ป่าไม้ในเมืองไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 55.9K views



ป่า
ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ หมายถึง ที่ดินที่ไม่มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ครอบครองตามกฎหมายที่ดิน

ป่าไม้ (Forest)
หมายถึง บริเวณที่มีต้นไม้หลายชนิด ขนาดต่างๆ ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นและกว้างใหญ่พอที่จะมีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้น เช่น ความเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศ ความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ มีสัตว์ป่าและสิ่งมีชีวิตอื่นซึ่งมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

ป่าไม้ในประเทศไทย สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. ป่าไม่ผลัดใบ (Evergreen Forest) ป่าประเภทนี้มีประมาณ 30% ของเนื้อที่ป่าทั้งประเทศ สามารถแบ่งย่อยออกไปได้อีก ดังนี้

1.1 ป่าดิบชื้น (Tropical Rain Forest)
มีอยู่ทั่วไปในทุกภาคของประเทศ และมากที่สุดแถบชายฝั่งภาคตะวันออก เช่น ระยอง จันทบุรี และที่ภาคใต้ กระจัดกระจาย ตามความสูงตั้งแต่ 0 - 100 เมตรจากระดับน้ำทะเลซึ่งมีปริมาณน้ำฝนตกมากกว่าภาคอื่น ๆ ลักษณะทั่วไปมักเป็นป่ารกทึบ ประกอบด้วยพันธุ์ไม้มากมายหลายร้อยชนิด ต้นไม้ส่วนใหญ่เป็นวงศ์ยาง ไม้ตะเคียน กะบาก อบเชย จำปาป่า ส่วนที่เป็นพืชชั้นล่างจะเป็นพวกปาล์ม ไผ่ ระกำ หวาย บุกขอน เฟิร์น มอส กล้วยไม้ป่าและ เถาวัลย์ชนิดต่างๆ

1.2 ป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest)
มีอยู่ทั่วไปตามภาคต่าง ๆ ของประเทศ ตามที่ราบเรียบหรือตามหุบเขา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 500 เมตร และมีปริมาณน้ำฝนระหว่าง 1,000-1,500 ม.ม. พันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น ยางแดง มะค่าโมง เป็นต้น พื้นที่ป่าชั้นล่างจะไม่หนาแน่นและค่อนข้างโล่งเตียน

1.3 ป่าดิบเขา (Hill Evergreen Forest)
เป็นป่าที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป ส่วนใหญ่อยู่บนเทือกเขาสูงทางภาคเหนือ และบางแห่งในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นที่ อช.ทุ่งแสลงหลวง และ อช.น้ำหนาว เป็นต้น มีปริมาณน้ำฝนระหว่าง 1,000 ถึง2,000 ม. พืชที่สำคัญได้แก่ไม้วงศ์ก่อ เช่น ก่อสีเสียด ก่อตาหมูน้อย อบเชย กำลังเสือโคร่ง เป็นต้น บางทีก็มีสนเขาขึ้นปะปนอยู่ด้วย ส่วนไม้พื้นล่างเป็นพวกเฟิร์น กล้วยไม้ดินและมอส ป่าชนิดนี้มักอยู่บริเวณต้นน้ำลำธาร

1.4 ป่าสน (Coniferous Forest)
มีกระจายอยู่เป็นหย่อม ๆ ตามภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง เพชรบูรณ์ และที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดเลย ศรีสะเกษ สุรินทร์ และอุบลราชธานี มีอยู่ตามที่เขาและที่ราบบางแห่งที่มีระดับสูงจากน้ำทะเลตั้งแต่ 200 เมตรขึ้นไป บางครั้งพบขึ้นปนอยู่กับป่าแดงและป่าดิบเขา ป่าสนมักขึ้นในที่ดินไม่อุดมสมบูรณ์ เช่น สันเขาที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ประเทศไทยมีสนเขาเพียง 2 ชนิดเท่านั้น คือสนสองใบและสนสามใบ และพวกก่อต่าง ๆ ขึ้นปะปนอยู่ พืชชั้นล่างมีพวกหญ้าต่าง ๆ

1.5 ป่าพรุหรือป่าบึงน้ำจืด (Fresh Water Swamp Forest)
ระบบนิเวศของป่าพรุนับว่ามีความแตกต่างจากแหล่งอื่นค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นระบบที่เป็นกึ่งป่าบกและกึ่งระบบของบึงน้ำ ป่าพรุในประเทศไทยซึ่งเป็นพรุเขตร้อนมีพลังงานเพื่อการสร้างอินทรียวัตถุสูง และธาตุอาหารในดินก็มีมากพอสมควรแต่ปัญหาที่กำหนดระดับการสร้างคือ สภาพดินที่เป็นกรดจัดและมีน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง การสร้างผลผลิตมูลฐานทั้งหมดส่วนใหญ่เกิดขึ้นในไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ในระดับเรือนยอดชั้นบนสุดและชั้นรอง ดังนั้นผลผลิตสดและใหม่ที่จะถ่ายทอดไปสู่สัตว์จึงขึ้นไปอยู่ในระดับสูง ด้วยเหตุนี้จึงมีสัตว์ที่หากินในชั้นเรือนยอด (arboreal species) มากกว่าปกติ ในส่วนที่เป็นพื้นป่าเนื่องจากมีน้ำขังระยะยาวนานเป็นส่วนใหญ่พืชที่อยู่ชิดดินจึงมีน้อย ยกเว้นในช่องว่างทำให้ผลผลิตมูลฐานมีน้อย นอกจากนี้เนื่องจากการสกัดกั้นพลังงานแสงจากเรือนยอดชั้นบนทำให้พืชคลุมดินขึ้นได้ยากและโตช้า ด้วยเหตุนี้ปริมาณสัตว์ที่เป็นผู้เสพอินทรียวัตถุที่ผิวดินจึงมีค่อนข้างน้อยกว่าป่าชนิดอื่น ในส่วนของผู้ย่อยสลายนับได้ว่ามีการดำเนินไปได้ช้ามาก เห็นได้จากการทับถมของซากพืชที่หนาเกินกว่า 40 เซนติเมตรขึ้นไป สาเหตุที่ทำให้ซากพืชสลายตัวยากเนื่องจากความเป็นกรดของน้ำ ที่ท่วมขังอยู่โดยตลอดซึ่งสกัดกั้นการย่อยสลายของจุลินทรีย์ การขาดสัตว์ในดินและน้ำค่อนข้างนิ่งทำให้การคลุกเคล้าของซากพืชกับดินแร่ธาตุชั้นล่างเป็นไปโดยยาก อย่างไรก็ตามเนื่องจากพื้นที่พรุเป็นที่ลุ่มจึงเป็นแหล่งสะสมตะกอนจากป่าบกข้างเคียงทำให้ปัญหาการติดขัดของการหมุนเวียนของธาตุอาหารพืชหมดไป แต่ถ้าหากมีการทำลายป่าชนิดนี้ลงและเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ปลูกพืชล้มลุก สภาพปัญหาเกี่ยวกับดินเปรี้ยวก็จะรุนแรงยิ่งขึ้น อาจกล่าวได้ว่าสังคมป่าพรุเป็นระบบนิเวศที่ค่อนข้างเปราะบาง มีการเปลี่ยนแปลงและเสียหายได้ง่าย การพัฒนาใด ๆ ทั้งภายในและบริเวณโดยรอบต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

1.6 ป่าชายเลน (mangrove forest หรือ intertidal forest)
ระบบนิเวศของป่าชายเลนจัดได้ว่าเป็นระบบที่เปิด ธาตุอาหารต่าง ๆ ที่หลั่งไหลเข้าสู่ระบบนิเวศนี้ส่วนใหญ่ลงมากับสายน้ำจากระบบนิเวศที่อยู่ในแหล่งต้นน้ำ โดยเฉพาะป่าบก เมือง พื้นที่เกษตรกรรม และแหล่งอุตสาหกรรม ธาตุอาหารเหล่านั้นถูกเปลี่ยนรูปเป็นผลผลิตอินทรียวัตถุพอกพูนในพืชและสัตว์ถูกเก็บเกี่ยวในรูปของเนื้อไม้ โดยเฉพาะถ่าน ไม้ฟืน เปลือกไม้ และสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะ กุ้ง หอย ปู ปลา นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นำกลับไปใช้และปลดปล่อยในระบบนิเวศอื่น ๆ ที่อยู่ในแผ่นดินต่อไป ธาตุอาหารบางอย่างอาจวนเวียนกลับลงมาอีกแต่อีกไม่น้อยอาจไม่หวนกลับมา อย่างไรก็ตามระบบนิเวศป่าชายเลนมักเป็นผู้ได้มากกว่าผู้เสีย จึงมักคงความสมบูรณ์สูงตลอดไป ลักษณะโครงสร้างของป่าชายเลนมีส่วนที่แตกต่างจากป่าบกอื่น ๆ อยู่มากคือ องค์ประกอบของผู้สร้างอินทรียวัตถุ (producers) มิได้มีเฉพาะพืชชั้นสูงเพียงอย่างเดียว แต่มีแพลงตอนพืชที่มีส่วนการผลิตต่อปีค่อนข้างสูงด้าย นอกจากนี้ยังมีสาหร่ายอีกหลายชนิดที่มีการผลิตอินทรียวัตถุได้เช่นกัน สนิท (2532) รายงานว่าป่าชายเลนที่จังหวัดสตูลมีผลผลิตสุทธิเฉลี่ยประมาณ 10.56-23.46 กิโลกรัมคาร์บอนต่อเฮกแตร์ต่อวัน ส่วนการร่วงหล่นของซากพืชในป่าชนิดนี้อยู่ในระหว่าง 3.44 ถึง 9.31 ตันต่อเฮกแตร์ต่อปี และมวลชีวภาพยืนต้นประมาณ 20.06-710.81 ตันต่อเฮกแตร์โดยน้ำหนักแห้ง ความแปรผันขึ้นกับแถบสังคมและสภาพท้องถิ่น ส่วนผลผลิตขั้นมูลฐานของแพลงตอนในน้ำใกล้ป่าชายเลนตกประมาณ 4.69 ตันคาร์บอนต่อเฮกแตร์ต่อปี (Wium-Anderson, 1979) การผุสลายในป่าชายเลน (decomposition) ผู้สลายที่สำคัญในป่าชายเลนได้แก่ จุลินทรีย์ (microorganism) เชื้อรา (fungi) นอกจากนี้ยังมีผู้ช่วยย่อยสลายที่ทำให้อินทรียวัตถุกลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยอีกหลายชนิด โดยเฉพาะแมลงและคัสเตซีน (crustacean) เช่น ปู หอย กุ้ง เพรียง เป็นต้น


1.7 ป่าชายหาด (Beach Forest)
เป็นป่าที่มีอยู่ตามชายฝั่งทะเลที่เป็นดินกรวด ทรายและโขดหินพันธุ์ไม้จะต่างจากที่ที่น้ำท่วมถึง ถ้าชายฝั่งเป็นดินทรายก็มีสนทะเล พืชชั้นล่างก็จะมีพวกตีนนก และพันธ์ไม้เลื้อยอื่น ๆ อีกบางชนิด ถ้าเป็นกรวดหรือหิน พันธุ์ไม้ที่ขึ้นส่วนใหญ่ก็เป็นพวกกระทิง หูกวาง เป็นต้น

2. ป่าผลัดใบ (Deciduous Forest) แบ่งย่อยได้ดังนี้
2.1 ป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest)
ป่าชนิดนี้มีอยู่ทั่วไปในภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคใต้ไม่ปรากฏว่ามีอยู่ ป่าชนิดนี้มักจะมีไม้สักขึ้นอยู่ปะปนอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะทางภาคเหนือและทางภาคกลางบางแห่ง ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีป่าเบญจพรรณอยู่น้อย ลักษณะของป่าเบญจพรรณ โดยทั่วไปเป็นป่าโปร่งประกอบด้วยต้นไม้ขนาดกลางเป็นส่วนมาก พื้นที่ป่าไม่รกทึบมีไม้ไผ่ชนิดต่าง ๆ ขึ้นอยู่มาก ในฤดูแล้งต้นไม้ทั้งหมดจะพากันผลัดใบและมีไฟป่าไหม้อยู่ทั้งปี มีพันธุ์ไม้ขึ้นคละกันมากชนิด เช่น ไม้สัก แดง ประดู่ มะค่าโมง ชิงชัน ตะแบก เป็นต้น พืชชั้นล่างก็มีพวกหญ้า พวกกก ไม้ไผ่ชนิดต่าง ๆ เช่น ไผ่ป่า ไผ่รวก ไผ่นวล เป็นต้น

2.2  ป่าเต็งรัง (Deciduous Dipterocarp Forest)
ป่าชนิดนี้มีอยู่มากทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคใต้และชายทะเลด้านตะวันออกไม่ปรากฏว่ามีอยู่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนับว่ามีมากที่สุด คือประมาณ 70-80% ของป่าชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในภาคนี้ทั้งหมด ป่าชนิดนี้มีอยู่ทั่วไปทั้งที่ราบและที่เขาสูง ดินมักเป็นทรายและลูกรัง ซึ่งจะมีสีค่อนข้างแดง ในบางแห่งจึงเรียกว่าป่าแดง ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีป่าขึ้นตามเนินที่เรียกว่าโคก จึงเรียกว่าป่าโคก ลักษณะป่าชนิดนี้เป็นป่าโปร่งมีต้นไม้ขนาดเล็กและขนาดกลางขึ้นอยู่กระจัดกระจาย พื้นป่าไม่รกทึบ มีหญ้าชนิดต่าง ๆ และไม้ไผ่ขึ้นอยู่โดยทั่วไป พันธุ์ไม้ในป่านี้ได้แก่ เต็ง รัง พะยอม มะขามป้อม เป็นต้น

2.3 ป่าหญ้า (Savanna Forest)

เป็นป่าที่เกิดหลังจากที่ป่าชนิดอื่น ๆ ถูกทำลายไปหมด ดินเสื่อมโทรมต้นไม้ไม่อาจเจริญเติบโตต่อไปได้ พวกหญ้าจึงเข้ามาแทนที่พบได้ทุกภาคในประเทศ หญ้าที่ขึ้นส่วนใหญ่เป็นหญ้าคา แฝกหอม เป็นต้น อาจมีต้นไม้ขึ้นบ้าง เช่น กระโดน กระถินป่า ประดู่ ซึ่งเป็นพวกทนทานไฟป่าได้ดีมาก

 

ที่มา : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร