วันแรงงานแห่งชาติ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 5.3K views



วันแรงงานแห่งชาติ

วันที่  1 พฤษภาคมของทุกปี ถือเป็นวันแรงงานแห่งชาติ  ลูกจ้างผู้ใช้แรงงานจะได้หยุดงาน 1 วันเพื่อเฉลิมฉลองกัน  ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่  30  เมษายน  2499

คำว่า “ผู้ใช้แรงงาน” ที่สมัยก่อนเรียกว่า “กรรมกร” นั้น หากเป็นเมื่อสัก  70 - 80  ปีก่อนดูจะเป็นคำเรียกที่ให้ความรู้สึกไปในทางเดียดฉันท์  เหมือนจะเป็นความต่ำต้อยสำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพขายแรงงาน เพราะคนไทยเราถูกสั่งสมความเชื่อมั่นถือมั่นในอาชีพที่ได้เป็น “เจ้าคนนายคน” มานาน  ดังจะเห็นว่าผู้ใหญ่สมัยก่อนมักใช้เป็นคำอวยพรแก่บุตรหลาน หรือผู้น้อยที่ตนรักและปรารถนาดี  หากต่อๆ มาสังคมวัฒนธรรมเริ่มเปลี่ยน   เนื่องจากเรามีการติดต่อทำธุรกิจกับคนต่างชาติ ต่างภาษามากขึ้น  ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจดีขึ้น  มองเห็นความเป็นจริงที่ว่าพลังจากผู้ใช้แรงงาน ก็คือพลังการผลิต  เพราะในผลผลิตทุกชิ้นย่อมมีแรงงานเป็นต้นทุนอยู่ด้วยเสมอ  และพลังการผลิตจะส่งผลให้ชาติมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ   ดังนั้นการบริหารจัดการแรงงานของชาติอย่างมีคุณภาพเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง   เมืองไทยเราจึงเริ่มมีการจัดการบริหารแรงงาน อันหมายถึงการจัดสรรและพัฒนาแรงงาน    คุ้มครองดูแลสภาพการทำงาน   สร้างรากฐานและขบวนการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง    รวมถึงศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาระการสร้างงานการประกอบอาชีพมาเป็นลำดับดังนี้

          พ.ศ.  2475  ได้ออก พรบ.จัดหางาน และ พรบ. จัดหางานประจำท้องถิ่น
          พ.ศ.  2477  มีการจัดตั้งกองกรรมกรขึ้นทำหน้าที่ด้านการจัดหางานและศึกษาภาวะความเป็นอยู่ของคนงานทั่วไป
          พ.ศ.  2499 ได้ขยายกิจการด้านแรงงานสัมพันธ์มากขึ้น  
          พ.ศ.  2508  นอกจากจะมีการจัดตั้งกรมแรงงานขึ้นแล้ว ยังได้ประกาศใช้ พรบ.กำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน

ปัจจุบันการบริหารแรงงานในบ้านเราก็มีพัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ ตามสภาพความเหมาะสมโดยมีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเป็นผู้รับผิดชอบทางภาครัฐ  มีหน้าที่ประกอบด้วย

          1. ช่วยเหลือจัดหางานให้กับคนว่างงาน และช่วยเหลือนายจ้างให้ได้คนมีคุณภาพเข้าทำงาน ตลอดจนรวบรวมเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการทำงาน แหล่งงานและภาวะตลาดแรงงาน
          2. ให้คำปรึกษาและแนะแนวแก่ผู้ประสงค์จะทำงานและเยาวชนให้สามารถเลือกประกอบอาชีพที่ตนมีความถนัด  ความสามารถทางกาย และบุคลิกภาพ  รวมถึง เหมาะสมกับความต้องการทางเศรษฐกิจ
          3. ส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแก่คนงานและเยาวชนที่ไม่มีโอกาสศึกษาต่อ  โดยการฝึกแบบเร่งรัด
          4. คุ้มครองแรงงานด้วยการวางหลักการและวิธีการเกี่ยวกับชั่วโมงทำงาน วันหยุดงาน  ตลอดจนสวัสดิการต่างๆ
          5. ส่งเสริม และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกจ้าง กับนายจ้างให้ทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจลักษณะและสภาพของปัญหา  ตลอดจนหาวิธีการที่เหมาะสมในการขจัดความเข้าใจผิดและข้อขัดแย้งต่างๆ

ทางด้านผู้ใช้แรงงาน หรือกรรมกรเอง ก็มีการจัดตั้งกลุ่มสหภาพแรงงานขึ้นหลายร้อยกลุ่ม  แล้วรวมกันจัดตั้งสภาองค์การลูกจ้างขึ้นทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิให้กับผู้ใช้แรงงาน  ปัจจุบันนี้มี 3 สภาด้วยกัน  คือ  สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย  สภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย  และสภาองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย

วันที่ 1 พฤษภาคมเวียนมาถึงเมื่อใด  ชาวผู้ใช้แรงงานทั้งหลายก็จะใช้เวลาให้เกิดประโยชน์และเป็นมงคลแก่ชีวิตด้วยการทำบุญตักบาตร  และเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ร่วมกันจัดขึ้นอย่างรื่นเริงบันเทิงใจ


เรื่องเกี่ยวข้องที่ควรทราบ
- วันแรงงานแห่งชาติ  หรือวันกรรมกรนั้นถือกำเนิดจากประเทศในยุโรป  และอังกฤษ เมื่อกว่าร้อยปีก่อน  โดยเหตุที่ภูมิอากาศขณะจะย่างเข้าสู่เดือนพฤษภาคมนั้น  หิมะจะละลาย  อากาศกำลังสบายและธรรมชาติงดงาม  ทำให้ชาวบ้านชาวเมืองทุกชนชั้น ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างหรือนายจ้าง ซึ่งต่างก็ต้องทำงานภายใต้สภาพอากาศและธรรมชาติที่ทารุณมานานตลอดปี  เกิดความสุขใจจนต้องพากันออกมาจับกลุ่มเดินขบวนแสดงความยินดีปรีดา ร้องรำทำเพลงกันอย่างมีความสุข  วัน  May Day เกิดขึ้นเพราะเหตุนี้  คือชาวบ้านเขาถือเอาวันเริ่มต้นของเดือนพฤษภาคม (May Day)ถือเป็นวันหยุดพักผ่อนรื่นเริงประจำปี    ต่อมาประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันแรงงาน  เป็นที่ระลึกของพวกกรรมกร  จึงมีผลให้ความหมายดั้งเดิมของ  May Day  ที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยโรมันและอังกฤษต้องเปลี่ยนไปนับแต่นั้นมา   และในปี   ค.ศ.  ๑๘๘๙  ที่ประชุมสภาสังคมนิยมสากลที่กรุงปารีสยังได้ลงมติให้ถือเอาวัน May Day  เป็นวันหยุด ที่ระลึกของกรรมกรสากลอีก  มีหลายประเทศได้ถือเอาวันที่ ๑ พฤษภาคม เป็นวันแรงงานแห่งชาติ  รวมทั้งไทยเราด้วย

- วันแรงงานฯ ของสหรัฐอเมริกากับของคานาดาไม่ได้ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคม เหมือนชาติอื่นของเขาถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนกันยายนเป็นวันแรงงานฯ  ความเป็นมาของเขามีอยู่ว่าเมื่อปี ค.ศ. 1882  นายปีเตอร์ เจ แม็กไควร์ อาชีพช่างไม้  ชาวเมืองนิวยอร์ค ซึ่งเป็นผู้นำแรงงานที่มีชื่อเสียงได้เสนอให้เลือกเอาวันหนึ่งในรอบปีเป็นวันที่ระลึกของคนงาน  เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ใช้แรงงาน จึงกำหนดเอาวันจันทร์แรกของเดือนกันยายนเป็นวันแรงงาน และได้เฉลิมฉลองเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ของเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น โดย  The Knignts of Labour  ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานหนึ่งของสหรัฐฯ เป็นผู้จัด โดยได้รับความสนับสนุนจากองค์กรแรงงานอื่นๆ รวมทั้งรัฐต่างๆ อีกหลายรัฐด้วย  ในที่สุดรัฐสภาสหรัฐอเมริกาก็ได้ออกรัฐบัญญัติรับรองวันแรงงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน  ค.ศ. 1894 กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนกันยายนของทุกปีเป็นวันหยุดงานตลอดทั่วสหรัฐฯ   แคนาดาซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านก็ถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันแรงงานเช่นเดียวกัน

- วัตถุประสงค์ของวันแรงงานแห่งชาติ  ที่นานาประเทศได้กำหนดขึ้นนั้น  ก็เพื่อเตือนใจประชาชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่ได้ทำประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ  และการเฉลิมฉลองมักจะไม่แสดงออกทางการเมือง  เว้นแต่ประเทศที่มีการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์บางประเทศเท่านั้น


ที่มา - http ://www.geocities.com/nananaru/labor/labor.html.
        - วันกรรมกร :  บ้านตุลาไทย  อ้างถึง  https://www16.brinkster.com/lulo/mayday_hist.html
        - วันแรงงาน :  กรมสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงาน  กระทรวงแรงงาน


ข้อมูลจาก : บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท. เรื่อง "วันแรงงานแห่งชาติ" ผลิตโดย  งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ