วันพ่อแห่งชาติ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 7.2K views



วันพ่อแห่งชาติ

 วันที่ 5 ธันวาคม นอกจากจะเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แล้วยังถือเป็นวันพ่อแห่งชาติอีกด้วย  มีดอกไม้สัญลักษณ์คือพุทธรักษา  อันหมายถึง “พ่อ” เป็นพระที่คอยคุ้มครองรักษาลูกให้ปลอดภัย

พ่อมีอยู่หลายประเภท เช่น   พ่ออยู่หัว   พ่อตัว และพ่อเลี้ยง  “พ่ออยู่หัว” หมายถึง องค์พระมหา-กษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศ  “พ่อตัว”  คือ พ่อผู้ให้กำเนิดแก่บุตรชาย-หญิง  ส่วนพ่อเลี้ยงคือสามีของมารดาที่มิใช่พ่อตัว หรือชายที่รับเด็กชาย-หญิงมาเลี้ยงดู  จดทะเบียนรับรองตามกฎหมายเป็นบุตรบุญธรรมและยอมให้ใช้นามสกุลของตน  แต่ไม่ว่าจะเป็นพ่อที่จัดอยู่ในประเภทใด   นอกเหนือจากความรักบุตรอันเป็นธรรมชาติแล้ว  ถ้ามีความบริสุทธิ์  บริบูรณ์ ด้วยสำนึกหน้าที่ของความเป็นพ่อ  ก็ย่อมจะมีความปรารถนาต่อบุตรคล้าย ๆ กัน คือ หวังจะฝากผีฝากไข้ หวังจะให้เป็นผู้สืบสกุล-สืบทอดมรดก   และเมื่อตนตายไปแล้วบุตรก็จะได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ตามความเชื่อ  นี่เป็นส่วนของความปรารถนาหรือความมุ่งหวัง  นอกจากนั้นแล้วผู้เป็นพ่อยังต้องตั้งอยู่ในพรหมวิหารธรรม   มีเมตตา  กรุณา  มุทิตา  และอุเบกขาในบุตร  ให้ความสงเคราะห์บุตรด้วยการอบรมบ่มนิสัยให้ยึดมั่นในคุณความดี - ไม่ประพฤติชั่ว  ให้การศึกษา  เป็นธุระเรื่องคู่ครอง  เรื่องการงานอาชีพและแบ่งปันมอบมรดกให้ในเวลาอันควร ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้เป็นภาระและความเสียสละที่ยิ่งใหญ่   พ่อที่บริบูรณ์ด้วยคุณสมบัติดังนี้ไม่ว่าจะจัดอยู่ใน “พ่อ” ประเภทใด ไม่ว่าจะเป็นพ่อตัวหรือพ่อเลี้ยงจึงย่อมได้ชื่อว่า  “ธรรมปิตา”  คือพ่อโดยคุณความดี

ในโอกาสวันพ่อแห่งชาติซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม บุตร-ธิดา จึงควรแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อท่านด้วยการประพฤติดี สิ่งใดที่คิดว่าจะทำให้ท่านมีความสุข ได้รับความสบายใจ สบายกาย ก็ควรจะทำ  นับตั้งแต่หาเวลามาพบปะพูดคุยกับท่าน   อาจจะด้วยการพาครอบครัวไป รับประทานอาหารร่วมกัน  เพราะว่าสมัยนี้บุตร-ธิดามักไม่ค่อยได้อยู่ร่วมบ้านหรือถ้าอยู่ร่วมบ้านก็อาจไม่ค่อยมีเวลาได้พูดคุยสนุกสนานกับคนในบ้านมากนัก การได้พบปะกัน ได้ใช้เวลาพักผ่อนร่วมกันจึงเป็นความสุขของพ่อแม่อย่างหนึ่ง หรืออาจจะให้ของขวัญ   พาไปทำบุญ  พาไปเที่ยวเหล่านี้เป็นต้น   ถ้าท่านสิ้นบุญไปแล้วก็ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ตามความเชื่อทางศาสนา  การแสดงออกซึ่งกตเวทิตาคุณ เช่นนี้  นอกจากจะส่งผลให้ผู้กระทำมีความสุขจากการกระทำที่ดีแล้วยังจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่บุตร-ธิดาของตนสืบต่อไปอีกด้วย

เรียบเรียงจาก
- บทความเรื่องธรรมปิตา ของนายเปรื่อง ศิริภัทร :  5 ธ.ค.2517
- กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ : 2547

เกร็ดความรู้
- ความหมายของคำว่า “พ่อ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัญฑิตยสถาน พ.ศ.2525 หมายถึงชายผู้ให้กำเนิด  ใช้เป็นคำเรียกชายผู้ให้กำเนิดตน  ผู้ใหญ่ใช้เรียกผู้ชายที่อายุน้อยกว่าด้วยความสนิทสนม  เป็นคำนำหน้านามแปลว่าผู้เป็นหัวหน้า  ผู้กระทำกิจการที่เป็นชาย เช่น พ่อบ้าน , พ่อครัว , พ่อค้า 
- “บิดา” กับ “ชนก” เป็นอีกสองคำที่นิยมใช้ในความหมายเดียวกันกับ “พ่อ”  แต่ในทางปฏิบัติ “บิดา” กับ “ชนก” อาจแตกต่างกันได้  “บิดา” แปลว่าผู้เลี้ยงดูหรือผู้ปกครอง  “ชนก” แปลว่าชายผู้ให้เกิด   ชายบางคนอาจเป็นเพียงบิดาคือผู้ให้การเลี้ยงดูแต่ไม่ได้ให้กำเนิด   ชายบางคนก็เป็นเพียงชนกคือให้กำเนิดแต่ไม่ได้เลี้ยงดู   แต่อย่างไรก็ตามชายไทยส่วนใหญ่เป็นทั้งชนกและเป็นทั้งบิดา คือเป็นทั้งผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูบุตร-ธิดาด้วยความรักที่เราเรียกกันว่าพ่อนี่เอง

เรียบเรียงจาก
- บทความของนายจำนงค์ ทองประเสริฐ : สารชาวบ้านฉบับพิเศษ : 2530

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษ ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท.  เรื่อง "วันพ่อแห่งชาติ"  ผลิตโดย ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ งานบริการการผลิต ฝ่ายออกอากาศวิทยุ กรุงเทพ