เชื้อเพลิงจากฟอสซิล
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 120.4K views



น้ำมัน
               น้ำมัน เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลเกิดจากซากสัตว์และซากพืชทับถมเป็นเวลาหลายล้านปี มีองค์ประกอบของสารไฮโดรคาร์บอน  เมื่อสูบน้ำมันดิบขึ้นมาจากใต้ดินจะนำมาใช้โดยตรงไม่ได้  ต้องนำเข้าโรงกลั่น และผ่านกระบวนการผลิตที่แยกส่วนออก เป็นน้ำมันสำเร็จรูป (Petroleum Products) หลายชนิด ซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะแตกต่างกันไป เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมัน อากาศยาน น้ำมันก๊าด และน้ำมันเตา ฯลฯ



               ปริมาณน้ำมันดิบสำรองของโลกมีมากที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง คิดเป็นร้อยละ 61 ของปริมาณสำรองน้ำมันดิบทั่วโลก

               ประเทศไทยมีแหล่งน้ำมันดิบจากแหล่งกลางอ่าวไทย เช่น แหล่งเบญจมาศ แหล่งยูโนแคล แหล่งจัสมินและแหล่งบนบกได้แก่ แหล่งสิริกิติ์ จ.กำแพงเพชร โดยในปี 2550  ประเทศไทยมีการผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสท ปริมาณ 213,408 บาร์เรล/วัน  คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21 ของปริมาณการจัดหาน้ำมันดิบในประเทศไทย  ส่วนที่เหลือยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

               ในปี 2551 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ) ใช้น้ำมันผลิตไฟฟ้า ในสัดส่วนเพียง ร้อยละ 1 เท่านั้นซึ่งเป็นไปตามแผนการจัดหาไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ที่ให้ลดสัดส่วนน้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าลงเนื่องจากมีต้นทุนการผลิตสูง



               ข้อดีของการใช้นํ้ามันในการผลิตไฟฟ้า คือ ขนส่งง่าย หาซื้อได้ง่าย และเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่ได้รับการต่อต้านจากชุมชน ส่วนข้อจํากัดของการใช้นํ้ามันในการผลิตไฟฟ้า คือ ต้องนําเข้าจากต่างประเทศ ราคาไม่คงที่ขึ้นกับราคาน้ำมันของตลาดโลก ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน และไฟฟ้าที่ผลิตได้มีต้นทุนต่อหน่วยสูง

ถ่านหิน 
               ถ่านหิน เป็นเชื้อเพลิงที่เกิดจากการทับถมของซากพืชที่ขึ้นอยู่ตามที่ชื้นแฉะเป็นเวลานานหลายล้านปี  ภายใต้แรงกดดันและอุณหภูมิสูง เกิดเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่อยู่ในสถานะของแข็ง ซึ่งประกอบด้วย อะตอมของคาร์บอนไฮโดรเจน และออกซิเจนเป็นหลัก โดยอยู่ในสถานะของแข็ง 



ประเภทของถ่านหิน
ถ่านหินถูกจําแนกออกเป็น 5 ประเภทใหญ่ๆ ตามอายุการเกิดและคุณภาพ คือ

               1. พีต (Peat) เป็นวิวัฒนาการการเกิดถ่านหินขั้นแรก ที่เปลี่ยนสภาพมาจากไม้ ให้ค่าความร้อนน้อย ควันมาก  โดยมากใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงจักรผลิตไฟฟ้า
               2. ลิกไนต์ (Lignite) เป็นวิวัฒนาการการเกิดถ่านหินข้ันที่ 2 ที่เปลี่ยนสภาพมาจากพีตให้ค่าความร้อนตํ่า ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการบ่มใบยาสูบ หม้อไอน้ำ และผลิตกระแสไฟฟ้า เมื่อนํามาเผาเป็นเชื้อเพลิงจะก่อให้เกิดก๊าซหลายชนิดที่เป็นมลพิษ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ไนโตรเจนออกไซด์ (NO2) คาร์บอนมอนอกไซด์(CO)  ไฮโดรคาร์บอน(HC)  (ควันดำ) ฝุ่นและเถ้าเบา แหล่งที่พบมากในประเทศ คือ อําเภอแม่เมาะ จังหวัดลําปาง, อําเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
               3. ซับบิทูมินัส (Sub-Bituminous) เป็นถ่านหินที่ใช้เวลาในการเกิดนานกว่าลิกไนต์ มีสีนํ้าตาลถึงสีดํา ผิวมีท้ังด้านและเป็นมัน มีท้ังเนื้ออ่อนและเนื้อแข็ง มีความชื้นประมาณร้อยละ 25-30 มีคาร์บอนสูงกว่าลิกไนต์ เป็นเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพเหมาะสมในการผลิตกระแสไฟฟ้าและใช้ในอุตสาหกรรม
               4. บิทูมินัส (Bituminous) เป็นวิวัฒนาการการเกิดถ่านหินข้ันที่ 3 ที่เปลี่ยนสภาพมาจากลิกไนต์ให้ค่าความร้อนสูง ควันน้อย และเถ้าต่ำ นิยมใช้เป็นเชื้อเพลิงโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า
               5. แอนทราไซต์ (Anthracite) เป็นวิวัฒนาการการเกิดถ่านหินช้ันสูงสุดที่เปลี่ยนสภาพมาจากบิทูมินัส มีคุณภาพดีที่สุดให้ค่าความร้อนสูง ควันน้อยมากหรือเกือบไม่มีเลย ติดไฟแล้วเผาไหม้เป็นเวลานาน ส่วนใหญ่มีการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และอุตสาหกรรมที่ใช้หม้อไอนํ้า เช่น โรงงานกระดาษ และโรงงานชูรส  เป็นต้น



               ประเทศไทยมีทรัพยากรถ่านหินเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นลิกไนต์และซับบิทูมินัส ปริมาณสำรองถ่านหินลิกไนต์ ในประเทศไทย ณ เดือนธันวาคม 2550 ทั้งสิ้น 2,075 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปริมาณสำรองของเหมืองแม่เมาะ

               ในปี 2551 ประเทศไทยใช้ลิกไนต์/ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ประมาณร้อยละ 20 ของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้นมีทั้งการใช้ถ่านหินจากแหล่งในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากถ่านหินในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการโดยนำเข้าจากอินโดนีเซียมากที่สุด

               ข้อดีของถ่านหิน คือ มีต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าต่ำกว่าการใช้เชื้อเพลิงหลัก เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันและพลังงานหมุนเวียน และมีปริมาณสำรองมาก สามารถใช้ได้ไม่ต่ำกว่า 220 ปี  แต่ก็มีข้อจำกัดเนื่องจากการเผาไหม้ถ่านหินเป็นสาเหตุสำคัญของฝนกรดและภาวะโลกร้อน จึงต้องใช้ระบบควบคุมมลภาวะทางอากาศที่มีราคาแพงและถ่านหินยังคงมีภาพลักษณ์ ที่น่ากลัวในสายตาประชาชนบางส่วน ซึ้งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด (Clean Coal Technology) ทำให้การผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด



ก๊าซธรรมชาติ
               ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงปิโตรเลียมชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนเกิดจากการทับถมของสิ่งมีชีวิตนับล้านปี ประกอบด้วยก๊าซมีเทนเป็นหลักมีคุณสมบัติเป็นเชื้อเพลิงสะอาด มีการเผาไหม้สมบูรณ์จึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าปิโตรเลียมประเภทอื่นๆ



               เราสามารถใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติได้ใน 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ ใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยตรงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า และนำไปผ่านกระบวนการแยกในโรงแยกก๊าซฯ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป เช่นเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ เป็นก๊าซหุงต้มในครัวเรือน เป็นต้น ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศไทย ผลิตได้เองจากแหล่งในประเทศ ประมาณร้อยละ 74 และนำเข้าจากพม่า ร้อยละ 26 นอกจากนั้นปัจจุบันประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตกระแสไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงมากถึงร้อยละ 70 ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น นับเป็นความเสี่ยงด้านความมั่นคงในการจัดหาพลังงาน ประกอบกับราคาก๊าซธรรมชาติที่ไม่คงที่ ต้องผูกติดกับราคาน้ำมัน และยังเป็นการเร่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศที่มีจำกัดให้หมดเร็วเกินควร



               ข้อดีของการใช้ก๊าซธรรมชาติ คือ เป็นเชื้อเพลิงปิโตรเลียมที่นำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูง มีการเผาไหม้สมบูรณ์ มีความปลอดภัยในการใช้งาน เนื่องจากเบากว่าอากาศจึงลอยขึ้นเมื่อเกิดการรั่ว นอกจากนี้ก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่ที่ใช้ในประเทศไทยผลิตได้เองจากแหล่งในประเทศ จึงช่วยลดการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงอื่นๆ และประหยัดเงินตราต่างประเทศได้มาก แต่ก็มีข้อจำกัด คือ ราคาก๊าซธรรมชาติไม่คงที่ผูกติดกับราคาน้ำมันซึ่งผันแปรอยู่ตลอดเวลา ประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนที่สูงมากจนเกิดความเสี่ยงของแหล่งพลังงาน นอกจากนี้กำลังสำรองก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย สามารถใช้ได้เพียง 30 ปี

ขอขอบคุณข้อมูลจากสำนักงานโยบายและแผนพลังงานกระทรวงพลังงาน
https://www.eppo.go.th