ดนตรีคลาสสิกกับ เป้ Vie Trio
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 8.4K views



เป้-ทวีเวท ศรีณรงค์  นักไวโอลิน วง Vie Trio มาร่วมแบ่งปันเรื่องรูปแบบดนตรีคลาสสิกในประเทศต่างๆ

ดนตรีคลาสสิกของแต่ละประเทศแตกต่างกันหรือไม่
การเล่นดนตรีคลาสสิกของแต่ละประเทศก็จะแตกต่างกันไปนะครับ คือตอนนี้ดนตรีคลาสสิกมันเป็นดนตรีของโลกแล้ว เมื่อหลายร้อยปีก่อนอาจจะจำกัดเป็นแค่ดนตรีของทางตะวันตกอย่างเดียว หลังจากนั้นมันก็เริ่มย้ายไปทางฝั่งอเมริกาซึ่งได้รับอิทธิพลของทางยุโรปไปอีกที และตอนนี้ มันก็เดินทางมาถึงทางฝั่งเอเชีย เราเป็นเสือตัวใหม่ในวงการดนตรีคลาสสิกแล้วครับ ตอนนี้ซุปเปอร์สตาร์ดนตรีคลาสสิกของฝั่งเอเชียมีเยอะแยะไปหมด
การเล่นดนตรีคลาสสิกก็เลยจะขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละประเทศเลย ผมอยากจะเทียบให้เห็นถึงภาษาด้วยซ้ำ บางทีเราไปเห็นเด็กคนจีนเล่นดนตรีคลาสสิก การเล่นของเขาอาจจะเหมือนการพูดภาษาจีนของเขานิดๆด้วย แต่ถ้าเอาใกล้ๆ อย่างของประเทศไทย ผมรู้สึกว่าพวกเราจะเล่นกันแบบสบายๆ เพราะคนไทยเป็นคนสบายๆ ภาษาที่เราพูดก็ไม่ได้เป็นภาษาที่ขึ้นสูงลงต่ำมากมาย เป็นภาษาที่ฟังแล้วค่อนข้างจะรื่นหู ไม่เหมือนภาษาจีนที่ค่อนข้างขึ้นลง กระโชกโฮกฮากหน่อย สไตล์การเล่นดนตรีก็เลยจะขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมพอสมควรครับ
ทีนี้ถ้าเราต้องการสัมผัสดนตรีคลาสสิกจริงๆ ก็อาจจะต้องไปสัมผัสที่ต้นตอของมัน ซึ่งก็คือยุโรป แต่ตอนนี้ถามว่าสำคัญไหมที่ต้องไปอยู่ยุโรปเลย ไม่สำคัญเลย คนจากเมืองอะไรก็ไม่รู้ของประเทศจีนอาจจะชนะการแข่งเปียโนรายการที่ใหญ่ที่สุดของโลกก็เกิดขึ้นมาแล้ว เขาสามารถเล่นได้เข้าถึงดนตรีมากกว่าคนที่เรียนอยู่ยุโรปด้วยซ้ำ ดนตรีตอนนี้ไม่มีพรมแดนแล้วครับ มันขึ้นอยู่กับว่าเด็กคนนั้นได้สัมผัสอะไร ได้ฟังอะไรมา แล้วตัวเขามีเซนส์ทางดนตรีมากน้อยแค่ไหน

ผู้ชมในประเทศต่างๆ วิธีการชมดนตรีต่างกันหรือไม่
ต่างกันครับ การดูคอนเสิร์ตของคนในแต่ละประเทศนี่เป็นอะไรที่น่าสนใจ ในยุโรปมันเป็นวัฒนธรรมของเขาอยู่แล้ว และในอเมริกาก็เป็นสิ่งที่เขารู้กันอยู่แล้วว่าดูคอนเสิร์ตแต่ละชนิดดูกันยังไง ผมไม่ได้พูดถึงแค่คอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกนะครับ ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตแจ๊ซหรือป๊อบ มันก็จะมีวัฒนธรรมการดูที่แตกต่างกันไปครับ
จริงๆแล้วการดูคอนเสิร์ตคลาสสิกมันก็ไม่ต่างอะไรกับการดูหนังครับ คือต้องตั้งใจดูดีเทล ดูการแสดงของเขา จะมาดูไปคุยโทรศัพท์ไปก็ไม่ถูก เหมือนเวลาคนคุยกับเพื่อนไปดูหนังไป ก็เป็นการรบกวนคนรอบข้าง ดังนั้นการดูดนตรีคลาสสิกเขาเลยดูกันเงียบๆ เพราะมันต้องใช้จินตนาการสูง มันต้องนึกถึงภาพว่ามันเป็นยังไง การชมไปด้วยคุยไปด้วยมันทำให้ หนึ่งเลยจินตนาการภาพไม่ได้ เพราะไม่ได้ใช้หูฟัง สองคือทำให้คนรอบข้างเสียสมาธิไปด้วย แต่ถ้าไปฟังแจ๊ซก็จะเป็นอีกอารมณ์หนึ่ง อาจจะคุยได้บ้าง แต่คนที่ไปฟังแจ๊ซจริงๆ เขาจะฟังเงียบๆครับ ส่วนคอนเสิร์ตป๊อบ มันไม่ได้อาศัยการแสดงบนเวทีอย่างเดียว อันนี้ผมกล้าพูดได้ เพราะตั้งแต่ทำ Vie Trio มาผมก็แสดงป๊อบมาเยอะ มันคือการร่วมมือกันระหว่างคนดูและนักแสดงบนเวที สังเกตว่านักดนตรีจะขอความร่วมมือกับผู้ชมเสมอเวลาแสดงคอนเสิร์ตป๊อบ ในคอนเสิร์ตป๊อบ ถ้านักดนตรีสนุกอยู่คนเดียว แล้วคนดูไม่สนุกด้วย คอนเสิร์ตไม่มีทางสนุกครับ มันก็จะเป็นอีกอารมณ์หนึ่ง
เพราะฉะนั้นการสื่อสารในคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกเป็นการสื่อสารที่อาศัยการใช้โสตประสาททั้งหูและตา มากกว่าจะไปอาศัยความร่วมมือมากคนดูครับ
ส่วนความชอบหรือไม่ชอบของแต่ละประเทศก็ต่างกันไปอีก อย่างที่ญี่ปุ่นเขาจะชอบฟังแต่เพลงๆหนึ่ง เป็นเพลงคลาสสิกที่เขาจะเล่นกันอยู่ตลอดเวลา ที่อเมริกาก็จะเป็นอีกแนวเพลง ยุโรปก็จะเป็นอีกแนว เราก็ต้องดูครับว่าเราจะเสิร์ฟอาหารให้ใครกิน อย่างถ้าคุณจะมาเล่นในเมืองไทย แล้วจะเล่นเพลงที่ฟังยาก ยาวๆ คนฟังไม่เข้าใจ ทันทีเลยจะได้ประโยชน์หรือเปล่า ก็อาจจะไม่ได้มาก อาจจะทำให้คนดูรู้สึกว่าต้องปีนบันไดฟังอย่างที่เป้ฯอยู่หรือเปล่า ก็ต้องดูว่าคุณจะนำเสนอมันยังไง
อย่างถ้าผมจะนำเสนอคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกที่เมืองไทยกับในต่างประเทศ อาจจะต่างกันโดยสิ้นเชิง มันต้องดูองค์ประกอบหลายอย่างว่าจะทำยังไงให้ผู้ชมไม่เสียสมาธิ ให้รู้สึกว่าเขาอยู่กับเรา ฟังเพลงเราแล้วไม่เบื่อ มันก็เป็นการให้ความรู้กับคนเหมือนกันครับ แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตประเทศไทยของเรา เนื่องจากเราชอบเสพของนอกกันอยู่แล้ว อีกหน่อยดนตรีคลาสสิกก็จะเป็นของธรรมดา เหมือนที่ตอนนี้ดนตรีแจ๊ซเป็นเรื่องธรรมดา หรือแม้กระทั่งละครเวทีที่เป็นเรื่องธรรมดาแล้ว