มจัดทำ มีอาทิ การให้บริการห้องสมุดเพื่อสืบค้นข้อมูล การจัดแสดงนิทรรศการถาวรและหมุนเวียนการจัดทำฐานข้อมูล และให้บริการข้อมูลประเภทต่างๆ ผ่านสื่อผสม การจัดทำสื่อวิชาการและสื่อโสตทัศนวัสดุและในวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ศูนย์ฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรในปีนี้ ศูนย์ฯ ได้จัดทำห้องนิทรรศการต่างๆ และสามารถเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ รวมทั้งการให้บริการทางวิชาการ อันเป็นประโยชน์แก่สังคม เช่น การประชุมสัมมนาทางวิชาการ การบรรยายให้ความรู้ และดำเนินโครงการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ต่อแวดวงวิชาการหลากหลายโครงการ
ในปีงบประมาณ ๒๕๔๓ ซึ่งศูนย์ฯ ได้สิ้นสุดช่วงโครงการทดลอง ๕ ปี คณะกรรมการประจำศูนย์ฯ ได้เสนอโครงการจัดตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรขึ้นเป็นหน่วยงานอิสระในกำกับ ของทบวงมหาวิทยาลัยเพื่อให้ศูนย์ฯ สามารถบริหารงานได้อย่างเป็นอิสระ คล่องตัว และเอื้ออำนวยให้มีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและบุคลากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย การพัฒนาข้อมูลทางวิชาการด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ รวมทั้งการให้บริการข้อมูลดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด
แก่สาธารณชน และในปีเดียวกันนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการจัดตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรขึ้นเป็นองค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน โดยมีการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๓
วิสัยทัศน์
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรมุ่งหมาย “ให้มนุษย์เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับมนุษยชาติทั้งมวล มนุษย์จะได้เข้าใจตนเองและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นพื้นฐานให้เกิดความเข้าใจอันดีและการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข”
พันธกิจ
1. พัฒนาระบบฐานข้อมูลและให้บริการข้อมูลในสาขามานุษยวิทยาและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
2. สนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งทางวิชาการด้านมานุษยวิทยา
3. เผยแพร่ความรู้และส่งเสริมการเรียนรู้ด้านมานุษยวิทยาแก่สาธารณชน
4. ส่งเสริมให้มานุษยวิทยาเป็นที่รับรู้และมีบทบาทในการพัฒนาสังคมวัฒนธรรม
เป้าประสงค์
1. เป็นแหล่งข้อมูลที่มีคุณภาพทางวิชาการ
2. สร้างองค์ความรู้และนักวิจัยรุ่นใหม่
3. เป็นสถาบันที่เผยแพร่งานวิชาการเพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ และสร้างความสมานฉันท์ในสังคม
ยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์ที่ 1 เป็นแหล่งข้อมูลทางมานุษยวิทยาเพื่อการศึกษาค้นคว้า
1.1 พัฒนาและต่อยอดแหล่งข้อมูลเพื่อตอบสนองทางวิชาการ
1.2 พัฒนางานเชิงรุกเพื่อสร้างสื่อการเรียนรู้มิติทางวัฒนธรรมเพื่อสนับสนุน หรือทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
ระหว่างนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติการทางวัฒนธรรม และกลุ่มเป้าหมาย
ยุทธศาสตร์ที่ 2 นำความรู้ทางมานุษยวิทยาขับเคลื่อนสังคมเพื่อฟื้นคุณค่าความเป็นมนุษย์
2.1 พัฒนาองค์ความรู้เพื่อให้เชื่อมโยงมิติทางวัฒนธรรมในการสร้างหรือปรับ เปลี่ยนนโยบายสาธารณะ
2.2 สนับสนุนการวิจัยหรือปฏิบัติการโดยคนในท้องถิ่นและในเมือง/กลุ่มคนเจ้าของ วัฒนธรรม/คนชายขอบ
เพื่อสร้างความภูมิใจในอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของตนเองโดยเชื่อมโยงภาคีเครือ ข่ายต่างๆ
งานและบริการ
ฐานข้อมูล
เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้ง ได้แก่การรวบรวมและจัดระเบียบข้อมูลในสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เพื่อเผยแพร่และให้บริการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรจึงให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ แก่การพัฒนาคลังข้อมูลที่มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจวิถีชีวิตวัฒนธรรมโดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการประมวล และนำเสนอชุดข้อมูลที่จัดไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนักวิชาการ นักศึกษา และผู้สนใจ
ห้องสมุด
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จัดตั้งขึ้นพร้อมกับโครงการจัดตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เพื่อรวบรวมหนังสือ เอกสาร โสตทัศนวัสดุ ในสาขามานุษยวิทยาและศาสตร์ที่เกี่ยวข้องด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาษาศาสตร์ ภาษาและวรรณกรรม ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ห้องสมุดจัดหมวดหมู่หนังสือตามระบบห้องสมุดรัฐสภาอเมริกัน (Library of Congress Classification) ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยสืบค้นทาง World Wide Web ที่ https://www.sac.or.th เลือก Menu ห้องสมุด หรือ https://lib.sac.or.th
งานวิจัย
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิจัยในสาขามานุษยวิทยาและศาสตร์ที่เกี่ยวข้องโดยสนับสนุนงานวิจัยนำร่องที่เน้นศึกษา “วัฒนธรรม” ในประเทศไทยและประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงทั้งนี้ความหมายของ “วัฒนธรรม” ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมที่สั่งสมมาแต่อดีตวัฒนธรรมประเพณี หรือวัฒนธรรมในความหมายเชิงวัตถุเท่านั้น หากแต่ยังหมายรวมถึง แนวคิด สัญลักษณ์ และวัฒนธรรมของสังคมร่วมสมัยด้วย
งานเครือข่าย
สร้างเครือข่ายเชิงวิชาการกับนักวิชาการ สถาบันทางวิชาการ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ สร้างเครือข่ายของผู้ปฏิบัติการทางวัฒนธรรมในชุมชน ท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการฟื้นฟูเรียนรู้วัฒนธรรม อันจะนำไปสู่การสร้างความภูมิใจในอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของตนเอง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสื่อสารกับสังคม
เวทีทางวิชาการ
ด้วยความตระหนักในความสำคัญของการสร้างองค์ความรู้และพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้แก่วงวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรจึงได้สนับสนุนให้มีเวทีวิชาการสำหรับนักวิชาการ นักวิจัย อาจารย์ และนักศึกษาเพื่อเสนอผลงานวิชาการและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เช่น การประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยาการประชุมทางวิชาการระดับประเทศและนานาชาติ การบรรยายทางวิชาการ และการนำเสนอผลงานวิจัย เป็นต้น
การเผยแพร่ความรู้และการผลิตสื่อทางวิชาการ
ภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การสนับสนุนส่งเสริมให้สาธารณชนในวงกว้างเรียนรู้และทำความเข้าใจในสังคมวัฒนธรรมในมิติทางมานุษยวิทยา ซึ่งให้ความสำคัญกับแนวคิดในเรื่องการยอมรับความแตกต่างหลากหลายของกลุ่มคนในสังคม การมองเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ต่างไปจากตนเอง และการพยายามทำความเข้าใจและปรับตัวเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
งานด้านการเผยแพร่ของศูนย์ฯ ประกอบด้วยกิจกรรมหลายรูปแบบตามกลุ่มเป้าหมาย เช่น การสัมมนา การบรรยายความรู้ทั่วไป การจัดอบรม กิจกรรมเยาวชน การแสดงทางวัฒนธรรม นิทรรศการ สื่อการเรียนรู้ออนไลน์ การผลิตหนังสือ วิดิทัศน์ และสารคดีเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ เป็นต้น
บทความโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
จบมานุษยวิทยาแล้วทำอะไรได้บ้าง
บทความจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เรื่อง ศิลาจารึกวัดโป่งคำ
บทความจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เรื่อง ไปดูพัฒนาการอักษรโบราณของอินโดนีเซีย
บทความจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เรื่อง จารึกโรงพระอุโบสถวัดมณเฑียร
บทความจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เรื่อง ตลกโขน มหรสพไทยคลายเครียด
บทความจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เรื่อง สมุดไทยดำเรื่อง จินดามณี เล่ม 1
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sac.or.th/