กษัตริย์ ผู้สร้างแนวทางแห่งปัญญา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 6K views



 

     

     พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชวิสัยทัศน์ก้าวไกลและลึกซึ้งเกี่ยวกับการศึกษาและการเรียนรู้ อันจะช่วยสร้างคน สร้างอาชีพ ตลอดจนพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืน

     ทั้งนี้ เพื่อสนองพระราชประสงค์ของพระองค์ที่ทรงมุ่งส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ทรูปลูกปัญญาดอทคอม เว็บไซต์คลังความรู้คู่คุณธรรม ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการปลูกฝังจิตสำนึกด้านคุณธรรมจริยธรรมสืบไป จึงขอนำบทความ “กษัตริย์ ผู้สร้างแนวทางแห่งปัญญา” จากนิตยสาร plook ฉบับที่ 12 ประจำเดือน ธันวาคม 2011 ที่ได้น้อมนำโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ด้านการศึกษามาเผยแพร่ให้กับเยาวชนและผู้อ่าน เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

**หมายเหตุ** บทความนี้เดิมเขียนขึ้นไว้ในนิตยสาร plook ฉบับที่ 12 ประจำเดือนธันวาคม ปีพ.ศ. 2554 ในสมัยรัชกาลที่ 9 ดังนั้นพระนาม “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ” ในบทความนี้ จึงหมายถึง สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช


“การเรียนรู้ในเรื่องราวและวิชาการสาขาต่างๆ โดยกว้างขวาง เป็นเหตุให้เกิดความรู้ ความคิด และความฉลาด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับชีวิต ช่วยให้บุคคลสามารถสร้างประโยชน์สุข สร้างความเจริญมั่นคงให้แก่ตนเองทั้งแก่สังคม และบ้านเมืองอันเป็นที่พึ่งอาศัยได้ ทุกคนจึงควรมีโอกาสที่จะศึกษาหาความรู้ได้ตามความประสงค์และกำลังความสามารถโดยทั่วกัน”
พระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512


มูลนิธิอานันทมหิดล
สู่เส้นชัยการศึกษา เพื่อพัฒนาชาติ

 


     ทุนอานันทมหิดลเป็นหนึ่งในทุนพระราชทาน เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าเด็กไทยที่จริงแล้วมีสติปัญญาแต่ขาดโอกาสและทุนการศึกษา จึงทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อตั้งกองทุนหรือมูลนิธิที่สนับสนุนด้านการศึกษาในระดับประถมศึกษา มัธยม ศึกษา อุดมศึกษา รวมไปถึงสายอาชีพด้วย ยกตัวอย่างทุนพระราชทานที่เรารู้จักกันดีได้แก่ ทุนมูลนิธิภูมิพล ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ทุนเล่าเรียนหลวง (King’s Scholarship) เป็นต้น

     สำหรับ ทุนอานันทมหิดล (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิอานันทมหิดล) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2498 พระราชทานนาม “อานันทมหิดล” เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร หรือรัชกาลที่ 8 ในระยะแรกเป็นการพระราชทานทุนแก่ผู้สำเร็จการศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนในสาขาวิชาต่างๆ เพิ่มขึ้น เป็นไปตามจุดประสงค์ในการสนับสนุนนักเรียนไทยที่มีความสามารถทางวิชาการในระดับยอดเยี่ยม ได้โอกาสในการศึกษาต่อจนถึงขั้นสูงสุดในต่างประเทศ เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเมืองของเราในแขนงต่างๆ

     ทุนมูลนิธิอานันทมหิดลไม่มีการสอบคัดเลือก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 8 สาขา ได้แก่ แผนกแพทยศาสตร์ แผนกวิทยาศาสตร์ แผนกวิศวกรรมศาสตร์ แผนกเกษตรศาสตร์ แผนกธรรมศาสตร์ แผนกอักษรศาสตร์ แผนกทันตแพทยศาสตร์ และแผนกสัตวแพทยศาสตร์ จะเป็นผู้คัดเลือกผู้สมควรได้รับพระราชทานทุน แล้วนำขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานบรมราชวินิจฉัยเป็นรายคน ถึงแม้ทุนมูลนิธิ

     อานันทมหิดลจะไม่มีข้อผูกมัดว่าต้องกลับมารับราชการหรือกลับมาทำงานในประเทศไทย แต่ผู้ได้รับพระราชทานทุนส่วนใหญ่ก็กลับมาสร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติและเป็นบุคคลสำคัญที่เรารู้จักกันดี อาทิ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี อาจารย์ ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน



มูลนิธิพระดาบส
โอกาสที่สองของคนทำดี

 


     ตามตำนาน “พระดาบส” หรือ “พระฤๅษี” เปรียบได้กับครูอาจารย์ของเหล่านักเรียนผู้มีความเพียรศึกษาหาความรู้ ที่ดั้นด้นเข้าไปในป่าเพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ พระดาบสเมตตาถ่ายทอดวิชาให้โดยไม่หวังผลประโยชน์ใดๆ เป็นผู้สมควร ได้รับการบูชายกย่อง

     โรงเรียนพระดาบส ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิพระดาบส ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2519 เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาและขาดแคลนทุนทรัพย์ ไม่มีอาชีพ และความรู้พื้นฐานที่จะศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาชั้นสูง แต่มีความรักเรียนเพียรพยายามให้ตนเองได้รับการฝึกอาชีพและฝึกอบรมด้านคุณธรรมจริยธรรม จนสามารถเรียนจบและประกอบอาชีพสร้างเนื้อสร้างตัว ช่วยเหลือตนเอง ครอบครัว และสังคมได้

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดแนวทางให้โรงเรียนพระดาบสจัดการเรียนการสอนในรูปแบบการศึกษานอกระบบ ผู้เรียนหรือ “ศิษย์พระดาบส” ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร 1 ปี ทั้งยังมีอุปกรณ์การเรียน ที่พักอาศัย และ อาหารพร้อม แต่ศิษย์ต้องเคารพเชื่อฟังอาจารย์หรือ “ดาบสอาสา” มีความขยันหมั่นเพียร ปฏิบัติตนเป็นคนดี ไม่ยุ่งเกี่ยวอบายมุขใดๆ
ในปี พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง โครงการลูกพระดาบส ณ จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีโครงการพระดาบสเป็นต้นแบบ เพื่อสร้างศิษย์พระดาบสหลักสูตรการเกษตรพอเพียงและช่างไม้เครื่องเรือนให้มีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรแบบผสมผสาน ในลักษณะพึ่งพาตนเองตามแนวพระราชดำริ และยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรสมุนไพร และการใช้พลังงานทดแทนแก่ชุมชน



โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
ส่งเสริมการเรียนรู้ ช่วยครูขาดแคลน

 


     เด็กไทยหลายคนคงเคยอ่านหนังสือสารานุกรมกันมาบ้าง สารานุกรมคือเรื่องคัดย่อเกี่ยวกับความรู้ประเภทต่างๆ นำมารวบรวมจัดเรียงเป็นลำดับ บางชุดมีเนื้อหาความรู้ทั่วไป บางชุดก็เป็นความรู้เฉพาะด้าน เช่น สารานุกรมเกี่ยวกับการแพทย์

     เนื่องจากสารานุกรมส่วนใหญ่แปลและเรียบเรียงเนื้อหาจากต่างประเทศ ทำให้เนื้อหาบางเรื่องไกลตัวเกินไปสำหรับคนไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีสารานุกรมที่คนไทยทำขึ้นเอง เพื่อให้เยาวชนสามารถหาความรู้ได้ด้วยตนเองจากการอ่านหนังสือ และยังช่วยแก้ปัญหาครูขาดแคลน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงกำหนดแนวทางในการจัดทำสารานุกรมว่าให้มีเนื้อหาที่เหมาะสำหรับเด็กรุ่นเล็ก เด็กรุ่นกลาง และเด็กรุ่นใหญ่ รวมไปถึงผู้ใหญ่ที่สนใจ มีการนำเสนอเรื่องราวอย่างน่าสนใจ มีรูปเขียนบ้าง รูปถ่ายบ้าง และมีขนาดเหมาะสมกับการใช้งาน

     โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เริ่มดำเนินงานในปี พ.ศ. 2512 โดยระดมอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ ทั้ง 7 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ คณิตศาสตร์ และแพทยศาสตร์ คัดย่อเนื้อหาวิชาแขนงต่างๆ ที่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์กันได้ สารานุกรมไทยฯ เล่มที่ 1 จัดพิมพ์แล้วเสร็จ 10,000 เล่มเมื่อปี พ.ศ. 2516 และครึ่งหนึ่งของจำนวนพิมพ์ถูกกระจายไปยังโรงเรียนและห้องสมุดทั่วประเทศเพื่อใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง

     ปัจจุบันโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนผลิตสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนออกมาแล้ว 36 เล่ม โดยเล่มล่าสุดออกมาเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ข้างในมีภาพประกอบสี่สีสวยงาม มีเรื่องราวความรู้ใน 9 หัวข้อ ดังนี้ มัสยิด ละครชาตรี เกวียน ทองคำ มะคาเดเมีย หุ่นยนต์ แอนิเมชัน โรคมาลาเรีย โรคไต
 

“การแบ่งการศึกษาเป็นสองอย่าง คือการศึกษาวิชาการอย่างหนึ่ง วิชาการนั้นจะ เป็นประโยชน์แก่ตัวเองและแก่บ้านเมือง ถ้ามาใช้ต่อไปเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว อีกอย่างหนึ่ง ขั้นที่สองก็คือ ความรู้ที่จะเรียกได้ว่าธรรม คือรู้ในการวางตัว ประพฤติและคิด วิธีคิด วิธีที่จะใช้สมองมาทำเป็นประโยชน์แก่ตัว สิ่งที่เป็นธรรมหมายถึงวิธีประพฤติปฏิบัติ คนที่ศึกษาในทางวิชาการและศึกษาในทางธรรมก็ต้องมีปัญญา แต่ผู้ใช้ความรู้ในทางวิชาการทางเดียวและไม่ใช้ความรู้ในทางธรรม จะนับว่าเป็นปัญญาชนมิได้ ”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
18 ธันวาคม พ.ศ. 2513



ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติของเกษตรกร
 


     เป็นเวลาเกือบ 3 ทศวรรษแล้ว หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการศึกษาทดลอง วิจัย และสาธิตแนวทางในการพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่แตกต่างกัน โดยจะต้องให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการส่งเสริมความรู้เทคนิคสมัยใหม่

     ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีทั้งหมด 6 แห่งใน 4 ภาคทั่วประเทศ ด้วยจุดประสงค์การพัฒนาแตกต่างกันไป ได้แก่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส มีเป้าหมายด้านการศึกษาวิจัยดินพรุในภาคใต้ ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางเกษตรกรรมให้ได้มากที่สุด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร เน้นการพัฒนาอาชีพทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรมในครัวเรือน และการพัฒนาหมู่บ้านตัวอย่าง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี มีเป้าหมายในการศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมการประมงชายฝั่งเพื่อเพิ่มผลผลิต ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ งานหลักเป็นการศึกษาค้นคว้ารูปแบบที่เหมาะสมของ การพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี มุ่งเน้นการศึกษาแนวทางพัฒนาฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรม โดยสนับสนุนให้เกษตรกรมีส่วนในการดูแลสภาพป่า พร้อมกับมีรายได้ และผลประโยชน์จากป่าด้วย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีจุดประสงค์ในการค้นคว้า ทดลอง และสาธิตเรื่องการพัฒนาที่ทำกินให้อุดมสมบูรณ์ โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของพืชหลายชนิด

     ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ แต่ละแห่งมีการพัฒนาแบบผสมผสานเป็นแบบจำลองของพื้นที่และรูปแบบการพัฒนาที่ควรจะเป็น ทั้งด้านการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง งานศิลปาชีพ เน้นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการ นักปฏิบัติ และประชาชน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์จริง เป็นลักษณะที่เรียกว่า “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” ให้นักวิชาการเข้ามาศึกษาดูงานในจุดเดียว ที่สำคัญคือให้ชาวบ้านในพื้นที่นำไปปฏิบัติตามและสามารถทำมาหากินเลี้ยงตนเองได้


ข้อมูลอ้างอิง
โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ศูนย์สารสนเทศ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 จังหวัดเชียงใหม่
มูลนิธิอานันทมหิดล
มูลนิธิพระดาบส



แหล่งที่มา นิตยสาร plook ฉบับที่ 12 ประจำเดือน ธันวาคม 2011 (ผู้เขียนบทความ ศรินทร เอี่ยมแฟง)