วันครู
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 4.2K views



วันครู

 วันที่ 16 มกราคม เป็นวันครู  วันที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้มีกิจกรรมเทิดทูน และแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อครู ตามแนวคิดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม  อดีตนายกรัฐมนตรี  โดยท่านได้กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศในการประชุมสามัญคุรุสภาปี 2499 ว่า

“ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือ  เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณ เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่ง   สำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำอิฐของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญทำทาน  คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย  ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงไม่ขัดข้อง”

จากแนวคิดนี้จึงนำไปสู่การประชุมกำหนดหลักการให้มีวันครู เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์   ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครู  และเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน   นำเสนอคณะรัฐมนตรีและได้มีมติในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคม ของทุกปีเป็นวันครู (โดยถือเอาวันที่ประกาศ พรบ. ครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2488)  และให้กระทรวงศึกษาธิการ สั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้   การจัดงานวันครู จึงมีกิจกรรมอยู่ 3 ประเภทใหญ่ ๆ ประกอบด้วย
          1. กิจกรรมทางศาสนา 
          2. พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ 
          3. กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู   ส่วนมากจะเป็นการแข่งกีฬา หรือจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น

และเนื่องจากครูเป็นผู้ที่จะต้องทำหน้าที่อบรมสั่งสอนเด็กให้สมบูรณ์พร้อมทั้งความรู้ทางวิชาการ และความประพฤติที่ดีงาม  ผู้มีอาชีพครูจึงถูกกำหนดกรอบจรรยามารยาทและวินัยไว้ค่อนข้างมากอันประกอบด้วย
          1. เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ
          2. ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น
          3. ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตนแก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานไม่ได้
          4. รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใดๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู
          5. ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา
          6. ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติ
          7. ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการโดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตนและไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน
          8. ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรมไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ
          9. สุภาพเรียบร้อยประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์  ของผู้ร่วมงาน  และของสถานศึกษา
          10. รักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน

“วันครู”  ถึงแม้จะเป็นวันที่ครูกระทำพิธีระลึกถึงพระคุณครูของท่าน  แต่ถ้าจะมีศิษย์คนใดแสดงออกถึงความระลึกรู้พระคุณครูที่ได้อบรมสั่งสอนมา  ด้วยการตั้งใจเรียน  ประพฤติตนเป็นศิษย์ที่ดี  เป็นพลเมืองที่ดีหรือศิษย์ที่เรียนจบไปแล้วกลับไปเยี่ยมเยียนสอบถามทุกข์สุขก็ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้มีกตัญญูกตเวทีต่อครู  เป็นการสร้างความสุขใจให้แก่ครูที่สามารถอบรมบ่มจิตใจให้ศิษย์เป็นคนดีได้

เรียบเรียงจาก  - หนังสือวันสำคัญ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  2537-2540

พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสเกี่ยวกับครู และการสั่งสอนที่สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม
....การศึกษานี้ ถ้าดูกว้าง  ๆ ก็มีความสำคัญอย่างยอดยิ่ง  ทำให้รู้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงในทางการศึกษาเป็นผู้ที่มีความสำคัญมากแก่ชีวิตของมนุษย์ทั่ว ๆ ไป  และถ้าโดยเฉพาะสำหรับบ้านเมืองก็เป็นผู้ที่สร้างความมั่นคงของบ้านเมืองได้ด้วยความตั้งใจที่จะปฏิบัติงานหน้าที่ของตน    ความสำคัญนี้ก็มีมากและก็คงตระหนักอยู่แล้ว   ขอให้ตระหนักด้วยว่าจะต้องพยายามที่จะหาวิธีที่จะสั่งสอนอนุชนทั้งในด้านวิชาการทั้งในด้านความรู้เบื้องต้น  เพื่อให้สามารถที่จะมีชีวิตต่อไปได้  จึงขอร้องให้สนใจเกี่ยวข้องกับเรื่องความรู้ ตั้งแต่ความรู้เบื้องต้นขั้นก่อนอนุบาล  จนกระทั่งเป็นความรู้ขั้นประถม ขั้นมัธยม ขั้นอุดมศึกษา และขั้นค้นคว้าอย่างสูง  และทุกความรู้มีความสำคัญทั้งนั้น ไม่ยิ่งหย่อนกัน…..

พระบรมราโชวาท  เนื่องในโอกาสเสด็จฯ ทรงดนตรี ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร  วันที่ 18 มีนาคม 2515

…..ธรรมดาครูก็ปรารถนาความก้าวหน้าและความดีของลูกศิษย์  ก็ต้องมีความเข้าใจในลูกศิษย์ที่ดี   ในเวลาเดียวกันลูกศิษย์ก็จะต้องพยายามที่จะเข้าใจว่าครูมีความปรารถนาอย่างไร  ครูก็เป็นคนเหมือนกัน   ถ้าสามารถที่จะทำให้ครูมีความรู้สึกว่าลูกศิษย์มีความนับถือและปรารถนาดีต่ออาจารย์และครูด้วย   ก็ทำให้สามารถที่จะให้ความรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ยอมสละเวลา กำลังทุกประการ  ที่จะให้ลูกศิษย์ก้าวหน้า   และเมื่อลูกศิษย์ก้าวหน้า  คือได้รับความรู้ดี  ทั้งในวิชาการ  ทั้งในความรู้รอบตัวในชีวิต   ก็ปลื้มใจ…..

พระราชดำรัส  พระราชทานแก่คณะครูที่ปรึกษาและคณะกรรมการจัดงาน “ธารน้ำใจ”  วันที่ 27 ตุลาคม 2515

…..วิธีที่จะทำให้คนเป็นคนดีนั้น ก็มีเช่น การศึกษา  เมื่อก่อนนี้ ด้านการศึกษาคนในเมืองไทยนี่ มีความรู้  การอ่านหนังสือ เขียนหนังสือเป็น มีมาก เปรียบเทียบกับประเทศอื่นค่อนข้างจะสูง  คือมีการอ่านเขียนได้เปอร์เซ็นต์สูง   แต่มาปัจจุบันนี้น้อยลง  เพราะว่าคนเพิ่ม  โรงเรียน  หรือผู้ที่มีหน้าที่สอนน้อยลง  เปรียบเทียบกัน  อาจจะแย้งว่าสมัยนี้มีเทคโนโลยีสูง  ทำให้สามารถที่จะทำกิจการโรงเรียน  กิจการสั่งสอนแพร่ออกไปได้มากกว่า  แต่ไม่มีอะไรแทนการอบรม  ไม่มีอะไรแทนการบ่มนิสัย  คือการสอนนี่  มีแบ่งเป็นอบรม  แล้วก็บ่มนิสัย  แต่ถ้าไม่มีผู้ที่อบรม  ไม่มีผู้ที่บ่มนิสัย  หรือผู้ที่อบรม  หรือผู้ที่บ่มนิสัย เป็นคนที่มีคุณภาพต่ำ  ผู้ที่ได้รับอบรมบ่มนิสัยย่อมคุณภาพต่ำเหมือนกันอาจจะยิ่งร้ายกว่า แม้จะมีเทคโนโลยีชั้นสูง
เทคโนโลยีชั้นสูงนี้  คนส่วนมาก  เดี๋ยวนี้ก็เข้าใจ  ว่ามีโทรทัศน์ มีดาวเทียม มีเครื่องคอมพิวเตอร์  แต่ว่าเครื่องเหล่านี้  หรือสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต  ดูรูปร่างท่าทางเหมือนมีชีวิต  แต่อาจจะไม่มีชีวิต  มีสีก็มีสีได้  แต่ว่าไม่มีสัน  คือสีสันนั่นรวมแล้วมันครบถ้วน  และยังไม่ครบ  ยังไม่มีจิตใจ  อาจจะทำให้คนที่มีจิตใจอ่อนเปลี่ยนเป็นคนละคนก็ได้  แต่ว่าที่จะอบรมโดยใช้สื่อที่ก้าวหน้าที่มีเทคโนโลยีสูงนี่ยากที่สุด  ที่จะอบรมบ่มนิสัยด้วยเครื่องเหล่านี้  ฉะนั้นไม่มีอะไรแทนคนสอนคน…

พระราชดำรัส  พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล  เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา  วันที่ 4 ธันวาคม 2539

 

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษ ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท. เรื่อง "วันครู"  ผลิตโดย งานบริการการผลิต ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุ กรุงเทพ