พระอัจฉริยภาพด้านพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 7.6K views



พระอัฉริยภาพด้านพระราชนิพนธ์

 

 

1. เพลงพระราชนิพนธ์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชปรีชาญาณในเรื่องของดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงตั้งแต่ยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช รวมบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น 48 เพลง เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง และคำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง มี 5 เพลง คือ "Echo", "Still on My Mind", "Old-Fashioned Melody" "No Moon" และ "Dream Island" นอกจากนี้ มีเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นภายหลังใส่ในคำร้องที่มีผู้ประพันธ์ไว้แล้ว คือ “ความฝันอันสูงสุด” “เราสู้” และ “รัก”

 

ในยุคแรก หลังจากที่เพลงพระราชนิพนธ์มีทำนองและคำร้องสมบูรณ์แล้ว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน นำไปบรรเลงในวงดนตรีกรมโฆษณาการ หรือวงสุนทราภรณ์เพื่อให้แพร่หลายทั่วไป ปรากฏว่าหลายเพลงกลายเป็นเพลงยอดนิยมทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ

ในระยะหลังพระองค์มีพระราชกรณียกิจมากมาย ทำให้พระองค์ทรงไม่มีเวลาที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ๆออกมา เพลงสุดท้ายที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ออกมา คือ เพลง "เมนูไข่" เป็นเพลงแนวสนุกสนาน เนื้อร้องโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเป็นของขวัญวันพระราชสมภพครบ 72 พรรษาแด่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2538

 

 

รวมเพลงพระราชนิพนธ์
1.แสงเทียน (Candlelight Blues)
2.ยามเย็น (Love at Sundown)
3.สายฝน (Falling Rain)
4.ใกล้รุ่ง (Near Dawn)
5.ชะตาชีวิต (H.M. Blues)
6.ดวงใจกับความรัก (Never Mind the Hungry Men's Blues)
7.มาร์ชราชวัลลภ (Royal Guards March)
8.อาทิตย์อับแสง (Blue Day)
9.เทวาพาคู่ฝัน (Dream of Love Dream of You)
10.คำหวาน (Sweet Words)
11.มหาจุฬาลงกรณ์ (Maha Chulalongkorn)
12.แก้วตาขวัญใจ (Lovelight in My Heart)
13.พรปีใหม่
14.รักคืนเรือน (Love Over Again)
15.ยามค่ำ (Twilight)
16.ยิ้มสู้ (Smiles)
17.มาร์ชธงไชยเฉลิมพล (The Colours March)
18.เมื่อโสมส่อง (I Never Dream)
19.ลมหนาว (Love in Spring)
20.ศุกร์สัญลักษณ์ (Friday Night Rag)
21.Oh I say
22.Can't You Ever See
23.Lay Kram Goes Dixie
24.ค่ำแล้ว (Lullaby)
25.สายลม (I Think of You)
26.ไกลกังวล (When), เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย
27.แสงเดือน (Magic Beams)
28.ฝัน (Somewhere Somehow), เพลินภูพิงค์
29.มาร์ชราชนาวิกโยธิน (Royal Marines March)
30.ภิรมย์รัก (A Love Story)
31.Nature Waltz
32.The Hunter
33.Kinari Waltz
34.แผ่นดินของเรา (Alexandra)
35.พระมหามงคล
36.ยูงทอง
37.ในดวงใจนิรันดร์ (Still on My Mind)
38.เตือนใจ (Old-Fashioned Melody)
39.ไร้เดือน (No Moon), ไร้จันทร์
40.เกาะในฝัน (Dream Island)
41.แว่ว (Echo)
42.เกษตรศาสตร์
43.ความฝันอันสูงสุด (The Impossible Dream)
44.เราสู้
45.เรา-เหล่าราบ ๒๑ (We-Infantry Regiment 21)
46.Blues for Uthit
47.รัก
48.เมนูไข่

 

ภาพประกอบและเนื้อหาเรียบเรียงจาก
www.abhakara.com 
www.xn--12co9drbac8a9as5aiidh8isei1npa.com 
www.baannapleangthai.com 
www.chaoprayanews.com 

 

2. หนังสือพระราชนิพนธ์

     “...นักเขียน นักประพันธ์ งานสำคัญก็คือ แสดงความคิดของตนออกมาเป็นเรื่องชีวิต หรือเรื่องแต่งขึ้นมา เพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ คือความรู้บ้าง บันเทิงบ้าง นักแสดงความคิดสำคัญมาก เพราะว่ามีอิทธิพลต่อชีวิตของมวลมนุษย์ อาจทำให้เกิดความคล้อยตามไป และตัวท่านเขียนดีก็ยิ่งคล้อยตามกันมาก ฉะนั้น นักประพันธ์ต้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะท่านเป็นผู้ปั้นความคิดและความบริสุทธิ์ในความคิดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังบทความกลั่นกรองไว้ในสมองว่า สิ่งที่จะเขียนออกมาจะไม่แสลง ไม่ทำลายความคิดของประชากร ไม่ทำลายผู้อื่น และตนเอง คือมีเสรีภาพในการเขียนอย่างเต็มที่ในขอบเขตของศีลธรรม”
(พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ณ พระตำนักจิตรดารโหฐาน วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2515)

 

ตลอดระยะเวลาอันยาวนานตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ขึ้นครองสิริราชสมบัติ ทรงอุทิศพระวรกายทรงงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย บำบัดทุกข์บำรุงสุขประชากรของพระองค์ ถึงแม้ว่าพระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายแทบมิได้ว่างเว้น แต่ก็ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในงานแปล มีงานพระราชนิพนธ์ออกมาอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถด้านภาษาและวรรณกรรม และทรงเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องและสละสลวย ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน

หนังสือพระราชนิพนธ์ที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถด้านวรรณกรรม ได้แก่ "พระมหาชนก" "ทองแดง" และ "ทองแดงฉบับการ์ตูน" และพระราชนิพนธ์แปล เรื่อง "นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ" และ "ติโต" ก็ล้วนเพียบพร้อมด้วยเนื้อหาสาระ แฝงข้อคิดและมีความงดงามของภาษา

 

รวมหนังสือพระราชนิพนธ์ทั้งหมด

1. เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์ (พ.ศ. 2589)

พระราชนิพนธ์เรื่องแรก “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์” โดยพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือรายเดือน วงวรรณคดี ฉบับประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ.2490 เป็นตอนแรก

โดยพระบรมราชานุญาตพิเศษเฉพาะหนังสือเล่มนี้เท่านั้น ในขณะนั้นถือได้ว่าหนังสือวงวรรณคดี จัดว่าเป็นหนังสือที่ดีและมีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่าอย่างมากในสมัยนั้น

พระราชนิพนธ์ “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์” เป็นบันทึกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชนิพนธ์ขึ้นในช่วงเวลาเสด็จพระราชดำเนินเพื่อกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 หลังจากที่พระองค์ท่านทรงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 ในราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489

พระองค์ได้ทรงบันทึกผ่านพระอักษรเป็นเรื่องราวการเดินทาง แสดงถึงความรู้สึกของพระองค์ ตลอดถึงเหตุการณ์ที่ทรงได้ประสบพบเจอ

อัญเชิญ ความตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์เรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิสแลนด์”

     “ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 - วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว...พอถึงเวลาก็ลงจากรถพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝ่ายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่าง แล้วก็ไปยังวัดพระแก้ว เพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกตและพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่ง แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์ พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง 200 เมตร มีหญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถแล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด! เมื่อมาเปิดดูภายหลังปรากฏว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้ชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง รถแล่นฝ่าฝูงชนไปได้อย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมาได้ยินเสียง ใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆ ว่า “อย่าละทิ้งประชาชน” อยากจะร้องบอกเขาส่งไปว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจะละทิ้ง อย่างไรได้” แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว

2. นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ (แปล) (พ.ศ. 2537)

“นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” ทรงแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษเรื่อง “A MAN CALLED INTREPID” บทประพันธ์ของ เซอร์วิลเลียม สตีเฟนสัน (William Stevenson) เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมและมียอดจำหน่ายกว่าสองล้านเล่ม

พระองค์ทรงใช้ระยะเวลาในการแปลถึง 3 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2520 และเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2523 โดยหนังสือเล่มนี้มีจำนวนถึง 501 หน้า แสดงให้เห็นว่าทรงมีพระราชอุตสาหะในการแปลเป็นอย่างมาก

และในเดือนธันวาคม พ.ศ.2536 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2537 โดยมอบรายได้จากการจัดจำหน่ายสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา

"นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ" เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ นายอินทร์ หรือ INTREPID เป็นชื่อรหัสของ เซอร์วิลเลียม สตีเฟนสัน ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยราชการลับอาสาสมัครของอังกฤษ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีหน้าที่ล้วงความลับทางทหารของเยอรมัน เพื่อรายงานต่อเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลนายกรัฐมนตรีอังกฤษ และประธานาธิบดีรูสเวลท์ แห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมกันต่อต้านการขยายอำนาจของนาซีหรือแผนร้ายของฮิตเลอร์ที่หวังแผ่อำนาจเข้ามาครอบครองโลกโดยมี “นายอินทร์” และผู้ร่วมในงานนี้เป็นตัวอย่างของผู้กล้าหาญที่ยอมอุทิศชีวิตเพื่อความถูกต้อง ยุติธรรม เสรีภาพ และสันติภาพ โดยไม่หวังลาภยศสรรเสริญใดๆ

 

 

3. ติโต (แปล) (พ.ศ. 2537)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลเรื่อง ติโต จากต้นฉบับเรื่อง TITO ของ Phyllis Auty เมื่อปี พ.ศ.2519 เพื่อใช้ในศึกษาและเรียนรู้บุคคลที่น่าสนใจของโลกคนหนึ่งรวมถึงผู้สนใจในประวัติศาสตร์
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2537 โดยมอบรายได้จากการจัดจำหน่ายสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา

 

 

4. พระมหาชนก (พ.ศ. 2539)

พระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก มีทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษอยู่ในเล่มเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลพระมหาชนกชาดกเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2531

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดพิมพ์ ในโอกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกแห่งรัชกาลเมื่อปี พ.ศ. 2539 พระราชนิพนธ์พระมหาชนกนี้ มีภาพวาดโดยศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายท่าน ที่สำคัญที่สุด คือ มีภาพฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิเช่น ภาพวันที่เรือล่ม โดยมีแผนที่อากาศแสดงเส้นทางพายุจริง ๆ และภาพพระมหาชนกทรงว่ายน้ำ โดยมีนางมณีเมขลาเหาะอยู่เบื้องบน เป็นต้น พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกก็จะช่วยให้ทุกคนสามารถพิจารณาแนวดำเนินชีวิตที่เป็นมงคล

 

 

5. ทองแดง (พ.ศ. 2545)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงพระราชนิพนธ์ เรื่อง ทองแดง (The Story of Tongdaeng) เผยแพร่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเล่มเดียวกัน เรื่องทองแดงเป็นหนังสือพระราชนิพนธ์ที่ติดอันดับขายดีที่สุดของประเทศในปี พ.ศ.2545

 

 

6. พระราชดำรัส

เป็นพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ เป็นการรวมกระแสพระราชดำรัส ที่พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนพรรษาของทุกปี

พระองค์ทรงเริ่มแปลพระราชดำรัส เรื่องน้ำและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2532 พระราชดำรัสในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากสหประชาชาติ และมีความประสงค์จะได้รับฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระมหากรุณาธิคุณแปลพระราชดำรัสเอง และจากพระราชดำรัสดังกล่าว ทำให้รัฐบาลมีมติให้ประกาศให้วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวัน “วันสิ่งแวดล้อมไทย” หลังจากนั้นก็ทรงแปลพระราชดำรัสในวันเฉลิมพระชนมพรรษาเรื่อยมา

 

 

รายชื่อบทความที่ทรงแปลและเรียบเรียง
1. ข่าวจากวิทยุเพื่อสันติภาพและความก้าวหน้า จาก Radio Peace and Progress ในนิตยสาร Intelligence Digest ฉบับลงวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518)
2. การคืบหน้าของมาร์กศิสต์ จาก The Marxist Advance Special Brief
3. รายงานตามนโยบายคอมมิวนิสต์ จาก Following the Communist Line
4. ฝันร้ายไม่จำเป็นจะต้องเป็นจริง จาก No Need for Apocalypse ในนิตยสาร The Economist ฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518)
5. รายงานจากลอนดอน จาก London Report ในนิตยสาร Intelligence Digest : Weekly Review ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ.1975 (พ.ศ. 2518)
6. ประเทศจีนอยู่ยงจง Eternal China ในนิตยสาร Intelligence Digest : Weekly Review ฉบับลงวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ.1975 (พ.ศ. 2518)
7. ทัศนะน่าอัศจรรย์จากชิลีหลังสมัยอาล์เลนเด จาก Surprising Views from a Post-Allende Chile ในนิตยสาร Intelligence Digest : Weekly Review ฉบับลงวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ.1975 (พ.ศ. 2518)
8. เขาว่าอย่างนั้น เราก็ว่าอย่างนั้น จาก Sauce for the Gander… ในนิตยสาร Intelligence Digest : Weekly Review ฉบับลงวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ.1975 (พ.ศ. 2518)
9. จีนแดง : ตั้วเฮียค้ายาเสพติดแห่งโลก จาก Red China : Drug Pushers to the World ในนิตยสาร Intelligence Digest : Weekly Review ฉบับลงวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ.1975 (พ.ศ. 2518)
10. วีรบุรุษตามสมัยนิยม จาก Fashion n Heroes โดย George F. Will ในนิตยสาร Newsweek ฉบับลงวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1979 (พ.ศ. 2522)

 

ภาพและที่มาเรียบเรียงจาก
https://www.vcharkarn.com/varticle/38236 
อ้างอิงถึง วรนุช อุษณกร. ในหลวงผู้ทรงพระอัจฉริยภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 1, พ.ศ. 2544 ,โอเดียนสโตร์, กรุงเทพ
https://www.bangkokbiznews.com 
ที่มารูป
https://www.oknation.net/blog/print.php?id=169420 
https://mblog.manager.co.th/NELUMBO/tag/พระราชนิพนธ์ 
https://www.vcharkarn.com/vcafe/136375/3 
https://th.wikipedia.org