บทเรียนออนไลน์ วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา เรื่อง ใส่ใจสุขภาพ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 33.6K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

ใส่ใจสุขภาพ

 

 

การใช้สถานบริการสุขภาพทางการแพทย์และการสาธารณสุข
การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในประเทศไทย มีจุดมุ่งหมาย 4 ประการ
     1. เพื่อให้ประชาชนมีความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ และอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
     2. เพื่อให้ประชาชนปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ วินิจฉัยโรคและรักษาให้ทันท่วงที
     3. เพื่อให้ประชาชนมีอายุยืนยาว ไม่เสียชีวิตก่อนถึงเวลาอันสมควร
     4. เพื่อป้องกันสวัสดิภาพของประชาชน ไม่ให้เกิดอันตรายต่าง ๆ 


การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
     1. การให้บริการโดยหน่วยงานรัฐบาล แบ่งเป็นการให้บริการในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
     2. การจัดบริการสาธารณสุขส่วนภูมิภาค แบ่งเป็น ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอและจังหวัด


การสาธารณสุขมูลฐาน
     งานสาธารณสุขมูลฐานประกอบด้วยการบริการผสมผสาน 4 ด้าน ได้แก่ การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพอนามัย การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่งแยกออกเป็นงานที่ประชาชนดำเนินการได้ด้วยตนเอง เรียกว่า เป็นองค์ประกอบของงานสาธารณสุขมูลฐาน


หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
     หมายถึง สิทธิและความคุ้มครองของประชาชนในการที่จะได้รับบริการทางการแพทย์ การสาธารณสุข และการอนามัย อันจำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2544 และปรับปรุงการดำเนินงานให้ดีขึ้น เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้รับบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง


เทคโนโลยีกับสุขภาพ
เทคโนโลยีเกี่ยวกับสุขภาพแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
     1. เทคโนโลยีเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ คือ เทคโนโลยีที่นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในด้านกระบวนการผลิตของสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน
     2. เทคโนโลยีเกี่ยวกับการบริการสุขภาพ คือ เทคโนโลยีที่นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้กับการบริการสุขภาพ
     3. เทคโนโลยีเกี่ยวกับข่าวสารสุขภาพ คือ เทคโนโลยีที่นำความรู้ต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์มาใช้กับการสื่อสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพ
     เทคโนโลยีหากใช้ไม่เหมาะสม หรือใช้ไม่ถูกต้อง อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เช่นการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ อาจส่งผลทำให้เกิดอาการปวดเมื่อย สายตาพร่ามัว หรือเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำบริเวณขาได้


ความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุข
     คือ การนำความรู้ทางวิทยามาศาสตร์มาประยุกต์ให้เกิดนวัตกรรมสาธารณสุขเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ ปัจจุบัน การแพทย์มีความเจริญก้าวหน้ามากทั้งในด้านอายุรกรรม เช่น ความก้าวหน้าในการทดลองพัฒนาวัคซีนเอดส์ ด้านศัลยกรรม เช่น ความก้าวหน้าในการผ่าตัดอวัยวะภายในด้วยวิธีการส่องกล้อง หรือการปลูกถ่ายอวัยวะ ด้านการใช้รังสีและแสงเลเซอร์ เช่น การทำเลสิกตา การนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์มาใช้ เช่น เครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เครื่องสลายนิ่ว เครื่องหัวใจและปอดเทียม


ความสมดุลระหว่างสุขภาพกายและสุขภาพจิต
     คือ สภาวะที่ร่างกายหรือจิตใจมีความปกติในด้านความสัมพันธ์ระหว่างกัน ส่งผลดีทั้งต่อตนเอง คนรอบข้าง สังคมและประเทศชาติ
สภาวะจิตใจของบุคคลในแต่ละวัยมีความแตกต่างกัน ดังนี้
     1. วัยทารก จะแสดงอาการเฉื่อยชา เฉยเมย ร้องไห้งอแง และเจ้าอารมณ์
     2. วัยเด็ก ชอบแยกตัวเอง ติดพ่อแม่ กัดเล็บ หวาดกลัวโดยไร้เหตุผล ชอบทะเลาะวิวาท
     3. วัยรุ่น ไม่กล้าเข้าสังคม ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เพ้อฝัน ก้าวร้าว สำส่อนทางเพศ


การจัดการกับอารมณ์และความเครียด
     การฝึกบริหารจิต หรือเรียกสั้น ๆ ว่า การฝึกจิต เป็นแนวทางสำคัญที่มีส่วนช่วยทำให้คนเรามีสุขภาพที่ดี สามารถจัดการกับอารมณ์และความเครียดอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การฝึกบริหารจิตร่างกายจะสงบนิ่งไม่เคลื่อนไหวจนจิตเกิดเป็น สมาธิ



การฟังเพลงจะช่วยทำให้เพลิดเพลิน



การพัฒนาสมรรถภาพทางกายตามเกณฑ์มาตรฐาน
     ประเทศไทยนิยมทดสอบสมรรถภาพทางกายตามแบบของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานแบบทดสอบสมรรถภาพทางกายที่เรียกว่า แบบทดสอบสมรรถภาพทางกายมาตรฐานระหว่างประเทศ รูปแบบการทดสอบ เช่น วิ่งเร็วระยะทาง 50 เมตร แรงบีบมือที่ถนัด ลุกนั่ง 30 วินาที วิ่งเก็บของ ดึงข้อราวเดี่ยว วิ่งทางไกล และงอตัวไปข้างหน้า

 

 

ท่าตั้งต้นของการทดสอบดึงข้อ

 

 

การทดสอบงอตัวข้างหน้า

 

 

คำสำคัญ  การสาธารณสุขมูลฐาน  สถานบริการสุขภาพทางการแพทย์และการสาธารณสุข  หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  เทคโนโลยีเกี่ยวกับสุขภาพ  ความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์  รังสีในทางการแพทย์  การใช้แสงเลเซอร์ในทางการแพทย์  การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด  คริปโตไนต์  อารมณ์  การบริหารจิต  สมาธิ  สมรรถภาพทางกาย  แบบทดสอบสมรรถภาพทางกายมาตรฐานระหว่างประเทศ

 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th