โครงการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 319.6K views



  

การพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

โครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำและแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็ก (เขื่อนขนาดเล็ก)
เพื่อเก็บกักน้ำป้องกันน้ำท่วมและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเยือนประชาชน ทรงเห็นความลำบากของประชาชนในหมู่บ้านเขาเต่า ซึ่งมีประชากรอยู่กันอย่างหนาแน่น ขาดแคลนน้ำที่จะใช้อุปโภค-บริโภค และช่วงน้ำทะเลขึ้นสามารถไหลเข้าท่วมพื้นที่เกษตรทุ่งตะกาด ทำให้ผลผลิตเสียหายพร้อมกันนี้ราษฎรได้รวมตัวกันน้อมเกล้าถวายที่ดินแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 300 ไร่ จึงมีพระราชดำริพร้อมมอบทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 60,000 บาทให้กรมชลประทาน ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่า ซึ่งนับเป็นโครงการตามพระราชดำริ แห่งแรกของกรมชลประทานด้วยเช่นกัน

 

 

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
เพื่อการชลประทานและป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ริมแม่น้ำป่าสักและพื้นที่บริเวณตอนล่างของกรุงเทพมหานครพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 ให้กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสมของโครงการเขื่อนกักเก็บน้ำแม่น้ำป่าสักอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อประโยชน์ต่อพื้นที่เพาะปลูก และ บรรเทาปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นประจำในลุ่มน้ำป่าสัก เป็นผลสืบเนื่องมายังเขตกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑลด้วย ซึ่งนำความเดือนร้อนมาให้ราษฎร์เกือบทุกปี ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทานว่า หากเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปัจจุบัน ก็สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และขาดแคลนน้ำให้กับประชาชนได้ จะต้องก่อสร้างเขื่อน 2 แห่ง ที่แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำนครนายก ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินการ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 โครงการนี้ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2537 - 2542 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานนามเขื่อนนี้ว่า "เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์" อันหมายถึง "เขื่อนแม่น้ำป่าสักที่เก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

 

 

 

โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง
ลุ่มน้ำปากพนัง ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ครอบคลุมพื้นที่รวม 13 อำเภอ อดีตขอบลุ่มน้ำแห่งนี้เคยเป็นพื้นที่ลุ่มที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเพาะปลูก มีการทำนามากที่สุดโดยอาศัยน้ำจากแม่น้ำปากพนังซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของ ลุ่มน้ำปากพนัง จึงเป็นแหล่งปลูกข้าวของภาคใต้ เมื่อเวลาผ่านไป “ลุ่มน้ำปากพนัง” ที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับมีปัญหาจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ความต้องการใช้ น้ำย่อมมีปริมาณมากขึ้นด้วย แต่ป่าไม้ต้นน้ำลำธารกลับลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ปริมาณน้ำจืดที่เคยดูดซับไว้แล้วทยอยปล่อยลงในแม่น้ำปากพนังและลำน้ำสาขาในช่วงฤดูแล้งลดลงด้วยรวมทั้งเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญรุ่งเรืองทุก ๆ ด้าน น้ำจืดขาดแคลนจึงเป็นปัญหาที่ชาวลุ่มน้ำปากพนังต้องเผชิญกับการทำนาที่ไม่ได้ผล ผลผลิตต่ำ ราษฎรมีฐานะยากจน การพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังตามแนวพระราชดำริจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วย พลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์ให้กลับคืนสู่ลุ่มน้ำปากพนังดังเช่นในอดีต

 

 

เขื่อนคลองท่าด่าน
ด้วยลักษณะภูมิประเทศบริเวณลุ่มน้ำเป็นหุบเขาแคบ ๆ และ พื้นที่สูงชันประกอบกับมีผิวดินตื้นและลาดเทมาก ระดับน้ำใต้ดินมีน้อยมาก เป็นเหตุให้เกิดน้ำไหลบ่าอย่างรุนแรงในช่วงฤดูฝน และน้ำท่วมขังในบริเวณพื้นที่ราบเป็นเวลานาน ซ้ำยังมีปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ด้วยพระเมตตาที่ทรงห่วงใยอาณาประชาราษฎร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ที่ประสบปัญหาด้วยพระองค์เอง ทรงรับทราบปัญหาและดำริว่าการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบนจะช่วยผ่อนทุกข์หนักให้เป็นเบา ระบบชลประทานจะช่วยควบคุมปริมาณน้ำไม่ให้ไหลท่วมผืนดินและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามแล้ง รวมทั้งลดปัญหาดินเปรี้ยวเมื่อผืนดินกลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ จะเพาะปลูกอะไรก็ย่อมได้ ชาวบ้านจะมีกินมีใช้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 

 

อุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่จะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ 3 ตำบล ให้กับเกษตรกรได้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง อุโมงค์ผันน้ำแห่งลำพะยังภูมิพัฒน์มีระยะทาง 710 เมตร เป็นอุโมงค์แห่งเดียวในประเทศไทยที่เป็นโครงการพระราชดำริที่เจาะทะลุภูเขา เพื่อวางท่อและดึงน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยเป็นการผันน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำลำห้วยไผ่ อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ส่งผ่านท่อขนาด 80 เซนติเมตร เข้าอุโมงค์ที่มีความกว้าง 3 เมตร จากนั้นจะนำน้ำไปผ่านเข้าถังพักขนาด 2,350 ลูกบาศก์เมตร แล้วส่งผ่านท่อไปยังพื้นที่เกษตรได้ไกลถึง 33.5 กิโลเมตร ซึ่งอุโมงค์นี้เริ่มใช้งานมาตั้งแต่ปี 2549 และช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับประโยชน์ถึง 12,000 ไร่ ครอบคลุม 3 ตำบล 40 หมู่บ้าน 1,037 ครัวเรือน และเห็นได้ว่ายังช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวให้กับเกษตรกรจากเดิมที่ได้ 250 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มเป็น 550 กิโลกรัมต่อไร่ หรือประมาณ 2 เท่า

 

 

โครงการพระราชดำริ แก้มลิง
แก้มลิงเป็นการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับพื้นที่หน่วงน้ำ (detentionbasin) เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ปัจจุบันมีพื้นที่แก้มลิงขนาดใหญ่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพ เหนือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยกำหนดในผังการใช้ที่ดินเป็นพื้นที่เขียวลาย ไม่เหมาะกับการพัฒนา นอกจากนี้ยังมีแก้มลิงเล็กใหญ่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพกว่า 20 จุดโครงการแก้มลิง มีแนวคิดจากการที่ลิงอมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มไว้ได้คราวละมาก ๆ พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชกระแสอธิบายว่า "ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อนลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อย ๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง" ในโครงการมีการวางแผนพื้นที่แก้มลิงอย่างเป็นระบบ โดยหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กทม. กรมชลประทาน เป็นต้น แก้มลิงมี 3 ขนาด จากใหญ่ กลาง เล็ก มีวัตถุประสงค์เพื่อการชะลอน้ำก่อนที่จะจัดการระบายออกในเวลาต่อมา

 

 

โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังบริเวณฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ ให้ดำเนินการปรับปรุงคลองธรรมชาติ สายต่าง ๆ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของถนนสายบางกะปิ–บางนา เช่น คลองหนองบอน คลองสาหร่าย คลองชวดลากข้าวและคลองลาดกระบังโดยการกำจัดวัชพืช และสิ่งกีดขวางทางน้ำที่ทำให้น้ำไหลไม่สะดวก และให้พิจารณาปรับปรุงท่อลอดถนน ตลอดจนร่องน้ำใต้สะพาน คลองธรรมชาติสายต่าง ๆ ตามทางหลวงสายบางนา–ตราด เพื่อให้น้ำสามารถไหลผ่านได้โดยสะดวกหากท่อลอดถนนแห่งใดน้ำไหลช้า ก็ให้พิจารณาใช้เครื่องยนต์ติดใบพัดแบบเรือหางยาวผลักดันน้ำผ่านท่อลอดต่าง ๆ ดังกล่าวเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ในปริมาณเพิ่มขึ้น โดยออกแบบให้ใบพัดมีขนาดใหญ่ขึ้นตามความเหมาะสม สามารถผลักดันน้ำผ่านท่อได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ผันน้ำทุ่งจากพื้นที่เพาะปลูกรอบนอกไม่ให้ไหลเข้ามาเสริมในพื้นที่ที่น้ำท่วมขังอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนั้นให้พิจารณาหาทางระบายน้ำออกจากทุ่งพระโขนงลงสู่คลองบางอ้อ และคลองบางจากอย่างเต็มที่โดยดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางท่อลอดถนนสุขุมวิทของคลองบางอ้อและท่อลอดถนนทางด่วนของคลองบางจาก ตลอดจนใช้เครื่องสูบน้ำช่วยเพื่อระบายน้ำออกจากทุ่งพระโขนงลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอีกทางหนึ่งด้วย


โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา
จากการที่สภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงเกิดเป็นภาวะมลพิษอันเกิดจากน้ำเน่าเสียที่มีอัตราและปริมาณสูงขึ้นจนยากแก่การแก้ไขให้บรรเทาเบาบาง และกลับมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระราชดำริให้ประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศแบบประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถผลิตขึ้นได้เองในประเทศ โดยทรงมุ่งหวังที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการบรรเทาน้ำเน่าเสียอีกทางหนึ่งด้วย โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนงบประมาณเพื่อศึกษาวิจัยสิ่งประดิษฐ์ใหม่นี้ร่วมกับกรมชลประทาน ซึ่งต่อมาเครื่องมือบำบัดน้ำเสียนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย และเรียกกันว่า "กังหันน้ำชัยพัฒนา"

 

 

โครงการน้ำดีไล่น้ำเสียตามคลองต่าง ๆ ในกรุงเทพ
หลักการบำบัดน้ำเสียโดยการทำให้เจือจาง (Dilution) ตามแนวทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจาก พระราชดำริ "น้ำดีไล่น้ำเสีย" โดยใช้หลักการตามธรรมชาติแห่งแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) การใช้น้ำคุณภาพดีมาช่วยบรรเทาน้ำเน่าเสีย หรือที่เรียกกันว่า "น้ำดีไล่น้ำเสีย" นั้น ได้แก่ การใช้น้ำที่มีคุณภาพดีช่วยผลักดันน้ำเน่าเสียออกไป และช่วยให้น้ำเน่าเสีย มีสภาพเจือจางลง ทั้งนี้โดยรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา หรือจากแหล่งน้ำภายนอกส่งเข้าไปตามคลองต่าง ๆ เช่น คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองแสนแสบ คลองเทเวศร์ หรือคลองบางลำพู ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งกระแสน้ำจะไหลแผ่กระจายขยายไปตามคลองซอยที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้านหนึ่ง ดังนั้นเมื่อการกำหนดวงรอบเกี่ยวกับการไหลของน้ำไปตามคลองต่าง ๆ นับแต่ปากคลอง ที่น้ำไหลเข้าจนถึงปลายคลองที่น้ำไหลออกได้อย่างเหมาะสม โดยที่น้ำสามารถไหลเวียนไปตามลำคลองได้ตลอดแล้วย่อมสามารถเจือจางน้ำเน่าเสียและชักพาสิ่งโสโครกไปได้มาก ซึ่งจะเป็นวิธีการช่วยบรรเทาน้ำเน่าเสียในคลองต่าง ๆ ตอนช่วงฤดูแล้งได้อย่างดี

จึงบังเกิดกรรมวิธีในการบำบัดน้ำเสีย 2 ประการ ตามแนวพระราชดำริ "น้ำดีไล่น้ำเสีย" คือ วิธีที่หนึ่ง ให้เปิดประตูอาคารควบคุมน้ำ รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงจังหวะน้ำขึ้นและระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนระยะน้ำลง ซึ่งมีผลทำให้น้ำตามลำคลองมีโอกาสไหลถ่ายเทกันไปมามากขึ้นกว่าเดิม เกิดมีการหมุนเวียนของน้ำที่มีสภาพเน่าเสีย กลิ่นเหม็น กลายเป็นน้ำที่มีคุณภาพดีขึ้น วิธีที่สอง ให้ขุดลอกคลองเปรมประชากรพร้อมทั้งกำจัดวัชพืชเพื่อให้เป็นคลองสายหลักในการผันน้ำคุณภาพดีไปช่วยบรรเทาให้น้ำเสียเจือจางลงและให้คลองเปรมประชากรตอนล่างเป็นคลองที่สามารถรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปช่วยบรรเทาน้ำเสียโดยส่งกระจายไปตามคลองต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานครส่วนคลองเปรมประชากรตอนบนนั้นให้หาวิธีรับน้ำเข้าคลองเป็นปริมาณมากอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการเพิ่มระดับน้ำให้สูงขึ้นจะได้สามารถกระจายน้ำเข้าสู่ทุ่งบางไทร-บางปะอินเพื่อการเพาะปลูก และเพื่อให้คลองเปรมประชากรตอนบนมีลักษณะเป็นอ่างเก็บน้ำ เพื่อใช้ผลักดันน้ำเน่าเสียในคลองเปรมประชากรตอนล่างต่อไปได้

แนวพระราชดำริสองประการนี้ แสดงถึงพระปรีชาสามารถในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าทรงเชี่ยวชาญในด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง และเป็นวิธีการบำบัดน้ำเสียอย่างง่าย ประหยัดพลังงาน และสามารถปฏิบัติได้ตลอดเวลา ซึ่งแสดงถึงพระปรีชาสามารถอันสูงยิ่งในพระวิริยะอุตสาหะที่ทรงทุ่มเทเพื่อความสุขของปวงชนทั้งหลาย


บึงมักกะสัน
หลักการบำบัดน้ำเสียโดยการกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวา (Filtration) ตามแนวทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ "บึงมักกะสัน"

บึงมักกะสันเป็นบึงขนาดใหญ่ที่อยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ขุดขึ้น ในปี พ.ศ. 2474 เพื่อใช้เป็นแหล่งระบายน้ำและรองรับน้ำเสีย รวมทั้งน้ำมันเครื่องจากโรงงานรถไฟมักกะสัน ทำให้บึงมักกะสันตื้นเขินจากการตกตะกอนของสารแขวนลอย กอปรกับรอบบึงมักกะสันมีชุมชนแออัด 3 ชุมชน รวม 729 ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่ต่างก็ถ่ายสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอยลงสู่บึงมักกะสัน จนเกิด ปัญหาภาวะสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและน้ำเน่าเสียกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคแห่งหนึ่ง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงภัยแห่งภาวะมลพิษนี้จึงได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 15 เมษายน และวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2528 ให้หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันปรับปรุงบึงมักกะสันเพื่อใช้ประโยชน์ในการช่วยระบายน้ำ และบรรเทาสภาพน้ำเสียในคลองสามเสน โดยใช้วิธีการในรูปแบบของ "เครื่องกรองน้ำธรรมชาติ" กล่าวคือ ให้มีการทดลองใช้ผักตบชวา ซึ่งเป็นวัชพืชที่ต้องการกำจัดอยู่แล้วนี้ มาทำหน้าที่ดูดซับความโสโครก รวมทั้งสารพิษจากน้ำเน่าเสีย โดยทรงเน้นให้ทำการปรับปรุงอย่างประหยัด และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมบึง

 

 

โครงการปลูกหญ้าแฝก เพื่อการอนุรักษ์ดิน
หญ้าแฝก มีรากยาวหยั่งลึกที่แผ่กระจายลงดินในแนวดิ่ง จึงช่วยอุ้มน้ำและยึดเหนี่ยวดินได้มั่นคง และเมื่อนำมาปลูกเป็นแถวชิดติดกันอย่างแน่นหนา จะช่วยดักตะกอนดิน รักษาหน้าดินได้ดี คุณลักษณะสองประการนี้ทำให้หญ้าแฝกไม่เพียงช่วยอนุรักษ์ดินเท่านั้น แต่ยังช่วยฟื้นฟูโครงสร้างดินที่สูญเสียธาตุอาหารให้กลับคืนสู่ความสมบูรณ์ เป็นการเพิ่มคุณภาพดินและอนุรักษ์น้ำ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเพาะปลูกเพิ่มผลผลิตจากการเกษตรของประเทศ หญ้าแฝกจึงเป็น “หญ้ามหัศจรรย์”

ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งเปรียบเปรยทรัพยากรธรรมชาตินั้นมีความสำคัญกับทุกชีวิตถ้าดินเสียหายชีวิตก็อยู่ไม่ได้ การปลูกหญ้าแฝกตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นการฟื้นฟูอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การร่วมแรงร่วมใจของพวกเราไม่เพียงแต่ช่วยกันรักษาแผ่นดินไว้เท่านั้น แต่ยังเป็นการดำเนินตามรอยพระยุคลบาทของพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพยิ่งของปวงชนชาวไทย

 

 

โครงการแกล้งดิน
แกล้งดิน เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับการแก้ปัญหาดินเปรี้ยว หรือดินเป็นกรด โดยมีการขังน้ำไว้ในพื้นที่จนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ดินเปรี้ยวจัด จนถึงที่สุด แล้วจึงระบายน้ำออกและปรับสภาพฟื้นฟูดินด้วยปูนขาว จนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้ จากการทดลอง ทำให้พบว่า วิธีการปรับปรุงดินตามสภาพของดินและความเหมาะสม มีอยู่ 3 วิธีการด้วยกัน คือ 1. ใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด เพราะเมื่อดินหายเปรี้ยว จะมีค่า pH เพิ่มขึ้น หากใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสเฟต ก็จะทำให้พืชให้ผลผลิตได้ 2. ใช้ปูนขาวมาผสมคลุกเคล้ากับหน้าดิน 3. ใช้ทั้งสองวิธีข้างต้นผสมกัน

 

 

โครงการฝายชะลอความชุ่มชื้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นอย่างมาก ทรงตระหนักถึงความสำคัญของน้ำต่อความอยู่รอดของเหล่าพสกนิกรเนื่องจาก “น้ำ” ถือเป็นองค์ประกอบหลักในการดำรงชีวิต ทั้งใช้อุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงเกิดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อนเกี่ยวกับน้ำ จนสามารถสนองความต้องการพื้นฐานของราษฎรได้ และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร โดยการสร้างฝายต้นน้ำลำธาร หรือฝายชะลอความชุ่มชื้น นับเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ได้รับการน้อมนำไปปฏิบัติอย่างแพร่หลาย

 

 

โครงการพระราชดำริเขานางพันธุรัตน์เพื่อฟื้นฟูพี้นที่ที่มีการทรุดตัว
เมื่อปี 2541 พระราชกระแสรับสั่งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงห่วงใยเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ บริเวณเขานางพันธุรัต (เขาเจ้าลายใหญ่) ที่พังทลายลง ได้มีพระราชดำริแก่แม่ทัพภาคที่ 1 สรุปได้ว่า ให้อนุรักษ์สภาพภูมิประเทศบริเวณเขานางพันธุรัต (เขาเจ้าลายใหญ่) เนื่องจากมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และให้ฟื้นฟูสภาพพื้นที่บริเวณที่มีการทรุดตัวของภูเขาโดยการปลูกต้นไม้
- จัดตั้งวนอุทยานเขานางพันธุรัตเมื่อปี 2542
- นำพันธุ์ไม้ประมาณ 4,000 – 5,000 ต้น มาปลูกบริเวณพื้นที่ที่เกิดการถล่ม
- ปลูกต้นไม้กระถินยักษ์ให้เป็นพืชคลุมดินและดูแลให้เจริญเติบโต
- ลำเลียงดินบรรจุใส่ถุงปูนซีเมนต์เปล่า จำนวน 4,500 ถุง เมล็ดพันธุ์ไม้ (กระถินยักษ์ สีเสียด ขี้เหล็ก) เมล็ดพืชคล่อมดิน (ถั่วไมยรา) และถั่วยักษ์ฮามาต้า ผสมดินแล้วไปโปรยในพื้นที่
- ปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหา มหาราชินี เมื่อปี 2542
- ปรับปรุงภูมิทัศน์บนถนนเพชรเกษม
- นำต้นไทรปลูกตามซอกหินพังทลาย
- สร้างการมีส่วนของชุมชนในท้องถิ่นให้มีการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เป็นประจำทุกเดือน
- ฝึกอบรมอาสาสมัครพิทักษ์เขานางพันธุรัต ปี 2549 2 รุ่น
- ปลูกหญ้าแฝก จัดสร้างแหล่งน้ำ เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์เนื้อทราย ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโครงการและปรับปรุงถนนทางเดินธรรมชาติ


โครงการพระราชดำริห้วยองคต
โครงการห้วยองคต จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และการทำมาหากินของราษฎรควบคู่กับการฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรม โดยมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก เพื่อระดมสรรพกำลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทจึงได้เข้าร่วมสนับสนุนงานส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกรในโครงการกว่า 400 ครอบครัว ทั้งการเลี้ยงไก่ไข่ การเลี้ยงแพะ การเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองพันธุ์ดี การปลูกพืชผัก ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเริ่มจากการสร้างบ้านพักให้กับราษฎร ได้มีที่อยู่อาศัยถาวรพร้อมกับส่งเสริมการออมและกระบวนการเรียนรู้ของเยาวชนซึ่งดำเนินการตั้งแต่ 28 พฤศจิกายน 2536 เป็นต้นมา

 

 

โครงการป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง
พระราชดำริปลูกป่า 3 อย่างนั้น มีพระราชดำรัส ความว่า ...ป่าไม้ที่จะปลูกนั้น สมควรที่จะปลูกแบบป่าใช้ไม่หนึ่ง ป่าสำหรับใช้ผลหนึ่ง ป่าสำหรับใช้เป็นฟืนอย่างหนึ่ง อันนี้แยกออกไปเป็นกว้าง ๆ ใหญ่ ๆ การที่จะปลูกต้นไม้สำหรับได้ประโยชน์ดังนี้ ในคำวิเคราะห์ของกรมป่าไม้รู้สึกจะไม่ใช่ป่าไม้ แต่ในความหมายของการช่วยเหลือเพื่อต้นน้ำลำธารนั้น ป่าไม้เช่นนี้จะเป็นสวยผลไม้ก็ตามหรือเป็นสวนฟืนก็ตามนั่นแหละเป็นป่าไม้ที่ถูกต้อง เพราะทำหน้าที่เป็นป่า คือ เป็นต้นไม้และทำหน้าที่เป็นทรัพยากรในด้านสำหรับให้ผลที่มาเป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้

     ประโยชน์ที่ได้รับ ในการปลูกป่า 3 อย่างนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชาธิบายถึงประโยชน์ในการปลูกป่าตามพระราชดำริว่า

...การปลูกป่า 3 อย่าง แต่ให้ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งได้ไม้ผล ไม้สร้างบ้าน และไม้ฟืนนั้น สามารถให้ประโยชน์ได้ถึง 4 อย่าง คือ นอกจากประโยชน์ในตัวเองตามชื่อแล้ว ยังสามารถให้ประโยชน์อันที่ 4 ซึ่งเป็นข้อสำคัญ คือ สามารถช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธารด้วย และได้มีพระราชดำรัสเพิ่มเติมว่า....

การปลูกป่าถ้าจะให้ราษฎรมีประโยชน์ให้เขาอยู่ได้ ให้ใช้วิธีปลูกไม้ 3 อย่าง แต่มีประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ โดยรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำ และปลูกอุดช่วงไหล่ตามร่องห้วย โดยรับน้ำฝนอย่างเดียว ประโยชน์อย่างที่ 4 ได้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ...

พระราชดำริเพื่อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ดำเนินการในหลายส่วนราชการ ทั้งกรมป่าไม้และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทุกแห่ง คือ การปลูกป่าใช้สอย โดยดำเนินการปลูกพันธุ์ไม้โตเร็วสำหรับตัดกิ่งมาทำฟืนเผาถ่าน ตลอดจนไม้สำหรับใช้ในการก่อสร้างและหัตถกรรมส่วนใหญ่ได้มีการปลูกพันธุ์ไม้โตเร็วเป็นสวนป่า เช่น ยูคาลิปตัส ขี้เหล็ก ประดู่ แค กระถินยักษ์ และสะเดา เป็นต้น


โครงการอาหารช้างป่า
เนื่องจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงมีพื้นที่กว้างใหญ่ สภาพด้านนอกโดยรอบมีหมู่บ้านชุมชนล้อมรอบ จึงเป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาเกี่ยวกับชุมชนเนื่องจากราษฎรในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังพึ่งพาอาศัยอยู่กับป่า อีกทั้งยังมีการบุกรุกขยายพื้นที่ทำกิน เพื่อปลูกพืชไร่ ทางเขตฯ ได้พยายามหาทางแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอดแล้ว แต่ราษฎรในพื้นที่ไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร และเมื่อมีการบุกรุกทำให้แหล่งอาหารหากินไม่เพียงพอต่อความต้องการของช้างป่า จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ช้างป่าได้ออกไปนอกเขตฯ และทำความเสียหายต่อพืชไร่ของราษฎรที่ปลูกไว้ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ประสบกับปัญหาช้างป่าได้ออกไปหากินนอกเขตฯ และทำความเสียหายทำลายพืชไร่ของราษฎรที่ปลูกไว้อยู่เป็นประจำในช่วงฤดูหนาว โอกาสที่ช้างป่าจะถูกทำร้ายเสียชีวิตจึงมีมาก ซึ่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงได้ตระหนักถึงปัญหานี้มาโดยตลอด ในอันที่จะหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

 

 

คลองลัดโพธิ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2523 ให้ปรับปรุง คลองลัดโพธิ์ บริเวณคุ้งน้ำช่วงที่ไหลผ่านเขตพื้นที่บางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ ระยะทาง 18 กิโลเมตร ให้เหลือเพียง 600 เมตร เพื่อย่นระยะทางการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลัดลงสู่ทะเลได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นอันจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมบริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑลได้อย่างดี โครงการปรับปรุงคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน รับสนองพระราชดำริดำเนินการปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ จากเดิมที่มีสภาพตื้นเขินมีความกว้างเพียง 12 เมตร ให้สามารถรับปริมาณน้ำได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้ก่อสร้างประตูระบายน้ำบริเวณต้นคลองด้านทิศเหนือขนาด กว้าง 14 เมตร จำนวน 4 บาน ขุดคลองด้านเหนือประตูระบายน้ำกว้าง 65 เมตร ความยาวรวม 600 เมตร พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนถึงอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ คิดเป็นมูลค่าผลประโยชน์ ที่ได้รับ 161.4 ล้านบาท/ปี และประโยชน์ทางอ้อมอื่น ๆ ทั้งช่วยลดภาระการป้องกันน้ำท่วม ลดการสูญเสียทรัพย์สินและเวลาในการเดินทาง ประหยัดค่ากระแสไฟฟ้าสูบน้ำของระบบป้องกันน้ำท่วมเดิม การเพิ่มขึ้นของมูลค่าที่ดินที่เคยเกิดน้ำท่วม รวมถึงลดภาระการบริหารงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเฉพาะหน้า ของภารัฐได้อีกด้วย

 

 

เขื่อนแควน้อย
แม่น้ำแควน้อยเป็นลุ่มน้ำสาขาย่อยฝั่งซ้ายของแม่น้ำน่าน มีต้นน้ำอยู่ที่อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ไหลผ่านอำเภอวัดโบสถ์ บนจบแม่น้ำน่านที่อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก สภาพพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำแควน้อย ประมาณ 200,000 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี ราษฎรส่วนใหญ่ 80% เป็นเกษตรกรที่มีรายได้ต่ำ ทำนาได้ครั้งเดียวในฤดูฝน แต่มักได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วม โดยมีพื้นที่ประมาณ 75,000 ไร่ ในเขตอำเภอวัดโบสถ์ อำเภอวังทอง อำเภอพรหมพิราม และอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก มักเกิดปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงเป็นลำดับ โครงการเขื่อนแควน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีเป้าหมายหลักเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงยังจะเป็นแหล่งน้ำสนับสนุนให้กับพื้นที่ชลประทานฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำแควน้อย ส่งน้ำเสริมให้กับพื้นที่เพาะปลูกของโครงการเจ้าพระยาใหญ่ เป็นแหล่งน้ำใช้ในการเกษตร การอุปโภค บริโภค นอกจากนี้ ยังได้สร้างเขื่อนทดน้ำพญาแมน เพื่อช่วยยกระดับน้ำเข้าคลองชลประทาน ส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 4 อำเภอของจังหวัดพิษณุโลก คือ อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอพรหมพิราม อำเภอวังทอง และอำเภอเมือง

 

 

โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร และทอดพระเนตรอ่างเก็บน้ำแม่เรียง ในท้องที่ตำบลสบปราบ อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง ได้มีพระราชดำริกับแม่ทัพภาคที่ 3 และอธิบดีกรมชลประทาน เกี่ยวกับโครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิงฯ ดังนี้ "ควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาต่าง ๆ ของแม่น้ำปิง ในเขตอำเภอจอมทอง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน" ตามที่ทรงวางโครงการในระยะแรก จำนวน 13 อ่าง เพื่อจัดหาน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกเดิมของราษฎรหมู่บ้านต่าง ๆ และพื้นที่ป่าละเมาะที่จะบุกเบิกเป็นพื้นที่ทำกิน เพื่อจัดสรรให้กับราษฎรเข้าทำกินต่อไปรวมพื้นที่ประมาณ 40,000 ไร่ สามารถมีน้ำทำการเพาะปลูก และมีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค สำหรับหมู่บ้านต่าง ๆ ดังกล่าวตลอดปี นอกจากนั้นยังจะมีน้ำไว้ช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางด้านปศุสัตว์ การประมง การเกษตร และการอุตสาหกรรม ในพื้นที่การพัฒนาการเกษตรประมาณ 66,000 ไร่ได้อีกด้วยส่วนพื้นที่ต้นน้ำลำธารเหนืออ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ขึ้นไป มีพื้นที่ประมาณ 104,00 ไร่ จะใช้พื้นที่พัฒนาป่าไม้ ปลูกไม้สามอย่างคือ ไม้ฟืน ไม้ผล และไม้ใช้สอย เพื่อเป็นการอนุรักษ์น้ำ ลำธารของอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ