ตัวละครหลักในเรื่องรามเกียรติ์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 692.2K views



ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล

ตัวละครหลักในเรื่องรามเกียรติ์

 

พระราม

 


         พระราม คือ พระนารายณ์อวตาร (แบ่งภาค) ลงมา  ถือกำเนิดเป็นพระราชโอรสของท้าวทศรถ กับ นางเกาสุริยา เพื่อจะปราบทศกัณฐ์  พระรามมีพระอนุชาต่างพระมารดา ๓ พระองค์ คือ พระพรต พระลักษมณ์ และพระสัตรุต ซึ่งต่างก็มีความรักใคร่กันอย่างมาก  พระมเหสีของพระราม คือ นางสีดา
        พระรามมีกายสีเขียว สามารถปรากฏร่างเป็นพระนารายณ์มีสี่กรได้  อาวุธประจำพระองค์ คือ ศร ซึ่งเป็นอาวุธวิเศษ ที่ได้ประทานมาจากพระอิศวร

        บทบาทที่สำคัญในเรื่องรามเกียรติ์  ได้แก่
       -  เมื่อเยาว์วัยพระรามได้รับการศึกษาศิลปศาสตร์ กับสำนักฤาษีสวามิตร หรือวิศวามิตร มีความเก่งกล้า ถึงกับฆ่ากากนาสูร และสวาหุ ซึ่งมารบกวนเหล่าฤาษีชีไพร
       -  ท้าวชนกจักรวรรดิ์(ฤาษีชนก) ได้ให้หมู่กษัตริย์มาประลองยกศรรัตนธนู เพื่ออภิเษกกับนางสีดา พระรามก็สามารถยกรัตนธนูได้สำเร็จ  และได้อภิเษกกับนางสีดา  ระหว่างเดินทางกลับกรุงอโยธยา สามารถปราบรามสูร(ยักษ์ผู้ถือขวาน) และได้รับศรจากรามสูร
       -  ได้ฆ่าพระยาขร และพระยาทูษณ์ พี่ชายของนางสำมนักขา
       -  ระหว่างออกเดินป่า ได้ปราบพิราบยักษ์
       -  ได้ช่วยสุครีพปราบพาลี 
       -  ไปรบกับทศกัณฐ์ และได้ฆ่าทศกัณฐ์ได้สำเร็จ
       -  สถาปนาพิเภกให้ครองกรุงลงกา

 

พระลักษมณ์ 

 

 


         พระลักษมณ์ คือ พญาอนันตนาคราช ที่ประทับของพระนารายณ์มาเกิด มีกายสีทอง เป็นพระโอรสของท้าวทศรถ กับนางสมุทรเทวี  มีพระอนุชาร่วมพระมารดา คือ พระสตรุต  พระลักษมณ์มีความจงรักภักดีต่อพระรามมาก  เมื่อพระรามต้องออกเดินป่าถึง ๑๔ ปี พระลักษมณ์ก็ได้ติดตามไปด้วย  และยังช่วยออกรบกับกองทัพของกรุงลงกา อย่างกล้าหาญ


  นางสีดา 


 

 

        นางสีดา คือ พระลักษมี มเหสีอของพระนารายณ์ อวตารลงมาเกิดเพื่อเป็นคู่ครองของพระราม ตามบัญชาของพระอิศวร  นางสีดาเป็นพระธิดาของทศกัณฐ์ กับนางมณโฑ  แต่เมื่อประสูติแล้ว พิเภกได้ทำนายว่า นางเป็นกาลกิณีแก่พระบิดาและบ้านเมือง  ทศกัณฐ์จึงสั่งให้นำนางใส่ผอบลอยน้ำไป พระฤาษีชนกพบเข้า จึงเก็บไปเลี้ยงเป็นลูก โดยฝังดินฝากแม่พระธรณีไว้  เวลาผ่านไปถึง ๑๖ ปี พระฤาษีชนกเบื่อหน่ายการบำเพ็ญพรต คิดกลับไปครองกรุงมิถิลาเช่นเดิม  จึงลาเพศพรหมจรรย์ไปขุดนางขึ้นมา แล้วตั้งชื่อให้ว่า สีดา (แปลว่ารอยไถ) จากนั้นพานางพานางเข้าเมืองมิถิลาจัดพิธียกศรคู่บ้านคู่เมือง เพื่อเสี่ยงทายหาคู่ครองให้นางสีดา  พระรามยกศรได้ จึงได้อภิเษกสมรสกับนางสีดา
 

พระอิศวร

 


        พระอิศวร คือ เทวดาผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ มีกายสีขาว แต่พระศอเป็นสีดำเพราะเคยดื่มยาพิษ มีพระเนตรถึง ๓ ดวง ดวงที่ ๓ อยู่กลางพระนลาฎ ซึ่งตามปกติจะหลับอยู่ เนื่องจากพระเนตรดวงที่ ๓ นี้ มีอานุภาพร้ายแรงมาก หากลืมขึ้นเมื่อใดจะเผาผลาญทุกอย่างให้มอดไหม้ได้
พระมเหสีของพระองค์ คือ พระอุมา มีพระราชโอรสด้วยกัน ๒ พระองค์ คือ พระขันทกุมาร เทพเจ้าแห่งสงคราม และพระพิฆเณศวร์ เทพเจ้าแห่งศิลป
        พระอิศวร มีนาคเป็นสังวาล มีพระจันทร์เป็นปิ่น อาวุธประจำพระองค์ คือ ตรีศูล(หลาวสามง่าม) พาหนะของพระองค์ คือ โคอุศุภราช  พระอิศวรมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น พระศุลีพระศิวะ พระภูเตศวร พระตรีเนตร พระสยมภู พระมเหศวร  ชาวฮินดูนับถือพระอิศวรนี้ว่า เป็นเทพเจ้าสูงสุดในบรรดาเทพทั้งสาม ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม โดยถือว่าพระอิศวรเป็นเทพเจ้าแห่งการทำลาย

     บทบาทที่สำคัญในเรื่องรามเกียรติ์  ได้แก่ 
     -  ให้พรแก่หิรัญยักษ์ ให้สามารถม้วนแผ่นดินได้ ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ชาวโลก  จึงต้องให้พระนารายณ์ลงไปปราบหิรันตยักษ์  โดยพระนารายณ์แปลงเป็นหมูป่าขวิดฆ่าหิรันตยักษ์ได้สำเร็จ
     -  ให้พรแก่นนทกยักษ์ หรือนนทุก ยักษ์ที่ทำหน้าที่ล้างเท้าเทวดา ให้มีนิ้วเพชรสามารถชี้ใครให้ถึงแก่ความตายได้
     -  ให้พระพายซัดอาวุธเข้าปากนางสวาหะ จนเกิดเป็นหนุมานทหารเอกของพระราม
     -  ขว้างงาช้างปักอกทศกัณฐ์ ขณะที่ทศกัณฐ์กำลังไล่ฆ่ากุเปรัน
     -  ยกนางดาราให้แก่สุครีพ เป็นบำเน็จในการยกเขาพระสุเมร โดยฝากนางดาราไปกับพาลี และพาลีก็สาบานว่าจะไม่ล่วงเกินนาง  แต่พาลีก็ผิดคำสาบาน ทำให้พาลีต้องเสียชีวิตด้วยศรพระราม
     -  เจ้าเมืองบาดาลชื่อวิรุณหก ไปเฝ้าพระอิศวรถูกตุ๊กแกล้อเลียน จึงขว้างตุ๊กแกด้วยสังวาล ทำให้เขาพระสุเมรุเอียง ทศกัณฐ์สามารถชลอได้ ทศกัณฐ์จึงทูลขอพระอุมาเป็นรางวัล  พระอิศวรจำเป็นต้องยกให้ แต่ทศกัณฐ์ไม่สามารถล่วงเกินได้ จึงได้ขอนางมณโฑไปแทน
     -  ให้ศรพรหมมาสตร์แก่อินทรชิต
     -  เกลี้ยกล่อมให้พระรามกับนางสีดาคืนดี

ทศกัณฐ์


 

         ทศกัณฐ์ เป็นกษัตริย์แห่งกรุงลงกา   นับว่าเป็นตัวเอกของเรื่องรามเกียรติ์  มีกายสีเขียว มี ๑๐ พักตร์ ๒๐ กร ทรงมงกุฏชัย ลักษณะปากแสยะ ตาโพลง  ดังโคลงที่กล่าวว่า

                   "ทศกัณฐ์สิบพักตร์ขึ้น เศียรตรี 
                   ทรงมงกุฏชัยเขียวสี อาตม์ไท้ 
                   กรยี่สิบพรศุลี ประสาทฤทธิ์ ยิ่งนา  
                   ถอดจิตจากตนได้ ปิ่นด้าว ลงกา"

         ทศกัณฐ์ เดิมเป็นยักษ์นนทกกลับชาติมาเกิด เพื่อรบกับพระนารายณ์ ซึ่งอวตารมาเกิดเป็นมนุษย์ ไม่มีใครฆ่าให้ตายได้ เพราะทศกัณฐ์ถอดดวงใจใส่กล่อง ฝากไว้กับพระฤาษีโบุตรผู้เป็นอาจารย์  ทศกัณฐ์มีนิสัยเจ้าชู้ มีชายาและนางสนมมากมาย  แต่ถึงกระนั้นเมื่อรู้ว่านางสีดาเป็นหญิงที่มีความงดงามมาก  แม้นางจะมีพระสวามีอยู่แล้ว ก็ยังลักพาตัวไป  จึงเป็นสาเหตุให้ต้องทำศึกกับพระราม จนญาติมิตรล้มตายไปเป็นจำนวนมาก  และในที่สุดตนเองก็ถูกพระรามฆ่าตาย


 

นางมณโฑ 


 


       นางมณโฑ คือ พระมเหสีของทศกัณฐ์  มีชาติกำเนิดเดิมเป็นกบ อาศัยอยู่ใกล้อาศรมของพระฤาษี ๔ ตน พระฤาษีมักจะให้ทานน้ำนมนางกบอยู่เสมอ  วันหนึ่ง นางกบเห็นนางนาคมาคายพิษใส่อ่างน้ำนม เพื่อฆ่าพระฤาษีทั้ง ๔ นางจึงสละชีวิตกระโดดลงไปกินนมในอ่างจนตาย  พระฤาษีได้ชุบชีวิตนางให้ฟื้นขึ้นเพื่อถามเรื่องราว เมื่อทราบความจริงแล้ว จึงชุบนางกบให้เป็นมนุษย์ มีความสวยงามมาก ตั้งชื่อให้ว่า มณโฑ (แปลว่ากบ)  แล้วนำนางไปถวายพระอุมาบนสวรรค์  ต่อมาพระอิศวรประทานนางมณโฑให้แก่ทศกัณฐ์ เป็นรางวัลตอบแทนที่ยกเขาไกรลาสให้ตั้งตรงเหมือนเดิมได้  แต่ถูกพาลีชิงนางไประหว่างทาง นางต้องเป็นภรรยาของพาลีจนตั้งครรภ์  พระฤาษีอังคตจึงสั่งให้คืนนางให้แก่ทศกัณฐ์ โดยผ่าท้องนำทารกไปฝากไว้ในท้องแพะ ต่อมาจึงเกิดมาเป็นองคต

 

 

พระอุมาเทวี


 
        พระอุมาเทวี เป็นมเหสีของพระอิศวร มีสองภาคคือภาคใจดีกับภาคดุร้าย พระอุมาในภาคใจดีเป็นเป็นหญิงสาวที่มีรูปโฉมงดงามมาก ส่วนในภาคดุร้าย จะมีรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว มีหัวกะโหลกมนุษย์ห้อยที่พระศอ มี ๑๐ กร แต่ละกรถืออาวุธต่างๆ กัน  ทั้งยังมีจิตใจโหดเหี้ยมมาก  แม้แต่พระอิศวรเองก็ยังเกรงพระอุมาในภาคดุร้ายนี้  พระนามของพระอุมาในภาคดุร้าย มีชื่อเรียกอย่างอื่น เช่น ทุรคา  กาลี  จัณฑี

 


พระนารายณ์


 
        พระนารายณ์ เป็นเทวดาผู้เป็นใหญ่ฝ่ายปราบปราม มีกายเป็นสีดอกตะแบก มี ๔ กร ซึ่งกรทั้ง ๔ นั้น ถืออาวุธต่างๆ กัน คือ คทา  ตรี  จักร  สังข์ ทรงมงกุฎชัย(ชฎาเดินหน) ประทับอยู่กลางเกษียรสมุทรบนหลังพญานาค ชื่ออันตนาคราชพระมเหสีของพระองค์ คือ พระลักษมี ทรงใช้ครุฑเป็นพาหนะ  พระนารายณ์ มีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก เช่น พระทรงครุฑ พระสี่กร  พระทรงสังข์  พระวิษณุ  พระธราธร  พระสังขกร


พระอินทร์ 


 
 

        พระอินทร์ คือ เทวดาผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กายสีเขียว มีพระเนตรถึงพันดวง ใช้วัชระ(สายฟ้า) เป็นอาวุธ  มีช้างเอราวัณเป็นพาหนะ  พระองค์มีมเหสี ๔ องค์ คือ สุจิตรา สุธรรมา สุนันทา และสุชาดา พระอินทร์เป็นผู้ดูแลทุกข์สุขของมนุษย์โลก  ยามใดที่มีเรื่องเดือดร้อนขึ้นบนโลกมนุษย์ อาสนะของพระองค์ที่เคยอ่อนนุ่ม ก็จะแข็งกระด้าง หรือบางครั้งก็ร้อนจนไม่สามารถประทับอยู่ได้พระอินทร์มีชื่อเรียกอย่างอื่น เช่น ท้าวสหัสนัยน์ ท้าวโกลีย์ ท้าวสักกะ เทวราช อมรินทร์ ศักรินทร์ มัฆวาน เพชรปาณี   


 
พิเภก


 
       พิเภก คือ เทพบุตรเวสสุญาณ จุติลงมาเกิดเพื่อช่วยพระรามปราทศกัณฐ์  มีกายสีเขียว เป็นน้องของทศกัณฐ์มีความรู้ทางโหราศาสตร์อย่างยอดเยี่ยม  สามารถทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำเมื่อทศกัณฐ์ลักพานางสีดามา พิเภกได้ทูลตักเตือน และแนะนำให้ส่งนางสีดาคืนไป ทำให้ทศกัณฐ์โกรธมาก จนขับไล่พิเภกออกไปจากเมือง  พิเภกจึงไปสวามิภักดิ์กับพระราม ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ จนกระทั่งพระรามชนะสงคราม  หลังจากเสร็จศึกแล้ว พระรามได้สถาปนาให้พิเภกเป็นกษัตริย์ครองกรุงลงกา มีพระนามว่า ท้าวทศคีรึวงศ์
 

อินทรชิต


 
        อินทรชิต เป็นยักษ์มีกายสีเขียว เป็นโอรสของทศกัณฐ์กับนางมณโฑ เดิมชื่อรณพักตร์  เมื่อสามารถรบชนะพระอินทร์ได้ ทศกัณฐ์พอใจมากจึงเปลี่ยนชื่อให้ว่า อินทรชิต อินทรชิตมีชายาชื่อ สุวรรณกันยุมา  มีโอรส ๒ องค์ คือ ยามลิวันและกันยุเวก มีศรนาคบาศ ศรพรหมาสตร์ และศรวิษณุปาฌัมเป็นอาวุธ  ทั้งยังสามารถแปลงกายเป็นพระอินทร์ได้อีกด้วย  พระพรหมเคยประทานพรให้ว่า เวลาจะตายต้องตายบนอากาศ และอย่าให้ศีรษะขาดตกถึงพื้น มิฉะนั้นจะกลายเป็นไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก  ต้องใช้พานแว่นฟ้าของพระพรหมมารองรับ โลดจึงจะปลอดภัย  ดังนั้น เมื่อพระลักษมณ์จะแผลงศรไปตัดคออินทรชิต จึงตรัสสั่งให้องคตเอาพานแว่นฟ้ามาคอยรับ
 

กุมภกรรณ 


 
        กุมภกรรณ เป็นยักษ์มีกายสีเขียว มีหอกโมกขศักดิ์เป็นอาวุธ ได้ชื่อว่า กุมกรรณ (หูหม้อ) เพราะมีร่างกายใหญ่โตจนเอาหม้อใส่ไว้ในหูได้ กุมภกรรณ เป็นน้องร่วมมารดาของทศกัณฐ์ โดยเป็นพี่ของพิเภก  ครั้งหนึ่ง กุมภกรรณออกรบกับพระลักษมณ์ ได้พุ่งหอกโมกขศักดิ์ไปถูกพระลักษมณ์จนสลบ  แต่พิเภกและหนุมานช่วยแก้ไขให้ฟื้นได้  ต่อมา กุมภกรรณได้ทำพิธีทดน้ำ โดยเนรมิตรกายให้ใหญ่โตขวางทางน้ำไว้ เพื่อให้กองทัพของพระรามอดน้ำตาย แต่ถูกหนุมานทำลายพิธี
ครั้งสุดท้าย กุมภกรรณออกรบกับพระราม ถูกศรของพระรามจนเสียชีวิต

หนุมาน


 
        หนุมาน เป็นลิงเผือก (กายสีขาว)  มีลักษณะพิเศษ คือ มีเขี้ยวแก้วอยู่กลางเพดานปาก มีกุณฑลขนเพชร สามารถแผลงฤทธิ์ให้มีสี่หน้าแปดมือ แลหาวเป็นดาวเป็นเดือนได้  ใช้ตรีเพชร (สามง่าม) เป็นอาวุธประจำตัว (จะใช้เมื่อรบกับยักษ์ตัวสำคัญๆ)  มีความเก่งกล้ามาก สามารถแปลงกายหายตัวได้ ทั้งยังอยู่ยงคงกระพัน แม้ถูกอาวุธของศัตรูจนตาย เมื่อมีลมพัดมาก็จะฟื้นขึ้นได้อีก เมื่อนางสวาหะถูกมารดาสาปให้ไปยืนตีนเดียวเหนี่ยวกินลม พระอิศวรจึงบัญชา ให้พระพายนำเทพอาวุธของพระองค์ไปซัดเข้าปากของนาง นางจึงตั้งครรภ์และคลอดบุตรเป็นลิงเผือก เหาะออกมาจากปาก ได้ชื่อว่า หนุมาน  หนุมานจึงถือว่าพระพายเป็นพ่อของตน หนุมานได้ถวายตัวเป็นทหารเอกของพระราม ช่วยทำการรบจนสิ้นสงคราม


 
สุพรรณมัจฉา


 
        สุพรรณมัจฉา เป็นลูกของทศกัณฐ์กับนางปลา  รูปร่างท่อนบนของนางจึงเป็นมนุษย์ ส่วนท่อนล่างเป็นปลาเมื่อพระรามสั่งหนุมานให้พาบริวารลิงขนหินมาถมสมุทร เพื่อทำถนนข้ามไปกรุงลงกา  ทศกัณฐ์ก็สั่งให้นางสุพรรณมัจฉากับพวกปลาทั้งหลาย ช่วยกันขนหินไปทิ้ง หนุมานมีความสงสัยดำน้ำลงไปดูจึงพบนางสุพรรณมัจฉา ทั้งสองมีความรักต่อกัน นางจึงยอมเป็นภรรยาของหนุมาน  ต่อมานางสุพรรณมัจฉาตั้งครรภ์ และคลอดบุตรชายชื่อมัจฉานุ


 
มัจฉานุ


 
        มัจฉานุ เป็นบุตรของหนุมานกับนางสุพรรณมัจฉา  จึงมีร่างกายเป็นลิงเผือกเช่นเดียวกับหนุมาน แต่มีหางเป็นปลา  เมื่อนางสุพรรณมัจฉาคลอดมัจฉานุออกมาแล้ว ก็กลัวทศกัณฐ์จะรู้ จึงนำมัจฉานุไปทิ้งที่ชายหาด  ไมยราพณ์ซึ่งเป็นญาติกับทศกัณฐ์มาพบเข้า มีความสงสาร จึงได้นำไปเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม  ต่อมาไมยราพณ์ลักพาตัวพระรามมาไว้ที่เมืองบาดาล หนุมานติดตามมาด้วย  ได้พบกับมัจฉานุจึงต่อสู้กัน แต่ไม่สามารถเอาชนะกันได้  จนกระทั่งได้รู้ว่าเป็นพ่อลูกกัน


 

นิลพัท


 
        นิลพัท เป็นลิงมีกายสีน้ำรัก (สีดำสนิท)  มีเขี้ยวแก้วเช่นเดียวกับหนุมาน มีฤทธิ์เดชเก่งกล้ามากเมื่อพระรามให้พวกวานรทำถนนข้ามไปกรุงลงกา นิลพัทกับหนุมานเกิดทะเลาะวิวาท และต่อสู้กัน แต่ไม่มีใครเอาชนะได้ เพราะต่างก็มีฤทธิ์เดชเท่าเทียมกัน  พระรามกริ้วมาก สั่งให้นิลพัทไปรักษาเมืองขีดขิน คอยส่งเสบียงอาหารให้กองทัพของพระราม  ส่วนหนุมานก็ให้ทำถนนให้เสร็จภายใน ๗ วัน

องคต


 
        องคต เป็นลิงมีกายสีเขียว  เป็นบุตรของพาลี กับนางมณโฑ  เมื่อพาลีแย่งนางมณโฑมาจากทศกัณฐ์แล้ว  นางต้องเป็นภรรยาของพาลีจนกระทั่งตั้งครรภ์  ทศกัณฐ์ไปฟ้องฤาษีอังคัตอาจารย์ของพาลี จนพาลียอมคืนนางมณโฑให้แต่ขอลูกไว้  ฤาษีอังคัตจึงทำพิธีเอาลูกออกจากท้องนางมณโฑ ไปใส่ในท้องแพะ  เมื่อครบกำหนดคลอด พระฤาษีก็ทำพิธีให้ออกจากท้องแพะ ให้ชื่อว่า องคต  ส่วนทศกัณฐ์ยังผูกใจเจ็บ จึงแปลงกายเป็นปูยักษ์คอยอยู่ก้นแม่น้ำ เพื่อจะฆ่าองคตขณะทำพิธีลงสรง แต่ถูกพาลีจับได้ แล้วเอามาผูกไว้ให้ลูกลากเล่นอยู่เจ็ดวันจึงปล่อยไป เมื่อสุครีพขอให้พระรามมาช่วยปราบพาลี  ก่อนที่พาลีจะสิ้นใจตาย ได้สำนึกตนว่าทำผิดต่อสุครีพ ทั้งไม่รักษาคำสัตย์สาบาน  จึงได้ทูลฝากฝังสุครีพและองคตไว้กับพระราม  องคตได้ช่วยทำศึกกับกองทัพของทศกัณฐ์อย่างเต็มความสามารถพระรามเคยส่งองคตเป็นทูตไปเจรจากับทศกัณฐ์ เพื่อทวงนางสีดาคืน แม้จะไม่สำเร็จ แต่ก็ได้แสดงความเฉลียวฉลาดและความกล้าหาญ  ให้ประจักษ์แก่ตาของทศกัณฐ์


 

สุครีพ


 
        สุครีพ เป็นลิงมีกายสีแดง เป็นลูกของพระอาทิตย์กับนางกาลอัจนา สุครีพมีศักดิ์เป็นน้าของหนุมาน  เมื่อพระฤาษีโคดมรู้ความจริงจากนางสวาหะว่า สุครีพไม่ใช่ลูกของตน แต่เป็นลูกชู้ จึงสาปให้กลายเป็นลิงพร้อมกับพาลีผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งเป็นลูกของพระอินทร์ แล้วไล่ให้เข้าป่าไป  ต่อมาสุครีพได้เป็นทหารเอกของพระราม ได้รับความไว้วางพระทัยจากพระราม ให้เป็นผู้จัดการกองทัพ ออกสู้รบกับกองทัพของกรุงลงกาอยู่เสมอ
 

พาลี


 
        พาลี เป็นลิงมีกายสีเขียว เป็นโอรสของพระอินทร์กับนางอัจนา  ถูกฤาษีโคดมสาปให้กลายเป็นลิงพร้อมๆ กับสุครีพผู้เป็นน้อง  หลังจากที่ฤาษีรู้ความจริงว่าทั้งสองเป็นลูกชู้ พระอินทร์สงสารโอรสที่ต้องซัดเซพเนจรอยู่ในป่า จึงสร้างเมืองขีดขินให้ปกครอง  และตั้งนามโอรสว่า พระยากากาศ ภายหลังได้นามใหม่ว่า พาลี  แล้วให้สุครีพเป็นมหาอุปราช  ครั้งหนึ่ง พระอิศวรฝากนางดารามากับพาลี เพื่อเป็นรางวัลให้สุครีพ แต่พาลีกลับยึดนางไว้เป็นภรรยาของตนเสียเอง  และต่อมาพาลีก็ยังแย่งนางมณโฑมาจากทศกัณฐ์ ขณะที่ทศกัณฐ์พานางเหาะผ่านเมืองขีดขิน  ภายหลังพาลีถูกพระรามสังหารด้วยศรจนสิ้นชีวิต