วันพืชมงคล
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 4.6K views



วันพืชมงคล

 ตั้งแต่โบราณนานมา พอถึงเดือน  ๖  ซึ่งมักจะตรงกับเดือนพฤษภาคม  ชาวไร่  ชาวนา  เกษตรกรของประเทศกสิกรรม  ก็จะทราบได้ทันทีว่าฤดูฝนกำลังจะย่างเข้ามาแล้ว   ถึงเวลาที่จะต้องเตรียมการเพาะปลูกในฤดูกาลใหม่ต่อไป   ทางด้านผู้ปกครอง หรือประมุขของประเทศก็จะประกอบกรณียกิจ  เป็นผู้นำในการไถ – หว่าน พืชพันธุ์ ธัญญาหาร เป็นการเตือนราษฎรให้เริ่มทำการเพาะปลูก  และบำรุงขวัญไปด้วยในตัว  กาลเวลาต่อๆมาจึงมีการพิธีเรียกว่า “จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ”  เกือบทุกชาติที่ราษฎรประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก  ต่างก็มีพิธี “จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” กันแทบทั้งนั้น และมีมานานนับพันๆปี  

สำหรับไทยเราตามประวัติว่าเริ่มมีตั้งแต่ครั้งสุโขทัย  สืบต่อมาสมัยอยุธยา  จนถึงรัตนโกสินทร์ ในช่วงรัชกาลที่ ๑ ถึง รัชกาลที่ ๓ ก็ยังถือตามแบบสมัยอยุธยาคือมีแต่เพียงพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีตามแบบของพราหมณ์เท่านั้น   จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๔  ได้โปรดฯ ให้เพิ่มพิธีสงฆ์เข้ามาเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่พันธุ์พืชที่ได้นำเข้ามาตั้งในมณฑลพิธี ก่อนจะนำไปไถ-หว่าน   พระราชพิธีตอนนี้เรียกว่า “ พืชมงคล” จึงเป็นราชประเพณีสืบต่อมาคือจะจัดงาน ๒ วัน  วันแรกพระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ จัดที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  วันรุ่งขึ้นคือพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีพราหมณ์   ๒ พิธีนี้เมื่อรวมแล้ว  เรียกว่า “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ”

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพลเมืองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร  พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอันเป็นพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญแก่ผู้มีอาชีพนี้โดยตรง และจะมีผลต่อเศรษฐกิจของชาติโดยรวมอีกด้วย     จึงมีความสำคัญอย่างมาก  โบราณาจารย์จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่า  โหรหลวงจะต้องคำนวนหาวันที่ดีที่สุดของแต่ละปี   ให้ได้วันอันอุดมฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์เป็นวันประกอบการพระราชพิธีฯ   ซึ่งสำหรับปีนี้  วันพืชมงคล  ตรงกับวันพฤหัสบดีที่  ๑๑  พฤษภาคม  ๒๕๔๙

เรื่องเกี่ยวเนื่อง
- พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา และกระทำเต็มตามรูปบุรพประเพณีครั้งสุดท้าย ในปี  ๒๔๗๙  แล้วว่างเว้นไป  จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้โปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูขึ้นเป็นงานพระราชพิธีหน้าพระที่นั่ง (ที่ท้องสนามหลวง) อีกครั้งเมื่อปี ๒๕๐๓ และจะเสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานทุกครั้งหากไม่ติดพระราชภารกิจสำคัญ

- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยต่ออาชีพหลักของพสกนิกรเป็นอย่างยิ่ง  เป็นที่ทราบกันดีว่าทรงใช้บริเวณสวนจิตรลดาอันเป็นเขตพระราชฐาน ที่ประทับ ทดลองทำการเกษตรหลากหลายรูปแบบ  อย่างหนึ่งก็คือทำนาทดลอง ปลูกพันธุ์ข้าวทดลอง  และเมื่อได้ผล เก็บเกี่ยวแล้วก็จะพระราชทานไปเข้าร่วมในพระราชพิธีพืชมงคล  พร้อมด้วยพันธุ์พืชอื่นๆ อีกหลายสิบชนิด  เมล็ดข้าวพันธุ์พระราชทานนี้จะได้นำไปไถ-หว่านในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญส่วนหนึ่ง  อีกส่วนหนึ่งจัดส่งไปยังจังหวัดต่างๆทั่วประเทศเพื่อแจกจ่ายแก่เกษตรกรเพื่อความเป็นสิริมงคล

- ปี ๒๕๐๙  คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นวันเกษตรกรด้วย  เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร  มีการจัดงานวันเกษตรกรควบคู่กันไป  ส่วนกลางจัดที่บริเวณท้องสนามหลวง ในงานจะมีการประกวดพันธุ์ข้าวและจัดนิทรรศการทางการเกษตร  ทั้งยังจะได้พระราชทานรางวัลแก่เกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นด้วย

การเสี่ยงทาย
- พระยาแรกนา (ปลัดกระทรวงเกษตรฯ โดยตำแหน่ง)  จะเป็นผู้หยิบผ้านุ่งเสี่ยงทายต่างขนาดที่มีอยู่  ๓ ผืน  มาผืนหนึ่งเพื่อใช้นุ่งทับผ้าที่นุ่งไว้แล้วอีกชั้นหนึ่ง   โดยถ้าหยิบผ้ากว้าง ๔ คืบ ก็มีคำพยากรณ์ว่าน้ำจะมากสักหน่อย  นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่  ถ้าหยิบผ้า  ๕ คืบ  พยากรณ์ว่าน้ำจะมีปริมาณพอดี  ข้าวกล้าในนาจะได้ผลสมบูรณ์ และผลาหาร ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์  ถ้าได้ผ้า ๖ คืบ  พยากรณ์ว่าน้ำน้อย   นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี  แต่นาในที่ดอนอาจเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่   

- พระโคกินของเสี่ยงทายก็มีคำพยากรณ์อยู่ว่า   ถ้าพระโคกินข้าวหรือข้าวโพด ธัญญาหาร ผลาหารจะบริบูรณ์ดี  ถ้ากินถั่วหรืองา  พยากรณ์ว่าผลาหาร  ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี   ถ้ากินน้ำหรือหญ้า  พยากรณ์ว่าน้ำท่าจะบริบูรณ์พอควร พร้อมด้วยธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารอุดมสมบูรณ์ดี   ถ้ากินเหล้า พยากรณ์ว่าการคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้น  การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง (ผลาหาร – อาหารคือลูกไม้,  ภักษาหาร – อาหารที่กินประจำ,  ธัญญาหาร – อาหารคือข้าว)

 

ที่มา
     - หนังสือศิลปวัฒนธรรม :  ๘  พ.ค. ๔๒
     - หนังสือวันสำคัญ ปีรณรงค์และสืบสานวัฒนธรรมไทย :  สวทช.
     - ศูนย์ประชาสัมพันธ์วัฒนธรรม  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท.  เรื่อง "วันพืชมงคล"  ผลิตโดย  งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ